กฎแห่งกฎหมาย...กฎแห่งสังคม


เพิ่มเพื่อน    

ตามหลักปรัชญาของกฎหมาย การพิจารณาตัดสินว่าใครผิดใครถูกก็ต้องดูกันที่หลักฐาน หากผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามสามารถหาหลักฐาน หรือปั้นหลักฐานมานำเสนอกับผู้ที่ทำหน้าที่พิจารณาได้อย่างน่าเชื่อถือ ไร้ข้อกังขา ผู้ที่ถูกกล่าวหาก็จะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหา เป็นผู้ไม่มีความผิด นอกจากผู้ถูกกล่าวหาจะพยายามหาหลักฐานมาแสดงให้ตนเองพ้นผิดแล้ว ผู้กล่าวหานั้น หากนำหลักฐานที่ไม่มีความชัดเจน มีข้อกังขาบางประการ ผู้พิจารณาก็ย่อมยกประโยชน์ให้ผู้ถูกกล่าวหา เพราะหลักฐานที่นำมากล่าวหาไม่มีความชัดเจน ดังนั้นใครผิดใครถูกตามหลักการของกฎหมาย บางทีก็อาจจะไม่ตรงกับความจริง ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ถูกกล่าวหาในการจะหาหลักฐานหรือปั้นหลักฐานที่ไม่มีใครอาจจะแย้งได้ และยิ่งผู้ที่มีหน้าที่ไต่สวนมีแนวโน้มที่จะพยายามช่วยผู้ที่ถูกกล่าวหาแล้ว หลักฐานที่ผู้ถูกกล่าวหาก็มักจะเป็นที่ยอมรับของผู้ไต่สวน และในบางครั้งการแถลงของผู้ถูกกล่าวหาก็ฟังดูแปร่งๆ เหมือนพยายามจะช่วยผู้ถูกกล่าวหาให้พ้นผิด และเมื่อสาธารณชนไม่อาจจะเถียงสิ่งที่นำมาเป็นหลักฐาน พวกเขาก็จำใจต้องยอมจำนนกับกระบวนการที่ผู้ไต่สวนได้พยายามอธิบายว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนและหลักการของกฎหมาย ในที่สุดผู้ที่ถูกกล่าวหาก็จะพ้นผิดแบบขัดตาสาธารณชน

อย่างไรก็ตาม นอกจากกฎกติกาของกฎหมายที่ว่าด้วยหลักฐานแล้ว ก็ยังมีกฎกติกาของสังคมที่ไม่ได้ใช้หลักฐานอย่างเดียวในการพิจารณาว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นผิดจริงหรือไม่ผิด ในทางสังคมนั้น นอกจากหลักฐานแล้ว พวกเขาก็ยังใช้ตรรกะ สามัญสำนึก ความสมจริง ภาพลักษณ์ของผู้ถูกกล่าวหา ภาพลักษณ์ของผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกกล่าวหาและผู้ถูกตรวจสอบ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจและผู้ถูกตรวจสอบ เป้าหมายของการตรวจสอบ (ว่าต้องการหาความจริงอย่างตรงไปตรงมา หรือเพื่อช่วยเหลือปกป้องกัน) แนวทางที่จะให้ผลออกมาตามหลักนิติศาสตร์หรือตามหลักรัฐศาสตร์ และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ในสมองของพวกเขาจะนำเอาปัจจัยเหล่านี้บูรณาการเข้าด้วยกัน แล้วตัดสินใจว่าพวกเขาจะมีความคิดเห็น หรือมีทัศนคติอย่างไรกับกรณีที่เกิดขึ้น หากแม้นเขามองว่าเขาไม่ใช่หลักฐาน เขาไม่เชื่อผู้ตรวจสอบ เขาก็จะส่งสัญญาณบอกกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายว่าพวกเขากินข้าว ไม่ได้กินแกลบกินหญ้า และที่สำคัญก็คือในยุคนี้พวกเขามี social media ซึ่งเป็นสื่อเปิดให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็น แสดงความรู้สึกของพวกเขา และพวกเขามักจะเชื่อข้อความที่พวกเขาได้พบได้เจอบนพื้นที่ social media มากกว่าข้อความที่เขาได้รับจากบุคคลในองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการไต่สวนตรวจสอบ

