เซ็นMOUสางปมถ่านหิน กลุ่มต้านพอใจเลิกชุมนุม


เพิ่มเพื่อน    

    ม็อบต้านถ่านหินเทพา-กระบี่เฮ! แยกย้ายกลับบ้าน หลัง รมว.พลังงานลงมาเจรจาเซ็นเอ็มโอยู สั่งกฟผ.ตีกลับ EHIA ภายใน 3 วัน ขีดเส้นศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ใน 9 เดือน ส่วนคดีความให้เลิกแล้วต่อกัน ด้านแกนนำเชื่อมั่นสัญญาประชาคม ลั่นหากเบี้ยวจะมาเรียกร้องอีก นายกฯ ขอบคุณม็อบยอมกลับบ้านพร้อมรับข้อเสนอทั้งหมด วอนอย่าขยายความขัดแย้งอีก ยังห่วงไฟฟ้าภาคใต้ขาดแคลน
    ช่วงเช้าวันอังคาร ที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำประเทศไทย   ถนนราชดำเนินนอก นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางมาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ร่วม 1 ชั่วโมงกว่า จากนั้นได้เชิญแกนนำและตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงพลังงาน ร่วมกันพูดคุยในรถตู้ประมาณ 15 นาที ถึงบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) และได้แถลงถึงข้อตกลงและลงนามร่วมกันในเวลา 09.00 น.
        สำหรับบันทึกข้อตกลงมีอยู่ 4 ประการ ประกอบด้วย 1.ให้ กฟผ.ถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ออกจากสำนักงานนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันลงนาม 2.ให้กระทรวงพลังงานจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA)เพื่อศึกษาว่าพื้นที่จังหวัดกระบี่และอำเภอเทพาจังหวัดสงขลามีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ โดยดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 9 เดือน และมีนักวิชาการที่เป็นกลาง และเป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย หากผลออกมาว่าพื้นที่ไม่เหมาะสมทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ.จะต้องยุติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองพื้นที่ 3.หากผลรายงานออกมาว่าเหมาะสมต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในขั้นตอนการทำ EHIA จะต้องจัดทำโดยคนกลางที่ยอมรับร่วมกัน และ 4.ให้คดีระหว่างเครือข่ายผู้ชุมนุมกับ กฟผ.เลิกแล้วต่อกัน
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายหลังการแถลงความร่วมมือนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมมีความดีใจ บางคนร้องไห้ กอดกันและยิ้มแย้มให้กัน จากนั้นได้ถ่ายรูปร่วมกันที่หน้าตึกยูเอ็นเป็นที่ระลึก ก่อนจะเก็บข้าวของเพื่อกลับภูมิลำเนาต่อไป
    นายสมยศ โต๊ะหลัง สมาชิกเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพายุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน เปิดเผยถึงหลังการเซ็นเอ็มโอยูดังกล่าวว่า กรณีที่ฝ่ายรัฐจะให้มีการศึกษาโครงการนี้ใหม่อีกครั้งเหมือนการเซตซีโรนี้ ถือว่าบรรลุเป้าหมายในการเรียกร้องของเราระดับหนึ่ง ซึ่งเราต้องการให้แจ้งข้อมูลการดำเนินโครงการ รวมถึงหากมีผลเสียใดก็จะต้องแจ้ง เพื่อให้มีการควบคุมและพิจารณาพลังงานทางเลือกที่ดีที่สุด ไม่ใช่ว่าเราจะโต้แย้งคัดค้านทุกโครงการแบบหัวชนฝา เราต้องการให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น โดยในอนาคต หากมีความจำเป็นที่จะต้องการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกก็ทำได้ แต่ขอให้มีการพิจารณาและศึกษาให้ครบถ้วนก่อนว่าทางเลือกนี้เป็นทางที่ดีที่สุดสำหรับเราแล้วหรือไม่ หลังจากนี้เราก็ยังจะต้องติดตามต่อไป หากพบว่าทำอะไรที่เร่งรีบเร่งรัด ขั้นตอนไม่ครบ  ก็จะต้องเรียกร้องอีกครั้ง
    นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย หนึ่งในแกนนำเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพาฯ  กล่าวว่า ข้อตกลงทั้ง 4 ถือเป็นทิศทางที่ไม่ได้กดดันมาก เป็นไปตามหลักการที่ควรเป็นเช่นเดียวกับอารยประเทศ ซึ่งทาง รมว.พลังงานได้แก้ไขจนกระทั่งเราเห็นด้วย ตนพอใจและเชื่อมั่นในสัญญาประชาคมที่ร่วมกันตกลงนี้ โดยมีสื่อมวลชนร่วมเป็นพยาน ถ้ามีการเบี้ยวไม่ทำตามสัญญาเราก็ไม่ยอม ซึ่งเชื่อมั่นว่าทางรัฐบาลจะปฏิบัติตามสัญญา และเราจะไม่ทำอะไรนอกเหนือข้อตกลง ขณะที่ทางผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกลับแล้ว โดยกลุ่มที่มาจาก จ.กระบี่ จะเดินทางกลับเย็นวันที่ 20 ก.พ.นี้ ส่วนกลุ่มที่มาจาก อ.เทพา ทางสหประชาชาติเชิญไปร่วมประชุมในประเด็นนี้ก่อนเดินทางกลับในวันที่ 21 ก.พ.
    นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เผยแพร่เอกสารการลงนามร่วมระหว่างนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กับตัวแทนกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมข้อความระบุว่า ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของรัฐบาล เพราะเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยข้อมูล ความรู้และประสบการณ์เพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจริงๆ ซึ่งปัจจุบันยังเห็นต่างกันอยู่มาก ต้องชื่นชมการตัดสินใจของรัฐบาล ที่ไม่ใช้อำนาจในการจัดการกับปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนสูง ถ้ารัฐไทยปรับตัวใช้ความรู้แก้ปัญหา ไม่ใช่แต่อำนาจสังคมจะเดินไปข้างหน้าได้ และต้องขอบคุณแทนคนไทยในการยืนหยัดต่อสู้ของชาวบ้าน NGO และเยาวชนนักศึกษา ที่พยายามร่วมกันปกป้องทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม พวกเขาไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง
    ด้านนายสืบพงษ์ บูรณศิรินทร์ รองผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. เปิดเผยภายหลังลงนามเอ็มโอยูว่า เรื่องดังกล่าวต้องขอรับทราบรายละเอียดต่างๆ ที่ชัดเจนจากทางรัฐบาลก่อนจะมาหารือกันต่อไป ซึ่งตามหลักการคือหากให้ศึกษาศักยภาพเหมาะสม หรือ SEA ใหม่ ก็ต้องใช้เวลา 9 เดือน หลังจากนั้นจึงศึกษาจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ (Environment and Health Impact Assessmen หรือ EHIA) ต่อไป
     "การทบทวนนั้นมีหลายด้าน เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ซึ่งเมื่อช่วงต้นปีรัฐบาลมีมติให้ชะลอการก่อสร้างออกไปก่อน แต่เวลานี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเป็นการยกเลิกจริงหรือไม่ รวมถึงต้องไปพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ และชี้แจงทำความเข้าใจถึงประเด็นที่หากไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วจะเป็นอย่างไร   " นายสืบพงษ์กล่าว 
     นายอนุชาติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. เปิดเผยว่า จะต้องรอหนังสือคำสั่งอย่างเป็นทางการจาก รมว.พลังงาน จึงจะทราบอย่างชัดเจนว่าจะต้องปฏิบัติตามอย่างไร อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความล่าช้า จะทำให้พื้นที่ภาคใต้มีความเสี่ยงเรื่องของความมั่นคงไฟฟ้ามากขึ้น ในภาพรวมกฟผ.จะต้องหารือกันว่าจะมีการหาทางออกอื่นๆ ให้ภาคใต้ยังคงมีความมั่นคงไฟฟ้าและรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปีได้อย่างไร
    ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. กล่าวว่า ขอบคุณผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าวเดินทางกลับไปแล้ว ซึ่งรัฐบาลไม่อยากให้ประชาชนเสียเวลาทำมาหากิน หลังจากที่ได้พูดกันแล้ว ตนขอให้เขายุติการชุมนุม ซึ่งเขาได้กลับแล้ว ขณะที่เขาขอร้องให้ทบทวน ตนก็ทำให้โดยรับข้อเสนอทั้งหมดแล้วทบทวน ยกเลิกอีไอเอฉบับเดิม แล้วให้นักวิชาการที่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริงและเป็นที่ยอมรับจากคนในพื้นที่ไปทำการศึกษาอีไอเอฉบับใหม่ อีกทั้งต้องทำเอสอีเอว่าพื้นที่จะมีการก่อสร้างนั้นเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ตามกฎหมายฉบับใหม่ เพิ่มเติมจากอีเอชไอเอ  ตนมอบหมายให้นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ไปชี้แจงทำความเข้าใจ โดยกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงหน่วยงานด้านความมั่นคงรับไปดูแลเรื่องเหล่านี้ และต้องดำเนินการให้ได้ตามที่พูดกันไว้ และขออย่าขยายความขัดแย้งอีก
