ส่งเจ้าพ่อเงินกู้เข้าเรือนจำศาลไม่ให้ประกัน


เพิ่มเพื่อน    

  "วิชัย ปั้นงาม" เจ้าพ่อเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ดอดเข้ามอบตัวดีเอสไอหลังเผ่นออกนอกหนีหมายจับกว่าปี ตำรวจคุมตัวฝากขังพร้อมคัดค้านประกัน ขณะที่ญาติยื่นหลักทรัพย์ 10 ล้านขอปล่อย สุดท้ายศาลไม่อนุมัติ ส่งตัวเข้าเรือนจำ เผยตั้ง สนง.ใหญ่ที่ปทุมธานี มีพนักงานกว่า 2 พันคน ขยายสาขาครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ ไล่ยึดทรัพย์ได้แล้วกว่า 800 ล้าน

    เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 17 มกราคมนี้ ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พ.ต.เอกมล วิชญเนตินัย พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ควบคุมตัวนายวิชัย ปั้นงาม อายุ 47 ปี เจ้าพ่อเงินกู้รายใหญ่ เครือข่าย วี 8 ผู้ต้องหาคดีเป็นอั้งยี่ โดยเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรค 2 ประกอบมาตรา 83, ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาตและเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3, ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 โดยไม่ได้รับอนุญาตเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 17-28 ม.ค.2561 เนื่องจากต้องสอบพยานสำคัญในคดีนี้อีก 20 ปาก ตรวจสอบเส้นทางการเงินและทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด รอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง รอผลการตรวจประวัติลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา และรอผลสอบสวนขยายผลการกระทำความผิด มีลักษณะเป็นขบวนการ โดยในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ
    คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน นายวิชัยกับพวกเป็นผู้ครอบครองดูแลเครือข่ายปล่อยเงินกู้นอกระบบ โดยรวมกันเป็นคณะบุคคลชื่อ วี 8 หรือ V8 มีลักษณะเป็นองค์ธุรกิจขนาดใหญ่ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่หมู่บ้านรัตนโกสินทร์สมโภช 200 ปี ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี และมีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 86 สาขา พนักงานมากกว่า 2,000 คน รถจักรยานยนต์ที่ใช้ดำเนินการกว่า 1,500 คัน โดยวิธีปล่อยเงินกู้และคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อ 24 วัน คิดเป็นร้อยละ 300 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ร้อยละ 15 ต่อปี 
    คำร้องฝากขังระบุว่า สำนักงานใหญ่ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุม สั่งการเครือข่ายสาขาทั่วประเทศในการปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมายให้แก่ประชาชนทั่วไป มีระบบป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไป มีการดำเนินการลักษณะปกปิดตั้งแต่การรับสมัครพนักงาน โดยผู้สมัครจะต้องรู้จักหรือได้รับการแนะนำจากผู้ที่เป็นพนักงานอยู่ก่อน เมื่อสมัครเรียบร้อยแล้วจะส่งไปทำงานประจำสาขาต่างๆ ในการปล่อยเงินกู้จะเก็บหลักฐานจากผู้กู้เป็นสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน โดยไม่ทำสัญญาเงินกู้ ทั้งนี้ จะมีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลรายชื่อลูกหนี้ทั้งหมด รายละเอียดการผ่อนชำระรายวัน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ เกือบทุกจังหวัด โดยการทำบัญชีสามารถออนไลน์เชื่อมโยงส่งต่อไปยังบุคคลในองค์กรได้  
    ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติหมายจับศาลอาญา ที่ 2454/2559 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ไว้ กระทั่งวันที่ 17 ม.ค.2561 นายวิชัยได้ติดต่อเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอ จึงได้แจ้งข้อหาดำเนินคดี  
    ท้ายคำร้อง พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นตัวการสำคัญในกลุ่มผู้กระทำความผิด และเมื่อศาลได้ออกหมายจับ ผู้ต้องหาหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน สามารถเข้า-ออกนอกราชอาณาจักรได้ตลอดเวลา เกรงว่าหากได้รับการประกันตัวจะหลบหนี 
    ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขัง
    ต่อมาญาติของนายวิชัย ผู้ต้องหา ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย สาขาศาลอาญา จำนวน 10 ล้านบาท ขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิเคราะห์สภาพแห่งข้อหาและพฤติการณ์การกระทำความผิดตามคำร้องฝากขัง ประกอบกับผู้ต้องหาเข้ามอบตัวภายหลังมีหมายจับเป็นเวลาปีเศษ ในชั้นนี้เห็นควรให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานไปพลางก่อน จึงไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง
    เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวนายวิชัยไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป
    ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยว่า นายวิชัย นายทุนเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ แก๊งหมวกกันน็อกจังหวัดปทุมธานี ได้เข้ามอบตัวเมื่อเช้าวันเดียวกัน จึงจับกุมตัวและนำไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังพร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากมีพฤติการณ์หลบหนี เป็นหัวหน้าองค์กรอาชญากรรม และเป็นผู้มีอิทธิพลซึ่งอาจยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้
    สำหรับคดีดังกล่าว คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 31 ส.ค.59 เห็นชอบให้รับคดีนายวิชัยเป็นคดีพิเศษ และได้สอบสวนดำเนินคดีเรื่อยมาจนปรากฏข้อเท็จจริงว่า เป็นกลุ่มธุรกิจชื่อ V8 ซึ่งเป็นองค์กรปล่อยเงินกู้นอกระบบและคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีนายวิชัยเป็นหัวหน้า ซึ่งนายวิชัยได้หลบหนีไปต่างประเทศตั้งแต่ปลายปี 2558 เรื่อยมาจนถึงขณะนี้ โดยเจ้าหน้าที่ได้จับกุมสมาชิกองค์กรระดับตัวการสำคัญได้แล้วทั้งสิ้น 47 คน และร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบและอายัดทรัพย์สินของนายวิชัยและผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนหลายรายการ อาทิเช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เงินสด เงินฝาก เครื่องประดับ พระเครื่อง รวมมูลค่ากว่า 800 ล้านบาท.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"