สื่อ-การเมืองล้มคสช. บิ๊กตู่แฉกลางครม.มีกลุ่มป่วนรบ./พท.ยื่นศาลรธน.


เพิ่มเพื่อน    

"ประยุทธ์" แจกการบ้าน 12 หน้าใน ครม.สั่งวางกลไกการทำงานปี 61-62 ในเชิงรุก ปลุกคนรุ่นใหม่ออกมาเลือกตั้ง แฉสื่อ-นักการเมืองที่มีปัญหาจ้องล้มรัฐบาลและ คสช.ให้ได้ มี ขรก.ไม่สุจริตร่วมมือ "เพื่อไทย" มอบตัวแทนเข้ายื่นคำร้องศาล รธน.วินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ขัด รธน.แล้ว ด้าน ปชป.จ่อยื่นผู้ตรวจการฯ ภายในสัปดาห์นี้เช่นกัน กมธ.ส่อโละวิธีเลือกไขว้ ส.ว.-หั่นกลุ่มอาชีพเหลือ 5-10 กลุ่ม "มีชัย" เตือนขัด รธน.หวั่นทุจริต-บล็อกโหวตได้ง่าย ด้าน สนช.ลงชื่อครบแล้ว 26 คน จ่อยื่นศาล รธน.ตีความปมต่ออายุ ป.ป.ช.
    เมื่อวันพุธ มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แจกเอกสารที่เขียนด้วยลายมือบนหน้ากระดาษเอ 4 จำนวน 12 หน้า แบ่งเป็น 3 ส่วน โดยส่วนที่ 1 นายกฯ เขียนชี้แจงความหมายของประชาธิปไตยไทยนิยมว่า "เพื่อให้คนไทยเข้าใจหลักคิดที่ถูกต้อง ผมไม่เคยคิดจะทิ้งพื้นฐานของประชาธิปไตยสากล ด้วยหลักการประชาธิปไตยเป็นของปวงชน เป็นประชาธิปไตยที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย มุ่งเป้าหมายเดียวกันคือความสงบสุขสันติอย่างยั่งยืน โดยมีพื้นฐานจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล 
    อย่าเอานายกฯ คสช.ไปสู้กับใคร นายกฯ ใด พรรคใด กลุ่มใด ผมกำลังทำเพื่อประชาชน อยากให้คนไทยที่ต้องการประชาธิปไตยนิยมไทย มีอุดมการณ์เดียวกัน ไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วย ใครจะเข้ามาบิดเบือนไม่ได้ มีผู้ไม่หวังดีเจตนาไม่บริสุทธิ์ยังคงพยายามอยู่จนถึงทุกวันนี้ ต้องหาแก่นสารของประชาธิปไตย สร้างไทยนิยมระบบประชาธิปไตยให้ได้"
    ส่วนที่ 2 เป็นเรื่องการบริหารราชการในปี 61-62 โดยนายกฯ ขอให้ ครม.ทำงานด้วยความโปร่งใส ชี้แจง ตรวจสอบได้ เตรียมการเป็นประชาธิปไตย แก้ปัญหาประชาธิปไตยทุกประเด็น สร้างระบบ วิธีการราชการ เตรียมคนรุ่นใหม่และปัจจุบัน สร้างอาชีพ รายได้ที่เหมาะสม เป็นคนเก่งและดี มีศีลธรรม คุณธรรมในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองต่อไป บูรณาการยุทธศาสตร์ ปฏิรูป วางกลไกกระทรวงให้สอดคล้องกลไกรัฐบาล กลไกยุทธศาสตร์และปฏิรูป แก้ปัญหาบุคลากรปรับปรุงตัวให้เป็นคนดี ไม่ใช่เพื่อพวกพ้องซึ่งไม่ดี สร้างความร่วมมือ สร้างอุดมการณ์ ชวนคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 18 ปีที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้ง และคนไม่ชอบการเมืองต้องออกมาเลือกตั้งให้มากที่สุด ขอให้ทุกคณะในเชิงรุก อย่าทำงานเชิงรับรอเรื่องร้องเรียนอย่างเดียว เพื่อช่วยประชาชนอุ่นใจ
    "สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้คือ สื่อ นักการเมืองที่มีปัญหา พยายามจะล้มรัฐบาลและ คสช.ให้ได้ในช่วงนี้ กฎหมาย คำสั่งทุกฉบับจะแก้ไขให้กลับไปที่เดิม และข้าราชการไม่สุจริตร่วมมือ"
    สำหรับส่วนที่ 3 หลักการการทำงาน ต้องเดินหน้าปฏิรูปประเทศ เดินหน้ายุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ลดความยากจนในทุกมิติ 
    ทั้งหมดนี้จะกำหนดเป็นตัวชี้วัดระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าและอธิบดี โดยนายกฯ จะกำหนดลงไป ก.พ.และ ก.พ.ร.จะเริ่มประเมินในเดือนเม.ย.61 ทุก 3 เดือน สะสมผลงาน มีผลต่อการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายในเดือน ต.ค.61 
    ที่พรรคเพื่อไทย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองหัวหน้าพรรค, นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค, นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค, นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายนพดล ปัทมะ นายสามารถ แก้วมีชัย แกนนำพรรค ร่วมแถลงคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบมาตรา 5
ยื่นตีความคำสั่ง คสช.
