รณรงค์ใส่ผ้าไทย เฉลิมพระเกียรติ 86พรรษา‘ราชินี’


เพิ่มเพื่อน    

 วธ.จัดรณรงค์ใส่ผ้าไทยเอกลักษณ์ 4 ภาค เฉลิมพระเกียรติ 86 พรรษาราชินีใน ร.9 ดึงผู้ประกาศข่าว-พิธีกรเป็นแบบอย่าง สวธ.เก็บองค์ความรู้การใช้ผ้ากลุ่มชาติพันธุ์ไทยญวน-กะเหรี่ยง-เขมร บันทึกมรดกภูมิปัญญาชาติ

    ที่ลานสระน้ำ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดกิจกรรมรณรงค์การใส่ชุดไทยเอกลักษณ์ 4 ภาค โดยนางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายรณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่ผ้าไทย สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการรณรงค์ส่งเสริมชุดไทยเอกลักษณ์ 4 ภาค เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล 86 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9   
    โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับ บมจ.อสมท จำกัด (มหาชน) จัดโครงการอนุรักษ์ผ้าไทย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  ในรัชกาลที่ 9 เพื่อชักชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทย ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าไทยพื้นถิ่น แล้วแต่เอกลักษณ์ผ้าไทยของภาคนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เป็นองค์อุปถัมภ์และมีคุณูปการต่อผ้าไทย ทรงอนุรักษ์ลายผ้าโบราณที่ใกล้สูญหาย การอนุรักษ์และพัฒนาผ้าไทยมาถึงทุกวันนี้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ วธ.สืบสานพระราชปณิธานและเชิญชวนประชาชนใช้ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้จะปลุกกระแสและรณรงค์ผ่านรายการทางสถานีโทรทัศน์ตลอดทั้งปี
    "ผู้บริหารประเทศ ผู้นำองค์กร มีการสวมใส่เป็นแบบอย่างที่ดีให้ประชาชน แม้แต่โรงเรียนทั่วประเทศมีการนำผ้าพื้นถิ่นมาให้นักเรียนสวมใส่ เชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่น ส่วนระดับจังหวัด แต่ละจังหวัดรณรงค์ใส่ผ้าไทยในส่วนราชการเพื่อชักนำให้ประชาชนในท้องถิ่นใส่ผ้าไทยตาม อีกทั้งคนไทยหันมาใส่ผ้าไทยในเทศกาลสำคัญเพิ่มมากขึ้น วธ.จะขยายผลการส่งเสริมใช้ผ้าไทยต่อไป เป็นการสืบสานและต่อยอดพระราชปณิธานราชินีในรัชกาลที่ 9 ด้านคนรุ่นใหม่พบว่ามีการนำผ้าไทยมาออกแบบสวมใส่อย่างเก๋ไก๋ ไม่ใช่ใส่ผ้าไทยแล้วจะอยู่บนเวทีเท่านั้น การดูแลรักษาผ้าไทยก็ไม่ได้ยาก" นางฉวีรัตน์ระบุ
    ด้านนายเผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย กล่าวว่า กระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทยมีการพัฒนาขึ้นมากเมื่อเทียบในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เป็นผลสำเร็จของการรณรงค์ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดกิจกรรมและจัดทำสื่อสารคดีให้ความรู้ผ้าไทยอย่างต่อเนื่องเผยแพร่สู่สาธารณะ ทั้งรายการโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตผ้าไทย โดยเฉพาะช่างทอ พบว่าเกิดช่างทอคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 20-30 ปีเพิ่มขึ้นมาก เป็นกลุ่มคนมีไฟ และสามารถประยุกต์กรรมวิธี เทคนิคต่างๆ เกิดการผสมลวดลายจากภูมิภาคและชาติพันธุ์ต่างๆ สร้างสรรค์เป็นลวดลายใหม่ หลุดพ้นจากกรอบเดิม ซึ่งคนรุ่นใหม่คิดว่าจำเจ นอกจากนี้ พบว่าคนสนใจอยากใช้ผ้ามากขึ้น เมื่อผู้ผลิตและผู้ใช้มากขึ้น ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ
    "เราพบเห็นคนสวมใส่ผ้าไทยไปหลากหลายที่ และอายุของคนสวมใส่ผ้าไทยอายุน้อยลง เป็นวัยทีน ใช้ผ้าไทยทำย่าม กระเป่า หมวก รองเท้า และวัสดุต่างๆ ไม่เฉพาะชุดสวมใส่ กล้านำผ้าไทยมาใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนกิจกรรมรณรงค์ให้ผู้ประกาศข่าวหนุ่มสาวและสื่อมวลชนสวมใส่ผ้าไทย คนเหล่านี้เป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นผู้ประกาศ จะเป็นแรงกระตุ้นให้ประชาชนรับรู้ผ้าไทยไม่ใช่ของไกลตัว ไม่เชย" นายเผ่าทองกล่าว
    ทั้งนี้ การทำองค์ความรู้ผ้าไทยร่วมกับ สวธ. ยังเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะการจัดทำสารคดีผ้าไทย สิ่งทอไทย การแต่งกายแบบไทย การใช้ผ้าไทยของกลุ่มชาติพันธุ์และภูมิภาคต่างๆ รวมถึงการใช้ผ้าของกลุ่มวัฒนธรรมอาเซียน ได้รับความสนใจอย่างมาก เฟซบุ๊กผ้าไทยมีแฟนเพจจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การจัดทำองค์ความรู้ต้องทำต่อเนื่อง เพราะเป็นมรดกภูมิปัญญาที่สืบทอดมากว่าพันปี มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยซ่อนในผ้าไทยถือเป็นองค์ความรู้ที่ต้องจัดเก็บ 
    นายเผ่าทองกล่าวว่า ในปีนี้กำลังเก็บรวบรวมองค์ความรู้ผ้าและการใช้ผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยญวน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดอยอินทนนท์ ซึ่งไม่เคยมีการเก็บข้อมูลวัฒนธรรมผ้ากะเหรี่ยงแบบละเอียดมาก่อน มีการใช้พืชพื้นถิ่นกะเหรี่ยงบนดอยอินทนนท์ทำผ้า แล้วยังมีกลุ่มชาติพันธ์เขมร จ.สุรินทร์, กลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว จ.อุบลราชธานี, กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง จ.อุทัยธานี และกลุ่มชาติพันธุ์ไทยภาคใต้ จ.สงขลา มีผ้าแปลกๆ มีการอยู่ร่วมกันของพุทธ มุสลิม และจีน ภูมิปัญญาเหล่านี้ต้องบันทึกและเผยแพร่สู่สาธารณะ เป็นการอนุรักษ์และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9.   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"