สะพานข้ามแม่น้ำ"ดรีนา"


เพิ่มเพื่อน    


สะพาน แม่น้ำ ขุนเขา และเมืองวิเชกราด

ในร้านขายหนังสือของเมืองหิน “อันดริชกราด” (Andricgrad) นอกจากหนังสือของ “ดร.อีโว อันดริช” (Dr.Ivo Andric) แล้วก็ยังมีบทประพันธ์ของนักเขียนที่ “อีเมียร์ คูซตูริซา” (Emir Kusturica) ผู้กำกับภาพยนตร์ขวัญใจชาวเซิร์บ เจ้าของไอเดียและงบประมาณส่วนใหญ่ในการสร้างเมืองหินแห่งนี้นิยมชมชอบอีกหลายท่าน หนึ่งในนั้นคือ “ฟรานซ์ คาฟกา” (Franz Kafka) ยอดนักเขียนชาวเช็ก ซึ่งประเทศเช็กในสมัยที่ยังเป็นเช็กโกสโลวาเกีย “คูซตูริซา” เคยไปร่ำเรียนวิชาภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยที่นั่น ได้อ่านและซึมซับผลงานของ “คาฟกา” มาไม่น้อย

เป็นที่น่าเสียดายว่าหนังสือในร้านแทบทั้งหมดพิมพ์เป็นภาษาเซอร์เบียน แต่สำหรับ The Bridge on the Drina (สะพานข้ามแม่น้ำดรีนา) บทประพันธ์ชิ้นเอกของ ดร.อันดริช มีฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย ผมสอบถามราคากับพนักงานสาวตาคม เธอตอบว่า 17 ยูโร หรือหากจะจ่ายเป็นสกุลเงินท้องถิ่นก็เท่ากับ 34 บอสเนียนมาร์ค คิดเป็นเงินไทยเกือบ 700 บาท ผมเลือกจ่ายเป็นเงินบอสเนียนมาร์คเพราะเพิ่งกดออกมาจากตู้เอทีเอ็มก่อนหน้านี้

ราคาเกือบ 700 บาทสำหรับหนังสือหนึ่งเล่ม หากโดยทั่วไปต้องยอมรับว่าค่อนข้างแพง แต่เมื่อพิจารณาถึงงานเขียนรางวัลโนเบลชิ้นนี้ที่หนังสือหนาประมาณ 400 หน้า พิมพ์เย็บกี่และใช้ปกแข็งอย่างดี จำนวนเล่มในการพิมพ์ครั้งนี้เพียงแค่ 500 เล่มเท่านั้น และมีตราประทับของ Andricgrad อยู่ในหน้าแรกด้วย จึงถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผล อีกทั้งจะหาฉบับแปลตามท้องตลาดในประเทศอื่นนอกจากเซอร์เบียและบอสเนียฯ ในส่วนที่เป็นการปกครองของ “สาธารณรัฐเซิร์ปสกา” นั้นก็ยากเต็มที แม้ว่าจะได้รับการแปลเป็นหลายภาษาก็ตาม (แต่ยังไม่มีภาษาไทย) ก่อนนี้ผมได้ดาวน์โหลดภาษาอังกฤษจากเว็บไซต์ขององค์กรที่พิจารณารางวัลโนเบล และปรินต์ออกมาอ่านในกระดาษเอ 4 รู้สึกว่าเทอะทะเหลือเกิน

นอกจากหนังสือแล้ว ในร้านนี้ยังมีไวน์ขายอีกด้วย โดยเฉพาะไวน์จากฝั่งเฮอร์เซโกวีนาที่ขึ้นชื่อไม่เบา โกรันเดินเข้ามาในร้านหลังจากเอาของไปเก็บในห้องพัก เห็นว่าฝนยังไม่หยุดเสียทีจึงถือโอกาสเลือกซื้อไวน์เพื่อนำไปฝากเมียรักที่สาธารณรัฐเช็ก ส่วนผมก็เล่นกับแมวอ้วนขนปุยของพนักงานสาว เธอบอกว่านางอายุได้ 4 ขวบแล้ว  


รูปปั้น “นิโกลา เทสลา” ในเมืองหิน “อันดริชกราด”

