ล็อบบี้ เลือก 7 กสทช.


เพิ่มเพื่อน    

 

ล็อบบี้เลือก 7 กสทช.

ทหาร-บ.เอกชน มีขยับ 

การคัดเลือกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเป็น กสทช.ที่มีด้วยกัน 86 คน และจากนั้นจะลงมติเลือกให้เหลือไม่เกิน 14 รายชื่อ ส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เลือกให้เหลือ 7 ว่าที่อรหันต์ทองคำ กสทช. ส่วนรายชื่อที่ออกมาสังคมจะยอมรับหรือไม่ต้องรอติดตาม 

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ที่เวลานี้อยู่ระหว่างรักษาการรอ กสทช.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่รับงานต่อ กล่าวถึงภาพรวมการเลือก กสทช.ชุดใหม่ โดยยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้สมัครบางคนอาจใช้คอนเนกชันกับผู้คัดเลือกเพื่อให้ตนได้รับเลือกเป็น กสทช. รวมถึงยังได้กางแผนงานเร่งด่วนที่รอให้ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาสานต่อ

เริ่มต้นถามการเลือก กสทช.ดูจากรายชื่อผู้สมัครหลายคนมีที่มาที่ไปหลากหลาย ทั้งภาคราชการ  ภาคเอกชนที่มาจากกิจการโทรคมนาคม หากกลุ่มเหล่านี้เข้ามาเป็น กสทช.จะเป็นอย่างไร นพ.ประวิทย์ ให้ความเห็นว่า ถ้าเป็นเอกชนแล้วคิดว่าบอร์ด กสทช.จะชี้เป็นชี้ตายกับเขา ขั้นแรกก็ต้องส่งตัวแทนไปเป็นบอร์ด ดังนั้นเขาก็ต้องหาคนที่เคยคุ้นเคยกัน เช่นเคยทำงานที่บริษัทหรือใครก็ตามแต่ที่เขาไว้ใจ ซึ่งบางทีอาจเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ได้ เพราะบางทีเอกชนก็ไว้ใจอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะเขาเลี้ยงดูกันมาระดับหนึ่งแล้วส่งมาเป็นบอร์ด กสทช.

ยกตัวอย่างครั้งที่ผมสมัครแล้วเข้ามาเป็นกรรมการ พอคนทางเขาแพ้ เขาทำอย่างไร เขาไม่หยุด ไม่ยอมแพ้ คือต่อให้เขาคิดว่าคนที่จะมาเป็นตัวแทนไม่สามารถเข้ามานั่งเป็นกรรมการได้ เขาก็มาล็อบบี้บอร์ดที่ไม่ใช่ตัวแทนเขา มาทำความคุ้นเคยกันใหม่ก็ได้

 “เอกชนเขาทำสองช็อตตลอดเวลา ไม่ต้องกังวลว่าบางคนดูชื่อแล้วเป็นพวกเขา ต่อให้คนพวกนั้นไม่ได้รับเลือก เขาก็ต้องพยายามมาหาพวกใหม่อยู่ดี”

 ดังนั้นใครที่เป็นบอร์ด กสทช. ต่อให้ไม่รู้จักแต่ต่อไปก็จะรู้จัก เอกชนก็จะมาป้วนเปี้ยนมาแนะนำตัว มาเลี้ยงดูอะไรกันก็ว่ากันไป หรือเอาแบบทหาร เอาแบบการเมือง ผมต้องบอกไว้ก่อนว่าตั้งแต่สมัยเป็นรัฐบาลปกติ ตั้งแต่ยุค กทช.-กสทช. จะไม่ค่อยฟังรัฐบาลเท่าไหร่เพราะเชื่อว่าเป็นอิสระ

ยกตัวอย่างตั้งแต่สมัยคุณอภิสิทธิ์ อยากแปลงสัญญาณสัมปทานเป็นใบอนุญาต โดยมีเงื่อนไขว่าอยากให้ยืดอายุด้วย คุณอภิสิทธิ์มาเองเลย เราก็ลงไปคุยด้วย เราก็บอกว่าแปลงได้แต่ยืดอายุไม่ได้เพราะกฎหมายเขียนชัด การเมืองก็ถอยกลับไปเพราะรู้ว่าทำอะไรไม่ได้ ก็เหมือนกัน พอมาเป็นยุคเพื่อไทยก็เหมือนกัน สั่งอะไรมาไม่ใช่ว่าเราจะทำให้ เพราะมีกรอบกฎหมายอยู่ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นยุคทหาร  ไม่ต้องสั่ง แค่กระซิบมาทุกอย่างก็เดินแถวตรงหมด อยากปิดทีวีช่องไหน แม้ช่องอื่นก็พูดเหมือนกัน แต่อยากจะปิดบางช่อง แต่ช่องอื่นไม่ปิด หรืออยากมีนโยบายอะไรก็เดินตามนั้น

ส่วนหนึ่งเพราะองค์กรกลัวผลกระทบจากอำนาจ ระดับบอร์ดคือดื้อมาก เดี๋ยวจะโดน ม.44 องค์กรดื้อมากก็จะโดนปฏิรูปองค์กร หลายคนก็เข้าแถวเป็นเด็กดี

นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่ารายชื่อผู้สมัคร กสทช.ทั้งหมด พิจารณาภาพรวมแล้วหลายคนก็ต้องบอกว่ามีหน่วยก้านดี ไม่ใช่ไม่ดี ไม่ใช่ว่าขี้ริ้วขี้เหร่ทุกคน ถ้าจะเลือกให้เป็น กสทช.ที่ดีเลือกได้ จะเข้ามาทำให้ กสทช.ดีได้ แต่ปัญหาคือเหมือนตัวอย่างครั้งที่ผ่านมา คนที่ดูแล้วหน่วยก้านดี บางคนพูดแบบผู้หญิงคือดีเกินไป เราไม่เลือก

ผมยกตัวอย่างคนที่เคยคลุกคลีกับวงการโทรคมนาคม เคยทำงานวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ   ฝีมือดี แต่ก็ไม่ได้รับเลือก ซึ่งการเลือกก็เป็นดุลยพินิจของกรรมการสรรหาและฝ่ายสภาก็ต้องยอมรับ

“อนาคต กสทช.ชุดใหม่จะดีหรือไม่ดีก็ต้องรอวันโหวต โหวตชื่อออกมาเสร็จถึงจะรู้ว่ายี้หรือไม่ยี้

