'ไทยนิยม' ไม่ใช่การสร้างกระแส 'ชาตินิยม'


เพิ่มเพื่อน    

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2561

            สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน จากเหตุระเบิดภายในตลาดสดรถไฟพิมลชัย เทศบาลนครยะลา ในช่วงที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานกำลังใจ ดอกไม้ และสิ่งของพระราชทานแก่ครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ สร้างความปลาบปลื้มและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงห่วงใยอย่างหาที่สุดมิได้นะครับ

            ในการนี้ ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และขอประณามการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมในครั้งนี้ด้วย ผมได้กำชับไปยังหน่วยที่เกี่ยวข้องให้เร่งดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ให้ฝ่ายความมั่นคงเร่งรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อนำไปใช้ในการติดตามจับกุมตัวคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว ก็ทราบว่ามีความคืบหน้าโดยลำดับนะครับ กำลังสอบสวนขยายผลจากผู้ต้องสงสัยอยู่

            ทั้งนี้ ผมขอให้เชื่อมั่นเจ้าหน้าที่ของเราว่าจะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ เพื่อรักษาความสงบสุขของพี่น้องประชาชนให้กลับคืนมาโดยเร็ว รวมทั้งขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแล เป็นหูเป็นตา และแจ้งข้อมูลเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ด้วยนะครับ ให้มีการตรวจสอบกล้อง CCTV ทั้งหมดด้วยนะครับ ให้ใช้การได้ตลอดเวลา

            พี่น้องประชาชนที่รักครับ, ผมขอเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน ในการยกย่องชื่นชม “ศิลปินแห่งชาติ” ประจำปี 2560 ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา

            สำหรับนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้ศิลปินแห่งชาติทั้ง 17 ท่านนี้ เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติและเข็มประกาศเกียรติคุณ จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์ตามที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งใน “วันศิลปินแห่งชาติ” วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่กำลังจะมาถึงนี้ หรือวันอื่นแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ นะครับ

            ทั้งนี้ ก็นับเป็น “รางวัลสูงสุดในชีวิต” สำหรับศิลปินที่มีคุณสมบัติและผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับในสังคมไทย เพราะนอกจากจะเป็นผู้ที่มีความรักในอาชีพ ประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดี มีความเป็นมืออาชีพแล้ว ก็ยังเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน จรรโลงชาติบ้านเมือง และเผยแพร่ความรู้ ถ่ายทอดความสามารถ ซึ่งก็เป็นเอกลักษณ์ มรดกของชาติ สู่คนรุ่นใหม่ สืบสาน ต่อยอดสู่รุ่นต่อๆ มาอีกด้วย

            ขอให้ทุกคนได้ช่วยกันดูแลบุคคลที่มีชื่อเสียง มีความสามารถในอดีตด้วยนะครับ เช่น ดารา นักแสดง ผู้อาวุโส นักกีฬา ท่านทั้งหลายเหล่านั้นอาจจะอายุมากแล้ว บางคนไม่ค่อยแข็งแรง รายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีคนดูแล ก็ขอให้ทุกหน่วยงานเข้าไปช่วยดูแลด้วยนะครับ

            สำหรับ “งานทัศนศิลป์” อาทิ จิตรกรรม–ประติมากรรม–สถาปัตยกรรม “ศิลปะการแสดง” อาทิ คีตศิลป์–นาฏศิลป์ และ “งานวรรณศิลป์” นั้น นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ที่สำคัญที่สะท้อนถึงวิวัฒนาการ ความเจริญก้าวหน้า และประวัติศาสตร์อันงดงามของชาติที่เป็นเจ้าของศิลปะเหล่านั้น เป็นสิ่งดีงามที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อยู่คู่สังคมและประเทศชาติ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านกาลเวลา