เราติดฝนกันอยู่ประมาณ 20 นาที เมื่อเห็นว่าซาลงหน่อยก็ตัดสินใจเดินออกจากร้าน มุ่งหน้าสู่สะพาน “เมเหม็ด พาซา โซโคโลวิช” (Mehmed PašaSokolović) หรือสะพานแห่งแม่น้ำ “ดรีนา” (Drina) ประจำเมือง “วิเชกราด” (Višegrad)  

สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยหินจากภูเขาในละแวกไม่ห่างจากเมืองวิเชกราด เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1571 แล้วเสร็จและเปิดใช้ในปี ค.ศ. 1577 ประกอบด้วยเสาหินโค้งแบบออตโตมันรับน้ำหนักสะพาน 11 ต้น มีความลาดชันจากปลายทั้งสองฝั่งไปยังจุดกึ่งกลางที่เสาหลักต้นที่ 6 เพียงเล็กน้อย หากมองจากระยะไกลดูคล้ายเป็นเส้นตรง ความยาวทั้งหมด 179.5 เมตร กว้าง 6.30 เมตร อยู่เหนือระดับน้ำปกติประมาณ 15 เมตร ได้รับการบรรจุเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกเมื่อ ค.ศ. 2007 ด้วยเหตุผลที่ระบุว่า “...ความสมสัดส่วนที่งดงามอย่างมีเอกลักษณ์และความเป็นอนุสรณ์รำลึกของโบราณสถาน คือประจักย์พยานแห่งความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมรูปแบบนี้”

เนื่องจากสภาพอากาศไม่ค่อยเป็นใจแก่นักท่องเที่ยวทั่วไป แต่สำหรับเราแล้วถือว่ามาถึงในเวลาเหมาะเหม็ง เพราะบนสะพานนั้นโล่ง ไร้ผู้คน แม้ท้องฟ้าจะครึ้มๆ มัวๆ แต่ก็ดูขรึมขลังและมีเสน่ห์แบบแปลกๆ เราหยุดที่ส่วนกึ่งกลางสะพาน ซึ่งเรียกว่า “คาเปีย” (Kapia) มีลักษณะเป็นเฉลียงยื่นออกไปจากแนวปกติของสะพาน ความกว้างที่ยื่นออกไปทั้งสองฝั่งซ้ายขวาทำให้สะพานส่วนนี้มีความกว้างกว่าปกติ 2 เท่า เฉลียงด้านขวามีคนเรียกว่า “โซฟา” เพราะมีลักษณะเป็นที่นั่งมีพนักพิง 3 ด้าน ยกขึ้นจากระดับพื้นและกำแพงสะพาน ส่วนเฉลียงด้านซ้ายมีลักษณะเป็นแผ่นกำแพงยกขึ้นสูงจากระดับของขอบสะพานขึ้นไป 6 ฟุต (ตามที่ ดร.อันดริช ระบุในหนังสือ) สลักอักษรภาษาอาหรับ


“โกรัน” เพื่อนชาวเซิร์บของผู้เขียน ทำให้ท่านผู้อ่านทราบขนาดของโซฟา บนจุดที่เรียกว่า “คาเปีย” ของสะพานหินออตโตมัน

แผ่นศิลาด้านบนเขียนว่า “เมเหม็ด พาชา ผู้ยิ่งใหญ่และสูงส่ง ได้ใช้ทรัพย์สินและจิตใจอันน่าเคารพนับถือของท่านเพื่อบูชาพระอัลเลาะห์ในการสร้างสะพานเหนือแม่น้ำดรีนาแห่งนี้ ไม่มีใครกล่าวได้ว่าเงินทองที่ใช้เพื่อสร้างสิ่งดีๆ นั้นเป็นการใช้อย่างสิ้นเปลือง มหาเสนาบดีเมเหม็ด พาชา ยังได้ก่อตั้งองค์กรการกุศลด้วยตระหนักดีว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกคน ในดินแดนบอสเนียเหนือแม่น้ำดรีนาท่านได้สร้างสะพานขึ้นโดยที่ไม่มีใครคิดสร้างมาก่อนเพื่อข้ามแม่น้ำที่ลึกและเชี่ยวกราก เมเหม็ด พาชา ประสบผลสัมฤทธิ์ในการสวมมงกุฎให้แก่บ้านเกิดของท่านด้วยความกรุณาเกื้อกูลยิ่ง ท่านได้สร้างสะพานนี้ขึ้นโดยไม่เหมือนสะพานอื่นใดในโลก ขอองค์อัลเลาะห์ประทานพรแก่สะพานที่แสนงดงาม มหัศจรรย์ และยิ่งใหญ่แห่งนี้ ฮิจเราะห์ศักราช 979, คริสต์ศักราช 1571/72” ส่วนข้อความบนแผ่นศิลาชิ้นล่างก็มีความหมายใกล้เคียงกัน