    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือทำอย่างไรในการเพิ่มไฟฟ้าในภาคใต้ เพื่อป้องกันการขาดแคลนไฟฟ้าในวันหน้า เพราะการก่อสร้างต้องใช้เวลารวมถึงจะทำอย่างไรไม่ให้ค่าไฟฟ้าทั้งประเทศเพิ่มขึ้นสมมติถ้าเราสามารถแก้ปัญหาระยะสั้นได้ด้วยการทำสายส่งเพิ่มเติมจากพื้นที่ ก็จะทำให้มีต้นทุนของไฟฟ้าไปบวกเพิ่ม จะส่งผลให้คนทั้งประเทศได้รับผลกระทบหรือต้องรับภาระเพิ่มเติมหรือไม่ แต่หากไปลงทุนเป็นรายพื้นที่ จะลดภาระตรงนี้ได้ ขอให้ทุกคนเข้าใจในวิธีการนี้ด้วย ส่วนที่มีการฟ้องร้องกันนั้น ต้องไปดูคดีว่าใครฟ้องร้องใคร ดูว่าตามกฎหมายจะได้ทำแค่ไหน อย่างไรรัฐบาลรับจะดูแลให้ทั้งหมด
    "อยากฝากไปถึงกรณีของกลุ่มอื่นๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวว่า ขอให้ฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน สิ่งใดที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ ขอให้เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอน ไม่อยากให้มีการออกมาสร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมืองอีกต่อไป รัฐบาลรับทุกเรื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงหรืออะไรก็ตาม กฎหมายมีอยู่หลายฉบับ ซึ่งต้องไปดูว่าศาลปกครองให้มีการคุ้มครอง 2-3 เรื่อง ถ้าอะไรที่อยู่นอกเหนือจากเรื่องที่ศาลคุ้มครอง หรือผิดกฎหมายอื่นๆ ก็ถือว่ามีความผิดทั้งหมด ทั้งนี้ ผมไม่ได้ขู่ แต่อยากให้เข้าใจว่าสิ่งไหนที่ศาลให้มีการคุ้มครอง ไม่ใช่ว่าได้รับการคุ้มครองแล้วจะทำอะไรก็ได้ และผมไม่อยากให้บ้านเมืองได้รับความเสียหาย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
    เช้าวันเดียวกัน ที่ห้องพิจารณา 601 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนคำร้องคดีหมายเลขดำ ชส.2/2561 ที่ พ.ต.ต.อรรถวิท เรืองโภควิทย์ พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ยื่นคำร้องเรื่อง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ขอให้ผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา ซึ่งชุมนุมอยู่บนทางเดินเท้าเกาะกลางถนนหน้าสำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถ.ราชดำเนิน ยกเลิกการชุมนุม
    โดนศาลมีคำสั่งว่า เมื่อพิจารณาแล้วการชุมนุมสาธารณะบริเวณ ถ.ราชดำเนิน ใกล้สำนักงานสหประชาชาติ มิได้เป็นการขัดขวางเจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะ แม้ประชาชนอาจจะได้รับความไม่สะดวกบ้าง แต่ไม่ได้เดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร อีกทั้งผู้จัดการชุมนุมดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกคำร้อง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"