เลื่อนโรดแมป-ตรรกะวิบัติ เกมอำนาจ ท้าทายประชาชน


เพิ่มเพื่อน    

 

  เป็นไปตามการคาดหมาย สำหรับที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ.....ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้วในวาระ 2 และ 3 
โดยเฉพาะมาตรา 2 ว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีมติแก้ไขให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายหลังประกาศแล้ว 90 วัน ซึ่งจะส่งผลให้ต้องเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งจากเดือน พ.ย.2561 ไปถึงเดือน ก.พ.-มี.ค.2562
ทั้งนี้ เสียงส่วนใหญ่ของ สนช.อ้างเหตุผลว่า เนื่องจากมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ขยับเวลาการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองเป็นเดือน มี.ค.และเดือน เม.ย. รวมถึงการประชุมใหญ่พรรคการเมืองจะทำได้ต้องรอหลังจากที่ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน จึงมีความจำเป็นเพื่อให้พรรคการเมืองได้เตรียมตัวทำกิจกรรมทางการเมือง เช่น การเปิดประชุมพรรค การทำไพรมารีโหวต การส่งผู้สมัครเลือกตั้งได้ทันตามกรอบเวลา โดยเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป 
    การขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวถูกท้วงติงจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองที่เห็นว่าจะขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ กระทบความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เคยประกาศต่อนานาชาติไว้แล้วว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.2561 
    ที่สำคัญฝ่ายการเมืองยังมองว่า เป็นแผนสมคบคิดเพื่อสืบทอดอำนาจโดยการใช้อภินิหารทางกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใหม่ของทหารที่กำลังจัดตั้งขึ้นให้ได้เปรียบพรรคการเมืองเก่า  
    ในที่ประชุม สนช. พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต สมาชิก สนช. อภิปรายว่า "ถ้าไม่มีวันที่ 22 พ.ค.2557 เราจะไม่มีประเทศแบบทุกวันนี้ จะมีแต่การเผาบ้านเผาเมือง แบ่งแยกประเทศ ขอถามว่าที่ผ่านมานักการเมืองทำอะไรเพื่อประเทศและประชาชนบ้าง มีแต่ใช้วาทกรรมบิดเบือน ชักศึกเข้าบ้าน เรื่องการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นขอเสนอให้บังคับใช้กฎหมายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 60 เดือน หรือ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี"
    ข้อเสนอของ พ.ต.ท.พงษ์ชัย สะท้อนทัศนคติของ สนช.และ คสช.ได้เป็นอย่างดีว่า มองสถานการณ์บ้านเมืองและนักการเมืองเป็นอย่างไร แม้จะปฏิเสธว่าการขยายเวลาดังกล่าว สนช.ไม่ได้รับใบสั่งจาก คสช. แต่คงไม่มีใครเชื่อ เนื่องจาก สนช. 1 ในแม่น้ำ 5 สาย ก็ทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว 
     แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังปฏิเสธว่า ไม่สามารถก้าวล่วง สนช.ได้ ไม่ได้ส่งสัญญาณ และยังพูดมีนัยอีกว่า “การเลือกตั้งจะเลื่อนหรือไม่เลื่อน วันนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ จะเกิดอะไรขึ้นอีกผมยังไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของกลไกกฎหมาย แต่ถือว่าผมรับทราบก็แล้วกัน” 
    ด้านฝ่ายการเมือง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองเรื่องนี้ว่า เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าจะออกมาในรูปนี้ แต่ คสช.และรัฐบาลจะต้องตระหนักว่าควรทำให้เกิดความเชื่อมั่น หากจำเป็นต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็ควรประกาศให้ชัดตรงไปตรงมา เพราะเหตุผลที่ต้องขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป ไม่สะท้อนความจริงที่เป็นผลมาจากการไม่ปลดล็อกทางการเมืองของ คสช. ความไม่แน่นอนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลและประเทศ จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ 
    นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย บอกว่า แม้จะขยายเวลาเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน ก็ไม่มีประโยชน์ต่อพรรคการเมืองเก่า เพราะหมายถึงจะขยายเวลาปลดล็อกออกไปอีก 90 วัน เพื่อไม่ให้มีเวลาเตรียมตัว แต่ตรงกันข้ามเป็นการเปิดทางให้พรรคการเมืองใหม่มีเวลาเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งที่ คสช.เตรียมไว้ การเดินเกมทั้งหมดของ คสช.เพื่อถ่วงเวลาขยายอำนาจให้ คสช.และเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีคนนอก และไม่เชื่อว่าในปี 2562 จะมีการเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมา คสช.เดินเกมด้วยการโกงกระบวนการกฎหมายหลายรูปแบบ
    ขณะที่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) นำโดย นายรังสิมันต์ โรม แกนนำ ได้นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.ในวันเสาร์ที่ 27 ม.ค.2561 เวลา 17.30 น. ณ เพื่อแสดงพลังให้ คสช.ได้ตระหนักว่าเราจะไม่ทนกับการใช้อำนาจแบบเอาแต่ได้ของพวกเขาอีกต่อไป
    นอกจากการเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางแล้ว กรณีการตรวจสอบนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประเด็นร้อนที่ทำให้รัฐบาล คสช.ถูกวิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่าปกป้องพวกพ้องตัวเอง
    แม้ พล.อ.ประวิตร จะชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า แหวนแม่-นาฬิกายืมเพื่อน แต่สังคมยังไม่คลายข้อกังขา และเนื่องจากประธาน ป.ป.ช.-พล.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ก็เคยเป็นอดีตเลขาฯ ตัวเอง แม้ พล.อ.วัชรพลจะประกาศถอนตัวในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ก็ยังต้องจับตาว่า ป.ป.ช.จะตรวจสอบอย่างจริงจังหรือไม่ว่านาฬิกาทั้ง 25 เรือน เป็นของ เสี่ยคราม-ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เพื่อนสนิทร่วมรุ่นเซนต์คาเบรียล เพียงคนเดียวจริงหรือ?
    โดยเฉพาะนาฬิกาแต่ละเรือนราคานับล้านบาท แต่ละรุ่นมีซีรีส์นับเบอร์และผลิตจำนวนจำกัด หากมีหนังสือไปยังบริษัทตัวแทนจำหน่ายนาฬิกา หรือแจ้งให้กรมศุลากร-กรมสรรพากรตรวจสอบก็จะสามารถรู้รายชื่อบุคคลที่ซื้อได้ หากเป็นพ่อค้านักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูง ก็สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ได้ว่าให้ยืมหรือให้เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อื่นใด
    แต่ถ้าหากพบว่าซื้อมาด้วยตนเอง ก็จะเข้าข่ายปกปิดการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ต้องถูกถอดถอนจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และอาจโดนข้อหาร่ำรวยผิดปกติอีกด้วย 
    ด้าน นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช.แถลงผลการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวตอนหนึ่งว่า ตามหลักทั่วไปหากทรัพย์สินถ้าไม่ใช่ของตัวเองก็ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.  
    ทำให้ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์ข้อความว่า ทำไมถึงคิดอย่างนี้ "ไม่ใช่ทรัพย์สินของตนเอง ไม่ต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สิน" ความคิดแบบนี้ออกมาสู่สังคมได้อย่างไร อีกหน่อยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักการเมืองก็จะอ้างว่า "รถหรูคันนี้ (หรือบ้านหลังนี้หรือก้อนนี้) ผมยืมเพื่อนมา ก่อนพ้นหน้าที่ผมก็คืนไปแล้ว จึงไม่ต้องแสดงรายการในบัญชีทรัพย์สิน" ถ้าทำอย่างนี้ได้ ป.ป.ช. ไม่ต้องตรวจสอบใครอีกแล้วครับ เพราะไปเปิดประเด็นให้เขาโกงได้เต็มที่ 
    "อย่าลืมซิครับ การยืมใช้คือการได้ประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ถ้าคำนวณแล้วเกินกว่า 3,000 บาท ก็ผิดมิใช่ครับ นาฬิกา รถยนต์ หรือทรัพย์สินอื่นใดก็ตาม อาจเอาให้เช่าได้ แม้เขาให้ใช้ฟรีๆ มันก็เป็นสัญญายืม ซึ่งสามารถคำนวณเป็นค่าเช่าได้ เมื่ออาจคำนวณได้ก็ต้องถือว่าคนยืมได้ รับประโยชน์อันอาจคำนวณราคาเงินได้ ถ้าบอกว่าเพื่อนให้มา แต่เพื่อนตายแล้ว ก็ต้องดูว่าเพื่อนเขาตายเมื่อไหร่ จะทราบว่าได้มาตอนไหน ต้องแสดงรายการในบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ คำตอบมันมีอยู่ในตัวทุกเรื่องแหละครับ" 