 แล้วที่บางคนกังวลว่าทหารจะเข้ามาครอง เรื่องครองไม่ครองผมไม่รู้ แต่ผมมีเหตุผลที่ต้องอธิบายว่า รัฐบาลอำนาจนิยมสิ่งที่กลัวที่สุดคือสื่อ แล้วสื่อปัจจุบันพวกสื่อในระบบค่อนข้างเป็นเด็กดี เซ็นเซอร์ตัวเองเยอะ ฉายารัฐบาลไม่ตั้งมาสองปีแล้ว เคยมียุคไหนบ้างที่สื่อไม่ตั้งฉายารัฐบาล จะอ้างเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ คือการทำตัวเป็นเด็กดีของรัฐบาล แต่สื่อที่รัฐบาลคุมไม่ได้คือสื่อสังคม ฝ่ายสนับสนุนก็มี ฝ่ายไม่สนับสนุนก็มี ตรงนี้เข้าใจว่าฝ่ายอำนาจก็พยายามจัดการสื่อสังคมเหล่านี้ ก็เป็นเหตุผลว่าต้องเข้ามามีบทบาทในองค์กรสื่อ องค์กรกำกับดูแลสื่อทั้งหลายทุกองค์กร เรื่อง กสทช.คนในขั้วอำนาจก็อยากได้คนที่เห็นเหมือนกันกับเขามาควบคุมสื่อ

นอกจากนี้คือเรื่องผลประโยชน์ หน่วยงานรัฐถือครองแค่ไหน วิทยุที่กองทัพถือครองมีแค่ไหน รวมถึงวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ บริษัท อสมท ซึ่งจริงๆ แล้วต้องถูกดึงคลื่นกลับมาจัดสรรใหม่ ซึ่งคนที่มีคลื่นพวกนี้อยู่ก็จะมีเงินเข้ากระเป๋า หากมีการปฏิรูปก็จะหายไป

คนที่ครองอำนาจรัฐก็พยายามหาทางจัดการ จะเอาแบบคือจะไม่ยอมคืนเลย หรือคืนคลื่นก็ได้แต่ต้องให้มีเงินอุดหนุนให้รัฐพอมีกินเหมือนเดิม เช่นเอาคลื่นคืนไปแต่ต้องเอาเงินมาให้ ยื่นหมูยื่นแมว จึงเป็นเหตุผลว่าอำนาจรัฐก็อยากยึดครอง กสทช.

ถามย้ำว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ในยุค คสช.ทหารจะเข้ามายึด กสทช.ทั้งหมด นพ.ประวิทย์-กสทช. ตอบว่ายึดหมดหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่พูดง่ายๆ ว่าในยุคที่ผมเข้ามาเป็น กสทช. ตอนนั้นเป็นช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย พวกเครื่องแบบก็ยังเข้ามาเยอะแยะ ไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะตามกฎหมายเขียนไว้ว่าพวกที่มาจากสายเอกชน หากจะมาสมัครเป็น กสทช.ต้องเว้นวรรคหนึ่งปี พวกเอกชนใหญ่ๆ  จะมาไม่ทัน เพราะไม่รู้ล่วงหน้าจะเปิดรับสมัครวันไหน และคนที่ถือครองหรือจัดการคลื่นพวกนี้มาตลอดคือภาครัฐ เช่นทหาร กรมประชาสัมพันธ์ คนในภาครัฐจึงเชี่ยวชาญเรื่องคลื่นและการจัดการธุรกิจพวกนี้มากกว่าเอกชนอยู่แล้ว คนในภาครัฐจึงรู้ช่องทางมากกว่าเอกชน เมื่อมาสมัครก็มีโอกาสมากกว่าอยู่แล้ว  แล้วในภาครัฐก็จะมีคอนเนกชันกันอยู่แล้ว เช่นการไปอบรมหลักสูตรของหน่วยงานต่างๆ ด้วยกัน หรือวิ่งไปบ้านต่างๆ ก็มีเครือข่ายกันอยู่

- หลังกรรมการสรรหาคัดเหลือ 14 ชื่อส่งไปให้ สนช.เลือกให้เหลือ 7 คน จะมีระบบอุปถัมภ์ การล็อบบี้กันได้หรือไม่?

อันนี้ต้องเคารพกรรมการสรรหา แต่ผมเข้าใจว่าหากผมมีอำนาจ ถ้าผมอยากได้คนที่ล็อกชื่อไว้ ผมก็ต้องเข้าไปพูดคุยกับกรรมการสรรหา ก็อยู่ที่กรรมการสรรหาแต่ละคน ยกตัวอย่างกรรมการสรรหาสายโน้นสายนี้ ใครบ้างคิดว่าตัวเองต้องพึ่งพิงอำนาจ ถ้าต้องพึ่งพิงอำนาจเมื่อใด ผู้มีอำนาจสั่งมาก็ต้องยอม  แต่ถ้าบางคนรู้สึกว่าไม่ หน่วยงานของตนเองอิสระอยู่ได้ด้วยตัวเอง ผู้มีอำนาจสั่งมาก็อาจไม่ยอมก็ได้

ดังนั้นเข้าใจว่าอันนี้เป็นเรื่องปกติ ไม่อยากบอกว่าเป็นกองทัพหรือรัฐบาล ผมเชื่อว่าคนที่สมัครส่วนใหญ่จะพยายามหาทางคอนเนกกับกรรมการสรรหา กสทช. จะเรียกว่าล็อบบี้หรือแนะนำตัวก็ได้ ก็พยายามเชื่อมต่อหมด ถ้าตัวเองเชื่อมไม่ได้ก็พยายามไปหาเจ้านายตัวเอง ไปหาผู้ใหญ่ของตัวเองให้ไปเชื่อมต่อ ดังนั้นไม่ใช่แค่ทหาร ผมเชื่อว่าทุกคนก็พยายามหาผู้ใหญ่ที่อยู่ข้างหลังให้เชื่อมต่อให้ แต่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็อีกเรื่องหนึ่ง เพียงแต่ทหารจะมีแต้มต่อกว่าคนอื่น เพราะคนอื่นเห็นผู้ใหญ่เป็นคนๆ  แต่ทหารคือคนที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน แล้วผู้ใหญ่สั่งหรือพูดไปปุ๊บ กรรมการสรรหาไม่ทำตามก็อาจไม่มีคุณไม่มีโทษกัน อาจแค่เฮิร์ตหรือขุ่นข้องหมองใจเล็กน้อย แต่ถ้าทหารที่ครองอำนาจอยู่สั่งปุ๊บ แล้วกรรมการสรรหาไม่ฟัง ดีไม่ดีอาจจะโดนอะไรบางอย่าง อาจจะโดนมาตรา 44 อะไรต่อไปเรื่อยๆ

