ม.รามฯเสียชื่อขู่ฟ้องสกอ. หมอธีลั่นทำหน้าที่ป้องเด็ก


เพิ่มเพื่อน    

ฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.)

 "หมอธี" ลั่น "สกอ." เผยหลักสูตรไม่ผ่านมาตรฐานเป็นเรื่องดี ชี้มีหน้าที่ปกป้องเด็ก อธิการบดีรามฯ โต้ข้อมูลเก่า อ้างปิดไป 23 หลักสูตร ส่วนที่เหลือแก้ไขแล้ว โวยทำเสียชื่อเสียง จ่อหาช่องกฎหมายเล่นงานกลับ 

    เมื่อวันที่ 17 มกราคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)  กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เผยแพร่รายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษาเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน คือปีการศึกษา 2558 และ 2559 จำนวน 182 หลักสูตร และมีการดำเนินการปิดหลักสูตรแล้ว 59 หลักสูตร งดรับนักศึกษาไปแล้ว 68 หลักสูตร ควบรวมหลักสูตรไปแล้ว 2 หลักสูตร และยังเปิดดำเนินการสอนและปรับปรุงแก้ไข 53 หลักสูตร ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายชัดเจนว่าเด็กจบแล้วควรจะมีงานทำ และหลักสูตรต่างๆ ควรจะตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศ รวมถึงตนเองก็มีนโยบายเรื่องการให้ผู้ที่จะมาเรียนรู้ว่าหลักสูตรที่เลือกเข้ามาเรียนเป็นอย่างไร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวกฎหมายชัดเจนที่จะต้องทำการตรวจสอบและเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ อีกทั้งการดำเนินการนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ด้วย
    “ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะเรามีหน้าที่ปกป้องเด็ก อีกทั้งการประกาศหลักสูตรที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ก็ประกาศในส่วนของหลักสูตรที่ไม่ผ่านติดต่อกัน 2 ปี ซึ่งถือว่าเป็นการให้โอกาสแก้ไขแล้ว และยังเป็นเรื่องของการจัดการหลักสูตรที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ใช่เรื่องระดับมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ หากหลักสูตรใดไม่ผ่านมาตรฐาน ก็ต้องกลับไปแก้ไข เช่น เหตุเกิดจากอาจารย์ไม่พอ มหาวิทยาลัยก็กลับไปแก้ และผ่านกระบวนการประเมินใหม่ เป็นต้น" นพ.ธีระเกียรติระบุ
    อย่างไรก็ตาม หากมหาวิทยาลัยใดที่อยู่ในรายชื่อดังกล่าวต้องการที่จะออกมาชี้แจง ศธ.รับฟัง ส่วนเรื่องเกณฑ์มาตรฐานของ สกอ. ที่มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนั้น เป็นเรื่องของกฎหมายที่ควรจะต้องมีการหารือกันต่อไป แต่คงต้องยึดเป็นหลักในการดำเนินการก่อน เพราะการจะใช้เกณฑ์เหล่านี้ จะมีการประกาศล่วงหน้า ดังนั้นมหาวิทยาลัยไหนที่ทำไม่ได้ ต้องบอกว่าทำไม่ได้ และปรับปรุงแก้ไข เพราะคนที่แก้ไม่ใช่ กกอ.
    นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า การจะอนุญาตให้มีการเปิดหลักสูตร เป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย ไม่ใช่หน้าที่ของ สกอ. หรือ กกอ. เพราะหน้าที่ของ กกอ.ตามกฎหมายคือการกำกับมาตรฐานอุดมศึกษา ให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิของอุดมศึกษา โดยการที่ให้มหาวิทยาลัยประกันคุณภาพการศึกษาภายในตามเกณฑ์ที่ สกอ.กำหนด และรายงานให้ กกอ. ทราบทุกปีเพื่อเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะนั้น เป็นการดำเนินการแบบสากลที่ใช้กันทั่วโลก สำหรับการปรับปรุง ปิดหลักสูตรหรืองดรับนักศึกษา เป็นหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย สกอ.ไม่มีสิทธิ์ที่จะสั่งปิดหลักสูตร ทำได้เพียงประกันคุณภาพ กำกับและดูแลเท่านั้น
    “ตอนนี้เราพยายามให้ สกอ.ทำในส่วนที่เป็นเรื่องการสนับสนุน ส่งเสริม ดูแลมาตรฐาน คุณภาพ ไม่ใช่เข้าไปควบคุมมหาวิทยาลัยที่ต้องมีอิสระในการปฏิบัติงานและวิชาการ ดังนั้น มหาวิทยาลัยก็ต้องรู้บทบาทตัวเองด้วยว่าจะต้องทำให้เป็นไปตามมาตรฐาน มองถึงนักศึกษาเป็นหลัก รักษาสิทธิประโยชน์ของนักศึกษาและผู้ปกครองด้วย” รมช.ศธ.กล่าว
    ขณะที่นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ชี้แจงว่า ข้อมูลที่ สกอ. เปิดเผยนั้นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียงอย่างมาก เพราะจำนวนหลักสูตรที่กล่าวถึงเป็นข้อมูลเก่าที่มหาวิทยาลัยปิดหลักสูตรไปแล้ว 23 หลักสูตร และใน 17 หลักสูตร มี 6 หลักสูตรที่งดรับนักศึกษาไปแล้ว และมี 1 หลักสูตรที่กำลังปิดในปีการศึกษา 2561 ส่วนหลักสูตรที่เหลือได้มีการปรับปรุงหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว โดยสาเหตุที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน เนื่องจากจำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตรไม่เป็นไปตามเกณฑ์กำกับมาตรฐานเพียงเรื่องเดียว ซึ่งเป็นปัญหาในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้น อาจารย์ประจำหลักสูตรบางคนเกษียณอายุ ต้องรออีก 1 ปี กว่าสำนักงบประมาณจะจัดอัตรากำลังให้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ สกอ.มองข้าม และทำตัวเป็นศาลที่คอยบอกว่าคนอื่นไม่มีคุณภาพ
    “จากการประชุมสภามหาวิทยาลัยวันนี้ (17 ม.ค.) กรรมการสภามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่สบายใจกับข่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งผมได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าว ขณะเดียวกันสภามหาวิทยาลัยก็มีมติเห็นชอบให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ไปพิจารณาว่ามหาวิทยาลัยจะสามารถดำเนินการทางกฎหมาย หรือทำอะไรต่อ สกอ.ได้บ้าง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายให้มหาวิทยาลัย ม.รามคำแหงเป็นข้าราชการ มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ได้ต่างจาก สกอ. และมีการดำเนินการจัดการศึกษาอย่างระมัดระวัง อีกทั้ง  ม.รามคำแหงใช้พระนามของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นชื่อมหาวิทยาลัย ซึ่งเรามีการดำเนินการที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพ เห็นได้จากบัณฑิตที่ผลิตออกไปรับใช้สังคมจำนวนหลายแสนคน แต่การเปิดเผยรายชื่อของมหาวิทยาลัยครั้งนี้ เป็นการทำงานที่ขาดความรอบคอบของ สกอ.” นายวุฒิศักดิ์ระบุ
