ลุ้นจีดีพีแตะ4.1 ผลพวงศก.โลก คุมบาทแข็งได้


เพิ่มเพื่อน    

    สศช.คาดเศรษฐกิจไทยปี 2561 ยังขยายตัวต่อเนื่อง ลุ้นโตแตะ 4.1% รับอานิสงส์เศรษฐกิจโลกโตแกร่ง 3.8% สูงสุดในรอบ 7 ปี เงินบาทไทยยังแข็งค่าต่อเนื่อง แต่ไม่กระทบขีดความสามารถในการแข่งขัน เชื่อ ธปท.ดูแลอยู่หมัด ม.หอการค้าฯ ปรับจีดีพีขึ้นเป็น 4.4% ชี้ปัจจัยบวกจากการลงทุนภาครัฐ-ส่งออก-การท่องเที่ยว-การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และบัตรคนจนเฟส 2 กระตุ้นให้ขยายตัว
    เมื่อวันจันทร์ นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) เปิดเผยว่า คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวที่ระดับ 4.1% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.6-4.6% โดยเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 3.8% ถือเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และเป็นการเติบโตที่สูงสุดในรอบ 7 ปี ซึ่งผลทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้น และสนับสนุนเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากขึ้น โดยปัจจัยดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของไทยในปีนี้ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6.8% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 5%
     นอกจากนี้ ยังมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 3.2% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 2.7% เนื่องจากมีการจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (งบกลาง) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท การเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนตามกรอบงบประมาณปกติ และกรอบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ความคืบหน้าของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีโครงการเข้าสู่การก่อสร้างมากขึ้น ทำให้มีการเบิกจ่ายที่เร่งตัวขึ้น การฟื้นตัวที่ชัดเจนของภาคเอกชนตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2560 จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยในปีนี้คาดว่าตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.7% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยในปีนี้คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะขยายตัวที่ระดับ 2.18 ล้านล้านบาท
    สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ การลดลงของแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตรในช่วงปรับเข้าสู่การขยายตัวปกติ และราคาสินค้าในตลาดโลก อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวมากขึ้น รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจโลก โดยประเมินว่า อัตราแลกเปลี่ยนในปี 2561 จะทรงตัวที่ระดับ 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดอยู่ที่ 55-65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
    “สถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา มองว่าในช่วงต่อไปสถานการณ์ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงบ้างเล็กน้อยเมื่อเทียบกับต้นปีที่ผ่านมา หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง หากมีการนำเข้าสินค้าทุน และเกินดุลจะช่วยเรื่องความร้อนแรงของค่าเงินได้บ้าง ส่วนในแง่การค้าและการส่งออกนั้น ในมุมขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ แต่ถ้ามองในแง่รายได้ที่เข้ามาในรูปเงินบาทจะลดลง ตรงนี้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังความผันผวนของสถานการณ์ค่าเงิน และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการติดตามดูแลเรื่องความผันผวนของค่าเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคมากเกินไปกับผู้ประกอบการ” 
    นายปรเมธีกล่าวอีกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ขยายตัวได้ 3.9% มูลค่าการส่งออกขยายตัว 9.7% ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2560 ขยายตัวได้ 4% ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริง ขยายตัว 6.6% โดยปัจจัยที่เป็นปัจจัยกดดัน จากภาคการผลิตที่ติดลบ 1.3% ซึ่งเป็นผลจากปัญหาน้ำท่วมและสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้การผลิตในสาขาเกษตรและประมงปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ติดลบ 6.1% และดัชนีรายได้เกษตรกร ติดลบ 7%
    นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจทั้งปี 2560 ขยายตัวได้ 3.9% ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากอุปสงค์ต่างประเทศ สำหรับปี 2561 ประเมินว่าอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังดีต่อเนื่อง และการใช้จ่ายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด  อาทิ นโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการกระจายตัวของกำลังซื้อในประเทศ
    ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้ปรับประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2561 ขึ้นเป็น 4.4% หรือจากค่าความเชื่อมั่นอยู่ในช่วง 4.0-4.8% โดยก่อนหน้าช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2560 เดิมคาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.2% ซึ่งการปรับขึ้นดังกล่าวมีปัจจัยบวกด้วยกันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน 3,200 ล้านดอลลาร์ เป็น 100,800 ล้านบาท รวมถึงรายได้จากการท่องเที่ยวน่าจะมากขึ้นอีก 8 หมื่นล้านบาท ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะนำเงินเข้าระบบอีก 6 หมื่นล้านบาท และบัตรสวัสดิการคนจนเฟส 2 อีก 3.6 หมื่นล้านบาท รวมแล้วประมาณเกือบ 3 แสนล้านบาท ก็นับว่าเอื้อต่อการขับเคลื่อนจีดีพีของปีนี้
      ขณะเดียวกันยังคาดการณ์ว่าการลงทุนของรัฐจะขยายตัวมากกว่า 10% จากปี 2560 ติดลบ 1.2% มีผลทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมาไม่เติบโตได้ดีตามคาดการณ์นัก ส่วนภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังดีต่อเนื่อง หรือน่าจะเติบโต 9% หรือคิดเป็น 38.6 ล้านคน โดยตัวเลขประมาณการก่อนหน้าอยู่ที่ 37.0 ล้านคน รวมถึงการที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปี 2561 ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ด้านค่าเงินบาทที่แม้จะแข็งค่าเพิ่ม 13.9% เมื่อเทียบกับปี 2559 แต่เฉลี่ยของปีนี้น่าจะอยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์  และ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 2561 ไว้ที่ระดับ 1.5% ก็เชื่อว่าจะทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัว 4.4%
       "เราได้ปรับประมาณการขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน จะเห็นว่าเศรษฐกิจคู่ค้าเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในระดับดีกว่าปี 2560 มีผลให้การส่งออกที่จะขยายตัว 6% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 4.3% ส่วนการลงทุนของรัฐทั้งรถไฟฟ้า ถนน และอีอีซี รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรเริ่มดีกว่าเดิม หากจีดีพีเติบโตได้อย่างที่ประเมิน ก็นับว่าโตได้มากกว่า 4% ในรอบ 6 ปี" นายธนวรรธน์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"