“พวกนี้ก็ทำให้เชื่อได้ว่า ถ้าอำนาจปัจจุบันไปสั่ง มีโอกาสจะสำเร็จสูง"

นพ.ประวิทย์ พูดถึงข้อเสนอแนะต่อกรรมการสรรหาและ สนช.ในการลงมติเลือก กสทช.ว่า ผมยกตัวอย่างถ้าเป็นร้านอาหาร กสทช.ก็คือพ่อครัว กรรมการสรรหาคือคนคัดเลือกพ่อครัว ก็ต้องถามกรรมการสรรหาว่าอยากให้ร้านนี้อาหารอร่อยสะอาดหรือไม่ ก็แปลว่าต้องรู้ว่าจะคัดเลือกใคร เพราะหากคัดคนมาผิดอาหารก็จะห่วย ไม่มีคนกิน สกปรก แล้วก็ต้องเจ๊ง กรรมการสรรหาจึงไม่ได้แค่ดูว่าพ่อครัว มีศีลธรรมถือศีลห้า ซึ่งจะมีศีลห้าหรือไม่มีผมไม่สน สนแต่ว่าเป็นพ่อครัวที่ดีหรือไม่ ถ้ากรรมการสรรหาบอกว่าคนนี้ประวัติดี แบบนี้ผมไม่สนเพราะประวัติไม่เกี่ยวกับการทำอาหาร เอาเป็นว่าเขาทำอาหารดีหรือไม่ ที่ผมต้องการบอกก็คือกรรมการสรรหาไม่ใช่แค่คัดคนดี แต่ต้องคัดคนที่ทำงานได้

ส่วนที่จะให้คนที่สมัครแสดงวิสัยทัศน์ แต่คนที่ฟังการแสดงวิสัยทัศน์ต้องรู้เรื่องดีกว่าคนที่แสดง  เพราะไม่เช่นนั้นพูดอะไรมาก็ไม่รู้เรื่องอะไร กรรมการสรรหาจึงต้องมีวิสัยทัศน์ในเรื่อง กสทช.ในอนาคตด้วยในอีก 6 ปีข้างหน้า ซึ่งหากผู้สมัครพูดมาตรงก็ผ่านการคัดเลือก แต่ไม่ใช่ว่าคนนี้เป็นญาติกับใคร  คนนี้รวยแล้วไม่โกง คนนี้จบการศึกษาจากสถาบันที่ดี แบบนี้ไม่มีประโยชน์ คำถามต้องคือเขามีวิสัยทัศน์ตรงกับวิสัยทัศน์ประเทศไทยหรือไม่ ผมไม่อยากให้กรรมการสรรหาแค่คัดเลือกคนดี แต่ต้องเลือกคนที่ทำงานได้ ทำให้สังคมเดินไปข้างหน้าได้

ถามว่าแต่กรรมการสรรหาแต่ละคนก็เป็นระดับผู้ใหญ่ มาจากทั้งศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด องค์กรอิสระ เชื่อถือได้หรือไม่ นพ.ประวิทย์ ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องโครงสร้างกรรมการสรรหา กสทช.ดังกล่าวมาตั้งแต่แก้ไขกฎหมายแล้ว เพราะคนที่จะมาสรรหาพ่อครัวต้องรู้ดีกว่าพ่อครัว ใครจะมาสรรหา กสทช.ต้องรู้ดีกว่าคนมาสมัครเป็น กสทช. เชื่อหรือว่าเอา ป.ป.ช. เอาผู้ตรวจการแผ่นดิน เอาศาลมาแล้วจะรู้ดีกว่า กสทช. แต่ละท่านรู้จักดิจิทัลหรือไม่ อนาคตดิจิทัลด้านต่างๆ เช่น การหลอมรวม เรื่องแพลตฟอร์มต่างๆ เว้นแค่การให้มีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาร่วมเป็นกรรมการสรรหา เพราะแบงก์ชาติมีวิสัยทัศน์ว่าดิจิทัลต่อไปจะเป็นอย่างไร แต่กรรมการคนอื่นผมไม่รู้ว่ามีหรือไม่ เพราะคนที่จะเลือก กสทช.ต้องฉลาดกว่า กสทช. แต่ผมไม่แน่ใจว่ากรรมการสรรหาแบบนี้จะฉลาดกว่าหรือไม่ ก็อาจได้คนแบบที่บอกคือดูแค่ลักษณะท่าทาง ประวัติ ซึ่งไม่ได้บอกอะไรเลย หากกรรมการไม่รู้เรื่องสิ่งที่ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ก็จบเห่

- ยิ่งตอนส่งชื่อไปให้ สนช.ที่ส่วนใหญ่เป็นทหาร ก็อาจมีคำสั่งให้เลือกหรือล็อกชื่อไว้ตามโผ

ก็เป็นไปได้ ผมเข้าใจแบบนี้ คือตรงไปตรงมาก่อน แม้แต่ยุคประชาธิปไตยที่เป็นวุฒิสภาเลือกกสทช. สมาชิกวุฒิสภาก็มีกลุ่มต่างๆ มีโผของตัวเอง เช่นกลุ่ม 40 ส.ว. หรือกลุ่มที่มีการเมืองอยากเลือกใคร ก็มีการล็อบบี้มีโผกันหมด เพียงแต่ที่ผ่านมามันเบี้ยหัวแตก กลุ่ม 40 ส.ว.ก็กลุ่มหนึ่ง กลุ่มที่มีการเมืองหนุนก็มีหลายกลุ่ม แต่ตอนนี้ถ้าพูดแบบชาวบ้านคือพรรคทหารเป็นใหญ่ ก็มีโอกาสสำเร็จสูงอย่างที่บอก ถ้าสั่งเมื่อใดก็มีโอกาสสำเร็จสูง

นพ.ประวิทย์ กล่าวตอบหลังถามว่าประธาน กสทช.คนใหม่จะเป็นทหารหรือไม่ว่า เอาเข้าจริงๆ  แล้ว กสทช.ยุคแรกตอนยังเป็นคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ประธาน กทช.คนแรกก็เป็นทหาร เพราะอย่างที่บอกหน่วยงานรัฐถือครองคลื่น เช่น เจ้ากรมทหารสื่อสาร หรือพวกกรมประชาสัมพันธ์ ดังนั้นคนที่มีบทบาทก็จะเป็นพวกกรมประชาสัมพันธ์ กรมไปรษณีย์โทรเลข กรมทหารสื่อสาร ประธานคนแรกก็เป็นทหาร ก็เรื่องปกติ

