ม็อบจุดไฟครบ4ปีคสช.


เพิ่มเพื่อน    

   “เฉลิมชัย” เชื่อม็อบอยากเลือกตั้ง หวังใช้วงรอบครบ 4 ปีจุดประเด็น เชื่อยังควบคุมได้ เตือนสติให้มองถึงผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก อย่าทำให้สถานการณ์ย้อนกลับไปก่อนรัฐประหาร รับจะไม่ใช้ไม้แข็ง แต่ยึดตัวบทกฎหมาย “เต้น” แนะม็อบต้องเร่งปลุกคนหนุ่มสาว คนเสื้อแดงขอเป็นแค่กำลังใจ กรธ.ร่วมฯ ถกนัดแรกกฎหมายลูก มติเอกฉันท์ห้ามจัดมหรสพหาเสียง 
    เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ก.พ. พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งหน่วยงานความมั่นคงจับตาความเคลื่อนไหวของ 3 กลุ่ม ทั้งนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ, กลุ่มอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำมวลชน และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ว่าต้องดูแต่ละส่วนว่าเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างไร ในส่วนของกลุ่มม็อบคนอยากเลือกตั้ง คิดว่าหากไม่มีใครยุยงสร้างสถานการณ์ก็ไม่น่ามีปัญหา ในส่วนของการขยายผลท่อน้ำเลี้ยงนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็จับตาดูอยู่ว่ามีความเกี่ยวพันกับใครบ้าง
    เมื่อถามว่า แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งประกาศจะจัดกิจกรรมยาวจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง พล.อ.วัลลภกล่าวว่า เป็นแผนการดำเนินการของเขา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อยู่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้รุนแรงอะไร มีเพียงการเคลื่อนไหวเพื่อทำกิจกรรมเท่านั้น ส่วนจะมีคนมาร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น บางพื้นที่ประชาชนก็ไม่ได้ให้ความสนใจมาก ภาพรวมคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เน้นย้ำว่าต้องดูแลสถานการณ์ให้มีความเรียบร้อยและระมัดระวัง อย่าให้มีมือที่สามหรือใครมาสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงได้
    ขณะที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ออกมาเคลื่อนไหวประกาศโรดแมป ว่าฝ่ายความมั่นคงได้ติดตามความเคลื่อนไหวอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาประมาณ 6-7 คนที่เป็นแกนนำ และมีอีกส่วนหนึ่งที่ตามมาผสม โดยการเคลื่อนไหวเป็นการแสดงเจตนารมณ์อยากให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งคิดว่าสอดคล้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพียงแต่คนส่วนใหญ่เข้าใจเหตุผลและขั้นตอน จึงยอมให้ใช้เวลาสักระยะหนึ่งดีกว่าออกมาเผชิญหน้ากัน ทำให้สถานการณ์ย้อนกลับมาสู่ที่เดิม  
    เมื่อถามว่า การชุมนุมจะขยายวงกว้างไปในพื้นที่ต่างจังหวัด จะจุดประเด็นให้คนออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมากหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า คนส่วนใหญ่ต้องการความสงบ และขอย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้ประกาศว่าไม่มีการเลือกตั้ง ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ถ้านำคนออกมาเผชิญหน้ากันจะทำให้ปัญหานั้นบานปลายมากขึ้น
    “เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้กฎหมายตามเหมาะสม โดย พล.อ.ประวิตรได้เน้นย้ำว่า 1.ต้องดูแลอำนวยความสะดวก 2.ดูแลเรื่องความปลอดภัย และ 3.หากผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการโดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาเราสามารถดูแลสถานการณ์ได้ ผมอยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมคิดได้ด้วยตนเอง ให้มองผลประโยชน์ของชาติ เป็นภาพรวมเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งเราเป็นนักศึกษาก็ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และมีความคิด” ผบ.ทบ.กล่าว
