ลอยตัวดีกว่าโดนฟ้อง


เพิ่มเพื่อน    


    ยืดเยื้อมาพักใหญ่กับเรื่องน้ำตาลทรายในบ้านเรา ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยมีโอกาสที่จะโดนฟ้องร้องจากประเทศบราซิล ที่ถือเป็นผู้ค้าน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก โดยยื่นหนังสือต่อองค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ ให้มีการไต่สวนไทย ที่ถือว่าเป็นผู้ค้าส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับที่ 2 เนื่องจากเห็นว่ามีกลไกอุดหนุนเอกชนในการส่งออก และอุดหนุนเกษตรกรให้หันมาปลูกอ้อย ทั้งระบบโควตา และมาตรการจูงใจ ที่ถือว่าไม่เป็นไปตามกฎระเบียบของดับเบิลยูทีโอ ส่งผลให้สถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายตกต่ำอย่างหนัก
    ทุกอย่างทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งสำนักงาน กระทรวง หรือแม้แต่สถาบันที่เกี่ยวเนื่องวิ่งเต้นมาหารือกันเพื่อกำหนดทางออก และรวบรวมข้อมูลเพื่อไปทำการเจรจากับประเทศบราซิล ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ผ่านมาเนิ่นนานหลายเดือน จนช่วงหลังไทยมั่นใจว่าบราซิลมีความพึงพอใจอย่างมากกับการปฏิบัติตามความต้องการ ปรับเปลี่ยนและชี้แจงข้อกังขาต่างๆ จนเชื่อว่าจะถอนฟ้องในไม่ช้านี้
    จนเมื่อล่าสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศยกเว้นการใช้มาตรา 17 (15) แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 เฉพาะในส่วนของการกำหนดราคาขายน้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ตั้งแต่ฤดูการผลิตที่ 2560/61 จนถึง 2561/62 หรือที่รู้จักกันทั่วไปคือ ประกาศให้มีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศนั่นเอง
    แต่ก็ยังไม่จบแค่นี้ เนื่องจากการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายทำให้เกิดความสับสนขึ้น ทั้งในวิธีการคำนวณราคาอ้อยจากเกษตรกร และการคำนวณราคาหน้าโรงงาน รวมถึงการกำหนดราคาขายปลีก และการเก็บเงินเข้ากองทุน และอีกอย่างก็คือ ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ยังไม่สามารถประกาศบังคับใช้ได้ ตอนนี้จึงไม่มีอะไรมากำหนดกฎเกณฑ์เลย
    ตามกฎการปล่อยลอยตัว ราคาหน้าโรงงานน้ำตาลทรายจะต้องอ้างอิงจากราคาน้ำตาลตลาดลอนดอนนัมเบอร์ไฟต์ (No.5) บวกไทยพรีเมียม ซึ่งหากโรงงานไหนที่ขายน้ำตาลแพงกว่าราคาอ้างอิง ส่วนต่างก็ต้องส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ขณะที่ในส่วนของราคาขายปลีกก็เป็นการกำหนดของเอกชนผู้ค้าว่าจะมีราคาขายเท่าไหร่ แล้วแต่เกรดหรือคุณภาพของน้ำตาล แต่ก็ยังไม่มีใครกำหนดเพดานว่าห้ามเกินเท่าไหร่หากต้องขายปลีก ซึ่งก็แล้วแต่เอกชน หากใครคิดว่าของดีมีคุณภาพและมีลูกค้าซื้อ ก็คงขายแพงได้ตามใจและไม่ผิด
    และขณะนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลงมาที่ 12 เซนต์ต่อปอนด์ เมื่อนำมาบวกด้วยราคาไทยพรีเมียมประมาณ 20 เหรียญฯ ต่อตัน ตามสูตรเฉลี่ยออกมาเป็นกิโลกรัม (กก.) จะตกราคาประมาณ 12.50 บาทต่อ กก. และเมื่อนำมาหักกับราคาขายหน้าโรงงานในปัจจุบัน ก็จะมีส่วนต่างอยู่ที่เกือบ 5 บาทต่อ กก. ที่โรงงานต้องจ่ายเข้ากองทุน
    ซึ่งก็มีโรงงานหลายแห่งที่เกิดความไม่พอใจ และให้ความเห็นว่าหากเป็นฝั่งของชาวไร่อ้อยและกองทุนอาจจะพอใจ แต่หากราคาน้ำตาลในตลาดโลกต่ำลงไปเรื่อยๆ โรงงานก็ยังต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนอยู่ และอาจจะมากกว่า 5 บาทต่อ กก.ด้วยซ้ำ ซึ่งไม่ต่างจากรูปแบบเดิมที่บวกแฝง 5 บาท ให้ผู้บริโภคแบกรับภาระ ทั้งนี้ หากในอนาคตราคาน้ำตาลในตลาดโลกพลิกกลับมาราคาสูงและมีส่วนต่างน้อย ชาวไร่อ้อยควรต้องยอมรับระบบที่เกิดขึ้นด้วย
    นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อไปก็คือ การส่งออกน้ำตาลไปขายในประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นๆ ที่ยังมีการบริโภคน้ำตาลที่แพงอยู่ ถึงเกือบ 30 บาทต่อ กก. เนื่องจากเห็นถึงความคุ้มค่ามากกว่าขายในประเทศหรือส่งออกไปยังตลาดหลัก จนอาจจะส่งผลให้น้ำตาลทรายในประเทศไทยเกิดภาวะขาดแคลน ราคาพุ่งไปสูงเกินกว่าเดิมที่ยังไม่มีการลอยตัว และส่งผลกระทบตั้งแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปจนถึงภาคครัวเรือนด้วย
    อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้บริโภคก็เห็นว่าในช่วงระยะสั้นนี้จะส่งผลดีมากกว่าผลเสีย เนื่องจากราคาน้ำตาลที่ขายปลีกในตลาดเริ่มมีราคาลดลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็เป็นที่พึงพอใจของประเทศบราซิลเป็นอย่างมาก เพราะหากไทยไม่ดำเนินการอะไรเลย คงทำให้การฟ้องร้องยังดำเนินต่อไป และอาจจะทำให้ไทยต้องสูญเงินเพราะแพ้คดีไปอีกเท่าไหร่ก็ไม่รู้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"