“แล้วถามว่าจะเป็นทหารอีกไหม ก็มีโอกาส แต่ก็อยากบอกว่ามันไม่เข้ากับยุคสมัย เพราะช่วงหลังพวกเอกชน สายวิชาการเริ่มมีบทบาทขึ้น บางทีรู้เรื่องมากกว่ากรมทหารสื่อสาร กรมประชาสัมพันธ์ กรมไปรษณีย์ฯ ถ้ายังจะพยายามล็อกให้เป็นทหารให้ได้ มันอาจไม่ทันยุคสมัย  แต่ส่วนหนึ่งถ้าฝ่ายอำนาจต้องการอยากคุมให้ได้ แน่นอนว่าก็ต้องเอาคนที่เขาเชื่อใจ ถ้าบังเอิญคนที่เขาเชื่อใจเป็นพวกพ้องทหารก็เป็นทหาร”

ก็มีบางคนมาถามว่าคนที่สมัครบางคนมีคุณสมบัติ เช่นทำงานด้านนั้นอย่างวิทยุ โทรทัศน์ หรือทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมาไม่น้อยกว่าสิบปี จริงหรือไม่ คือหากเคยอยู่ช่อง 5 ก็อาจได้ แต่หากไม่เคยทำมาก่อน แล้วถามว่าเอาตรงไหนมาบอกว่าทำงานด้านนั้นสิบปี ตรงนี้หากตรวจสอบกันดีๆ ผมเชื่อว่าคนที่มาสมัครร่วม 86 คนจะหายไปอื้อ แต่หากหลิ่วตากันคนที่ถูกล็อกก็จะเข้ามาได้

 เอาง่ายๆ หากกฎหมายบอกว่าผมต้องเชี่ยวชาญด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี ผมก็ไปเขียนใบสมัคร แค่นี้คุณก็ไม่ซื่อสัตย์ต่อประเทศ แล้วจะเป็น กสทช.ที่ดีได้อย่างไร เพราะแค่เริ่มต้นก็โกหกแล้วทำงาน กสทช. 6 ปี จะไม่โกหกได้อย่างไร ไม่ใช่บอกว่าขอให้เป็น กสทช.ก่อนแล้วจะกลับตัวเป็นคนดี โดยที่ กสทช.บรรยากาศมันยั่วยวนมีกิเลสมากกว่าที่เคยอยู่อีก ถ้าอยู่ข้างนอกเป็นคนเลว เข้ามาเป็น กสทช.อาจเลวกว่าเดิม

- คนที่เข้ามาอาจไม่ได้เป็นสายตรง แต่เป็นนอมินีก็ได้?

ได้ทั้งนั้น แต่ผมเห็นอดีตข้าราชการบางคนที่มาสมัครคุณสมบัติไม่น่าจะครบ แต่ก็ยังบอกว่าครบ

นพ.ประวิทย์-กสทช. ที่กำลังนับถอยหลังอำลาเก้าอี้ พูดถึงภารกิจงานเร่งด่วนที่รอให้ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการต่อจากชุดรักษาการตอนนี้ว่า ต้องแยกเป็นสองส่วนหลัก คือต้องมองไปอนาคตที่ประเทศไทยต้องไปดิจิทัล ไปสู่ 5 จี 6 จี อะไรต่างๆ สิ่งที่ต้องเตรียมมีอะไรบ้าง เช่นรู้อยู่แล้วว่าทรัพยากรที่จะไปสู่ดิจิทัลคือเรื่องคลื่น ก็ต้องดูว่าเมื่อใดจะสะสางเรื่องคลื่นให้จบเสียที จะมีโรดแมปต่างๆ เช่นการดึงคลื่นคืนเมื่อใด จะจัดสรรและประมูลคลื่นเมื่อใด และทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงและเท่าทัน เช่น การรู้เรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ พวกนี้ต้องทำในอนาคต ซึ่งตอนนี้มันไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าใด เช่นการสะสางเรื่องคลื่นที่ส่วนใหญ่คนถือครองคือรัฐเลยไม่สำเร็จ ถ้าเป็นเอกชนถือครองก็จะถูกดึงกลับมาหมดแล้ว แต่เพราะเป็นรัฐเป็นกองทัพถือครองก็เลยปล่อยกันเลยตามเลย

- หาก กสทช.ชุดใหม่ส่วนใหญ่มาจากทหาร การจะไปดึงคลื่นวิทยุกลับคืนมาก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้?

หรือเป็นไปได้ด้วยการแลกกลับมาเป็นเงิน คือเอาคลื่นคืนไปแต่ต้องให้เงินมา เรียกว่าค่าชดเชยเยียวยา เพราะกฎหมายฉบับแก้ไขมีการเขียนไว้ว่าถ้าเรียกคืนคลื่นก็ต้องเยียวยา

ส่วนการจัดการเรื่องที่ค้างคาก็ต้องดูว่าคลื่นที่ถือโดยรัฐ ต้องดูว่าคลื่นไหนถือโดยชอบหรือไม่ชอบ  แล้วจะจัดการอย่างไร ต้องขีดเส้นตาย ยกตัวอย่างหน่วยงานรัฐที่ถือครอง บางหน่วยงานไม่มีหลักฐานการถือครองโดยชอบด้วยกฎหมาย พอให้แสดงหลักฐานก็ไม่มี จึงควรต้องสะสางการถือครองกรรมสิทธิ์ให้จบเสียที เช่นคลื่น 2600 ที่ อสมท ถือ เรื่องนี้ยังไม่จบเพราะข้อเท็จจริงยังคาราคาซังอยู่ หากยังกั๊กกันอยู่ประเทศก็ไม่พัฒนา กสทช.ชุดใหม่ก็ต้องมาสะสางการถือครองคืน

นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ก็ต้องแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล ต้องทำให้ชัดว่าอุตสาหกรรมจะเดินไปได้แค่ไหน เช่นควรต้องมีการวิเคราะห์หรือไม่ว่า ทีวีดิจิทัลหากจะให้รอดต้องมีกี่ช่อง สมมุติพบว่ามีแค่สิบช่อง แสดงว่าช่องที่เหลือจะตายใช่หรือไม่ แล้วจะมีวิธีอย่างไรให้ Soft Landing หรือจะให้เป็นแบบ  Hard Landing ใครจะตายก็ต้องปล่อยให้ตายไป วิธีการก็จะออกมาอีกแบบหนึ่ง แต่ถึงทุกวันนี้ กสทช.ยังตอบไม่ได้เลยว่าเมืองไทยควรมีทีวีดิจิทัลกี่ช่อง เพราะ กสทช.ไม่ได้ศึกษา ซึ่งเรื่องนี้ต้องศึกษาให้หมด แล้วถึงจะตอบได้ว่าจะอุ้มได้แค่ไหน

