สั่งปิดทันที3ตลาด อัศวินงัดกม.บี้อีก2


เพิ่มเพื่อน    

    "อัศวิน" ตรวจตลาดนัดล้อมบ้านป้าทุบรถ สั่งปิดทันที 2 แห่ง เพราะไม่ขออนุญาต ส่วนอีก 3 แห่งก็ยังมีปัญหาข้อกฎหมาย ขอเวลา 7 วันได้ข้อสรุป ประธาน ป.ป.ช.เผยข้อร้องเรียน ผอ.ประเวศคนก่อนละเว้นปฏิบัติหน้าที่มีมูล ตั้งองค์คณะไต่สวนแล้ว รองปลัดยุติธรรมชี้บทเรียนเรื่องนี้เป็นเพราะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบ
    เมื่อวันพุธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้คือเราไม่มีระเบียบวินัย ไปจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ทำอย่างนี้ได้อย่างไร เห็นอยู่แล้วว่าเป็นบ้านคน เป็นที่อยู่อาศัย ยังมาจอดรถขวาง ก็เลยเกิดกรณีขัดแย้งและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน
    ขณะที่เมื่อเวลา 10.15 น. วันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม., นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผอ.เขตประเวศ, พ.ต.อ.อลงกรณ์ ศิริสงคราม ผกก.สน.ประเวศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปยังบ้านเลขที่ 37/208 ซอยศรีนครินทร์ 55 แขวงบางบอน เขตประเวศ กทม. ที่ตกเป็นข่าวได้รับความเดือดร้อนมีตลาดนัดล้อมรอบบ้าน และมีรถมาจอดปิดทางเข้า-ออก จนกลายเป็นข่าวดังเมื่อเจ้าของบ้านทนไม่ไหว ใช้ขวาน เสียม ทุบรถกระบะคันหนึ่งที่มาจอดขวางจนกลายเป็นคดีความ
    เมื่อคณะผู้ว่าฯ กทม.ไปถึง ปรากฏว่าประตูรั้วบ้านปิดเงียบ พล.ต.อ.อัศวินจึงกดกริ่งเรียก กระทั่งทราบว่า น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ เจ้าของบ้านไม่อยู่ พล.ต.อ.อัศวินจึงโทรศัพท์พูดคุยกับนางบุญศรีประมาณ 5 นาที โดยนางบุญศรีเรียกร้องว่า 1.มีการเปิดตลาดบริเวณดังกล่าวเยอะมาก ซึ่งบางแห่งทราบว่าไม่มีการขออนุญาตก่อสร้างอาคารและจัดตั้งตลาดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงขอให้ผู้ว่าฯ สั่งปิดตลาดเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมารบกวนผู้อยู่อาศัยโดยรอบ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2.อยากให้ดำเนินการรวดเร็วที่สุด และ 3.หากนำตลาดออกแล้วไม่อยากให้มีการก่อสร้างตลาดขึ้นอีก เพราะบริเวณนี้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย ประชาชนต้องการความสงบและพักผ่อน อีกทั้งพื้นที่นี้ไม่ใช่พื้นที่พาณิชย์ ปัญหาเกิดขึ้นมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่เขตและผู้ว่าฯ กทม.คนเดิมก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา ขอให้ผู้ว่าฯ กทม.คืนความสงบสุขให้กับชุมชนด้วย  
    พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า จากนี้ กทม.จะนำไปพิจารณาตามเหตุผลว่าจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม กทม.ขอยืนยันว่าสิ่งที่ น.ส.บุญศรีเดือดร้อน กทม.จะเร่งดำเนินการตามคำขอดังกล่าว โดยเร่งแก้ไขทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต 
    จากนั้น พล.ต.อ.อัศวินได้ลงพื้นที่สำรวจตลาดทั้ง 5 แห่งที่อยู่บริเวณโดยรอบ ประกอบด้วย ตลาดสวนหลวง 1 ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ตลาดยิ่งนรา ตลาดรุ่งวาณิชย์ และตลาดร่มเหลือง กระทั่งเวลา 11.10 น. จึงเปิดแถลงข่าว โดย พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ได้มอบหมายให้ ผอ.เขตประเวศทำหนังสือแจ้งไปยังเจ้าของตลาด พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเชิญเจ้าของตลาด กลุ่มผู้ค้า ประชาชนในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบมาหารือ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน 