เมื่อเช่นนี้แล้วขอให้เชื่อเถอะว่า ผู้ถูกกล่าวหาคนใดที่สามารถทำให้ตนเองพ้นจากข้อกล่าวหาได้จากการตรวจสอบ อย่าได้คิดว่าจะไม่ผิดในสายตาของสังคม อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่าสาธารณชนไม่ได้ใช้หลักฐานแต่เพียงอย่างเดียวในการพิจารณาว่าใครผิดใครถูก เขาไม่ได้มองที่เนื้อหาของหลักฐานเท่านั้น เขาจะมองว่าหลักฐานนั้นได้มาจากไหน ใครเป็นผู้ให้หลักฐาน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้หลักฐาน ความมีอำนาจของผู้ถูกกล่าวหา และความเกรงใจของคนอื่นๆ ที่มีต่อผู้ถูกกล่าวหา อย่างที่มีคนเขากล่าวว่าใครก็ตามที่มีปัญหาด้านภาพลักษณ์ชื่อเสียง และมีการต่อสู้ทางกฎหมาย แล้วชนะนั้น อาจจะเป็นเพียงชัยชนะทางกฎหมาย แต่ไม่ใช่ชัยชนะทางสังคม การได้รับชัยชนะจากกระบวนการตรวจสอบตามกฎหมายนั้นเป็นชัยชนะระยะสั้น แต่ชัยชนะทางสังคม คือการทำให้สังคมยอมรับและน่าเชื่อถือนั้น เป็นชัยชนะระยะยาว และเป็นสิ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องพยายามให้ได้ชัยชนะดังกล่าวนี้ ผู้ที่ได้ชัยชนะตามกระบวนการของกฎหมาย จากการหาหลักฐานมาได้เก่ง และจากการช่วยปกป้องของผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ ไม่อาจจะมีชีวิตที่มีความสุขได้ตลอดไป ใจจะเป็นทุกข์ว่าคนอื่นมองตนอย่างไร ศรัทธาและความน่าเชื่อถือจะยังมีอยู่อีกหรือไม่ แต่คนที่ได้รับชัยชนะทั้งในกระบวนการของการตรวจสอบและการยอมรับของสาธารณชนย่อมมีชีวิตที่มีความสุขมากกว่า เป็นความสุขกายสบายใจที่คนอื่นยอมรับความถูกต้องของตน พ้นข้อกล่าวหาทั้งจากกระบวนการตรวจสอบ และวิจารณญาณของสาธารณชน

ใครผู้ใดก็ตามที่ต้องการชนะใจสาธารณชน เมื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหา จะต้องไม่รีรอที่จะชี้แจงทันที่ที่ถูกกล่าวหา สาธารณชนจะเชื่อว่าคนที่ถูกกล่าวหานั้น หากสามารถชี้แจงได้ทันทีทันใด ไม่ต้องรอเวลาไปตั้งตัว น่าจะพูดความจริงมากกว่าคนที่พยายามหลีกเลี่ยงที่จะตอบเมื่อมีคนถาม ประวิงเวลาในการชี้แจง สาธารณชนก็จะคิดได้ว่าที่ประวิงเวลานั้น เพราะต้องการไปคิดหาคำตอบที่จะทำให้ตนเองพ้นผิดใช่หรือไม่ และเมื่อออกมาชี้แจงในภายหลัง แม้จะพูดความจริง สาธารณชนก็จะไม่เชื่อถือ ยิ่งถ้าการชี้แจงที่เกิดขึ้นอย่างล่าช้านั้น ไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อนอะไรเลย สาธารณชนก็จะตั้งคำถามว่า “ก็ถ้ามันเป็นเช่นนี้จริง ทำไมไม่พูดเสียตั้งแต่แรก ทำไมเพิ่งมาพูด “การตั้งคำถามแบบนี้ของสาธารณชนแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่เชื่อคำชี้แจงที่มาอย่างล่าช้า ดังนั้นผู้ใดที่ถูกกล่าวหาไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม อย่ารีรอที่จะให้ความกระจ่างกับสาธารณชน การให้ความกระจ่างในทันทีทันใดที่ถูกกล่าวหานั้น ข้อความจะมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือมากกว่าข้อความที่มาอย่างล่าช้า ผู้คนจะคิดว่าที่ยังไม่ให้คำตอบใดๆ นั้น เพราะต้องการไปตั้งหลักประดิษฐ์ถ้อยคำที่จะแถลงให้ตนเองดูดี (และอาจจะไม่ใช้ความจริง แต่เป็นข้อความที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาดูดีเท่านั้น)

การที่ผู้ถูกกล่าวหาออกมาพูดทันทีที่ถูกกล่าวหานั้น นอกจากจะทำให้คำพูดมีความน่าเชื่อถือแล้ว ยังจะมีประโยชน์อีกหลายอย่าง นั่นคือ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ออกมาแถลงโดยเร็วนั้น เป็นผู้กำหนดทิศทางของเรื่องราวต่างๆ ที่จะปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างๆ ทั้งสื่อสารมวลชนและสื่อสาร on line บนพื้นที่ social media นอกจากนั้นแล้วเป็นการยุติข่าวลือที่อาจจะเกิดขึ้นกับจอมมโนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวของสื่อต่างๆ หรือนักเลงคีย์บอร์ดที่ชอบโพสต์ข้อความให้สาธารณชนตามอ่าน กด like กด share ตามค่านิยมของคนในสมัยนี้ และถ้าหากคำแถลงนั้นน่าเชื่อถือ มีตรรกะสมเหตุสมผล มีหลักฐานยืนยันที่น่าเชื่อถือ ข่าวต่างๆ ที่จะเป็นลบกับผู้ถูกกล่าวหาก็จะจบลงอย่างรวดเร็ว ไม่ทำให้ข่าวของการถูกกล่าวหายืดเยื้อยาวนาน จนกลายเป็นเรื่องน่ารำคาญของผู้ถูกกล่าวหา ในที่สุดทนไม่ได้ก็ต้องออกมาพูด แต่เมื่อออกมาพูดช้าเกินไป แม้ว่าพูดจริงก็ยากที่คนจะเชื่อ และคำแถลงของฝ่ายตรวจสอบก็พลอยไม่น่าเชื่อถือไปด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"