รวมถึงงานด้านอื่นๆ เช่นเรื่องดาวเทียม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตัดสินว่าผิดกฎหมายในคดีของนายทักษิณ ชินวัตร ก็ต้องมาทำให้จบ ยกตัวอย่างที่ศาลตัดสินว่าดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่ใช่ดาวเทียมในสัญญาสัมปทาน ถ้าไม่ใช่นั่นหมายถึงว่านอกสัมปทานใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็ต้องหยุดระบบอนุญาต ตอนนี้ดาวเทียมไอพีสตาร์ ถ้าศาลไม่เคยอยู่ในสัญญาสัมปทานก็ไม่เคยมาขออนุญาต กสทช. แปลว่าดาวเทียมหรือพูดง่ายๆ คือต้องทำให้ถูกกฎหมายด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ใช่ไอพีสตาร์ไม่อยากทำให้ถูกกฎหมาย แต่หน่วยงานของรัฐไม่มีช่องทางให้เขาทำให้ถูกกฎหมาย มันก็เลยยังไม่จบเสียที ก็ต้องทำให้จบเสียทีเพื่อให้ไอพีสตาร์วิ่งไปได้

งานที่ กสทช.ชุดใหม่ต้องเข้ามาสะสาง ซึ่งความจริงควรสะสางทุกเรื่อง แต่บางเรื่องหากไม่สำคัญ สะสางไปก็เสียเวลา เพราะมีเรื่องให้สะสางเป็นร้อยๆ เรื่อง ก็ต้องเอาแต่เรื่องที่มีความสำคัญแล้วมุ่งไปเรื่องนั้น 

ถามย้ำว่างานใหญ่งานแรกๆ ของ กสทช.ชุดใหม่คืองานประมูลคลื่น1800 นพ.ประวิทย์ ย้ำว่าผมในฐานะกรรมการชุดเก่าไม่อยากจัดประมูล เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน หากให้เราจัดก็จะลำบาก ส่วนชุดใหม่เข้ามาเหมือนกับว่าไม่มีเวลาเรียนรู้งาน ต้องมาจัดประมูลเลย ก็ขอแนะนำว่าตอนเลือก กสทช.ชุดใหม่ต้องเลือกคนที่รู้งาน เพราะถ้าได้กรรมการที่ฉลาดรู้งานมาทำงานเขาก็ทำงานได้เลย ยกตัวอย่างก็เหมือนเวลาสภาเลือกนายกรัฐมนตรี ถามว่ามีเวลาให้นายกฯ ลองงาน 3 เดือน 6 เดือนหรือไม่ ก็ไม่มี  เพราะเข้ารับตำแหน่งก็ทำงานเลย ประชุม ครม.เลย ดังนั้นหากเลือก กสทช.ที่ทำงานเป็นก็จัดการประมูลได้ แต่ถ้าเลือกคนที่ทำงานไม่เป็นก็ยุ่งเหมือนกัน

- สมมุติว่า กสทช.ชุดใหม่มีแบ็กที่ช่วยให้เข้ามา แล้วมีค่ายมือถือบางแห่งไม่อยากให้จัดประมูลก็สามารถทำได้

ก็ได้ คือกรรมการ กสทช.ชุดใหม่จะมาล้มประมูลก็ได้ เลื่อนประมูลก็ได้ จะปรับปรุงการประมูลก็ได้  แต่อยู่ที่ว่ากระบวนการชอบด้วยกฎหมายและมีเหตุมีผลหรือไม่ ในการจะเลื่อนหรือจะปรับปรุง ถ้ามีเหตุผลทำได้ทุกอย่าง

 นพ.ประวิทย์ ให้ทัศนะต่อโครงสร้าง กสทช.ที่เปลี่ยนให้ไปขึ้นกับคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือกรรมการดีอีฯ โดยเมื่อถามว่าเรื่องดังกล่าวจะทำให้ กสทช.ขาดความเป็นอิสระจนถูกฝ่ายการเมืองรัฐบาลสั่ง กสทช.ได้มากขึ้นหรือไม่ โดยมองว่ามองได้สองมุม คือการให้ไปฟังคนอื่น แน่นอนว่าอิสระลดลง แต่ผมบอกเลยตั้งแต่ยุคคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  ต่างประเทศเคยมาประเมิน เขาบอกเลยว่าของเรามีความเป็นอิสระเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ก็เลยมีการพยายามเขียนให้มีการยึดโยงกับนโยบายของรัฐระดับหนึ่ง

…ถามว่าจะลดความเป็นอิสระลงหรือไม่-ก็คงลด แต่ก็ขึ้นอยู่กับ กสทช.แต่ละคน เพราะหากนโยบายมันถูกต้องเราก็ทำตาม หากนโยบายไม่ถูกต้องมีการสั่งการแบบลับๆ มีจดหมายน้อยก็อย่าไปทำตาม การออกแบบให้ กสทช.ต้องไปฟังกรรมการดิจิทัลมีข้อดีหรือไม่ มันก็มีข้อไม่ดี แต่มันก็มีข้อดีระดับหนึ่ง สุดท้ายมันจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่กรรมการดิจิทัลและ กสทช.

 คือคณะกรรมการดิจิทัลต้องให้นโยบายเป็น หากให้นโยบายมั่วแอบมองผลประโยชน์ของค่ายต่างๆ ประเทศก็เละ เช่นเดียวกัน กสทช.ก็ต้องมีจุดยืน ไม่ใช่ว่ารัฐบาลหรือกรรมการดีอีพูดอะไรมาแล้ว  ครับผม/ แถวตรง /ซ้ายหัน ขวาหัน กันหมด ถ้าแบบนั้นไม่ต้องมี กสทช. แค่ตั้งเป็นกรมขึ้นมาก็ได้จะประหยัดงบประมาณ

สำหรับระยะห่างระหว่าง กสทช.กับกรรมการดีอี เห็นว่ากรรมการดิจิทัลควรให้แค่นโยบาย เช่น อยากเห็นการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล, ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือการแข่งขันที่เป็นธรรมทางตลาด ค่าบริการถูกลง แต่ไม่ใช่การบอกว่าอยากเห็นอินเทอร์เน็ตไปมีที่หมู่บ้านที่อยากเห็น  แบบนี้ไม่ใช่นโยบาย อันนั้นคิดแบบการเมือง นโยบายต้องเป็นนโยบาย ไม่ใช่รายละเอียด กรรมการดีอี อย่าสั่งในรายละเอียด และอย่ามีวัตถุประสงค์แฝงว่าจะเอื้อใคร เอื้อรัฐวิสาหกิจ เอื้อเอกชน.