        โดยนายภูมิธรรมอ่านแถลงการณ์ว่า 1.คำสั่งดังกล่าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 จึงไม่เป็นที่สุด และชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งดังกล่าวได้ เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจของรัฐสภา ซึ่งคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ผ่านความเห็นชอบของ สนช. ผ่านการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ และพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว การที่หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เท่ากับเป็นการลบล้างกระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ หัวหน้าคสช.จึงเป็นเพียงผู้ได้รับอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญอีกทอด จึงไม่อาจใช้อำนาจที่ขัดหรือแย้ง หรือนอกเหนือไปจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้
          2.การที่หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ และใช้อำนาจซึ่งเป็นขององค์กรอื่น อันไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การออกคำสั่งที่มีผลเป็นการลบล้างสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมือง เป็นการยกเลิกสิทธิของการเป็นสมาชิกพรรค จึงกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลและเป็นการออกกฎหมายที่มีผลย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล จึงขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ การกำหนดให้สมาชิกพรรคต้องทำหนังสือยืนยัน และแสดงหลักฐานการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามภายใน 30 วัน เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และยังขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ และในคำสั่งไม่ได้ระบุเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรคการเมือง
       นายภูมิธรรมกล่าวว่า จะยื่นคำร้องใน 3 ช่องทางคือ  1.ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินในนามพรรค 2.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญในนามนิติบุคคล และ 3.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญในนามสมาชิกพรรค ในส่วนนี้จะมีแกนนำพรรคลงนาม 13 คน ประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นายโภคิน พลกุล, นายภูมิธรรม เวชยชัย, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา, นายชัยเกษม นิติสิริ, นายปลอดประสพ สุรัสวดี, นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา, นายนพดล ปัทมะ, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายสามารถ แก้วมีชัย และนายวัฒนา เมืองสุข โดยจะมอบให้ฝ่ายกฎหมายไปยื่นในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้
    นายชูศักดิ์กล่าวว่า การที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าคำสั่งตามมาตรา 44 ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นที่สุดก็ดีนั้น คำสั่งดังกล่าวต้องชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง แต่เราเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่มีความเสมอภาค  เลือกปฏิบัติ และไม่สุจริต จึงมองว่าคำสั่งดังกล่าวมีปัญหา เป็นคำสั่งที่มิชอบและขัดรัฐธรรมนูญ และไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดองอย่างที่ คสช.อ้าง 
    ต่อมาเมื่อเวลา 15.00 น. นายวัฒนา เตียงกูล  ทนายความ ผู้แทนพรรคเพื่อไทย ได้นำคำร้องของพรรคเพื่อไทย และคำร้องของสมาชิกพรรคเพื่อไทย 13 คน เข้ายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยว่าคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากนั้นได้เข้ายื่นคำร้องในประเด็นเดียวกันต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาและเสนอเรื่องพร้อมความเห็นในศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยนายวัฒนากล่าวว่า ที่ต้องยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย ก็เพราะเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย ซึ่งมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะวินิจฉัยตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
     ทางด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการยกร่างคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ว่า น่าจะยื่นต่อผู้ตรวจการฯ ได้ภายในสัปดาห์นี้ โดยจะสรุปอีกครั้งว่าจะยื่นในนามหัวหน้าพรรคหรือเป็นการยื่นของสมาชิกพรรค เพราะได้รับผลกระทบทั้งคู่ เพราะคำสั่งดังกล่าวสร้างความเสียหาย ทำให้มีภาระเกินสมควรแก่เหตุจากกรณีให้สมาชิกพรรคต้องยืนยันความเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรคภายใน 30 วัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจฯ ที่จะต้องดำเนินการ
กมธ.รื้อวิธีเลือก ส.ว.
