ทางเลือกภาษีรถยนต์


เพิ่มเพื่อน    

      สมัยนี้การซื้อรถยนต์คงเป็นเป้าหมายของหลายๆ   คนที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานกันอย่างเต็มที่ จึงทำให้การเพิ่มขึ้นของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ในประเทศที่มีการจดทะเบียนก็มีสถิติสูงเกิน 2 ล้านคันไปเยอะแล้ว และก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ เพราะความต้องการของคนยังไม่หมดไป ซึ่งในปัจจุบันก็มีรถยนต์หลายค่าย หลายยี่ห้อให้เลือกซื้อกันมากมาย รวมถึงรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปของแบรนด์ต่างชาติ ที่ไม่ได้เข้ามาทำตลาดในประเทศแต่ก็มีความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะสั่งซื้อได้จากผู้นำเข้าอิสระ

        ทั้งนี้ การนำเข้ารถยนต์ก็ต้องเสียภาษีตามกฎหมายกำหนด โดยมีอัตราที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้จัดจำหน่าย หรือพวกค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่ผลิตแบรนด์ของตัวเอง กับผู้นำเข้าอิสระที่อาจจะไม่ได้มีการผลิตเป็นของตัวเอง แต่นำเข้ามาเพื่อเป็นช่องทางการค้าขายในตลาดประเทศไทย

        และการกำหนดอัตราภาษีการนำเข้าที่แตกต่างกันนั้น ก็ส่งผลให้ผู้นำเข้าอิสระคิดเห็นว่าเป็นการไม่เอื้อต่อการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นไปอย่างเสรี เนื่องจากราคาของผู้จัดจำหน่ายมีอัตราที่ต่ำกว่าผู้นำเข้าอิสระเป็นอย่างมาก ซึ่งสมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ จึงมีการเข้าไปหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อให้มีการพิจารณาการปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปจากต่างประเทศ หรือซีบียู ทุกยี่ห้อ

        จากเดิมที่จัดเก็บในอัตรา 80% ให้เหลือ 40% โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการความแตกต่างในราคาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งได้รับการตอบรับจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่อัตราการจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จะปรับลดลงหรือไม่ จะต้องติดตามจากมติคณะรัฐมนตรีนั้น

        ขณะที่ฝ่ายคลัสเตอร์ยานยนต์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาให้ความเห็นว่า “ไม่เห็นด้วยต่อการปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป” และยังขอให้คงอัตราภาษีนำเข้าปัจจุบันก่อน เพื่อรักษาการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของโลก รักษาการจ้างงานภายในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่มีความชัดเจนต่อไป 

        เนื่องจากการปรับอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป จะมีส่วนในการสร้างแรงจูงใจในการนำเข้าแทนการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนภายในประเทศ ซึ่งโดยข้อเท็จจริง อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 10% ของเศรษฐกิจมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรม และยังส่งผลให้มีการจ้างงานมากกว่า 850,000 คน

        ขณะที่ในปี 2560 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมียอดผลิตรถยนต์ที่ 1.98 ล้านคัน ดังนั้นการปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป จะทำให้เกิดการนำเข้าทดแทนการผลิตภายในประเทศ และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศไทย รวมถึงยังมีโอกาสให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

        แถมยังจะไม่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนและการรักษาฐานการผลิตของประเทศไทยด้วย เนื่องจากภาครัฐมีการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ในประเทศอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนั้นการปรับลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปสร้างสัญญาณในเชิงลบต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวไปยังนักลงทุนภาคเอกชนจากต่างประเทศ

        รวมถึงอัตราโครงสร้างภาษีนำเข้าในปัจจุบัน ทั้งรถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วน มีความสมดุลและเหมาะสมกับสภาพการแข่งขันระหว่างรถยนต์ที่ผลิตในประเทศและรถยนต์นำเข้าอยู่แล้ว ซึ่งการปรับลดภาษีดังกล่าว จะส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้จากส่วนนี้ด้วย

        อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจลดภาษีนำเข้ารถยนต์ เป็นเรื่องของรัฐบาลว่าจะเห็นความสำคัญในเรื่องไหนมากกว่ากัน หากต้องการที่จะสนับสนุนการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ก็คงต้องฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มคลัสเตอร์ยานยนต์ ส.อ.ท. แต่หากต้องการที่จะเพิ่มยอดขายรถยนต์และปริมาณการใช้รถในประเทศ การลดภาษีก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ทั้งนี้ก็คงไม่น่าจะมีผลกระทบกับผู้มีรายได้ปานกลางที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศเท่าไหร่นัก เพราะว่าคงจะไม่มีโอกาสเปลี่ยนรถยนต์ได้บ่อยๆ.

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"