ใบสั่งควํ่า7ว่าที่กกต. สนช.ชี้3รายไร้กึ๋น-2ตัวแทนศาลหวั่นขัดรธน./ผวาเพิ่มปัญหา


เพิ่มเพื่อน    

พลิก! สนช.ล้มกระดานเลือก 7 อรหันต์ กกต.ตามใบสั่ง คสช. มติฝักถั่วท่วมท้นไม่เห็นชอบ ชี้มี 3 รายไร้ประสบการณ์ ส่วน 2 ตัวแทนศาลหวั่นที่มาขัดรัฐธรรมนูญ เลยเทกระจาดทิ้งหมด “พรเพชร” ลุยสรรหาใหม่ใน 90 วัน “สมชัย” ลั่นไม่กระทบโรดแมป แต่ผวามีคดีความหลังพ้นเก้าอี้ หวัง คสช.ต่ออายุเหมือนศาลรัฐธรรมนูญ นักการเมืองซัดแผนยื้อเวลา ส่อเค้าเพิ่มปัญหา “วิษณุ” แจง มิ.ย.ยังไม่ปลดล็อก แต่ ก.ย.มีลุ้น ลั่นเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใดต้องรอ กกต.ใหม่เคาะ!

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 11/2561 ได้มีวาระพิจารณาเรื่องด่วนให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามมาตรา 222 มาตรา 217 ประกอบมาตรา 204 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 โดยเป็นการประชุมลับเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมี พล.อ.อู้ด เบื้องบน เป็นประธาน กมธ. โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 13.00 น. ได้เปิดประชุมอีกครั้ง และสมาชิก สนช.ลงมติลับด้วยการเข้าคูหากาบัตรลงคะแนน ผลปรากฏว่าที่ประชุม สนช.ลงมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ มีคะแนนไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 156 เห็นชอบ 27 งดออกเสียง 17 เสียง, นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 175 เห็นชอบ 10 งดออกเสียง 14 เสียง, นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 168 เห็นชอบ 16 งดออกเสียง 16 เสียง, นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 149 เห็นชอบ 30 งดออกเสียง 21 เสียง, นายประชา เตรัตน์ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 125 เห็นชอบ 57 งดออกเสียง 86 เสียง, นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 128 เห็นชอบ 46 งดออกเสียง 26 เสียง และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 130 เห็นชอบ 41 งดออกเสียง 29 เสียง 

ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกและเป็นประวัติศาสตร์ของ สนช. ที่ไม่ให้ความเห็นชอบผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการองค์กรอิสระยกชุด และทำให้ทั้ง 7 รายไม่สามารถสมัครเพื่อรับการสรรหาเป็น กกต.ได้อีกตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.  

แหล่งข่าวจาก สนช.ระบุว่า ในการประชุมลับได้มีการรายงานการตรวจสอบประวัติในเชิงลึกของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คนอย่างละเอียด พบว่า ทุกคนมีเรื่องถูกร้องเรียนหมด โดยเฉพาะนายเรืองวิทย์ ที่ถูก สนช.ซักถามอย่างหนัก ส่วนเหตุผลที่ สนช.ลงมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อทุกคน แม้ว่าจะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่างานของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญใหม่มีภารกิจสำคัญเรื่องการเลือกตั้ง จึงอยากได้บุคคลมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์การทำงาน โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่สมาชิก สนช.ส่วนมากยังไม่เชื่อมั่นในฝีมือของทั้ง 7 คนที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของสาธารณชน และยังไม่เคยแสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์  

คสช.สั่งคว่ำ 7 อรหันต์

“ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้ได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน อาจมีปัญหาเรื่องที่มาการสรรหาได้ดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ แม้ สนช.จะได้รับหนังสือยืนยันจากศาลว่ากระบวนการสรรหาถูกต้องแล้ว แต่ สนช.เกรงว่าจะมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยขั้นตอนการสรรหาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ในภายหลัง  ซึ่งจะเกิดความวุ่นวายตามมามากมาย ดังนั้น จึงลงมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน” แหล่งข่าวกล่าว และยืนยันว่า การลงคะแนนของสมาชิก สนช. เป็นการตัดสินใจแบบกะทันหัน หลังจากประชุมลับ ซึ่งการลงคะแนนแบบนี้ก็แสดงให้เห็นว่าสมาชิก สนช.ไม่มั่นใจในกรรมการสรรหาว่าทำงานกันมาอย่างไร ถึงออกมาเป็นแบบนี้ได้