...

6 ปีบนเก้าอี้ กสทช.

ธุรกิจ-ทหาร-การเมือง ครอบงำ

นพ.ประวิทย์ กสทช. ที่อยู่ในตำแหน่งมา 6 ปี และกำลังนับถอยหลังรอวัน กสทช.ชุดใหม่มารับช่วงต่อ พูดถึงบทบาทการทำงานของ กสทช.ในยุค คสช.ตลอดช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา โดยมองว่าเรื่องธรรมาภิบาลดีขึ้นชัดเจน เพราะกลัวมาตรา 44 ทำให้ที่เคยใช้งบประมาณมากมายก็ใช้ดีขึ้น เช่นไปต่างประเทศน้อยลง การจัดซื้อจัดจ้างที่ สตง.เคยทักท้วงว่าใช้วิธีพิเศษก็เปลี่ยนอย่างชัดเจน มีการประกวดราคาทำตามขั้นตอนหมด

อย่างไรก็ตาม นพ.ประวิทย์ ระบุว่า แต่ดุลยพินิจการกำกับดูแลเริ่มซ้ายหันขวาหันมากขึ้น ยกตัวอย่างการปิดทีวี วิทยุ บางทีเสมือนหนึ่งมีเสียงกระซิบหรือมีความต้องการมาหรือไม่ หรืออย่างการไปจัดการกับเฟซบุ๊ก ถามตรงๆ มีกฎหมายมาตราไหนให้เราไปจัดการได้-ก็ไม่มี แต่พอกระแอมขึ้นมาทุกคนก็วิ่งไปจัดการเฟซบุ๊กกันใหญ่เลย ยังดีที่ทำไม่ได้ เพราะหากทำแล้วเฟซบุ๊กฟ้องกลับมาไม่รู้ใครจะรับผิดชอบ

 ถามว่าระยะหลัง กสทช.แถวตรง ซ้ายหันขวาหันมากขึ้นหรือไม่-ก็ใช่ จากที่เคยแสดงบทบาทอิสระมากมาย ก็ค่อนข้างทำตามแนวทางที่อำนาจอยากให้เป็น อำนาจอยากเห็นอะไรก็สนองไปทางนั้น การสั่งการผมเข้าใจว่าสั่งผ่านตัวบุคคล ไม่ได้ทำหนังสือมา แต่อยากสั่งอะไรก็สั่งผ่านคนโน้นคนนี้

            นพ.ประวิทย์ กล่าวถึงภาพรวมการทำงานของ กสทช.ชุดปัจจุบันในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาว่า การทำงานของ กสทช.ก็มีขึ้นมีลง เห็นได้จากการประมูลคลื่น 2100 เมกะเฮิร์ตซ ได้เงินส่งรัฐต่ำกว่าที่คาด ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เยอะมาก แต่พอมาดูการประมูล 1800 กับ 900 เมกะเฮิร์ตซ มีรายได้ส่งรัฐมาก คนก็ชื่นชม ก็มีทั้งขึ้นและลง ก็ต้องดูผลระยะยาว เพราะไม่ได้ดูว่าได้เงินมากหรือน้อย แต่ต้องดูว่าประมูลไปแล้วตลาดมีการแข่งขันกันจริงหรือไม่ ผู้บริโภคได้บริการที่ดีมีคุณภาพหรือไม่

            ถามตรงๆ ให้ตอบชัดๆ ว่าทำงานมา 6 ปีกว่าพอใจการทำงานของ กสทช.ชุดที่กำลังจะอำลาเก้าอี้หรือไม่  นพ.ประวิทย์ ตอบว่าจากการมานั่งทำงานรู้สึกว่า กสทช.ยังไม่มีอิสระ ยังมีอิทธิพลของธุรกิจเข้ามาครอบงำได้ อิทธิพลของทหาร อิทธิพลของการเมืองเข้ามาครอบงำบางเรื่องบางราว แม้ตามกฎหมายก่อนหน้านี้จะออกแบบให้ กสทช.เป็นอิสระ แต่ก็ยังไม่เป็นอิสระอย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งพอเป็น องค์กรอิสระ ส่วนใหญ่ไม่เป็นอิสระจากรัฐ จากทุน และการเมือง แต่มักอ้างความเป็นอิสระจากประชาชน  วิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่รับฟัง ความเห็นจึงมองว่า กสทช.ชุดปัจจุบันยังขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม ยังทำตัวเหมือนหน่วยงานภาครัฐที่ฟังแค่ภาครัฐด้วยกันเอง

- มีการพูดกันว่า กสทช.ชุดปัจจุบันมีผลงานหลายเรื่อง เพราะนำเงินเข้ารัฐได้ร่วม 3 แสนล้านบาทจากการประมูลทีวีดิจิทัล-ประมูล 3 จี?

ถ้ามองในแง่รัฐก็ต้องการเงินไปพัฒนาประเทศ แต่ต้องดูระยะยาว เช่นหลังประมูลเสร็จเกิดการแข่งขันจริงหรือไม่ หรือยังมีการผูกขาด แล้วตลาดรอดหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นทีวีดิจิทัล ก็จะเห็นว่านำเงินเข้ารัฐมากกว่าที่คาดการณ์เป็นเท่าตัว แต่ผลก็คือสุดท้ายน่าจะมีช่องที่ไม่รอดพอสมควร หลังมีช่องไทยทีวีไม่รอดไปแล้ว ช่องอื่นก็ต้องดูว่าจะฟันฝ่าสถานการณ์ไปได้แค่ไหน จึงไม่ใช่แค่ว่าประมูลแล้วได้เงินเยอะแล้วจะดี เช่นเดียวกับการประมูลมือถืออย่างคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ ต้องบอกว่าสถิติการประมูลของประเทศไทยแพงที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรและเมกะเฮิร์ตซที่ประมูล จนหลายประเทศตกใจว่าประเทศไทยทำกำไรได้ขนาดนั้นเชียวหรือ