    ทั้งนี้ ขอให้ สกอ.ทบทวนถึงการเปิดเผยข้อมูลว่ามีเวลาให้มหาวิทยาลัยดำเนินการหรือไม่ เพราะเกณฑ์ปี 2558-2559 เป็นเกณฑ์ที่ประกาศในปี 2557 และก่อนหน้านี้ สกอ.ไม่ได้เข้มงวด เพิ่งมาเข้มงวดในปี 2557 ถือว่าไม่เป็นธรรม ทำไมถึงมาประกาศว่าเกณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุง ดำเนินการและหลายเรื่องส่งไปที่ สกอ.แล้ว จึงอยากให้ สกอ.ทบทวนอะไรที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และอะไรที่เป็นไปไม่ได้  นอกจากนั้น ภาษาที่ใช้ ที่กล่าวหา ม.รามคำแหงหรือมหาวิทยาลัยอื่นๆ จัดการศึกษาไร้คุณภาพมาตรฐาน เป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายอย่างมาก หลังจากนี้จะทำหนังสือถึง สกอ. ขอผลการประชุม กกอ.เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการพิจารณาเรื่องใดบ้าง และทำไมถึงได้คัดเลือก 40 สถาบันนี้ขึ้นมาประกาศเลือกมาในกลุ่มแรก อยากฝากให้ทำมติ ข้อมูลให้ดี
    "ม.รามคำแหงเป็นตลาดวิชา ใครก็ตามที่จบการศึกษาแล้วมาสมัครเรียนที่ ม.รามคำแหง มหาวิทยาลัยไม่สามารถปฏิเสธไม่รับนักศึกษาได้ ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การเปิดคณะศึกษาศาสตร์ ม.รามคำแหง ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ คือรับไม่เกิน 30 คน ซึ่งการใช้เกณฑ์นี้กับ ม.รามคำแหง จะขอให้ สกอ.แก้กฎหมายของ ม.รามคำแหงด้วย และถ้าแก้ก็ขอให้บอกศิษย์เก่า ม.รามคำแหงด้วย เพราะอาจจะไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง และเราขอยืนยันว่าเรามีความรับผิดชอบต่อสังคม จัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เรายืนยันว่าจะทำหน้าที่ของเราต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ทำให้เราย่อท้อในการสร้างความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย" อธิการบดี ม.รามคำแหง กล่าว
    อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินภายในของ สกอ.ครั้งนี้ ไม่มีผลกระทบต่อนักศึกษา เนื่องจากหลักสูตรที่ สกอ.ประกาศไปนั้น ได้ผ่านการรับทราบจาก สกอ.เรียบร้อย ดังนั้น บัณฑิตทุกคนที่จบสามารถไปทำงานได้ตามปกติ ยืนยันว่าหลักสูตรที่เปิดทั้งหมดของ ม.รามคำแหง มีมาตรฐานและ สกอ.รับรองแล้ว
    ด้านนายศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เชียงราย กล่าวว่า ได้ชี้แจงกลับไปที่ สกอ.แล้ว ว่าใน 22 หลักสูตรของ มรภ.เชียงราย ที่แจ้งว่าไม่มีมาตรฐานนั้น สถาบันได้ปิดหลักสูตร งดรับนักศึกษา และปรับปรุงแก้ไขไปแล้ว จนถึงขณะนี้มั่นใจว่าหลักสูตรที่เปิดอยู่มีมาตรฐาน และจากการสอบถามนักศึกษาที่จบปีการศึกษา 2560 ทราบว่าบัณฑิตร้อยละ 80-90 มีงานทำ แสดงว่าหลักสูตรที่เปิดสอนมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ 
    นางนิตย์ เพ็ชรรักษ์ รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า ทุกหลักสูตรของมหาวิทยาลัยได้แก้ไขปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้มีจำนวนอาจารย์เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่ สกอ.กำหนด ส่วนหลักสูตรอื่นๆ ที่ สกอ.ประกาศปิดหลักสูตรและงดรับนักศึกษานั้น ทางมหาวิทยาลัยได้แจ้ง สกอ.เอง ไม่ใช่ สกอ.ทำหนังสือขอให้ปิดหรืองดรับนักศึกษา เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีการตรวจสอบคุณภาพภายในอย่างเข้มข้น และหลักสูตรไหนไม่สอดคล้องกับแนวทางของมหาวิทยาลัย ความต้องการของประเทศ มหาวิทยาลัยจะไม่เปิดหลักสูตรดังกล่าว 
    นายเด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สกอ.ออกมาประกาศไม่ได้มาตรฐานนั้น เป็นการตอบที่ตรงจุด ตามที่ มข.เสนอขึ้นไป ปัจจุบันได้ปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ไปแล้วเมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและแอนิเมชั่น (หลักสูตรนานาชาติ) งดรับนักศึกษามาตั้งแต่ปี 2557 ส่วนหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอกนั้น ยังคงจัดการเรียนการสอนตามปกติ เพราะได้แก้ไขเรื่องการขาดแคลนอาจารย์ มีการรับอัตรากำลังทดแทนแล้วเสร็จทั้งหมด และปฏิบัติตามระเบียบของ สกอ.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"