สำรวจ2ปีหลัง‘ลุงตู่’วูบนิดหน่อย


เพิ่มเพื่อน    

  กรุงเทพโพลล์สำรวจ 2 ปีแรก 2 ปีหลังรัฐบาลลุงตู่ พบ 2 ปีหลังวูบนิดหน่อย แต่คะแนนปราบคอร์รัปชัน ปฏิรูปการเมือง พัฒนาระบอบประชาธิปไตย และเศรษฐกิจ ร่วงมากสุด ภาพรวมสอบผ่าน แต่ควรปรับเปลี่ยนบางตำแหน่งเพื่อกู้ภาพลักษณ์

    กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ   ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “2 ปีแรก vs 2 ปีหลัง การทำหน้าที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,228  คน พบว่า 
    ในภาพรวมคะแนนการทำหน้าที่ในด้านต่างๆ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วง 2 ปีแรกเทียบกับช่วง 2 ปีหลัง พบว่า ในช่วง 2 ปีแรกได้ค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 6.31 คะแนน ส่วนในช่วง 2 ปีหลังได้คะแนนเฉลี่ยรวมเท่ากับ 6.04 คะแนน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบช่วง 2 ปีแรกกับช่วง 2 ปีหลัง พบว่ามีค่าเฉลี่ยลดลง 0.27 คะแนน
    เมื่อแยกพิจารณาพบว่า ในช่วง 2 ปีแรก ด้านที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (6.81 คะแนน) รองลงมาคือด้านการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน (6.67 คะแนน) และด้านการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน การสร้างความโปร่งใส (6.65 คะแนน)
    ส่วนในช่วง 2 ปีหลัง พบว่า ด้านที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (6.62 คะแนน) รองลงมาคือด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค ขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า (6.47 คะแนน) และด้านการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน (6.36 คะแนน)
    เมื่อเปรียบเทียบในช่วง 2 ปีแรกกับในช่วง 2 ปีหลังพบว่า ด้านที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ ด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค ขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า (เพิ่มขึ้น 0.19 คะแนน) รองลงมาคือด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น โครงการประชารัฐ (เพิ่มขึ้น 0.06 คะแนน) และด้านความสัมพันธ์กับนานาประเทศในทุกภูมิภาค (เพิ่มขึ้น 0.02 คะแนน)
    ส่วนด้านที่ได้คะแนนลดลงมากที่สุดคือ ด้านการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน การสร้างความโปร่งใส (ลดลง 0.76 คะแนน) รองลงมาคือด้านการปฏิรูปการเมืองและพัฒนาระบอบประชาธิปไตย และเศรษฐกิจของคนในประเทศ (ลดลงเท่ากัน 0.54 คะแนน)  
    สุดท้ายเมื่อถามว่า “ท่านยังเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในการบริหารประเทศหรือไม่อย่างไร” พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 52.2 ยังเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 40.7 เชื่อมั่นในการทำหน้าที่ แต่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงในบางตำแหน่ง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดีขึ้น รองลงมาร้อยละ 11.5 เชื่อมั่นการทำหน้าที่ทุกๆ ตำแหน่ง ขณะที่ร้อยละ 47.8 ไม่เชื่อมั่นในการทำหน้าที่ อยากให้มีการเลือกตั้ง เพื่อได้รัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศ
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงความกังวลหากมีการคว่ำร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.รป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. ที่อาจทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนช้าออกไปอีกประมาณ 6 เดือนว่า ยังไม่ทราบว่าจะมีการคว่ำหรือไม่คว่ำร่างทั้ง 2 ฉบับ ขณะนี้มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่มา ส.ว. ที่อาจจะมองหรือตีความเจตนาของระบบที่มีการเขียนไว้ในกฎหมายไม่ตรงกัน ซึ่งจะต้องหาข้อยุติตรงนี้ 
    เขากล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่จะหาทางออกร่วมกัน ก่อนหน้านี้เคยพูดไว้ว่า การเลือกตั้งจะเป็นเมื่อไหร่ อย่างไร เมื่อถึงที่สุดแล้วคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้อยู่ในสถานะที่จะกำหนดได้ หาก คสช.เห็นว่าการเลือกตั้งควรเป็นไปตามโรดแมปที่ประกาศไว้ ต้องเข้าไปแก้ปัญหาไม่ให้เกิดอุปสรรคอย่างที่มีข้อกังวล
    "ถ้าเห็นว่าสมควรจะต้องเลื่อนออกไป ต้องอธิบายเหตุผลให้ชัดว่าคืออะไร คิดว่าการอธิบายจะดีที่สุด ดีกว่าปล่อยให้ทุกอย่างไม่แน่นอน และทำให้เกิดปัญหาขึ้น คสช.มีอำนาจที่จะกำหนดกรอบเวลา ขณะที่พรรคการเมืองต้องการเห็นบ้านเมืองสงบเรียบร้อย เดินหน้าไปอย่างมีแบบแผน เป็นที่เชื่อถือและเชื่อมั่น ที่ผ่านมาได้แสดงความคิดเห็นแบบนี้มาตลอด และหวังว่า คสช.จะรับฟัง"