…ตอนนี้เริ่มเห็นเอกชนออกมาเอ่ยปากแล้วว่า งวดสุดท้ายที่ต้องชำระในปี 2563 ที่ต้องจ่าย  60,000 ล้านบาท จะขอผ่อนทั้งที่ยังทำกำไรอยู่ อันแตกต่างจากกรณีของทีวีดิจิทัล เหตุใดจึงโวยล่วงหน้า ทำไมรู้ว่าอีกสองปีข้างหน้าตัวเองจะทรุด แต่ที่โวยล่วงหน้าเพราะเริ่มมีข่าวว่าจะมีการใช้มาตรา 44  มาช่วยธุรกิจทีวีดิจิทัล แล้วคาดการณ์ได้ว่าจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งหลังเลือกตั้งจะไม่มีมาตรา 44 เลยจะขอกระโดดมาล่วงหน้าให้ช่วยอุ้มติดขบวนไปด้วย ทั้งที่ธุรกิจมือถือยังไปได้และยังมีช่องทางอื่นๆ หาเงินมาได้ แต่จะมาขอฉวยขบวนรถไปด้วย ว่าเมื่อจะช่วยทีวีดิจิทัลแล้วก็ช่วยค่ายมือถือด้วย ทั้งที่ค่ายมือถือกำไรดีกว่า ยิ่งปัจจุบันคนเลิกดูทีวีไปดูในมือถือ ค่ายมือถือก็ต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่จะขอติดขบวนไปด้วยว่าจะไม่จ่ายเงิน

ถึงได้บอกว่าการประมูลมันไม่ได้วัดความสำเร็จที่เม็ดเงิน แต่วัดที่ความสำเร็จในธุรกิจว่าตลาดมีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่ จึงต้องบอกว่าการประมูลทีวีดิจิทัล ประมูลคลื่น 3 จี พูดตรงไปตรงมา ในต่างประเทศต้องบอกว่าล้มเหลว ไม่มีใครบอกว่าประสบความสำเร็จ

 การประมูล 3 จี ผมยังมองว่าได้รายได้ต่ำไป เอกชนนั่งหัวเราะเพราะประหยัดเงินได้เป็นหมื่นล้าน  เพราะรัฐออกแบบมาทำให้ไม่ต้องควักกระเป๋า แต่พอประมูล 1800 กับ 900 เมกะเฮิร์ตซ เอกชนร้องไห้ เพราะต้องควักกระเป๋าเงินหลายหมื่นล้านบาท ประเทศไทยไม่ได้ออกแบบมาให้การประมูลสมดุล

ถามว่าผลงานเด่นของ กสทช.คืออะไร อันที่หนึ่ง ชุดนี้ก็เป็นชุดแรก มันก็คือการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ระบบใบอนุญาต เช่น การประมูลโทรทัศน์ที่เปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล เช่นเดียวกับการประมูล 3 จี ก็เพราะสัมปทาน 2 จีของเอไอเอสกับดีแทคกำลังจะหมด มันคือการเปลี่ยนผ่าน การเปลี่ยนผ่านก็ถือว่า กสทช.ทำได้ดีพอสมควร แต่ยังไม่ดีที่สุดยังมีข้อบกพร่องเป็นระยะ

การเป็น กสทช.จึงต้องมีมุมมองที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่นมีคนบอกทหารจะมายึด บอกเลยว่าหากทหารมายึดแล้วมองมุมเดียว กสทช.ก็เดินแถวตรงอย่างเดียว แต่เทคโนโลยีวันข้างหน้ามีความหลากหลาย ดังนั้นต้องมีตัวแทนที่หลากหลายใน กสทช.

ถามถึงกรณีปัญหาธรรมาภิบาลใน กสทช.ซึ่งมักมีข่าวปรากฏมาตลอด นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า คนที่จะรู้เรื่องราวดีสุดก็คือหน่วยงานตรวจสอบ เพราะจะเห็นข้อมูลทั้งหมด แต่หน่วยงานตรวจสอบก็ยังพิกลพิการอยู่ เช่นตามกฎหมายที่ให้มีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. แต่จนถึงวันนี้ยังไม่เลือกชุดใหม่เลยผ่านมาเกือบสามปีแล้ว แล้วกรรมการชุดดังกล่าวก็ต้องมาขอเงิน กสทช. เมื่อคนที่จะติดตามตรวจสอบ หากเขียนเชียร์ก็คงได้เงินเยอะ แต่หากเขียนด่าก็คงไม่ให้เงิน ทำให้กรรมการติดตามและประเมินผลล้มลุกคลุกคลาน หน่วยงานตรวจสอบเลยไม่มีประสิทธิภาพ

 ส่วนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่พบว่าการตรวจสอบของ สตง.มีประเด็นมาก แต่ก็มีข้อจำกัดที่รายงาน สตง.ถือเป็นความลับทางราชการ ไม่เปิดเผย ก็เลยเกิดคำถามว่าเมื่อตรวจสอบแล้วเจอสิ่งไม่ดี แต่มาห้ามเปิดเผยแล้วใครจะรู้ ก็รู้กันแค่ไม่กี่คน ก็เลยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่สังคมค่อนข้างอ่อนไหวก็คือเรื่องการใช้เงิน อย่างเช่นช่วงแรก สตง.ก็ตรวจสอบพบว่ากรรมการเดินทางไปต่างประเทศกันจำนวนมาก เดินทางไปเป็นร้อยๆ วันต่อปี ไม่ได้อยู่เมืองไทยเท่าใดนัก หรือการจัดซื้อที่แพง เช่นซื้อสูทชุดละสามหมื่น แต่จริงๆ เรื่องนี้ผมไม่ค่อยห่วง หาก สตง.หรือ ป.ป.ช.ทำงานดี มันก็จัดการง่ายเพราะมีหลักฐาน แต่ที่น่าห่วงคือการใช้ดุลยพินิจมากกว่า คือการตัดสินใจแบบนี้ไปเอื้อรายโน้น แต่อีกครั้งหนึ่งเหมือนกัน แต่บอกว่าไม่เหมือน ก็คือพยายามทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมในตลาด หรืออะไรบางอย่างที่กฎหมายบอกว่ามันน่าจะผิด แต่เราก็ไปตีความว่ามันถูก