            บางครั้งถูกหล่อหลอม หลอมรวมกับอารยธรรมสากล หรือชาติอื่นๆ จนทำให้คนในชาติ หลงลืม “กำพืด รากเหง้า” ของตนเอง เพราะอาจจะไม่สนใจ ใส่ใจ ศึกษาให้ครบถ้วนถึงที่มาที่ไป เหมือน “อ่านหนังสือแค่ตอนจบ” นะครับ เร่งรีบอ่านๆ ผ่านๆ ไป ไม่ประณีต ทำให้ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ ไม่เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์นะครับ ไม่รู้ว่ามีชีวิตจิตใจอย่างไร จิตวิญญาณอย่างไรในตัวหนังสือเหล่านั้นนะครับ แล้วเราก็เอาบางส่วนนั้นมาปฏิบัติตามอย่างผิดเพี้ยนนะครับ โดยไม่รู้จริง อาจจะรวมความไปถึงเรื่องของ “ประชาธิปไตย” เราด้วยนะครับ ว่าคืออะไรกันแน่?

            เพราะว่าถ้าประเทศไหนจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนประชาชน เข้าไปทำหน้าที่ออกกฎหมายและบริหารประเทศแล้ว เรียกได้ว่าเป็น “ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย” แล้วใช่หรือไม่ “เสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อย” คืออะไร?

            เรายึดเสียงส่วนใหญ่เป็นสรณะ โดยไม่สนใจเสียงส่วนน้อยเลย จะเรียกว่า “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ได้หรือไม่นะครับ ที่สำคัญอีกประการก็คือ “หน้าที่พลเมือง” และการเคารพกฎหมายนะครับ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่สะท้อนถึงระดับความเป็นประชาธิปไตยในสังคมนั้นๆ ว่ามีมาก-น้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อย ก็ต้องเคารพกฎหมายนะครับ

            พ่อแม่พี่น้องประชาชนที่รักครับ วันนี้ก็อยากให้พวกเราทุกคนและสังคมโดยรวม ได้ใช้สติ ทบทวน สิ่งที่ผมพูดเมื่อสักครู่ ว่าเรารู้อย่างลึกซึ้งถึง “ความเป็นไทย” หรือไม่ พร้อมที่จะหลอมรวมกับ “ความเป็นสากล” โดยที่ไม่หลงประเด็น ประยุกต์ไม่เป็น จนเป็นเหตุให้มีแต่ความขัดแย้ง เพราะต่างก็อ้างว่าตน “รู้จริง” แล้วไม่ยอมฟังเหตุผลของคนอื่น

            บางครั้งรับแนวคิด วัฒนธรรมของคนอื่นมายึดถือปฏิบัติ แม้จะทำได้ในหลักการนะครับ แต่หากขัดกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา ก็คงไม่สามารถประสบความสำเร็จเหมือนเขาได้นะครับ จึงเป็นที่มาของคำว่า “ไทยนิยม” ของผม ที่มอบให้กับสังคมไทยในวันนี้

            “ไทยนิยม” นั้น ไม่ใช่การสร้างกระแส “ชาตินิยม” เหมือนที่บางคนไม่เข้าใจสังคมของตน ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก แล้วพยายามบิดเบือนความคิดของผม โดยไม่ศึกษาให้ดีนะครับ เพราะ “ชาตินิยม” นั้นจะใช้ได้ดี สำหรับป้องกันภัยคุกคาม ภัยจากภายนอกประเทศ จากการทำสงคราม หรือจากการเข้ามาครอบงำทางความคิดด้วยหลักคิดลัทธิของชาติอื่น

            “ชาตินิยม” จึงมีความจำเป็นสำหรับสถานการณ์เหล่านั้น เพื่อสร้างสำนึกความรักชาติ แต่สำหรับสถานการณ์ของประเทศในวันนี้นั้นเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เราต้องการการปฏิรูปที่อยู่บนพื้นฐานของ “ความเป็นไทย” โดยไม่ทิ้งหลักสากล นะครับ ผมขอย้ำนะครับ เราไม่ต้องไปทิ้งหลักสากล นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของ “ไทยนิยม” ที่ผมกำลังพูดถึง