ชี้ครบ 4 ปีจึงปลุกกระแส
    เมื่อถามว่า ได้ติดตามข่าวว่ามีใครสนับสนุนกลุ่มนี้หรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังติดตามอยู่ ซึ่งเวลานี้ผู้นำแต่ละพรรคการเมืองได้ออกมาปฏิเสธแล้ว และอยากให้ทุกอย่างเดินไปตามขบวนการที่วางไว้มากว่าการใช้กำลัง ไม่ใช่เดินหน้าจนประเทศชาติเสียหาย และขอย้ำว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ดำเนินการด้วยไม้แข็งแน่นอน เราดำเนินการไปตามกฎหมายปกติที่มีอยู่  
    “ผมมั่นใจเราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าใจว่าเราผ่านวิกฤติตรงนั้นมาแล้ว และอยากให้เป็นบทเรียน และไม่อยากให้เกิดขึ้นมาอีก ซึ่งไม่เป็นผลดีกับใคร ผมเชื่อว่าฝ่ายการเมืองก็เข้าใจ เพราะต้องการให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งหากคำนวณขั้นตอนทางกฎหมาย ก็จะเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562” พล.อ.เฉลิมชัยกล่าว และว่า การที่กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ออกมาเคลื่อนไหว คิดว่าอาจเป็นการครบวงรอบ 4 ปี จึงอยากจุดประเด็นตรงนี้ขึ้นมา แต่เท่าที่เห็นไม่มีเหตุการณ์อะไรที่คนต้องออกมาชุมนุม ส่วนจะบานปลายเหมือนเหตุการณ์ พ.ค.2535 หรือไม่นั้น ตอบไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคน ว่าเห็นผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก
    พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวถึงกรณีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ลงพื้นที่ทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ว่ายังไม่เคยทำ แต่เราก็ฟังเสียงดู จากธรรมชาติของคน พออยู่นานก็รู้สึกเบื่อ อยากหาสิ่งที่ดีกว่า แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ดีกว่าคืออะไร เรื่องการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ ส่วนทีมีข่าวว่า กอ.รมน.ทำโพลแล้วพรรคเพื่อไทยยังได้รับความนิยมและจะชนะการเลือกตั้งนั้น ขอย้ำว่า กอ.รมน.ไม่ได้ทำ แต่โพลทั่วไปที่สำรวจออกมาคนส่วนใหญ่อยากเลือกตั้งกว่า 50-60% ก็เป็นเรื่องปกติ 
    พล.อ.เฉลิมชัยยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าไม่ทราบรายละเอียดว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ไม่อยากไปเชื่อมโยงทุกเรื่อง ส่วนจะกระทบความเชื่อมั่นใน คสช.และรัฐบาลหรือไม่ ที่ไม่สามารถจับกุมทั้ง 2 คนมาดำเนินคดีได้นั้น คิดว่าทุกเรื่องมีขั้นตอนการดำเนินงาน และมีวิธีการอยู่ ไม่ใช่เราจะส่งคนไปจับกุมตัวมาได้เลย บางครั้งมันเกินกรอบและขีดความสามารถการรับผิดชอบ เราคงใช้การประสานงานระหว่างประเทศเป็นหลัก
    เมื่อถามว่า ผบ.ทบ.จะเดินทางไปประเทศสิงคโปร์เพื่อรับเหรียญอิสริยาภรณ์เชิดชูเกียรติด้านการทหาร  เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่อดีตนายทักษิณอยู่ที่สิงคโปร์ จะมีโอกาสพบกันหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า ไปทำงานของตนเอง ไม่ต้องมาเชื่อมโยง หากมาเชื่อมโยงแบบนี้มันเลอะเทอะ สิงคโปร์กว้างใหญ่ คงไม่เจอกันหรอก ต่างคนต่างมีวิถีทางเป็นของตนเอง เราก็ไปทำงานของเรา เขาจะเคลื่อนไหวอย่างไรก็ว่าไปตามขบวนการ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ดูความเคลื่อนไหวและติดตาม
ไม่ห่วงม็อบ 24 ก.พ.