    ขณะเดียวกัน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ถ้าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ในช่วงต้นเดือนเม.ย. และร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.มีผลบังคับใช้ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ระยะเวลาการจัดการเลือกตั้ง 150 วันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ก็จะเริ่มนับทันทีการเลือกตั้ง ส.ส.ก็น่าจะมีขึ้นช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. คงไม่ไปไกลถึงเดือนพ.ย. แต่เมื่อไปพิจารณาคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ที่ผ่อนปรนให้พรรคการเมืองปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีการผ่อนปรนให้ยาวไปถึงปลายเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่สอดคล้องกับปฏิทินการเลือกตั้งทำให้พรรคการเมืองเตรียมตัวไม่ทัน อาจไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้
    นายสมชัยกล่าวว่า ทางออกจึงอยู่ที่ข้อ 8 ของคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ที่กำหนดว่าหากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้แล้วมีปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับคำสั่ง คสช.ดังกล่าว ให้ คสช.หารือร่วมกับ กกต. กรธ. ประธาน สนช. และพรรคการเมือง ซึ่งในการประชุมร่วมดังกล่าว พรรคการเมืองอาจจะยืนยันว่าดำเนินการตามคำสั่ง คสช. 53/2560 ไม่ทัน ส่วนการแก้ไขอาจถึงขั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องกรอบการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันไม่ให้มีผลใช้บังคับ หรือเขียนขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งให้ยาวออกไป แทนที่จะบังคับใช้ในทันทีนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก็ได้ยินแนวทางนี้มาเหมือนกัน แต่ก็ต้องคิดว่าการเขียนลักษณะนี้จะกลายเป็นกฎหมายใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 268 ได้หรือไม่
    ที่รัฐสภา พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่งส.ว. กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า กมธ.พิจารณาประเด็นต่างๆ ไปมากพอสมควร ประเด็นที่มี สนช.ขอแปรญัตติส่วนใหญ่ ได้แก่ มาตรา 11 เรื่องการแบ่งกลุ่มอาชีพของผู้สมัคร ส.ว.ที่เห็นว่า ควรปรับลดเหลือ 5-10 กลุ่มอาชีพ จากเดิมที่มี 20 กลุ่มอาชีพ และมาตรา 40-42 เรื่องวิธีเลือกไขว้ในกลุ่มอาชีพ ที่มีผู้แปรญัตติหลายคน อาทิ นายสมชาย แสวงการ   นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ เสนอให้ใช้วิธีเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มอาชีพ แทนวิธีการเลือกไขว้ กมธ.กำลังรับฟังเหตุผล เพื่อชั่งน้ำหนักอยู่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนที่มา ส.ว.เป็นการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพหรือไม่ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป ในวันที่ 18 ม.ค. กมธ.จะหารือในประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง คาดว่าวันที่ 22 ม.ค.จะได้ข้อสรุป เพื่อส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้บรรจุเข้าสู่วาระประชุม สนช.ในวันที่ 25 ม.ค.
    ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก กมธ.เปลี่ยนวิธีเลือก ส.ว.จากเลือกไขว้มาเป็นการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ จะไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.ร.อ.ธราธรตอบว่า ไม่ขัดเพราะมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนถึงการเลือก ส.ว.ให้ใช้วิธีเลือกกันเอง ไม่ได้บอกให้เลือกไขว้ และไม่ถือเป็นการหักหน้า กรธ. เพราะเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ หากต้องเปลี่ยนวิธีมาเป็นการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ อาจจะต้องลดกลุ่มอาชีพให้เหลือไม่ถึง 20 กลุ่มอาชีพ โดยมีผู้เสนอแปรญัตติว่าอาจจะให้สมัครโดยอิสระ หรือสมัครโดยกลุ่มองค์กรเป็นผู้เสนอชื่อมา
    นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า   จะทำให้เกิดการฮั้วหรือการบล็อกโหวตได้ง่าย สาเหตุที่ กรธ.บัญญัติให้มี 20 กลุ่มอาชีพ ก็เพื่อให้ ส.ว.มีที่มาหลากหลาย ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่หาก สนช.มีเหตุผล กรธ.ก็พร้อมยอมรับ แต่จะต้องเปิดช่องให้ทุกกลุ่มอาชีพสามารถสมัครมาเป็นผู้แทน ส.ว.ได้ ส่วนที่มีสมาชิก สนช.เสนอผู้สมัคร ส.ว.เลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ แทนการเลือกไขว้ระหว่างอาชีพตามที่ กรธ.เสนอ ก็จะทำให้ง่ายต่อการทุจริต หรือเกิดการบล็อกโหวตเช่นกัน เพราะผู้สมัครจะรู้ว่าใครอยู่กลุ่มใด เพียงส่งคนของตนมาสมัครในกลุ่มอีก 100 คน ก็สามารถบล็อกให้โหวตให้ตนเองได้แล้ว ซึ่งหากยังมีช่องทางให้เกิดการทุจริตในการเลือกตั้งได้ ก็จะถือว่าไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญต้องการให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม
     นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสมาชิก สนช.เข้าชื่อร่วมกันจำนวน 26 คนเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งถือว่าเลยเกณฑ์ที่กำหนดเสนอต่อประธาน สนช. ขอให้ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ..... ไปยังศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยว่ากรณียกเว้นลักษณะต้องห้าม ป.ป.ช. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ช่วงเช้าวันที่ 18 ม.ค. จะมีสมาชิกมาร่วมลงชื่อเพิ่มเติมอีก 3-4 คน และจะยื่นประธานก่อนจะเริ่มการประชุม สนช.
    ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. กล่าวว่า เมื่อมีสมาชิก สนช.เข้าชื่อเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมาย ป.ป.ช. จะต้องรอให้ศาลวินิจฉัยเรียบร้อย จากนั้นจึงค่อยนำร่างกฎหมายดังกล่าวส่งให้นายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับเมื่อครั้งยื่นกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินตีความ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"