            และ “ไทยนิยม” ก็ไม่ใช่ “ประชานิยม” เพราะ “ประชานิยม” เป็นการให้ในลักษณะที่เหมือนกับ “ยัดเยียด” ทุกคนนะครับ ได้ไป พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง อะไรก็แล้วแต่นะครับ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่เหมาะสมกับประชาชน ด้วยการสร้างแนวคิด “บริโภคนิยม” ที่ผ่านมาประชาชนชอบนะครับ พอใจ กลายเป็นว่าประชาธิปไตยกินได้นะครับ เหมือนกับนโยบายของที่ผ่านมานะครับ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง อาจจะทำเพียงเพื่อต้องการความนิยม หรือต้องการคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง

            หลายๆ อย่างทำไม่ได้ ออกไม่ได้ เพราะทุกคนก็ต้องการคะแนนเสียงกันทั้งหมด เลยทำให้ปัญหาต่างๆ พอกพูน มาถึงรัฐบาล มาถึงการใช้จ่ายของภาครัฐ งบประมาณต่างๆ นะครับ ซึ่งนับวันจะมีปัญหามากขึ้น เราถึงต้องมีการแยกแยะให้ชัดเจนนะครับ ว่าใครเดือดร้อนอะไรอย่างไร มากน้อยเพียงใด เราก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ให้ทั่วถึงนะครับ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องให้ความสำคัญให้มากนะครับ ว่าเราจะช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

            เพราะฉะนั้น คำว่า “ประชานิยม” นั้น แตกต่างจาก “ไทยนิยม” นะครับ เพราะว่า “ไทยนิยมนั้น” เป็นการต่อยอด ขยายผลจาก “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการ “ระเบิดจากข้างใน” การมีส่วนร่วม การรับผิดชอบร่วม แล้วรัฐบาลจึงจะแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาควิชาการ ทำให้เกิดเป็น “3 ประสาน ก็คือ ราษฎร์, รัฐ และเอกชน” นะครับ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใคร เพราะทุกคนนั้นอยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจทั้งสิ้น เพราะอยู่ในประเทศของเราเองนะครับ

            อาจจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและสร้างการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนนะครับ ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ แก้โจทย์ปัญหาที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ด้วยกลไก “ประชารัฐ” ของตน ของแต่ละท้องถิ่น ตรงความต้องการ และเมื่อมองในภาพรวมทั้งประเทศแล้ว “ไทยนิยม” จึงเป็นแนวคิดในการบริหารประเทศที่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการ ตามความนิยมของคนไทยทั้งประเทศ

            ต้องนิยมในสิ่งที่ถูกต้องนะครับ ที่ถูก ที่ควร นิยมในสิ่งดีๆ นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการมีคุณธรรมจริยธรรมด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่านิยมอะไรก็ทำได้หมด คงไม่ใช่นะครับ เพราะโดยพื้นฐานแล้ว เราคนไทยเรารักและนิยมทำในสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง มีคุณธรรม จริยธรรม อย่างไรก็ตาม มีบางคนที่ไม่นิยมไปทำอย่างอื่นนะครับ ก่อให้เกิดความขัดแย้ง บิดเบือน ทุกอย่างเหล่านี้ยังมีอยู่นะครับ

            เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างสรรค์ “ไทยนิยม” ในสิ่งดีๆ ให้มากยิ่งขึ้นนะครับ ถูกต้อง มีคุณธรรม จริยธรรม รักความสงบ เหมือนในเพลงชาติไทยของเรานะครับ โดยเฉพาะในช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ชาติไทย ระยะต่อจากนี้ไป มีความสำคัญมากนะครับ เพราะต่อกันมาทั้งหมด จากอดีต ปัจจุบัน และอนาคตนะครับ เราต้องการอนาคตอย่างไร เราก็ต้องทำปัจจุบันให้ดีที่สุดนะครับ เพื่ออนาคตที่ดี ประวัติศาสตร์ที่ดี ในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นระยะต่อจากนี้ไปมีความสำคัญกับพวกเราทุกคนนะครับ ในสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับลูกหลานของเราในอนาคตด้วย

            เราต้องการการบริหารประเทศอย่างมีวิสัยทัศน์ เพื่อจะสร้างความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ให้กับบ้านเมือง เราจะต้องน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นมรดกของชาติ มาเป็นหลักคิดสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชดำรัสให้ “สืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธาน เพื่อสร้างสุขให้ปวงชนชาวไทย” ต่อไปนะครับ

