มหา'ลัยผวา!บิ๊กตู่เอาจริงตัดงบ


เพิ่มเพื่อน    

สถาบันอุดมศึกษา  หนาวแน่ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ เผยนายกฯ สั่งการให้คุมงบฯสาขาไม่มีงานทำ และไม่ตรงตามความต้องการของประเทศ  ต้องลดเงินทุนอุดหนุน  "หมออุดม" ยังอุตสาห์แจงอย่าตีความผิด  ไม่ได้ตัดงบฯสาขาตกงานหรือสายสังคม  ย้ำยังมีความจำเป็นอยู่  เพียงแต่หันไปเน้นสนับสนุนในสาขาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์   ด้านมหา'ลัย ยันรู้ว่าต้องปรับตัวอยู่แล้ว งบฯที่ได้จากรัฐไม่เคยพอ

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 1111/393 เรื่อง ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยมีข้อความระบุว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ได้นำเสนอกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา   เพื่อทราบความเห็นเรื่อง โครงการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในอุดมศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก (ทุนพัฒนาอาจารย์) พ.ศ.2561-2580 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในการนี้นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเพิ่มเติม จึงใคร่ขอแจ้งข้อสั่งการท่านนายกรัฐมนตรีมาเพื่อโปรดทราบ และโปรดพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยท่านนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการดังนี้


1.ให้ศึกษาในประเด็นการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนวัยเรียน/ประถม/มัธยม/ ให้ได้คนที่มีศักยภาพ ตรงความต้องการของประเทศอย่างไร  ผู้ที่เข้าอุดมศึกษา/สาขาที่ต้องการได้อย่างไร/ ส่วนหนึ่งไปอาชีวะ ได้ปริญญาอย่างไร เพื่อสร้างความชัดเจนให้สังคม ประชาชน ผู้ปกครอง เข้าใจ 2.กรณีการสนับสนุนงบประมาณให้อุดมศึกษา ให้ควบคุมสาขาที่ไม่มีงานทำ /ไม่ตรงความต้องการ การลดเงินอุดหนุน หรือไม่ให้ เช่น จีน ทำเหตุผล จบมาไม่มีงานทำ แต่ต้องใช้หนี้ กยศ./ปัญหาต่อเนื่อง จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป  

ด้านนพ.อุดม  คชินทร  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า  ตนได้เห็นหนังสือดังกล่าวแล้ว และขณะนี้หลายคนเข้าใจและไปตีความหนังสือดังกล่าวผิดว่านายกฯ ไม่ให้งบฯในสาขาที่ตกงานหรือสายสังคม สิ่งที่นายกฯ ย้ำมาตลอดคือ ประเทศขาดกำลังคนที่จะมาพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี  ดังนั้นจึงต้องการให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งหมดไปทบทวนและปรับหลักสูตรต่าง ๆให้ ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ตอบโจทย์ประเทศและตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของชาติ  ซึ่งก็คือการผลิตบัณฑิตทางด้านเทคโนโลยี  และถ้าสถาบันอุดมศึกษาผลิตคนทางด้านนี้รัฐก็จะสนับสนุนงบฯเพิ่มขึ้น  การที่รัฐต้องกำหนดเช่นนี้ เพราะงบฯของประเทศมีจำกัด ส่วน หลักสูตรไหนผลิตบัณบัณฑิตออกมาแล้วตกงาน  แสดงว่าไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน  ไม่ตอบโจทย์ประเทศและ ไม่ตอบโจทบ์ยุทธศาสตร์ของชาติ จะทำให้ประเทศเสียหายมาก อย่างไรก็ตาม  รัฐคงจะไปบังคับสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้ เพียงแต่สถาบันอุดมศึกษาไหนทำตามเป้าหมายของประเทศ   รัฐก็ต้องจัดงบฯให้ก่อน  ทั้งนี้ขอย้ำว่าสายสังคมนั้นยังเป็นสาขาที่เป็นความจำเป็นอยู่ แต่ขณะนี้ประเทศขาดคนทางด้านเทคโนโลยีต้องสนับสนุนก่อน

ด้านนายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ คิดและปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เพื่อรองรับกับความต้องการของประเทศ แต่ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณก็ต้องดูบริบทของมหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่ม เพราะมหาวิทยาลัยมีความถนัด และเชี่ยวชาญแตกต่างกัน อย่าง กลุ่ม มทร. มีการรีโปรไฟล์มหาวิทยาลัยใหม่ โดยเน้นผลิตบัณฑิตเฉพาะทางรองรับในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ระบบราง ท่าอากาศยาน หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม โลจิสติก ไบโอเทคโน และพลังงาน เป็นตัน ดังนั้น การที่รัฐบาลจะมีนโยบายให้ลดเงินอุดหนุน หรือไม่ให้ในสาขา หลักสูตรที่ไม่มีงานทำ ไม่ต้องการนั้นจะทำให้มหาวิทยาลัยปรับตัว แต่ต้องทบทวนการจัดสรรงบประมาณแก่มหาวิทยาลัย ต่างๆ ซึ่งรัฐบาลจะให้งบประมาณเพียงร้อยละ 3-7 และมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในเรื่องเงินเดือนอาจารย์ แต่ในส่วนของการพัฒนาหลักสูตร สวัสดิการ เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในหลักสูตรใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ประเทศ อีกทั้ง ต้องมีการกำหนดชัดเจนว่าหลักสูตร หรือการพัฒนาคนว่าจะไปในทิศทางไหน อย่างไร และมหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่ม ต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อใก้การพัฒนาบัณฑิต มีคุณภาพ รองรับกับการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง


ด้านนายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายที่ดีแต่ควรจะมีการศึกษาและพิจารณาถึงแนวทางในการอุดหนุน ลด หรือจะไม่ให้งบประมาณ เพราะขณะนี้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็ได้รับงบประมาณอย่างจำกัด และงบประมาณที่ได้ก็ไม่เพียงพอ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องหาแนวทางในการหางบประมาณด้านอื่นๆ  อีกทั้งขณะนี้ เชื่อว่า มหาวิทยาลัยทุกกลุ่ม กำลังปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาหลักสูตร เพื่อผลิตบัณฑิต ที่ตอบโจทย์กับความต้องการกำลังของประเทศ เพราะทุกแห่งต่างรู้ว่า หากไม่ปรับตัวก็จะอยู่ไม่ได้ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยเองก็มีการสำรวจหลักสูตรต่างๆ ที่เป็นแนวโน้มของโลกอนาคต  และหลักสูตรไหนที่ไม่ต้องการก็จะปิดตัวลง หรือยุบรวมกับหลักสูตรอื่นๆ เพื่อผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดแรงงาน มีงานทำ ไม่ตกงาน  โดยไม่กระทบต่อผู้เรียนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การจะปรับลดเงินอุดหนุน หรือไม่ให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องพิจารณาอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"