    "กทม.จะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองกลางเมื่อปี 2556 ว่า น.ส.บุญศรีได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดต่างๆ จอดรถกีดขวาง ศาลปกครองกลางได้สั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่เมื่อ พ.ย.2559 ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ศาลปกครองกลางกลับไปทบทวนใหม่ ซึ่ง น.ส.บุญศรีฟ้องว่าเป็นที่ดินจัดสรร สามารถสร้างอย่างอื่นได้หรือไม่นอกจากบ้านพักอาศัย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ตรงนี้ กทม.จะไม่กล่าวถึง ให้ศาลตัดสินก่อนว่าสร้างได้หรือไม่ได้ อีกส่วนหนึ่ง ในวันนี้ได้ให้ผู้อำนวยการเขตประเวศออกคำสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเชิญผู้ค้าและผู้ที่ได้รับผลกระทบมาคุยกันว่ามีผลกระทบอย่างไร เราต้องเยียวยา ปฏิบัติตามคำสั่งศาล โดยให้เวลาภายใน 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 22-28 ก.พ. เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าจะทำอย่างไร" 
    ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ในส่วนของตลาดรุ่งวาณิชย์ และตลาดร่มเหลือง พบว่าไม่ได้มีการขออนุญาตก่อสร้างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถทำได้ และต้องยุติการดำเนินการ ขณะที่ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต และตลาดยิ่งนรา มีการขออนุญาตก่อสร้างอาคารเชิงพาณิชย์ ซึ่งทาง กทม.จะเป็นผู้พิจารณาข้อกฎหมายว่าสามารถค้าขายสินค้าลักษณะที่ดำเนินการอยู่ได้หรือไม่ ส่วนตลาดสวนหลวง พบว่ามีการขออนุญาตก่อสร้างอาคารถูกต้อง แต่ไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการตลาด ซึ่ง กทม.สามารถสั่งปิดได้ แต่ทางเราจะให้เจ้าของตลาดชี้แจงเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่มีการขออนุญาตประกอบกิจการ ก่อนกำหนดแนวทางการดำเนินการภายหลังได้ข้อสรุปแล้ว หากมีเจ้าของตลาดที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด ทาง กทม.จะแจ้งความเอาผิดที่ สน.ประเวศเพื่อฟ้องศาลแขวงพระโขนง มีโทษเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดในอัตราสูงสุด วันละ 5,000 บาททุกวัน และหากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่ามีเจ้าหน้าที่ของ กทม.กระทำความผิด ก็จะมีการลงโทษตามระเบียบราชการต่อไปด้วยเช่นกัน 
    “จากนี้ทาง กทม.จะดำเนินการตรวจสอบตลาดทั่วกรุงเทพมหานครทั้ง 364 แห่ง หากพบว่าตลาดใดมีการดำเนินการอย่างไม่ถูกต้อง ก็ทำให้มันถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามระเบียบข้อบังคับ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมา และสร้างความสบายใจแก่ทุกฝ่าย” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
    ด้าน พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ได้สั่งตรวจสอบกรณี น.ส.บุญศรีระบุว่าปัญหารถจอดขวางหน้าบ้าน เคยโทร.แจ้ง 191 แต่เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยมา จึงต้องตรวจสอบว่ามีการแจ้งบ่อยแค่ไหน และข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว เมื่อตำรวจได้รับแจ้งต้องไปดู อย่างช้า 10 นาทีต้องถึง หาก สน.ใดไม่ดำเนินการอำนวยความสะดวก ขอให้แจ้งมาที่ บช.น.จะแก้ปัญหาให้ ซึ่งหากต้องใช้รถยก เจ้าของรถที่จอดขวางนอกจากจะเสียค่าปรับแล้ว จะต้องจ่ายค่ารถยกเองด้วย
