ปตท.จับมืออภ.สร้างโรงงานผลิตยารักษามะเร็ง


เพิ่มเพื่อน    

 

 อภ. จับมือ ปตท.  เซ็นเอ็มโอยู "โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยา”  ผลิตยามะเร็งทุกชนิดทั้งเม็ด ฉีด และแบบรักษาเจาะจงเข้าถึงเซลล์  ลดค่าใช้จ่ายยา ได้ถึง 50% จากปัจจุบันนำเข้า  100%  และผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น  คาดผลิตได้ในปี2568 

    วันที่ 23 ม.ค. เวลา 14.00 น. ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.)และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในพิธีบันทึกข้อตกลงระหว่างองค์การเภสัชกรรม( อภ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตสารออกฤทธิ์ทางยา (Active Pharmaceutical Ingredient, API) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตยา เสริมสร้างความมั่นคง และยกระดับอุตสาหกรรมยาของไทยให้ทัดเทียมสากล อันก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมแก่คนไทย และประเทศไทย


    นพ.นพพร  ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทย จากสถิติพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของคนไทย ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณ 60,000 คนต่อปีหรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย ในขณะที่ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงถึง 8 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง มีทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม รวมถึงสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ระบบสาธารณสุขของประเทศยังไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นนี้ได้ เนื่องจาก  ยารักษาโรคมะเร็งบางประเภทมีราคาสูงมาก และต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด 100 % ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ  ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา  และต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณด้านยารักษาโรคมะเร็งสูง จึงส่งผลกระทบต่อทั้งสังคมและเศรษฐกิจในภาพรวมและเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ผอ.อภ. กล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการในประเทศผลิตยารักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง จำเป็นต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง เพื่อป้องกันผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมภายนอก นอกจากนั้น ยารักษาโรคมะเร็งบางประเภทยังต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตชั้นสูงด้วย ดังนั้น อภ. ในฐานะเสาหลักด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ มีความพร้อมทั้งทางด้านการวิจัยพัฒนา การผลิต รวมถึงมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านยามายาวนาน  และมีเครือข่ายจากต่างประเทศที่จะร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต จึงได้เริ่มเดินหน้าศึกษาวิจัยพัฒนายาในกลุ่มยารักษาโรคมะเร็งอย่างจริงจัง และมีแผนการก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขึ้นเป็นการเฉพาะ โดย อภ. มุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็งในทุกกลุ่มการผลิต ทั้งยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดและฉีด (Chemotherapy) ซึ่งเป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็งที่สามารถออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย และยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) ทั้งยาเคมีชนิดเม็ดและยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) เพื่อให้มียาครอบคลุมการรักษาทุกกลุ่มโรคมะเร็งในปัจจุบัน       ดังนั้น การที่ อภ. สามารถสร้างโรงงานผลิตและจำหน่ายกลุ่มยารักษาโรคมะเร็งได้ด้วยตนเองในประเทศนั้น จะสามารถลดราคายาลงได้มากกว่า 50 %  ซึ่งเป็นการลดภาระด้านยาในระบบสาธารณสุขของประเทศและทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ทั่วถึงมากขึ้น  นอกจากนั้น ยังถือว่าเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยาและพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นในอนาคต

 "สำหรับ โรงงานฯขณะนี้ อยู่ระหว่างเลือกพื้นที่ลงทุนระหว่างเขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ วีโคซี่ ของกลุ่มปตท.ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จ.ระยอง ที่มีพื้นที่รวม 1,500 ไร่ กับพื้นที่ในอ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ที่มีพื้นที่รวม 1,000 ไร่ แต่คาดว่าวีโคซี่จะเหมาะสมกว่าเพราะได้เปรียบด้านสาธารณูปโภค โดยงบประมาณในการลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท น่าจะสามารถผลิตเข้าระบบได้ตั้งแต่ปี 2568"ผอ.อภ.กล่าว
 

ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมชั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า จากแผนงานของ อภ. ในเรื่องการสร้างโรงงานผลิตและจำหน่ายยารักษาโรคมะเร็ง รวมถึง  การเล็งเห็นความสำคัญของการผลิตสารออกฤทธิ์ทางยานั้น  สอดคล้องกับพันธกิจของ ปตท. ในการดูแลสังคม และชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น ปตท. จึงพร้อมที่จะร่วมมือและสนับสนุน อภ. โดยจะใช้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเชิงวิศวกรรม การบริหารโครงการ และการก่อสร้างโรงงาน รวมถึงข้อมูลความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจพลังงานครบวงจรมาช่วยขับเคลื่อนโครงการฯ  สนับสนุนให้เกิดการผลิตยาได้เองภายในประเทศนี้  นอกจากจะช่วยให้การพัฒนายาเป็นไปอย่างรวดเร็วแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยารักษาโรคได้อย่างเท่าเทียม   อย่างไรก็ตาม  การร่วมศึกษานี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าปตท.จะร่วมลงทุนหรือไม่ ต้องดูผลศึกษาภายใน 6 เดือนจากนี้ก่อน เพราะสุดท้ายอาจเป็นการลงทุนของอภ.เป็นหลัก และมีปตท.สนับสนุนการบริหารโรงงานให้เท่านั้น

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"