            สำหรับการสร้างความสามัคคีปรองดองนั้นก็จะต้องน้อมนำศาสตร์พระราชา ด้วยการ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”  เข้าใจถึงพื้นที่ เข้าใจถึงคน ประชาชนนะครับ เพื่อจะมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักของการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เพื่อการพัฒนาประเทศ และสำคัญประการหนึ่งที่เราแตกต่างจากคนอื่นเขา คือกับดักการเมืองนะครับ ทางการเมืองของเรามีมากกว่าประเทศอื่นเขา ต้องแก้ไขพวกนี้ให้ได้นะครับ แล้วก็จะต้องให้มีการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้อย่างยั่งยืนนะครับ ไม่ใช่หวือหวาชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็ไม่เข้มแข็ง ให้ไป ใช้ไป หมดไปนะครับ

            เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า “ประชารัฐ” และ “ไทยนิยม” นั้นก็จะมีความเชื่อมโยงกันอยู่เป็นเนื้อเดียวกันนะครับ  “ไทยนิยม” จะเป็นกรอบใหญ่ของทั้งประเทศ คล้ายๆ กับ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ที่จะเป็นกรอบใหญ่ให้กับยุทธศาสตร์จังหวัด-กลุ่มจังหวัด-ภาค ในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไก “ประชารัฐ” ทั้งนี้ หากเราสามารถสร้างความเข้มแข็ง เน้นการพึ่งพาตนเองได้ตั้งแต่ระดับฐานรากแล้วนะครับ ก็จะนำมาสู่ความสำเร็จในภาพ รวมของประเทศได้ในที่สุดนะครับ ผมก็อยากให้คนไทยเข้าใจคำว่า ไทยนิยม ประชารัฐ ยั่งยืน นะครับ 3 คำมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งหมด

            พ่อแม่พี่น้องประชาชนครับ การพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัล ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” นั้น เราจะต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ในมิติวัฒนธรรม ความเป็นไทย ตามหลักคิด “ไทยนิยม” ที่ได้กล่าวไปแล้ว และโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของประเทศไปพร้อมๆ กันด้วย อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงาน ชลประทาน เป็นต้น

            อย่างไรก็ตาม ประเทศของเรานั้นไม่ได้ร่ำรวยมากนัก จนสามารถเนรมิตหรือลงทุนทุกอย่างได้ตามที่เราต้องการในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ มีการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ปัจจุบันแม้เราจะกำหนดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแล้ว (SEZ) ไว้ทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 10 แห่ง

            แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะเริ่มดำเนินการได้พร้อมๆ กันนะครับ เนื่องจากติดขัดในหลายๆ เรื่อง ทั้งกฎหมาย ทั้งงบประมาณ ทั้งความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ความเข้าใจนะครับ บางท่านอาจจะไม่เข้าใจ ยังมองภาพความสำเร็จไม่ออก เพราะทุกคนก็เคยชินอยู่กับการทำวันนี้ ให้ได้พรุ่งนี้นะครับ บางทีหลายอย่างต้องใช้ระยะเวลานะครับ ก็ยังมองไม่ค่อยออกกัน ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คสช. และทุกหน่วยงานนะครับ ในการที่จะ “สาธิต” ให้เห็นภาพอนาคตของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ บนพื้นที่ที่มีศักยภาพเดิม ก็คือระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

            เพราะว่าเมื่อสามารถทำได้สำเร็จนะครับ จะไม่เพียงแค่ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเท่านั้น แต่ยุทธศาสตร์ขั้นต่อไป คือ การขยายผลในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่ง ในวันข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศครั้งยิ่งใหญ่ และเป็นก้าวย่างที่สำคัญของชาติ ข้าม “กับดัก” ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และการพัฒนาที่ไม่สมดุล สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

