ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ แนะอย่าลืมคนเทคแคร์


เพิ่มเพื่อน    


“โรคอัลไซเมอร์” ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะเรื่องความจำและพฤติกรรมที่ผิดแปลกออกไปจากเดิม หรือนอกจากการถามซ้ำไปมาแล้ว บางรายอาจถึงขั้นโมโหร้ายใส่ญาติ หรือการลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น จนกระทั่งหลงทางได้ง่ายเช่นกัน นั่นจึงส่งผลให้กลุ่มคนดูแลที่ต้องรับบทหนักในการประคบประหงมผู้ป่วย จำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ไม่ต่างจากคนไข้เช่นเดียวกัน เนื่องจากคนกลุ่มนี้ต้องดูแลผู้ป่วยความจำเสื่อมตลอด 24 ชั่วโมง และอาจทำให้เกิดภาวะเครียดหรือท้อแท้ในชีวิตได้ 

(นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย)


นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำแนะนำในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยกลุ่มผู้ดูแลมาบอกกัน โดยคุณหมออธิบายว่า “สำหรับคนที่มีญาติป่วยโรคอัลไซเมอร์ อันดับแรกจำเป็นต้องตรวจประเมินว่าป่วยจริงหรือไม่ และหากได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคนี้จริงๆ ญาติต้องทำความเข้าใจว่าโรคนี้เป็นแล้ว ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทำได้แค่ประคับประคองอาการของโรคได้เท่านั้น พูดให้ถูกคือต้องเข้าใจว่าเป็นโรค ดังนั้นจึงไม่ควรคาดหวัง เพราะโรคนี้นอกจากความจำเสื่อมแล้ว สมองหลายด้านยังเสื่อมตามไปด้วย นั่นจึงทำให้มีปัญหาพฤติกรรมบางอย่าง เช่น อารมณ์หงุดหงิดง่าย มีภาพหลอน, ขี้หวาดระแวง หรือมีปัญหาการนอน เป็นต้นว่านอนกลางวันและตื่นเวลากลางคืน อีกทั้งมีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นคนที่ไม่มีเหตุผล" 
คุณหมอย้ำว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ต้องการความเข้าใจจากผู้ดูแลเป็นอย่างมาก ที่สำคัญญาติคนไข้ต้องให้การดูแลเกี่ยวกับร่างกายเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการปรับบุคลิกภาพให้เหมาะสม เช่น คนไข้ตื่นนอนเวลาไหน รับประทานอาหารตอนไหน และกินยาเมื่อไหร่ ผู้ดูแลต้องทำอะไรให้เหมือนเดิมทุกอย่าง ห้ามเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อป้องกันการหลงลืม และก็จะทำให้คนป่วยรับรู้ว่าควรทำอะไรเวลาไหน ซึ่งจะช่วยให้ดูแลคนไข้ได้ง่ายขึ้น 

(กรณีที่คนดูแลผู้ป่วยถูกคนไข้ถามซ้ำๆ ควรเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการชวนคุยเรื่องอื่น เพื่อลดการทะเลาะและโกรธกันของคนทั้งคู่)


ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์โมโหร้าย ก็ต้องมาสังเกตว่าแท้จริงแล้วปัญหาเกิดจากอะไร บางครั้งอาจจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมโดยไม่ใช้ยาก่อน เช่น หากคนไข้จำไม่ได้ ทำให้ถามซ้ำๆ 10-20 ครั้ง ก็จะทำให้ญาติหงุดหงิดใส่ และมักจะพูดกับผู้ป่วยว่าบอกแล้วทำไมจำไม่ได้ คนไข้ก็โมโหตอบ แต่ถ้าผู้ดูแลพยายามทำความเข้าใจว่า โรคนี้จริงๆ แล้วเป็นอาการของโรค ท่านไม่ได้แกล้งแต่อย่างใด เราก็จะไม่ตอบคำถามครั้งที่ 20 แล้ว แต่เราจะพยายามเบี่ยงเบนความสนใจไปคุยเรื่องอื่น ผู้ป่วยก็จะลืมและไม่ถามต่อ ดังนั้นถ้ารู้จักรับมือก็จะลดการกระทบกระทั่งของทั้งสองฝ่ายได้ หากในรายที่เป็นมากๆ อาจจำเป็นต้องใช้ยารักษาช่วยปรับพฤติกรรมโดยการแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ เช่น โวยวายมากๆ หรือผู้ป่วยมีเรื่องความต้องการทางเพศเข้ามา เช่น ลูบคลำมือของผู้ดูแลที่จ้างมาช่วยเฝ้าดูอาการ เป็นต้น 
ที่ลืมไม่ได้ นอกจากการเข้าใจว่าอัลไซเมอร์เป็นโรคแล้ว การให้กำลังใจตัวเองก็สำคัญ หมอแนะนำว่า ให้ผู้ดูแลพยายามไม่เครียด และถ้าเป็นไปได้ควรหาคนมาสับเปลี่ยนกันดูแล 2 คน ไม่ควรดูแลเองตลอด 24 ชั่วโมง หรือออกไปนอกบ้านเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับชีวิต เช่น ไปเที่ยว, ช็อปปิ้งซื้อของ, ทำบุญ, ออกกำลังกาย นอกจากนี้ควรมีที่ปรึกษา เช่น เข้ากลุ่มผู้ที่ต้องดูแลคนป่วยความจำเสื่อม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน หรือหากอาการรุนแรงหนักมากก็ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคนี้ก็จะดีที่สุด แต่ถึงอย่างไรก็ต้องดูแลปู่ย่าตายายที่ป่วยโรคนี้ให้ดีที่สุด เพราะท่านถือเป็นผู้ให้กำเนิดและเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลาน เมื่อท่านไม่สบายก็ยิ่งควรได้รับการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลานให้มากยิ่งขึ้น.           


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"