บริเวณ Kapia แห่งนี้ ดร.อันดริช บรรยายในลักษณะว่า Kapia คือหัวใจของสะพาน ซึ่งไม่ต่างจากการเป็นหัวใจของเมืองวิเชกราด ตลอดระยะเวลาที่สะพานดำรงอยู่ เรื่องราวของคนและเมืองได้ถูกถักทอโดยมักมีสะพานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งเสมอ เด็กชายวิ่งเล่น คนหนุ่มนัดพบ ดื่ม “รัคเคีย” หรือบรั่นดีพลัมกันบนคาเปียแห่งนี้ ร้านกาแฟต้มและชงบนฝั่งที่มีแผ่นหินสูงแล้วนำไปเสิร์ฟให้กับลูกค้าที่นั่งรอบนโซฟาฝั่งตรงข้าม ชายหนุ่มหลายคนพบรักเป็นครั้งแรกกับหญิงสาวที่เดินผ่านคาเปีย พวกเขาครวญเพลงส่งไปให้คนรักจากบนคาเปีย และเมื่อรักไม่สมหวังก็มานั่งทอดอารมณ์เศร้าสร้อยอยู่เหนือแม่น้ำสีเขียวมรกตเบื้องล่าง งานแต่งทุกงานเมื่อขบวนผ่านมาถึงคาเปียก็ต้องหยุดเต้นรำเฉลิมฉลองเสียหน่อยหนึ่ง เช่นเดียวกับงานศพ คนแบกโลงในขบวนแห่ศพก็มักจะวางร่างไร้วิญญาณตรงบริเวณนี้สำหรับพักเหนื่อยและเพื่อผู้ตายจะได้อยู่บนคาเปียที่ซึ่งเขาผ่านช่วงเวลาทั้งดีและร้ายมาในชีวิตนี้เป็นครั้งสุดท้าย


กำแพงหินยกสูง มีแผ่นศิลาจารึกอักษรอาหรับยกย่องเชิดชู “เมเหม็ด พาชา โซโคโลวิช” มหาเสนาบดีผู้ออกทุนสร้างสะพานหิน

“...คาเปียตั้งอยู่ระหว่างสายน้ำ ท้องฟ้า และขุนเขา ผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าได้เรียนรู้ที่จะไม่โศกเศร้าเสียใจจนเกินไปเพราะอุปสรรคและช่วงเวลาเลวร้ายในที่สุดก็จะผ่านพ้น มันกลายเป็นปรัชญาของเมืองไปอย่างไม่รู้ตัวว่าชีวิตคือสิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะมันถูกใช้อย่างคุ้มค้าและบ้างก็เลื่อนลอยเปล่าดายไม่รู้จบสิ้น แต่อย่างน้อยมันก็ผ่านมาได้และยืนยงคงทน เหมือนดั่งสะพานข้ามแม่น้ำดรีนา” 

เราเดินข้ามไปอีกฝั่งของสะพานซึ่งมีทางลาดออกไปด้านขวาเพื่อความสะดวกในการใช้สะพาน มีเสาหินโค้งรับน้ำหนักแบบเดียวกันซึ่งสร้างขึ้นภายหลังอีก 4 เสา ติดกันคือถนนที่จะนำทางไปยังกรุงซาราเยโวถูกสร้างเลียบไปกับแม่น้ำ เราตั้งใจจะเดินไปยัง “พิพิธภัณฑ์ อิโว อันดริช” แต่ฝนได้ตกลงมาอีก จึงรีบวิ่งกลับฝั่งตัวเมืองวิเชกราด