            วันนี้ ผมจึงอยากวาดภาพอนาคต และความเป็นไปได้ให้ทุกคนได้เห็น ว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนโครงการ EEC อย่างไรนะครับ โดยแผนปฏิบัติการลงทุนแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1หรือระยะเร่งด่วนนะครับ ระหว่างปี 2560 ถึง 2561 ที่ต้องดำเนินการทันที เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจภายใน EEC ให้มีการลงทุนจากในประเทศ และต่างประเทศนะครับ

            ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2562 ถึง 2564 เป็นแผนงานต่อเนื่อง เพื่อให้โครงข่ายการขนส่งสามารถรองรับกิจการทางเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้น และขยายกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระยะต่อไปเริ่มตั้งแต่ปี 2565 ก็จะเป็นแผนงานเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืนนะครับ เพื่อจะเพิ่มรายได้ของประเทศ ให้กับประชาชนทุกระดับ ทุกฝ่าย รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเพิ่มมูลค่าอีกด้วยนะครับ ทั้งนี้ จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ และโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

            (1) มอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด, แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี และชลบุรี-อ.แกลง จ.ระยอง รวมทั้งการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง การเพิ่มโครงข่ายทางเลี่ยงเมือง (2) รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 ท่าอากาศยาน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา), รถไฟทางคู่ ช่วงแหลมฉบัง-มาบตาพุด, รถไฟช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด และรถไฟเชื่อม EEC-ทวาย-กัมพูชา รวมทั้งสถานีบรรจุและยกสินค้ากล่อง จ.ฉะเชิงเทรา (3) ท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3, ท่าเรือมาบตาพุด เฟสที่ 3 และอากาศยานผู้โดยสารท่าเรือจุกเสม็ด

            (4) การยกระดับท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา อาทิ การสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน, ทางวิ่งที่ 2, พื้นที่ขนส่งสินค้าทางอากาศ, เขตปลอดอากร (Free Zone) และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ตามลำดับนะครับ สำหรับการจัดหาแหล่งวงเงินลงทุน เบื้องต้นนั้นประมาณ 1 ล้านล้านบาท จากงบประมาณแผ่นดิน 30% เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 10% รัฐและเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 59% และกองทุนหมุนเวียน จากกองทัพเรือ 1% ผลที่คาดว่าจะได้รับ อาทิ ใน 5 ปีแรก จะเกิดฐานเทคโนโลยีใหม่ของประเทศ และเกิดการพัฒนาคน ทำให้รายได้ประชาชาติ “ขยายตัว” ไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มเติม ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้กว่า 2.1-3.0 ล้านล้านบาท จะมีการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนคุณภาพสูงมากขึ้น ปริมาณการเดินทาง และขนส่งสินค้าใน EEC มากขึ้น สามารถจะลดต้นทุนของรถบรรทุกได้ประมาณ 35.6 ล้านบาทต่อวัน ลดต้นทุนรถไฟได้ประมาณ 2.3 แสนบาทต่อวัน รวมทั้งลดระยะเวลาการเดินทางลงได้อีกด้วย

            นอกจากนี้ จะเป็นการสนับสนุนให้ EEC เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมเพื่อนบ้าน, CLMV และอาเซียนทั้งหมดอย่างสมบูรณ์

            พี่น้องประชาชนที่เคารพทุกท่านครับ สัปดาห์นี้เป็นอีกครั้งนะครับที่ผมจะได้เดินทางไปร่วมการประชุมในเวทีระหว่างประเทศ คือ การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ในวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา และผมยังได้เข้าร่วมงานวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย ครั้งที่ 69 ในวันที่ 26 มกราคมนี้ ในฐานะแขกเกียรติยศ ร่วมกับผู้นำอาเซียน 9 ประเทศอีกด้วย ซึ่งอินเดียไม่เคยทำมาก่อนในอดีตนะครับ การเข้าร่วมครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นการส่งสัญญาณการให้ความสำคัญแก่พันธมิตรอาเซียนของอินเดีย ในการร่วมมือด้านต่างๆ ที่จะแน่นแฟ้นขึ้นในอนาคตด้วยนะครับ

            สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดียครั้งนี้ ถือว่ามีความพิเศษ เพราะปกติประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจามักจะจัดในภูมิภาคอาเซียน แต่เนื่องจากเป็นโอกาสครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและอินเดีย ที่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ "ครบรอบ 25 ปี"

            อีกทั้งอินเดียยังเป็นประเทศคู่ค้า และ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” ที่สำคัญของอาเซียน รวมถึงเป็นหนึ่งสมาชิกของความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (หรือ RCEP) อีกด้วย จึงได้มีการจัดการประชุมสมัยพิเศษนี้ขึ้นที่อินเดีย

            การประชุมครั้งนี้ เป็นโอกาสที่จะทบทวนในเรื่องยุทธศาสตร์ของอินเดีย ที่มีต่ออาเซียนและประเทศเอเชียแปซิฟิก ตามแนวนโยบาย "มุ่งตะวันออก" หรือ Act East ของนายกรัฐมนตรีอินเดียที่จะเพิ่มบทบาทของอินเดียในประเทศอาเซียนและเอเชียแปซิฟิกอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างสมดุลอำนาจกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ

            อีกทั้งยังสอดรับเป็นอย่างดีกับนโยบาย Look West ของไทย ในการหาลู่ทางขยายตลาดการค้า การลงทุน และการสร้างพันธมิตรในอินเดียที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ ทุกคนทราบดีมีประชากรมาก และมีศักยภาพทางเทคโนโลยีสูงอีกด้วยนะครับ

            สำหรับประเด็นสำคัญของกลุ่มอาเซียนคงเป็นเรื่องของการหาจุดสมดุลอำนาจระหว่างประเทศต่างๆ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการเมือง และการปกครองของโลกทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีนนะครับ นอกจากนี้ ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับอินเดีย ยังจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มประเทศอาเซียน และช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกัน

            ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มบทบาทของภูมิภาคอาเซียนในการเป็น “แกนกลาง” เชื่อมอินเดียเข้ากับประเทศต่างๆ รอบๆ  มหาสมุทรแปซิฟิก จนประกอบเป็นกลุ่มประเทศที่เราเรียกกันว่า “อินโด-แปซิฟิก” คือประเทศยักษ์ใหญ่ 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลียนะครับ

            สำหรับผลลัพธ์จากการประชุม ได้มีการหารือในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ทั้งด้านการค้าและการลงทุน เพื่อจะให้เพิ่มมูลค่าการค้าได้ตามเป้าหมายภายในปี 2022 รวมทั้งเร่งใช้ประโยชน์จากความร่วมมือด้านการค้าอาเซียน-อินเดีย และผลักดันความตกลง RCEP ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว มีการร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ MSMEs และการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

            นอกจากนี้ ยังจะร่วมกันเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม เทคโนโลยี และประชาชน ระหว่างอาเซียนและอินเดียเข้าด้วยกัน ผ่านการพัฒนาชุมชนเมืองที่เป็นอัจฉริยะ ซึ่งจะมีการจัดสร้าง SMART Cities-Cultural Centres ในอนาคต อาเซียนอาจพัฒนาไปสู่ความเป็น 4.0 สอดคล้องกับนโยบาย 4.0 ของไทยด้วยนะครับ พี่น้องประชาชนที่รักครับ ผมอยากจะเน้นย้ำว่า นอกจากเราจะต้องเสริมสร้างกิจกรรม “ภายใน” ให้เข้มแข็ง ยืนได้ด้วยตนเองแล้ว เราก็จะต้องขยายโอกาสไป “ภายนอก” ประเทศ เพิ่มความร่วมมือกับมิตรประเทศ เพื่อสร้างโอกาส กระจายตลาด เพิ่มรายได้ทางการค้า เพิ่มศักยภาพของประเทศผ่านการลงทุน รวมถึงส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลก 

