ขยับโรดแมปเลือกตั้ง!


เพิ่มเพื่อน    

     แม้ต่อให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และบุคคลที่ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะยืนกรานว่า กมธ.ไม่มีหมกเม็ด-ลักไก่-รับใบสั่งมาแก้ไข เปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระในบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสำคัญที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ด้วยการปรับเพิ่มเงื่อนไขเวลาในการบังคับใช้กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. โดยให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษาออกไปอีก 90 วัน จากปกติให้ใช้บังคับวันถัดไปหลังประกาศใช้เป็นกฎหมายในราชกิจจานุเบกษา อีกทั้งเป็นหลักที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เจ้าของร่างไม่ได้ชงมาให้ สนช.แต่แรกเริ่ม
    หากออกมาเช่นนี้อาจทำให้โรดแมปการเลือกตั้งเปลี่ยนไป จากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เคยประกาศไว้ว่าจะมีเลือกตั้งช่วงปลายปีนี้ ก็เป็นไปได้ที่อาจขยับไปปี 2562
    แต่ดูเหมือนคำยืนยันดังกล่าวไม่ค่อยมีใครเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะรู้ดีว่าการพิจารณาของ สนช. สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตอนพิจารณาวาระ 2 เรียงรายมาตรา โดยหากที่ประชุมเห็นควรให้แก้ไขเนื้อหาบางประการตามที่มี สนช.ขอสงวนคำแปรญัตติ ซึ่งเนื้อหาแตกต่างไปจากร่างของ กมธ.ก็สามารถทำได้ เห็นได้จากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลายฉบับของ สนช.ยุคนี้ มีหลายครั้งหลายหนที่เรื่องสำคัญๆ  มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกลางที่ประชุม ชนิดแทบไม่เหลือโครงร่างเดิมตามร่างที่ กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.แต่ละฉบับส่งมาให้ 
    ดังนั้น ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคมนี้ให้จับตาการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ของ สนช.กันให้ดี  เพราะไม่แน่เนื้อหาสาระสำคัญหลายเรื่องอาจไปโผล่กลางที่ประชุม
    ส่วนโอกาสที่ สนช.จะลงมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อยืดโรดแมปให้ คสช.อยู่ในอำนาจต่อไป จับกระแสถึงตอนนี้พบว่ายังไม่มีเค้าลาง และเชื่อว่า สนช.คงไม่คิดสั้นกระทำเช่นนั้น เพราะหากคิดจะขยายโรดแมปให้ คสช.จริง สู้ใช้วิธีแก้ไขเนื้อหาในบทเฉพาะกาลบางอย่างในร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.จะเนียนกว่าแบบเห็นๆ
    ยิ่งเมื่อกูรูทางกฎหมายของ คสช.-รัฐบาล ทั้งมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ., วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาการันตีแล้วว่าหาก สนช.จะแก้ไขเงื่อนเวลาการเลือกตั้ง หลังมีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งก็สามารถทำได้ไม่ขัด รธน.
    แบบนี้ยิ่งทำให้ สนช.ที่คิดจะทำเช่นนั้นย่อมมองเห็นลู่ทาง แต่ก็อยู่ที่ สนช.ส่วนใหญ่จะเอาด้วยหรือไม่ เพราะหากทำกันจริงก้อนอิฐการเมือง แรงเสียดทาน เสียดสีสารพัดจะพุ่งเข้าใส่ สนช.อย่างหนัก เรื่องนี้หาก สนช.คิดทำจริง แน่นอนว่าต้องฟังสัญญาณจาก คสช.เป็นหลักด้วย เพราะหากกระทำการอันทำให้โรดแมปไม่เป็นไปตามที่บิ๊กตู่เคยประกาศไว้ที่จะให้มีการเลือกตั้งปลายปีนี้ อาจทำให้ทั้งบิ๊กตู่และ สนช.พลอยเสียเครดิตทั้งคู่ จะมาอ้างว่าคิดและทำกันเองไม่เกี่ยวกับ คสช. พูดไปก็เมื่อยปากไม่มีใครเชื่อ
    และด้วยความไม่เชื่อมั่นว่า สนช.จะเอาอย่างไร ทำให้นักการเมือง พรรคการเมืองต้องปล่อยหมัดฮุกดักทางไว้แต่เนิ่นๆ ไม่ให้ สนช.ปูทางขยับโรดแมป แม้ สนช.-กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งจะการันตีไม่มีแนวคิดขยับเลือกตั้ง แต่พวกนักการเมืองที่เร่งวันเร่งคืนให้เลือกตั้งก็หาฟังไม่
    ไม่ว่าจะเป็น เพื่อไทย ที่คนในพรรคออกมาประสานเสียงกดดันหนัก อาทิ ชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า หากมีการขยับโรดแมปเลือกตั้งจาก พ.ย.61 ออกไปจะกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและต่างประเทศอย่างรุนแรง ถือเป็นการทำลายความมั่นคงของประเทศทั้ง 2 ด้าน ผู้ที่มีส่วนขยับโรดแมปดังกล่าวต้องรับผิดชอบหรือไม่ ขอให้วิญญูชนช่วยพิจารณา
    หรือ นพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ดักทางไว้ว่า ถ้า กมธ.และ สนช.ทำจริงตามข่าวอาจส่งผลให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป แต่ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่าทำไปทำไม ประเทศได้ประโยชน์อย่างไร โดยส่วนตัวเห็นว่านักการเมืองไม่ได้เดือดร้อนว่าจะเลือกตั้งช้าไปสองสามเดือน ถ้ามีชุดคำอธิบายที่ดีพอ แต่ตนไม่อยากให้ความน่าเชื่อถือของท่านนายกฯ ที่ประกาศว่าจะให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ได้รับผลกระทบ เพราะจะทำให้การทำงานยากขึ้น อีกทั้งยังลามไปถึงความน่าเชื่อถือของประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน
    สอดรับกับจังหวะการกระทุ้งของ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ต้องการให้เลื่อนการเลือกตั้งเช่นกัน แกนนำพรรคอย่าง นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค เลยต้องรีบกระตุก สนช.ไว้ก่อนที่จะมีการพิจารณาร่างดังกล่าวในสัปดาห์หน้าว่า ที่ผ่านมาการหน่วงเวลาบังคับใช้กฎหมายส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษี เพื่อให้หน่วยงานราชการหรือประชาชนปรับตัวเข้ากับระบบภาษีใหม่ได้ แต่คราวนี้มองว่าเป็นการหน่วงเวลาเพื่อยืดการเลือกตั้ง เท่าที่จำได้ไม่เคยปรากฏเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน การหน่วงเวลาการเลือกตั้งโดยกฎหมายในครั้งนี้เหมือนบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้ต้องเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังกฎหมายใช้บังคับ
    สรุปสุดท้าย โรดแมปจะขยับหรือยังคงเดิมต้องรอความแน่ชัดจากที่ประชุม สนช.ตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. วาระ 2 และ 3 ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ดีที่สุด
     โดยผลการประชุมอย่างเป็นทางการของ กมธ.สรุปว่า คณะกรรมาธิการมีมติเสียงข้างมากให้แก้ไขมาตรา 2 ของกฎหมายดังกล่าว โดยกำหนดให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ 90 วันนับแต่วันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จากเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
    เท่ากับมีความเป็นไปได้แล้วว่าโรดแมปการเลือกตั้งจะขยับออกไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"