โกรันตั้งใจจะเข้าไปนั่งร้านอาหารริมน้ำที่ติดกับหัวสะพานเพื่อดื่มเบียร์แต่ดูเหมือนร้านยังไม่เปิด เพราะไม่มีพนักงานออกมาต้อนรับเลย จึงเดินกลับออกมา ขณะเดินไปบนถนนเส้นหลักของเมือง เห็นชื่อตรอก ซอกซอย โรงแรม ร้านอาหาร และสถานที่ต่างๆ ในเมืองนี้ตั้งชื่อว่า “อันดริช” เสียเกือบครึ่ง เป็นสิ่งยืนยันว่าบุรุษผู้นี้มีความสำคัญและได้รับการยกย่องอย่างสูงส่งแค่ไหน  

ผมเจอหมาน้อยสีดำเข้าอีกแล้ว คราวนี้เป็นตัวเล็กจิ๋ววิ่งตากฝนเข้ามาหา ดูน่ารักน่าเอ็นดู เมื่อผมเล่นด้วยมันก็เดินตามมาทันที โกรันบอกว่ามันคงหาบ้านอยู่


เสาโค้งที่เรียกว่า Arch ซึ่งเป็นเหมือนตอม่อ คือส่วนสำคัญที่ทำให้สะพานแห่งนี้มีเอกลักษณ์และเปี่ยมเสน่ห์

หมาน้อยเดินตามผมมาได้ประมาณหนึ่งร้อยเมตร มีผู้หญิงในชุดทำงานออฟฟิศเดินสวนมาทำให้หมาน้อยหยุดพิจารณาเหมือนอยากจะเดินตามผู้หญิงคนนั้นไป แต่หญิงสาวไม่ค่อยเล่นด้วย มันจึงลังเล จะเดินหน้าหรือถอยหลังดี เมื่อเห็นว่าเราเดินห่างออกไปพอสมควรแล้ว มันจึงตัดสินใจหันหลังวิ่งตามผู้หญิงคนนั้นไป

ด้านขวามือก่อนเราจะข้ามแม่น้ำ “รซาฟ” (Rzav) ซึ่งไหลไปสมทบกับแม่น้ำดรีนาที่ปลายแหลมของเมืองหิน “อันดริชกราด” มีมัสยิดตั้งอยู่ เนื่องจากในเมืองยังมีชาวมุสลิมอยู่อาศัย ซึ่งในอดีตเมื่อครั้งที่จักรวรรดิออตโตมันรุ่งเรืองและเข้ายึดครองดินแดนบอลข่าน มีชาวเติร์กเดินทางมาตั้งรกรากและชาวเมืองบางส่วนก็เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามด้วย แต่ในปัจจุบันโบสถ์คริสต์แบบเซอร์เบียนออร์โธดอกซ์นั้นมีจำนวนมากกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย

ขณะเดินไปบนสะพานข้ามแม่น้ำรซาฟ ผมหันไปเห็นบาร์เบียร์ริมน้ำด้านขวามือ ชื่อ Napoleon มีคนโบกไม้โบกมือเหมือนชวนให้เราไปนั่ง โกรันยังเดินตรงไป และเหมือนตั้งใจจะตรงไปยังสะพานใหญ่ที่สร้างไว้สำหรับรถยนต์ใช้ข้ามแม่น้ำดรีนา เมื่อถึงอาคารศูนย์วัฒนธรรมของเมืองซึ่งมีหัวรถจักรไอน้ำโบราณจอดแสดงอยู่ด้านหน้าฝนก็ตกลงมาอีกครั้ง คราวนี้เรียกได้ว่าห่าใหญ่เลยทีเดียว จึงวิ่งเข้าไปหลบฝนในอาคารศูนย์วัฒนธรรม ฝนตกหนักอยู่นานราวครึ่งชั่วโมง โกรันว่าถ้าแวะร้านเบียร์นั่นเสียก็ดี


แม่น้ำดรีน่าไหลมาจากทิศใต้ก่อนถึงสะพาน “เมเหม็ด พาชา โซโคโลวิช”