    แต่ดูเหมือน พล.อ.ประวิตร และผู้เกี่ยวข้องไม่สนใจเสียงวิจารณ์ แม้จะมีการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งพักงาน รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เพื่อแสดงความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับที่เคยใช้ ม.44 สั่งพักงานข้าราชการระดับท้องถิ่นที่ถูกกล่าวหาพัวพันทุจริตมามากมาย 
    โดยเฉพาะ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และเพื่อนร่วมรุ่นเซนต์คาเบรียลของ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้เดี๋ยวก็สอบสวนเสร็จแล้ว เดี๋ยวเขาก็ลาออก แรงบีบจากสังคมขนาดนี้ ใครจะไปยืนอยู่ ดูจากแรงบีบทั้งสื่อ ทั้งสังคม ผมก็รู้แล้ว คนเราเจอแรงบีบจากสังคมอย่างไงก็อยู่ไม่ได้ แต่ผมไม่รู้ว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไร แต่หากเป็นผม ผมลาออกแต่แรกแล้ว ก็เราทำผิด เราต้องรับผิดชอบ เว้นเสียแต่เราไม่ผิด" 
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.) ที่ตนเองมีคำสั่งแต่งตั้งเองด้วย อ้างว่า " เรื่องนี้อะไรเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นความบกพร่องส่วนตัว ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย ซึ่งมีอยู่แล้ว เรื่องไหนเป็นเรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่านำ 2 เรื่องมาปนกัน ถ้าใช้งบประมาณแผ่นดินแล้วทำให้เกิดความเสียหาย มีหลักฐานชัดเจนก็ว่าไปอีกแบบ ขอให้แยกแยะให้ออก ผมคิดว่าเรื่องนี้ควรจะยุติได้แล้ว ปล่อยให้เป็นเรื่องของ ป.ป.ช.ตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรม” 
    จากตรรกะของ ประธาน คตช. ดังกล่าว เป็นทัศนะที่น่าสิ้นหวังกับการป้องกันทุจริตคอร์รัปชัน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้งบประมาณแผ่นดินเช่นกัน หากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับสินบาทคาดสินบนจากพ่อค้านักธุรกิจหรือข้าราชการที่ซื้อขายเก้าอี้ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนนั้นก็ย่อมใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้เป็นการตอบแทน ซึ่งจะกระทบต่อการบริหารและงบประมาณแผ่นดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน   
    ล่าสุด นิด้าโพลเผยแพร่ผลสำรวจในหัวข้อ “ความเชื่อมั่นต่อการทำงานตรวจสอบรัฐบาล/คสช.ของ ป.ป.ช.” พบว่า ในเรื่องเกี่ยวกับ “ความโปร่งใส” ของรัฐบาล โดย คสช.กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.32 ระบุว่า ไม่โปร่งใส มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น มีเพียงร้อยละ 16.64 เท่านั้น ที่ยังเชื่อมั่นว่าโปร่งใสไม่มีสิ่งผิดปกติ
    นี่คือสัญญาณความเสื่อมศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล คสช.ในเรื่องความโปร่งใส 
    อย่าลืมว่ารัฐบาลที่แล้วที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ล่มสลายเพราะปมปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน! ที่ประชาชนรังเกียจ และคาดหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาสะสางปราบปรามวางกลไกมาตรการต่างๆ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยอีก แต่รัฐบาลนี้กลับทำให้ผิดหวังลงเรื่อยๆ
    จากปมการเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้ง ผิดสัญญาประชาคม การปกป้อง รมต.ที่ถูกกล่าวหาว่าปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ถือว่าท้าทายความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง และจะกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธารัฐบาล คสช.ลงเรื่อยๆ แม้รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จตาม ม.44 แต่บทเรียนในประวัติศาสตร์ หากประชาชนหมดศรัทธารัฐบาล แม้จะเป็นรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลเผด็จการทหารก็ไม่อาจต้านทานประชาชนได้เลย
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"