    ส่วน พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพภาคที่ 1  กล่าวถึงการดูแลการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า จะดำเนินการตามกฎหมายตามที่ พล.อ.เฉลิมชัยได้เน้นย้ำไว้ ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้วิธีดาวกระจายไปในจังหวัดต่างๆ ของพื้นที่ภาคกลางนั้น ก็ต้องดำเนินการตามข้อกฎหมาย เชื่อว่าดูแลได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเราจะอาศัยการพูดคุยทำความเข้าใจกับทุกกลุ่ม และเชื่อมั่นว่าประชาชนทุกคนที่เข้ามาเสนอความต้องการ เราพูดภาษาเดียวกัน สามารถพูดคุยกันได้ 
    “การชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ไม่ห่วงอะไร แต่ขอให้อยู่ในกรอบ ยืนยันว่าเราจะดำเนินการตามข้อกฎหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่หลัก นอกจากนี้ยังเน้นย้ำทุกหน่วยในกองทัพภาคที่ 1 ที่รับผิดชอบ 26 จังหวัดให้เอกซเรย์อาวุธสงครามทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตามชายแดนดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว” พล.ท.กู้เกียรติกล่าว
    ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า คิดว่าข้อเรียกร้องถึงนักการเมืองทุกฝ่ายให้ออกมาร่วมต่อสู้กับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น เป็นท่าทีที่สร้างสรรค์ แสดงวุฒิภาวะของแกนนำ และอยากเสนอเพิ่มเติมให้มีแนวทางสื่อสารความคิดประสานพลังกับคนหนุ่มสาวและนิสิตนักศึกษาให้คมชัดเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มพลังที่ยังไร้บาดแผลจากการต่อสู้ สามารถกำหนดอนาคตของสังคมได้เหมือนที่เคยปรากฏในหลายประเทศ ส่วนของ นปช.นั้น เคยแสดงจุดยืนไปแล้วว่าสนับสนุนทุกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยหลักสันติวิธี แม้วันนี้เราจะอยู่ในสภาพเหมือนเลือดโทรมกาย มากด้วยข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว แต่เป็นหน้าที่ที่จะต้องยืนหยัดและผ่านไปให้ได้ 
“ขอชื่นชมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เชื่อว่ามาถูกทางแล้ว เพราะการเลือกตั้งเป็นข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐานที่สุด รัฐบาลไม่ควรมองเป็นปฏิปักษ์หรือแสดงการปรามาสด้วยการบอกว่ามีเบื้องหลังหรือท่อน้ำเลี้ยง”นายณัฐวุฒิกล่าว
    ส่วน พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ว่า มีความสงบเรียบร้อยดี และเชื่อว่าปัจจัยภายนอกต่างๆ  ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ได้ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นรัฐบาลทหาร ไม่มีอะไรมาสั่นคลอนเสถียรภาพได้แน่นอน ส่วนการปลุกกระแสการชุมนุมขณะนี้ ไม่คิดว่าเป็นการจุดชนวน แต่มองว่ารัฐบาลคงเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้ออกมาคลายเครียดโดยการพูดอะไรบางอย่าง แต่ไม่ได้คิดว่าจะต่อเนื่องจนสังคมออกมาต่อต้านแน่นอน
    “หากรัฐบาลบริหารประเทศไม่ถูกต้อง ปล่อยให้มีการทุจริต มีการเล่นพรรคเล่นพวก ประเด็นนี้จะเป็นเรื่องใหญ่กว่า และคงลำบากเช่นกัน” พล.ต.อ.ประทินกล่าว และว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลขณะนี้มีหลายเรื่องที่ดี แต่ก็มีหลายเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่และค่าครองชีพ  
มติ 9:0 ตัดทิ้งจัดมหรสพ
ขณะเดียวกัน ตัวแทนเครือข่ายประชาชน People GO Network ได้เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ แม้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ยังมีกำหนดการจะเดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันที่ 20 ก.พ. เพื่อยื่นหนังสือและขอคำชี้แจงในกรณีดังกล่าว รวมทั้งไปสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เพื่อขอให้ติดตามเรื่องนี้ และเดินทางไปยัง กอ.รมน.เพื่อฟังคำชี้แจงว่าทำไมไม่รอขึ้นการพิจารณาของศาลให้แล้วเสร็จก่อนแล้วจึงมาดำเนินคดีกับชาวบ้าน  
    วันเดียวกัน นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวภายหลังการประประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่าที่ประชุมเห็นตรงกันให้แก้ไข 2 ประเด็น โดยกรณีจัดมหรสพเห็นตรงกันให้ยึดร่างเดิมตามที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมา โดยลงมติด้วยคะแนน 9 ต่อ 0 เสียง นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้ปรับปรุงรายละเอียดมาตรา 35 ว่าด้วยการตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนจะปรับปรุงอย่างไรให้กลับไปหารือกันอีกครั้ง 
    นายศุภชัยยังกล่าวถึงการประชุม กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์กรณี กกต.โต้แย้งมาตรา 64 ที่ตัดสิทธิอำนาจ  กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยปรับเพิ่มอำนาจ กกต. ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 226 กำหนด คือให้อำนาจ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนได้ทั้งสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย ซึ่งเท่ากับว่าประเด็นที่ กกต.โต้แย้งจบแล้ว แต่ยังเหลืออีก 3 ประเด็นตาม กรธ.โต้แย้ง โดยจะพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป
      ส่วน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ สมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หนึ่งในคนใกล้ชิดคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวนายทักษิณอาจดึงนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล แกนนำพรรคเพื่อไทย มาเป็นผู้นำพรรคแทนว่า เป็นเพียงรายงานข่าวเท่านั้น ตอนนี้ผู้ทำหน้าที่บริหารพรรคคือ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดถึงตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"