ฝนซาเม็ดลงหน่อย โกรันยังจะเดินไปยังสะพานใหญ่นั้นอยู่ ผมถามว่า “จะไปไหน ?” เขาตอบว่า “กลับเมืองหินอันดริชกราด” ผมจึงบอกว่า “ไม่เห็นหรือไง อันดริชกราดอยู่ตรงนั้น ใกล้ๆ” พอชี้ให้ดูเขาก็ร้องอ๋อออกมา จึงเข้าใจแล้วว่าโกรันหลงทางนั่นเอง เราเดินย้อนข้ามสะพานแม่น้ำรซาฟกลับไปแล้วเลี้ยวขวา มีซอยเล็กๆ ทะลุไปยังลานจอดรถของอันดริชกราด เดินผ่านประตูหินเข้าไปถึงห้องพักราวสองทุ่ม เปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้าที่เปียกปอน แล้วออกไปยังไวน์บาร์ของเมืองหินอันดริชกราด

เบื้องต้นเราสั่งไวน์แดงจากเฮอร์เซโกวีนามาคนละแก้ว เมื่อรู้สึกว่ารสชาติดีจึงสั่งมาหนึ่งขวด แล้วเปลี่ยนยี่ห้อกลับไปสั่งแบบแก้วอีกพร้อมกับแกล้มจานใหญ่ที่มีชีส, หมูรมควัน (เขาเรียกแฮม แต่หนากว่าแฮมทั่วไปมาก) มะกอกดอง, ถั่วสองสามชนิด จึงเป็นอันว่าไม่จำเป็นต้องสั่งอาหารมื้อค่ำอีกแล้ว ในร้านมีลูกค้าอยู่แค่ 2 โต๊ะ เวลาประมาณเที่ยงคืนเราก็เรียกเก็บเงิน ทั้งหมดนี้ราคาไม่ถึง 20 ยูโร ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ

เมื่อกลับถึงห้องโกรันบ่นขึ้นว่าเขาไปถามบริกรหนุ่มเรื่องเส้นทางไปอนุสรณ์สถานไม้กางเขนบนเนินเขาที่กองกำลังคอมมิวนิสต์จากรัสเซียมาช่วยรบกับชาวมุสลิมในช่วงสงครามกลางเมืองของบอสเนีย บริกรหนุ่มตอบแบบไม่อยากตอบ แล้วบอกว่าตัวเขาเป็นมุสลิม โกรันคิดไม่ถึงว่าอันดริชกราด ซึ่งเจ้าของคือ “คูซตูริชา” ที่ชาวมุสลิมในบอสเนียไม่ชอบเขาเอามากๆ จะรับมุสลิมเข้าทำงาน เขาว่า “ไม่น่าไปถามอย่างนั้นเลย สร้างบรรยากาศไม่ดีขึ้นมา” ผมบอก “ใครจะไปรู้ได้ ลืมเสียเถอะ”

โกรันชวนเปิดไวน์ดื่มอีกขวดซึ่งเขาเพิ่งซื้อมาก่อนหน้านี้เพื่อฝากเมีย ผมเกือบจะเออออด้วยแล้ว แต่เพราะง่วงมากจึงได้แต่เฉย


เมืองวิเชกราดในวันฝนตกยิ่งดูเงียบเหงา

ตื่นเช้ามาเขายังหัวเสียไม่หายเรื่องที่ไปสะกิดต่อมความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์กับบริกรหนุ่มมุสลิม ผมถามว่า “ที่ซาราเยโวจะมีชาวคริสต์ออร์โธดอกซ์ทำงานในร้านของชาวมุสลิมไหม ?” เขาตอบว่า “เป็นไปได้ยากมาก ถึงขั้นไม่มีทาง”

เหตุการณ์นองเลือดในสงครามบอสเนียฯ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ระหว่างกองกำลังเซิร์บกับฝ่ายมุสลิมบอสนีแอกและพันธมิตร ที่เกิดขึ้นในกรุงซาราเยโวนั้นรุนแรงและโหดร้ายกว่าที่เกิดขึ้นในเมืองวิเชกราดหลายเท่า

วันนี้เราจะเดินทางไปยังกรุงซาราเยโว นี่คงเป็นสาเหตุให้โกรันวิตกกังวล.

หมายเหตุ : สะพานข้ามแม่น้ำ"ดรีนา"(2) เขียนโดย "วิฑูรย์ ทิพย์กองลาศ" [email protected]


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"