ผู้ลี้ภัยโรฮีนจากลับถิ่นภายใน2ปี


เพิ่มเพื่อน    

รัฐบาลเมียนมาและบังกลาเทศบรรลุข้อตกลงส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่ไร้ถิ่นฐานเพราะความรุนแรงในรัฐยะไข่ กลับคืนพม่าภายในเวลา 2 ปี ถือเป็นการกำหนดกรอบเวลาชัดเจนเป็นครั้งแรก ถึงแม้ว่าเงื่อนไขในการรับกลับยังไม่มีความแน่นอนก็ตาม

 

แฟ้มภาพ AFP

    

       รายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 กล่าวว่า ข้อตกลงซึ่งรัฐบาลเพื่อนบ้าน 2 ประเทศนี้เห็นพ้องกันได้ระหว่างการประชุมเจรจาที่กรุงเนปยีดอสัปดาห์นี้ จะมีผลกับชาวโรฮีนจาราว 750,000 คนที่อพยพหนีความรุนแรงครั้งใหญ่ 2 ครั้งในเมียนมา ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ที่พวกกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมไร้รัฐโจมตีด่านตำรวจรักษาดินแดนเมียนมาครั้งแรกในรัฐทางภาคเหนือของเมียนมาแห่งนี้

     แถลงการณ์ของรัฐบาลบังกลาเทศกล่าวว่า ข้อตกลงนี้มีเป้าหมายเพื่อรับชาวโรฮีนจากลับคืนเมียนมา สัปดาห์ละประมาณ 1,500 คนภายในเวลา 2 ปีนับแต่เริ่มต้นกระบวนการ แต่คำแถลงไม่ได้ระบุวันที่แน่ชัดว่าจะเริ่มต้นเมื่อใด ทว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลเมียนมาเคยกล่าวไว้ว่าเมียนมาพร้อมรับคนกลับตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม

     ข้อตกลงนี้ไม่ครอบคลุมถึงชาวโรฮีนจา 200,000 คนที่อพยพหนีความรุนแรงระหว่างชุมชนและการปราบปรามของกองทัพ เข้าไปอาศัยอยู่ในบังกลาเทศก่อนหน้าเดือนตุลาคม 2559

     รัฐบาลเมียนมาถูกกดดันทางการทูตอย่างหนักให้ยอมรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจากลับคืนถิ่น หลังจากชาวโรฮีนจามากกว่า 650,000 คนต้องอพยพหนีความรุนแรงและการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมของกองทัพเพื่อตอบโต้ที่กลุ่มติดอาวุธโรฮีนจาโจมตีที่มั่นของฝ่ายความมั่นคง สังหารตำรวจตระเวนชายแดนกว่า 10 นายเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

     องค์การสหประชาชาติและสหรัฐประณามการปฏิบัติการของกองทัพเมียนมา ซึ่งถูกกล่าวหาว่าฆ่า ข่มขืน และวางเพลิงหมู่บ้าน ว่าเทียบเท่ากับการล้างเผ่าพันธุ์

     สัปดาห์ที่แล้ว กองทัพเมียนมายอมรับเป็นครั้งแรกว่าทหารได้ก่อเหตุสังหารหมู่ "ผู้ก่อการร้าย" ชาวเบงกาลี ซึ่งเป็นคำที่เมียนมาใช้เรียกชาวโรฮีนจา รวม 10 คน กลุ่มชาวโรฮีนจาที่โดนฆ่าตายนี้ถูกจับตัวไว้ได้ภายหลังกลุ่มโรฮีนจาติดอาวุธบุกโจมตีที่มั่นของตำรวจ

     ชาวโรฮีนจาจำนวนมากที่หนีความรุนแรงไปอาศัยอยู่ในค่ายลี้ภัยสภาพซอมซ่อแออัดในบังกาเทศกล่าวกันว่า พวกเขาจะไม่กลับไปรัฐยะไข่อีกแล้ว ขณะที่หน่วยงานบรรเทาทุกข์หลายองค์กรย้ำว่า การส่งตัวชาวโรฮีนจากลับนั้นจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความสมัครใจและต้องอยู่ในสภาพที่รับประกันความปลอดภัยด้วย

     วิเวียน ตัน โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวกับเอเอฟพีว่า ยูเอ็นเอชซีอาร์เชื่อว่า การกลับคืนถิ่นต้องดำเนินการโดยผู้ลี้ภัยเป็นผู้ตัดสินใจเอง สำคัญอย่างยิ่งที่ต้องรับฟังความต้องการของพวกเขา และสิ่งที่พวกเขาต้องการบอกคือ ก่อนจะกลับไป พวกเขาอยากเห็นการดำเนินการบางประการก่อน

     ตันกล่าวว่า โรฮีนจาในบังกลาเทศกล่าวถึงเงื่อนไขเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของพวกเขาในเมียนมาและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการเดินทางกลับ

     พม่าไม่ยอมรับว่าโรฮีนจาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของเมียนมาที่จะได้รับสิทธิคุ้มครองหรือสิทธิพลเมือง แต่เมียนมามองว่าโรฮีนจาเป็นผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในเมียนมามาหลายชั่วรุ่นแล้วก็ตาม

     บังกลาเทศกล่าวว่า ภายใตข้อตกลงนี้ บังกลาเทศจะตั้งค่ายเปลี่ยนถ่าย 5 แห่งสำหรับกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังศูนย์รับ 2 แห่งของเมียนมา ในรัฐยะไข่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"