ขณะที่แหล่งข่าวจาก สนช.อีกรายเผยว่า มีสัญญาณชัดจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้คว่ำทั้ง 7 คน เพราะกรณีตัวแทนของศาลฎีกานั้นถือว่าเป็นการลงคะแนนอย่างเปิดเผยถูกต้องหรือไม่ ขณะเดียวกันการสรรหา 5 คนจากกรรมการสรรหามีอยู่ 3 ราย ที่กังวลว่าจะทำงานไม่ได้ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์การทำงานในด้านการเลือกตั้งเลย แม้จะเหลืออีก 2 รายน่าจะผ่านความเห็นชอบ แต่ประเมินแล้วว่าหากลงมติเพียง 2 รายจะเป็นการไม่ให้เกียรติศาล จึงต้องคว่ำทั้งหมด 7 คน  

ในเวลา 13.45 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และกรรมการสรรหาบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง กกต. แถลงถึงการดำเนินการหลัง สนช.มีมติดังกล่าวว่า ต้องสรรหา กกต.ทั้ง 7 คนใหม่ โดยจะหารือกับเลขาธิการวุฒิสภาในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหา และส่งหนังสือไปยังประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา เพื่อแจ้งให้สรรหาใหม่ต่อไป ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จภายในกรอบเวลา 90 วัน โดยนับวันนี้เป็นวันแรก  

นายพรเพชรยอมรับว่า ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด สนช.ถึงลงมติไม่เห็นชอบบุคคลทั้ง 7 คน เพราะตนเองในฐานะกรรมการสรรหา จึงไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับขั้นตอนของ สนช. ทำให้ไม่ทราบถึงเหตุผลการไม่ให้ความเห็นชอบ แต่ยืนยันว่าไม่มีสัญญาณใดจาก คสช. ขณะเดียวกันขอให้มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อการเลือกตั้งอย่างแน่นอน เนื่องจาก กกต.ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งได้อยู่

เมื่อถามถึงมติ สนช. จะทำให้คณะกรรมการสรรหาเสียหน้าหรือไม่ นายพรเพชรตอบว่า ในฐานะกรรมการสรรหายืนยันว่าได้พิจารณาอย่างดีที่สุดภายใต้กรอบของกฎหมายแล้ว แต่รู้สึกหนักใจ และอยากให้บุคคลที่มีคุณสมบัติที่ดีมาสมัคร กกต.ให้มากที่สุด ดังนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการสรรหาว่า 1.จะขยายเวลาการรับสมัครให้มากขึ้น และ 2.จะประชาสัมพันธ์ให้บุคคลที่มีคุณสมบัติครบเข้ามาสมัครให้มากขึ้น ส่วนกรณีไม่ให้ความเห็นชอบกับบุคคล 2 คนที่ผ่านการสรรหาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานั้น คิดว่าจะไม่มีปัญหากับศาลแน่นอน

ถามต่อว่า การสรรหาครั้งหน้า คณะกรรมการสรรหาจะใช้วิธีการเชิญบุคคลที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายมาสมัครหรือไม่ นายพรเพชรยอมรับว่า ยังไม่กล้า แต่จะใช้วิธีการเชิญชวนกลุ่มบุคคลที่มีคุณสมบัติแทน

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวก็เป็นมติที่ประชุมของ สนช. ในส่วนของศาลฎีกาก็จะปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้ ตามขั้นตอนต้องรอให้ สนช.ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการมีมติดังกล่าวส่งถึงศาลฎีกาเพื่อให้เริ่มกระบวนการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นว่าที่ กกต. ในสัดส่วนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คนใหม่ ซึ่งหลังจากได้รับหนังสือแล้ว ประธานศาลฎีกาจะได้กำหนดนัดประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด 176 คนต่อไปเพื่อเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่ตามขั้นตอน โดยต้องติดตามต่อไปว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะพิจารณาใช้ระเบียบเดิมในการคัดเลือกพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครเสนอตัวสรรหาเป็น กกต. หรือจะพิจารณาออกระเบียบใหม่

ส่วนนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวว่า สนช.ควรมีคำอธิบายว่าผู้สมัครทั้ง  7 คนมีปัญหาเรื่องใด จะได้เป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่ต้องดำเนินกระบวนการสรรหาใหม่ เพื่อที่จะได้รู้ว่ามีจุดอ่อนใด เพราะถ้าไม่มีเหตุผลเลยก็จะเป็นปัญหาต่อกระบวนการสรรหาในครั้งหน้าได้ โดยการสรรหาใหม่คงต้องใช้เวลา 5-6 เดือนกว่าจะมี กกต.ใหม่ แต่ไม่กระทบใดต่อโรดแมปการเลือกตั้ง เพราะ กกต.ชุดปัจจุบันยังทำหน้าที่ต่อ ยกเว้นว่ามี กกต.ลาออก 2 คน  ซึ่งจะทำให้เหลือองค์ประชุมแค่ 3 คน ซึ่งไม่สามารถพิจารณาเรื่องสำคัญต่างๆ ได้ 

แนะ คสช.ต่ออายุ กกต.

