แบงกิ้ง เอเยนต์ สะดวกจริงหรือ


เพิ่มเพื่อน    


    เป็นเรื่องเป็นราวกันมาอีกครั้งกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวการลดพนักงานสาขาของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง หลังจากเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่มากขึ้น ทำให้การทำธุรกรรมที่สาขาลดลง และถึงแม้จะมีการลดสาขาลง แต่การทำธุรกรรมผ่านพนักงานก็ยังจำเป็น ที่สำคัญ การกระจายช่องทางให้สะดวกมากขึ้นก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน โดยล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องช่องทางการให้บริการธนาคารพาณิชย์ใหม่ ซึ่งมีหลักเกณฑ์การแต่งตั้งตัวแทนธนาคารพาณิชย์ (แบงกิ้ง เอเยนต์) รวมอยู่ด้วย
    โดยที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่า ธปท.อนุญาตให้ร้านสะดวกซื้อชื่อดังอย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น เป็นแบงกิ้ง เอเยนต์ ซึ่งข่าวที่แพร่สะพัดออกไป ทำให้หลายคนฮือฮาไม่น้อย เพราะร้านสะดวกซื้อเจ้านี้ แทบจะผูกขาดทุกอย่างไว้ในมือ แถมยังเปิดตลอด 24 ชม. สะดวกยิ่งกว่าสะดวกเสียอีก แต่หลายๆ คนยังไม่เข้าใจว่าความจริงแล้ว แบงกิ้ง เอเยนต์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเกณฑ์ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งแบงกิ้ง เอเยนต์ เปิดใช้มาตั้งแต่ปี 53 แล้ว
    นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า การแต่งตั้งแบงกิ้ง เอเยนต์ ไม่ใช่การให้ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์รายใหม่ แต่เป็นอำนาจของธนาคารพาณิชย์ที่จะใช้ดุลยพินิจแต่งตั้งให้นิติบุคคลรายใดรายหนึ่งดำเนินธุรกิจแทน ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบความพร้อมและคุณสมบัติ เช่น มีหลักแหล่งที่แน่นอน มีความพร้อมเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์และระบบ และธนาคารพาณิชย์จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในการดำเนินการของแบงกิ้ง เอเยนต์ด้วย
    “และปัจจุบันมีธุรกิจที่เข้าข่ายเป็นแบงกิ้ง เอเยนต์ เช่น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่สามารถรับฝากเงิน ตู้บุญเติม ตู้เติมสบาย แอร์เพย์ เคาต์เตอร์เซอร์วิส ในเซเว่น อีเลฟเว่น สามารถรับชำระเงินแทนธนาคาร บิ๊กซี โลตัส ที่รับชำระค่าน้ำและค่าไฟ”
    ทั้งนี้ มีทั้งธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลาง เช่น ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) แต่งตั้ง แบงกิ้ง เอเยนต์ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าใช้โอนเงินไปต่างจังหวัด ธนาคารไทยเครเดิตเพื่อรายย่อย ก็มีการแต่งตั้งบริษัท ไปรษณีย์ไทย เพื่อรับฝากเงิน เป็นต้น โดยการอนุญาตให้แต่งตั้ง แบงกิ้ง เอเยนต์ เป็นนโยบายที่หลายประเทศก็ดำเนินการ เพื่อเป็นการกระจายการให้บริการทางการเงินครอบคลุมมากขึ้น
    อย่างไรก็ตาม ธปท.จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องช่องทางการให้บริการธนาคารพาณิชย์ใหม่ ซึ่งมีหลักเกณฑ์แบงกิ้ง เอเยนต์รวมอยู่ด้วย ขณะนี้รอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และคาดว่าจะเริ่มใช้ภายในเดือน มี.ค.นี้ โดยจะขยายการแต่งตั้งตัวแทนธนาคารพาณิชย์ไปยังนิติบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม และบุคคลธรรมดา รวมถึงให้สามารถรับถอนเงิน จ่ายเงินผู้ใช้บริการรายย่อย โดยให้บริการไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ ไม่เกิน 20,000 บาทต่อวัน สำหรับผู้ใช้บริการแต่ละราย หลังจากที่ผ่านมาแบงกิ้ง เอเยนต์ รับฝากเงิน รับชำระเงิน จ่ายเงินผู้ใช้บริการรายใหญ่ได้เท่านั้น
    นอกจากนี้ แบงกิ้ง เอเยนต์ ที่จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ ธนาคารพาณิชย์สามารถใช้อำนาจคณะกรรมการแต่งตั้งนิติบุคคลเป็นแบงกิ้ง เอเยนต์ได้เอง ไม่ต้องมาขอ ธปท.เหมือนในอดีต และธนาคารพาณิชย์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบผู้ใช้บริการเสมือนให้บริการเอง โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องให้ข้อมูลลูกค้าชัดเจนว่ามีแบงกิ้ง เอเยนต์ ที่ใดบ้าง แต่ละแห่งมีการคิดค่าธรรมเนียมใช้บริการอย่างไร ให้ผู้ใช้เป็นผู้เลือกโดย ธปท.ไม่ได้มีเกณฑ์ไปกำหนด
    ขณะที่บุคคลธรรมดาถ้าต้องการเป็นตัวแทนธนาคาร เช่น ร้านค้าในชุมชน กลุ่มสหกรณ์ ทางธนาคารพาณิชย์ต้องเสนอบุคคลธรรมดารายนั้นมายัง ธปท.เพื่อขออนุญาตให้แต่งตั้งบุคคลธรรมดาเป็นตัวแทนธนาคารได้เป็นรายกรณี ซึ่งจะเป็นการควบคุมความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ในอนาคต
    ในความเป็นจริงดูเหมือนการตั้งแบงกิ้ง เอเยนต์จะง่ายดาย และอำนวยความสะดวกได้มาก แต่กลับกัน ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความละเอียดรอบคอบของพนักงาน หรือร้านค้าที่จะทำธุรกรรมนี้ด้วย ยิ่งถ้าเป็นเซเว่น อีเลฟเว่น ที่เปิดทำการ 24 ชม. จะทำให้มีความเสี่ยงในการถูกโจรกรรมมากขึ้น และหากต้องการป้องกันความเสี่ยง ก็ต้องลงทุนเพิ่ม ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่ต้องเพิ่มขึ้นมาด้วย ที่สำคัญ การมีต้นทุนสูง จะนำมาซึ่งการผลักภาระค่าธรรมเนียมให้กับผู้ใช้บริการ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการ หรือผู้ใช้บริการ ต้องพิจารณาความเหมาะสมกันเอง.

ปฏิญญา สิงห์พิสาร


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"