ลักษณะแบบนี้ตรวจสอบยากกว่า เพราะ สตง.เชี่ยวชาญการตรวจสอบเม็ดเงิน แต่การตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจลำบาก ขณะที่การตรวจสอบจาก ป.ป.ช.ก็ใช้เวลานาน ทำให้การตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจจึงเป็นปัญหา ว่ามีการทุจริตเชิงนโยบายหรือมีการเอื้อประโยชน์หรือไม่ มีการตัดสินใจที่มีเบื้องหลังที่ซับซ้อนหรือไม่ อันต่างจากการตรวจสอบการใช้งบ เช่นเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ เมื่อ สตง.ตรวจสอบ มีคนส่องสปอตไลต์จับตามอง ก็ทำให้ช่วงหลังแต่ละคนก็ระมัดระวังขึ้น ทำตัวดีขึ้น ทำให้คนที่เคยไปต่างประเทศปีละจำนวนมากก็ไปน้อยลง

ถามย้อนไปถึงก่อนหน้านี้ที่เคยมีข่าวค่ายมือถือนำโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่มาแจกให้กรรมการ กสทช. นพ.ประวิทย์ แจงว่าต้องบอกว่าเป็นเอกชนนำมาให้ ผมยกตัวอย่างการจัดงานปีใหม่ที่ กสทช. เคยมีการทำกันมาตั้งแต่ยุคเดิมๆ พนักงานก็อยากได้ของขวัญ ก็มาขอกรรมการบ้าง แล้วอีกส่วนหนึ่งก็ไปขอจากเอกชน เอกชนก็จะนำโทรศัพท์รุ่นใหม่มาให้จับสลากในงานปีใหม่ หรือกระเช้าปีใหม่ที่ก็มีการนำมาให้เป็นเรื่องปกติ แต่บางทีเอกชนก็นำโทรศัพท์มาให้กรรมการแล้วบอกว่าให้ทดลองใช้

ผมก็รู้สึกว่าเราไม่มีหน้าที่ทดลองให้ค่ายมือถือ เราก็ไม่เอา แต่กรรมการคนอื่นก็บอกว่าไม่ได้รับ แต่ผู้บริหารค่ายมือถือแห่งหนึ่งก็บอกว่าใครจะบอกไม่รับก็บอกไป แต่แจกทุกคนไม่เลือกปฏิบัติ ก็อยู่ที่ว่าเราจะเชื่อใคร เชื่อคนให้หรือเชื่อคนรับ ทำให้ต่อมาหลังจากนั้นการจะให้อะไรก็จะไม่โจ่งแจ้ง ไม่สามารถทำแบบเดิมได้

คือแต่ละคนที่เข้ามาไม่ใช่ว่าไม่ดีตั้งแต่ต้น แต่มันมีบรรยากาศแบบเดิมๆ อยู่ คือเอกชนเขาเคยให้อยู่แล้ว พอชุดนี้มาก็เลยมาให้ด้วย ไม่ใช่ว่าเอกชนเพิ่งมาคิดว่า กสทช.ชุดนี้เข้ามาแล้วต้องให้เป็นพิเศษ- ไม่ใช่ เพราะเขาทำมานานแล้ว แล้วบางคนไม่ได้เลวร้ายอะไร แต่พอมาอยู่ในระบบแบบนี้ที่มีความยั่วยวน ผลประโยชน์มหาศาล ถ้าทนไม่ไหวก็เสียคน แล้วผลประโยชน์ผมเชื่อว่ามากมายมหาศาลจริง  เพราะบางครั้งการลงมติบางเรื่อง เอกชนบางรายก็ได้ประโยชน์เป็นพันล้านหมื่นล้าน

ยกตัวอย่างประมูล 3 จี หากเปิดให้แข่งขันจริง ราคาจะเพิ่มมากกว่าที่ประมูลได้หลายพันล้านบาท หรืออาจถึงหมื่นล้านบาท แต่พอออกแบบการประมูลมา เอกชนไม่ต้องสู้กันเลย หมอบกันตั้งแต่ต้น เรื่องพวกนี้บางเรื่องเอกชนได้ประโยชน์กันทีเป็นพันล้านหมื่นล้านบาท คิดกันเล่นๆ หากเขานำเงินพวกนี้มาเป็นเงินทอนก็มหาศาล ก็อยู่ที่ใครจะรับหรือไม่รับ

- การทำงานของ กสทช.เช่นเวลาประชุม มีข่าวว่าไม่ค่อยได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เหมือนมีธงมาแล้ว?

ใช่ ต้องบอกว่าที่ประชุมไม่ค่อยได้ถกกันเท่าไหร่ โดยที่บางเรื่องเช่นเกี่ยวข้องกับเงินเป็นพันล้านหมื่นล้าน ควรที่กรรมการต้องถกกันให้เยอะแล้วค่อยหาข้อสรุปร่วมกัน แต่บางครั้งคุยไปคุยมาบางคนก็รู้สึกว่าอย่าพูดมากเลย ลงมติกันเลยดีกว่า การทำงานก็เลยดูแปลกๆ 

ถ้าเป็นเอกชนแล้วคิดว่าบอร์ด กสทช.จะชี้เป็นชี้ตายกับเขา ขั้นแรกก็ต้องส่งตัวแทนไปเป็นบอร์ด..เช่นเคยทำงานที่บริษัทหรือใครที่เขาไว้ใจ..แล้วส่งมาเป็นบอร์ด กสทช. ...ต่อให้เขาคิดว่าคนที่จะมาเป็นตัวแทนไม่สามารถเข้ามานั่งเป็นกรรมการได้ เขาก็มาล็อบบี้บอร์ด..มาทำความคุ้นเคยใหม่..เอกชนเขาทำสองช็อตตลอดเวลา..เอกชนก็จะมาป้วนเปี้ยนมาแนะนำตัว มาเลี้ยงดูอะไรกัน

หากผมมีอำนาจ ถ้าผมอยากได้คนที่ล็อกชื่อไว้ ผมก็ต้องเข้าไปพูดคุยกับกรรมการสรรหา ก็อยู่ที่กรรมการสรรหาแต่ละคน ..เชื่อว่าคนที่สมัครส่วนใหญ่ จะพยายามหาทางคอนเนกกับกรรมการสรรหาฯ  กสทช. จะเรียกว่าล็อบบี้หรือแนะนำตัวก็ได้ ก็พยายามเชื่อมต่อหมด ถ้าตัวเองเชื่อมไม่ได้ก็พยายามไปหาเจ้านาย ไปหาผู้ใหญ่ของตัวเองให้ไปเชื่อมต่อ...ทำให้เชื่อได้ว่า ถ้าอำนาจปัจจุบันไปสั่งมีโอกาสจะสำเร็จสูง..


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"