    เมื่อถามว่า หากมีการเลื่อนออกไปอีก จะส่งผลต่อกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวอยากให้มีการเลือกตั้งอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้ามีการอธิบายโปร่งใส ชัดเจน แม้จะมีคนจำนวนหนึ่งเร่งรัด อยากให้มีการเลือกตั้งก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ถ้ากลุ่มดังกล่าวมองว่ามีความไม่ตรงไปตรงมา มีการใช้อภินิหารหรือเล่ห์กลทางกฎหมาย ก็สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความไม่พอใจ ความขัดแย้งขึ้น ทางที่ดีคือต้องชัดเจน ตรงไปตรงมา โปร่งใส ว่าจะเอาอย่างไร 
    ทั้งนี้ คสช.ต้องระวัง เพราะภารกิจหลักทั้งหมดของคสช.คือเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อปูทางให้ประเทศกลับเข้าไปสู่ระบบประชาธิปไตยไปพร้อมกับการปฏิรูป ถ้าไม่ระวังและเป็นจุดที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ภารกิจของ คสช.ก็ไม่อาจลุล่วงไปได้ จึงขอให้ระวังและสร้างความแน่นอนให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ชัดเจน และยอมรับว่าจะให้พอใจคนทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้ามีเหตุผลชี้แจงต่อสาธารณะได้ ดีกว่าถูกมองด้วยความหวาดระแวง สงสัยว่ามีความไม่ตรงไปตรงมาหรือมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่
    ถามว่า หลายฝ่ายกังวลว่ามีความพยายามที่จะยื้อเวลาการเลือกตั้งเพื่อปูทางให้กับ คสช. นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นี่คือสิ่งที่เป็นห่วง จึงได้บอกว่าให้ตรงไปตรงมา และชัดเจนจะดีที่สุด
    นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการคิกออฟโครงการไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาลลงไปสร้างความเข้าใจกับประชาชน ว่า เมื่อชุดวิทยากรลงพื้นที่ไปแล้ว ก็จะเห็นสาระที่นำเสนอ และวิธีการปฏิบัติก็จะชัดเจนเองว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือทำไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ขอให้รอดูตรงนั้นก่อน ขณะนี้ทราบเพียงว่าจะมีชุดวิทยากรลงไปในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจ ครอบคลุมทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ท้ายสุดต้องดูที่การปฏิบัติจริง อย่างไรก็ตาม ในฐานะฝ่ายการเมือง ไม่มีอะไรหวั่นไหวทั้งสิ้น แต่อยากจะบอกว่า หากสร้างความรู้ความเข้าใจ และปลูกฝังสิ่งที่ถูกต้อง ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าลงไปแล้วเกิดลักษณะใช้อำนาจรัฐไปเอื้อประโยชน์ทางการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ถือเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ไม่ใช่เกรงว่าจะได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง แต่จะเป็นเรื่องการไปทำลายระบบที่เรากำลังจะปฏิรูปมากกว่า
    ด้านนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศชาติเกือบถึงวิกฤติ เพราะติดกับดักกับคำว่าเปลือกประชาธิปไตย ติดกับคำว่าเลือกตั้ง ว่าที่ พล.อ.อนุพงษ์ ระบุเราติดกับดักเปลือกประชาธิปไตยนั้น เป็นเพราะทหารเข้ามายึดอำนาจ รัฐบาลจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 40 เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบ ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงในการตรวจสอบ การบริหารงานเป็นไปด้วยดี รายได้ประชาชนพอใช้ แต่พอมีการยึดอำนาจในปี 49 แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ก็มีการสร้างเงื่อนไขเรื่องความขัดแย้งขึ้นจนมีการรัฐประหารอีกครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี รัฐธรรมนูญฉบับ 60 ที่พวกท่านร่างกันขึ้นเป็นรัฐธรรมนูญกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเพียงครึ่งเดียว ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีสิทธิในการเลือกนายกฯ อีกทั้งการบริหารประเทศช่วงที่ผ่านมาก็ขับเคลื่อนด้วยอำนาจมาตรา 44 แล้วประเทศชาติได้พัฒนาไปข้างหน้าหรือไม่ แม้จะมีโครงการต่างๆ ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปี ประชาชนก็ยังลำบากอยู่
    เขากล่าวว่า โครงการไทยนิยมยั่งยืนที่นายกฯ บอกจะเข้าถึงประชาชนทุกตารางนิ้ว ก็เป็นเพียงการส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐลงไปเปลี่ยนความคิดประชาชนให้เชื่อมั่นการทำงานรัฐบาลเท่านั้น คิดว่าปากท้องของประชาชนคงไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิม วันนี้ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบการทำงานรัฐบาลได้ แม้เรียกร้องการเลือกตั้งตามที่นายกฯ พูดก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหา  ประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ แบบนี้หรือที่ พล.อ.อนุพงษ์ ต้องการ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"