    ในส่วนของโลกออนไลน์ เพจ "เดี๋ยวเจ๊เต่าจะเล่าให้ฟัง" ได้โพสต์ว่า มีนักข่าวช่องจีเอ็มเอ็ม สัมภาษณ์นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผอ.เขตประเวศ ว่าหาก ผอ.ประสบปัญหาเช่น น.ส.บุญศรีจะทำอย่างไร ซึ่งนายธนะสิทธิ์ตอบว่า จะเปิดบ้านขายของไปเลย หรือไม่ก็ขายบ้านทิ้ง เพราะที่ตรงนั้นวาละแสนกว่าแล้ว 
    พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบพบว่า น.ส.บุญศรีเคยยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ ผอ.เขตประเวศในขณะนั้น กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการปล่อยให้มีการสร้างตลาด สร้างความเดือดร้อนให้คนในพื้นที่ ซึ่งร้องมาเมื่อปี 2554 ขณะนี้ทราบว่ามีการตั้งองค์คณะพนักงานไต่สวนไปแล้ว แสดงว่ากรณีดังกล่าวมีมูลพอสมควร
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ในคำร้องดังกล่าวมีการกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม. เหมือนในคดีที่ฟ้องต่อศาลปกครองหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ขณะนี้เป็นการไต่สวนในส่วนของเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ก่อน และหากไต่สวนไปแล้วพบว่ามีเจ้าหน้าที่อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็จะเสนอคณะกรรมการเพื่อมีคำสั่งจัดไต่สวนเพิ่มเติมต่อไป
    วันเดียวกัน นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า กรณีป้าทุบรถที่จัดการปัญหาด้วยตนเองทั้งที่ผิดกฎหมาย แสดงว่าสามัญสำนึกเกี่ยวกับเรื่องสิทธิและหน้าที่ วินัย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายยังคงเป็นข้อที่อ่อนของห่วงโซ่ของประเทศนี้ ที่ยังเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนอีกนานเท่านาน ถ้าไม่เข้าไปขยับขับเคลื่อนจัดการเสียแต่วันนี้
    "ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ทำหน้าที่ ผู้รับผิดชอบที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ก็คือผู้ปกครองแห่งรัฐนั้นๆ ด้วย เพราะเป็นคนที่ขันอาสามาเป็นผู้ชี้เป้าและกำกับทิศ ที่จะต้องพิจารณาตัวเอง หรือถูกจัดการให้ออกไปเพราะไม่มีศักยภาพพอ"
    นายธวัชชัยชี้ว่า วันนี้กระบวนการสร้างค่านิยมและบรรทัดฐานต้องอาศัยเหตุการณ์และสื่อโซเชียลเป็นผู้สร้าง ดั่งเช่นกรณีคุณป้าทุบรถปิดทางเข้า-ออกบ้าน ก่อให้เกิดผลกระทบตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า เจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย และเป็นสร้างค่านิยมใหม่เรื่องจอดรถปิดทางเข้า-ออกบ้านคนอื่น เป็นต้น แต่ถ้าไม่ถูกผลิตซ้ำก็จะจางหายไป ไม่สามารถพัฒนาไปสู่ค่านิยมและบรรทัดฐานในสังคมได้ ซึ่งก็คงไปรอให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำคงไม่ได้ และอาจเกิดค่านิยมและบรรทัดฐานใหม่ว่าจะจัดการปัญหาเรื่องใดๆ ไม่สามารถรอให้รัฐเข้ามาจัดการได้ ต้องลุกขึ้นมาจัดการด้วยตนเอง ซึ่งหากพัฒนาไปไกลถึงขั้นตอนนี้ ไม่อยากจะคิดว่าบ้านเมืองจะวุ่นวายไปขนาดไหน
    "เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และผู้มีอำนาจแห่งรัฐต้องออกมาทำอย่างจริงจัง เพราะประชาชนทุกคนเป็นนายจ้างเรา และพวกเราทุกคนเป็นขี้ข้าประชาชน”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"