นายสมชัยกล่าวอีกว่า ในเดือน ก.ค.นี้ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต. จะมีอายุครบ 70 ปี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญต้องพ้นจากตำแหน่งทันที เว้นแต่มีคำสั่ง คสช.ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เหมือนที่ คสช.มีคำสั่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ครบวาระไปแล้วอยู่ดำรงตำแหน่งต่อไปจนว่าจะมีชุดใหม่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่า คสช.จะมีความเห็นอย่างไร และไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมี กกต.คนใดลาออกหรือไม่    

"ถ้านับไป 6 เดือนจากนี้ ก็เป็นช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งจะล้ำเข้าไปในโซนการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยหากมีจริงอย่างที่รัฐบาลตั้งใจให้มีขึ้น ก็ค่อนข้างมีปัญหา เพราะการรับมอบงานอาจไม่ราบรื่น ขณะเดียวกัน กกต.ชุดปัจจุบันก็อาจต้องคิดหนักว่าการเข้าไปรับผิดชอบการเลือกตั้งท้องถิ่นเหมาะสมหรือไม่ เพราะไม่ได้เป็นตัวจริง โดยหากมีเรื่องร้องเรียนไปจนเกิดเป็นปัญหาคดีความที่ต้องไปขึ้นศาลในฐานะส่วนบุคคล เมื่อพ้นจากตำแหน่งจะรับไหวหรือไม่ เพราะไม่ใช่เรื่องสนุกที่เมื่อออกจากงานแล้วต้องไปขึ้นศาล" นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยยอมรับว่า จริงๆ ไม่ได้คิดว่าผลลงมติจะเป็นเช่นนี้ โดยอยากให้มี กกต.ใหม่เร็วๆ เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมการต่างๆ ให้มากที่สุด เพราะยังไงเราก็ต้องไปอยู่แล้ว การที่เขามาช้าจะทำให้เขามีเวลาในการเตรียมการไม่มาก แล้วต้องมาจัดการเลือกตั้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีจริงๆ  วันนี้จึงอยากให้ได้ กกต.ใหม่ เพราะงานของ กกต.ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่หลายคนคิด ว่าให้สำนักงานทำงานแล้ว กกต.เป็นเพียงผู้กำกับดูแล  

“4 ปีที่ผมอยู่ ไม่ใช่เข้ามาแล้วทำงานได้ทันที ผมยังต้องเข้ามาเรียนรู้อยู่หลายปี ถึงวันนี้เรียนมา 4 ปีก็ยังรู้ไม่หมดเลย" นายสมชัยกล่าว 

ส่วนความเห็นของฝ่ายการเมืองนั้น นายวิรัช ร่มเย็น กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เป็นอีกเกมของผู้มีอำนาจที่จะใช้ทุกวิถีทางเพื่อยื้อการจัดการเลือกตั้งทั่วไป เพราะต้องไปเริ่มต้นกระบวนการสรรหา กกต.ใหม่ทั้งหมด แม้ผู้มีอำนาจยืนยันว่า กกต.ชุดเก่าทำหน้าที่รักษาการต่อไปได้ แต่ในทางปฏิบัติอาจเกิดปัญหาลักลั่นได้ 

“คสช.เล่นทุกเกม ทั้งตอดเล็กตอดน้อย และยังปากว่าตาขยิบ เข้าทำนองปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ  ด้านหนึ่งบอกปลดล็อกการเมือง อีกทางสั่งคว่ำว่าที่ กกต. โดยอ้างให้กรรมการเก่าทำหน้าที่ต่อ แต่ สนช.มีมติเซตซีโรไปแล้ว จึงฟันธงได้ว่าที่สุดจะมีคนร้องศาลให้ตีความวุ่นวาย พฤติกรรมนี้แทนที่จะปลดล็อกกลับเป็นการเพิ่มล็อกขึ้นไปอีก จึงไม่เข้าใจว่า คสช.กำลังเล่นอะไร ดิสเครดิตความเชื่อมั่นตัวเองให้บั่นทอนลงทุกวันทำไม” นายวิรัชกล่าว

ด้านนายวัฒนา เซ่งไพเราะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) มองว่า ส่วนหนึ่ง สนช.อาจกังวลจากประเด็นที่สังคมคลางแคลงใจต่อกระบวนการสรรหา และว่าที่ผู้สมัครบางคนที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ หากผ่านไปแล้วทำงาน อาจมีปัญหาตามมาในอนาคต ส่วนความกังวลจากการโหวตคว่ำครั้งนี้ อาจทำให้กระทบต่อการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีกนั้น ก็อาจมีส่วนเพื่อให้เกิดความมั่นใจ จึงขอเรียกร้องให้ประธาน สนช.หรือกรรมการสรรหาออกมาระบุให้ชัดว่าจะสรรหากันใหม่โดยใช้เวลาไม่นาน และต้องไม่กระทบต่อโรดแมป ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก

ปลดล็อกก่อน ก.ย.    

วันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการปลดล็อกคำสั่ง คสช.ให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและคำสั่งที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ว่า ที่ให้สัมภาษณ์ไปเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ไม่ได้บอกว่าจะปลดล็อกภายในเดือน มิ.ย.นี้ แต่บอกว่าเดือน มิ.ย.นี้จะทราบว่ามีการปลดล็อกเมื่อใด เพราะรู้วันเลือกตั้งระดับชาติและเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว ก็ต้องปลดล็อกให้ก่อนอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถประชุมกรรมการบริหารพรรคการเมือง (กก.บห.) และดำเนินการหาเสียงได้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจปลดล็อกคำสั่ง คสช.ทั้ง 2 ฉบับก่อนเดือน ก.ย.นี้  แต่ต้องมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งออกมาก่อนจึงดำเนินการหาเสียงได้

นายวิษณุระบุว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นได้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 4 ข้อ คือ 1.กฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องออกมาก่อน วันนี้ยังไม่ออกมา นายสมชัยไปเดาได้อย่างไรว่าจะเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือน ส.ค.นี้ 2.เมื่อกฎหมายออกมา ต้องมี กกต. ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเอาอย่างไร 3.กกต.เป็นผู้กำหนดว่าจะจัดให้เลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใด  ซึ่งต้องไม่ใกล้วันเลือกตั้งระดับชาติเกินไป และ 4.เรื่องการแบ่งเขตพื้นที่ โดยเป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่ เมื่อยังไม่เข้ามาก็ยังทำอะไรไม่ได้ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อได้องค์ประกอบทั้งหมดจะครบภายในเดือน มิ.ย.นี้ และจะทราบวันเลือกตั้งว่าจะมีขึ้นเมื่อใด  

“เชื่อว่าในเดือน มิ.ย.องค์ประกอบจะครบ ถ้าไม่ครบก็อยู่ลำบาก ถ้า กกต.ชุดใหม่ยังไม่มี กฎหมายก็ยังไม่ออก และข้อสำคัญที่ผมใช้คำว่า มิ.ย. คือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ควรต้องประกาศใช้ได้” นายวิษณุกล่าว และว่า คาดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีขึ้นในบางระดับก่อนในปีนี้ การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ยังไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นได้ ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ใดจำนวนสมาชิกและเขตพื้นที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะจัดการเลือกตั้งได้ ไม่ยุ่งยากอะไร  แต่ถ้าเขตเลือกตั้งเปลี่ยนทำให้รายชื่อประชาชนมีการเคลื่อนย้าย จะยุ่ง ต้องให้ กกต.ชุดใหม่เป็นคนแบ่ง

เมื่อถามว่า นายกฯ ระบุว่าจะไม่มีการคว่ำกฎหมายลูกจะทำให้โรดแมปนิ่ง และมีการเลือกตั้งในเดือนก.พ.2562 หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ โรดแมปจะนิ่ง แต่ไม่ขอตอบว่าเลือกตั้ง ก.พ.2562 หรือไม่ เรื่องวันเวลา อย่ามาคาดคั้นกันเลย เพราะตารางเวลามันจะเดินไปตามลำดับ เหมือนขึ้นบันไดขึ้นตึกก็ต้องเดินไป 20 ขั้น แต่ถามว่าจะขึ้นไปถึงขั้นที่ 20 กี่โมง ตอบไม่ถูกหรอก

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเดินทางไปพบอดีตนายกฯ ของสมาชิกพรรค ว่าถือเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลที่มีความระลึกถึงและปรารถนาจะพบกับอดีตนายกฯ บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่มนุษย์พึงมีต่อมนุษย์ ไม่ได้มีนัยสำคัญทางการเมืองใดๆ แต่การแสดงออกเช่นนี้กลับถูกนำมาเป็นเงื่อนไขทางการเมืองเพื่อลิดรอนหรือตัดตอนพรรคการเมืองที่เห็นต่างเหมือนในหลายกรณีที่พรรคเพื่อไทยได้เคยถูกกระทำมาแล้ว

“การตัดสินใจสำคัญใดๆ ของพรรคล้วนดำเนินการและเกิดขึ้นโดยอาศัยกระบวนการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารอย่างมีระบบและแบบแผน ไม่มีการบงการ สั่งการ หรือโน้มน้าวใดๆ จากปัจเจกบุคคลตามที่ถูกนำมากล่าวอ้างได้” นายภูมิธรรมกล่าว และว่า ขอให้สมาชิกพรรคระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นอันจะนำไปสู่การเข้าใจผิด และเกิดการตีความที่ทำให้ผู้ที่ไม่ปรารถนาดีหยิบยกมาเป็นประเด็นการสร้างความเข้าใจผิดและกล่าวหาโจมตีพรรคได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"