            เพื่อให้กิจกรรม “ภายใน” ร่วมกับแรงเกื้อหนุนจาก “ภายนอก” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปได้แบบ “ 2 แรงแข็งขัน” นะครับ แต่ถ้าวันใดภายในต้องประสบปัญหา ก็อาจจะยังมีจากภายนอกคอยพยุงไว้ได้ และหากวันใดภายนอกไม่แข็งแกร่ง แม้เราอาจได้รับผลกระทบไปด้วย แต่เราก็จะยังมีรากฐานภายในที่ดี มีความมั่นคง มีชุมชนเข้มแข็ง พอจะช่วยประคองให้ประเทศเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่องนะครับ มีความสำคัญเท่าเทียมกันทั้งภายในภายนอก ด้วยเหตุนี้ ผมจึงให้ความสำคัญอย่างมากต่อนโยบายระหว่างประเทศ ทั้งในลักษณะการเจรจาทวิภาคี และการหารือในลักษณะของการเป็นพหุภาคีกลุ่มประเทศ

            ที่ผ่านมา นานาประเทศให้การยอมรับ ตอบรับ และชื่นชม กับความตั้งใจของรัฐบาลนี้มาต่อเนื่อง สะท้อนจากการทยอยปรับดีขึ้นของฐานะประเทศไทยในการจัดลำดับต่างๆ

            ผมได้มีโอกาสไปร่วมประชุมหารือกับกลุ่มประเทศใหม่ๆ  ที่แม้ไทยจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ก็ยังได้รับคำเชิญให้เข้าร่วม เช่น การประชุมของกลุ่มประเทศ BRICS ในปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเหล่านี้ได้เปิดโอกาสให้เราชี้แจงประชาสัมพันธ์ประเทศ และทิศทางนโยบายของภาครัฐ เพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุน ทั้งยังมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความเห็น และข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปใช้พัฒนากิจกรรมในประเทศด้วยครับเมื่อครู่ ผมได้พูดถึงบทบาทที่เศรษฐกิจนอกประเทศจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภายในให้เราอีกแรง ก็เพราะเมื่อเศรษฐกิจภายนอกดี ความต้องการจับจ่ายใช้สอยของเขาก็จะมากขึ้น ประเทศเราก็สามารถส่งออกสินค้าและบริการออกไปได้มากขึ้นตามไปด้วยเช่นกันนะครับ

            ก็เป็นที่น่ายินดีว่า ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับ “เพิ่ม” ตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ และปีหน้าปีละ 0.2% จากเดิมที่เคยประมาณว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ร้อยละ 3.7 ในปี 2561 และ 2562 ตอนนี้ก็จะปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.9

            ในขณะเดียวกัน ก็ได้ปรับเพิ่มตัวเลขการขยายตัวของการค้าและบริการทั่วโลกขึ้นจากร้อยละ 4.0 เป็นร้อยละ 4.6 ในปีนี้ ครับ การปรับเพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจในครั้งนี้มาจากการที่เศรษฐกิจในหลายประเทศขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ในช่วงก่อนหน้า ทำให้มีแรงส่งที่ดี เราต้องใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาของเราให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งได้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าที่ประมาณไว้ เมื่อเดือนตุลาคม 2560 โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มาตรการปฏิรูประบบภาษีของประธานาธิบดีส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ โดยในระยะสั้นคาดว่าการปรับลดภาษีนิติบุคคลจะช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนได้พอควร แต่อาจเป็นภาระในระยะยาวได้ นอกจากนี้ IMF ยังปรับเพิ่มอัตราการเติบโตของหลายประเทศในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึง 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นในปี 2561 นี้ จากที่เคยให้ไว้ที่ร้อยละ 5.2 เป็นร้อยละ 5.3 นะครับ

            สำหรับประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศขนาดเล็ก การปรับประมาณการครั้งนี้จึงไม่ได้เปิดเผยในรายละเอียด ไม่สามารถแยกพิจารณาได้ชัดเจน แต่ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีการปรับเพิ่มประมาณการของประเทศไทยในปี 2561 จากร้อยละ 3.8 ที่ทำไว้ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว เป็นร้อยละ 3.9 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาด้วย

            อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็คงให้ความสำคัญกับมาตรการการดูแลผู้มีรายได้น้อย ตามโมเดลลดความยากจนด้วยนะครับ การปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย

            แต่ผลดีนั้นจะดีมากหรือน้อยแค่ไหนก็จะขึ้นอยู่กับการปรับตัวรับโอกาสนี้ของภาคธุรกิจเอกชนไทย และการทำงานร่วมกับรัฐบาลในการขยายตลาด การเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภค โดยการจัดเวทีหารือ การจัดแสดงสินค้า การ matching ผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการทั้งสองฝ่าย

            ภาคเอกชนไทยมีความสามารถ มีศักยภาพ ผมขอให้เราร่วมกันฉกฉวยโอกาสนี้ไว้ในระยะสั้น คงต้องทำงานหนัก ต้องมีการป้องกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า โดยต้องประมาณตน มีภูมิคุ้มกัน และเน้นการพึ่งพาตนเองให้มาก ต้องทำงานเชิงรุกร่วมกัน

            สำหรับระยะยาว ภาครัฐเองก็จะเดินหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศ รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะช่วยปรับโครงสร้างให้ประเทศในภาพรวมมีความสามารถในการแข่งขัน และการปรับเศรษฐกิจภายในให้แข็งแกร่ง รองรับความเสี่ยงต่างๆ ได้ดีขึ้นด้วย

            แน่นอนที่สุด คือ ช่วงระยะนี้ซึ่งเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน เราทุกคนต้องร่วมมือ ร่วมใจกัน ฟันฝ่าอุปสรรคไปพร้อมๆ กัน ด้วยความเสียสละ อดทนเผื่อแผ่ แบ่งปัน ประนีประนอมตามอัตลักษณ์คนไทยด้วยนะครับ

            พี่น้องประชาชนที่รักครับ สำหรับการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการปฏิรูป ได้จัดทำร่างแผนปฏิรูปประเทศเสร็จเรียบร้อยในขั้นต้นแล้วทั้ง  11 ด้าน อันได้แก่ ด้านการเมือง, ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน, ด้านกฎหมาย, ด้านกระบวนการยุติธรรม, ด้านเศรษฐกิจ, ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ด้านสาธารณสุข, ด้านสังคม, ด้านพลังงาน, ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านป้องกัน ปราบปราม การทุจริตและประพฤติมิชอบ

            โดยหลักการจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติมีเป้าหมาย หรือผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน รวมทั้งมีตัวชี้วัด ประเมินผลสำเร็จตามระยะเวลาได้ ทั้งนี้ ในหลายประเด็นปฏิรูป อาจต้องมีการปรับโครงสร้าง กระบวนการทำงานของส่วนราชการ ข้าราชการที่เกี่ยวข้องมากมายที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนทุกคน

            สำหรับขั้นตอนต่อไป จะมีการเสนอร่างแผนปฏิรูปให้กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณา รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และขั้นตอนอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้มีการประชาสัมพันธ์ ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบเป็นระยะๆ นะครับ

            จากร่างแผนปฏิรูปดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเรามีปัญหามากมายในการเดินหน้าประเทศไปสู่ความยั่งยืน โดยเราจะต้องกำหนดกรอบเวลาจัดทำแผนแม่บทของแต่ละส่วนราชการ ให้สอดคล้องกับทั้งแผนปฏิรูป แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกๆ 5 ปี ปัจจุบันแผนที่ 12 นะครับ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนต่อๆ ไปของทุกรัฐบาลนะครับ

            สุดท้ายนี้ข้อมูลที่ผมได้กล่าวมานั้นถือว่าเป็น “ความรู้” สำหรับการเตรียมตัว เตรียมพร้อมเผชิญกับสิ่งท้าทายใหม่ในอนาคต ซึ่งจะเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ หากใครศึกษา ค้นคว้าเพิ่มเติม จนเกิด “ปัญญา” เกิดแนวคิดที่จะพัฒนาตนเองไม่ให้หลุดกรอบ ตกกระแสการพัฒนาประเทศ หรือ “รู้เท่าทัน” แล้ว ก็จะช่วยให้ปรับตัวได้ทัน และได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงใน “ยุค 4.0” นะครับ และการเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยของเรา

            ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน ทุกครอบครัว” มีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"