ศิริลั่นไม่จำเป็น ถ่านหินภาคใต้ ยันมีแผนเสริม


เพิ่มเพื่อน    

    “ศิริ” ลั่นไม่มีความจำเป็นสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ไปอีก 5 ปีข้างหน้า ยันมีแผนเสริมกำลังไฟฟ้าไม่ให้กระทบประชาชน เร่งเดินหน้าศึกษาพื้นที่อื่นๆ อย่างจริงจังเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งของสังคม  ขณะที่กลุ่มหนุนยื่นหนังสือรองเลขาฯ สศช.ค้านยุติโรงไฟฟ้า ซัด รมว.พลังงานไม่มีอำนาจทำเอ็มโอยู ขู่ดำเนินคดี ม.157-ร้องศาลปกครอง บุกหน้าทำเนียบฯ
    เมื่อวันพฤหัสบดี นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายในงาน MEET the PRESS ว่า ในปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นต้องตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงถ่านหินในภาคใต้ในช่วงเวลา 5 ปีหลังจากนี้ โดยยืนยันว่ากระทรวงมีกระบวนการจัดการปัญหาตามแผนพัฒนาสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง 500 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง 2 เส้น เชื่อมที่ชุมพรและส่งต่อไปยังสุราษฎร์ธานี ที่เป็นการดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งช่วงหลังจากนี้ต้องไปศึกษา วิเคราะห์พื้นที่อื่น   ๆ ควบคู่กับกระบี่และเทพา ให้เหมาะสมที่สุดในการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน และไม่ให้เกิดความขัดแย้งของสังคม
    “เรามีแผนที่จะพัฒนาไฟฟ้านอกเหนือจากการเพิ่มกำลังไฟที่ส่งมาจากภาคกลาง ด้วยการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในภาคใต้อย่างโรงไฟฟ้าขนอมและจะนะ ทั้งนี้ ยังมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟจากชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ 300 เมกะวัตต์ แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้เชื้อเพลิงเยอะ และไม่รู้ว่าจะสำเร็จเท่าไหร่ แต่เราก็ไม่ได้ปิดกั้นที่จะวางแผนหรือชักชวนคนเข้ามาดำเนินการในส่วนนี้” นายศิริกล่าว
    รมว.พลังงานกล่าวว่า การวางแผนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มกำลังไฟฟ้าพื้นที่ภาคใต้เพิ่มขึ้นแน่นอน หากประเมินไว้เบื้องต้น จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอมและจะนะ 2,400 เมกะวัตต์ รวมกับหน่วยผลิตไฟฟ้าชีวมวล 3 จังหวัดชายแดนใต้อีกประมาณ 300 เมกะวัตต์และการรับไฟฟ้าจากภาคกลางอีก 1,000 เมกะวัตต์ รวมเป็นประมาณ 3,700 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของภาคใต้อยู่ที่ 2,600-2,700 เมกะวัตต์ จึงมั่นใจได้ว่ามีมากเพียงพอไปอีก 5 ปีข้างหน้าแน่นอน เมื่อดูจากการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ประมาณ 4-5% ต่อปี
    ส่วนการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น รมว.พลังงานกล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงพลังงานก็ยังดำเนินการตามข้อตกลงที่ระบุไว้ โดยได้สั่งการให้ กฟผ.ถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ออกจากสำนักงานนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และเริ่มต้นทำใหม่ โดยมีนักวิชาการที่เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่ายควบคู่ไปกับศึกษาทำรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) เพื่อศึกษาว่าพื้นที่จังหวัดกระบี่และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ และกำหนดเวลาต้องแล้วเสร็จภายใน 9 เดือน
    นายศิริกล่าวถึงความคืบหน้าการกำหนดร่างการจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) การประมูลสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ทั้งเอราวัณและบงกช เบื้องต้นจะมีการเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อีก 2 ครั้งในเดือน มี.ค. และเม.ย.61 ก่อนที่จะออกประกาศเชิญชวนผู้เข้าร่วมประมูล และคาดว่าจะใช้เวลาคัดเลือกและหาผู้ชนะได้ภายในเดือน พ.ย. หลังจากนั้นจะมีการทำสัญญาการผลิตและลงมือสำรวจและผลิตได้ภายในเดือน ก.พ.ปี 62
    อย่างไรก็ตาม การจัดทำทีโออาร์เพื่อการประมูลครั้งนี้ เป็นหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) โดยคำนึงถึงความมั่นคงและระบบของประเทศเป็นสูงสุด และให้ต้องมีความเพียงพอต่อการนำไปใช้ประโยชน์ด้วย ทั้งนี้รูปแบบก็ยังจะเป็นแบบการแบ่งปันผลผลิตอยู่ ซึ่งเงื่อนไขก็คือต้องมีการรักษากำลังการผลิตอยู่ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อย่างต่อเนื่องในระยะยาว 10 ปีขึ้นไป จากปัจจุบันทั้งสองแหล่งมีกำลังการผลิตก๊าซรวม 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และราคาต้องไม่เกินที่ซื้ออยู่ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่จะเข้ามาดำเนินการ
    “เงื่อนไขการประมูลมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก เพราะเป็นครั้งแรกของโลก ในการปรับเปลี่ยนทั้งผู้ประกอบการ และเปลี่ยนระบบจากสัมปทาน มาเป็นแบ่งปันผลผลิต ซึ่งกระทรวงต้องใช้ความพยายามถึงที่สุด และต้องมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้” นายศิริกล่าว
    วันเดียวกัน ที่โรงแรมสยามออเรียลทัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กลุ่มเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเครือข่ายประชาชนชาวเทพา 66 องค์กร ประมาณ 50 คน นำโดยนายหลี สาเมาะ ประธานเครือข่ายคนเทพาฯ รวมตัวถือป้ายสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และเข้ายื่นหนังสือแถลงการณ์ผ่านนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในระหว่างเดินทางมาประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นแผนยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี กรณีที่ รมว.พลังงานลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่าง รมว.พลังงานและเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน
    โดยแถลงการณ์สรุปว่า ทางเครือข่ายคนเทพาฯ ไม่เห็นด้วยกับการลงนามในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เพราะเสียงส่วนใหญ่ของคนเทพาเห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของอำเภอเทพาให้ทัดเทียมกับอำเภออื่นๆ ที่สำคัญกลุ่มต่อต้านมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเทพา และหลังจากนี้จะเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับรัฐมนตรีพลังงานตามมาตรา 157 ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นการตกลงที่เกินกว่าอำนาจของรัฐมนตรีพลังงาน และขอเรียกร้องให้ยกเลิกและฉีกข้อตกลงดังกล่าวทิ้งไป เพราะเป็นข้อตกลงที่ขาดความชอบธรรมฝ่ายเดียวสนับสนุนร่วมด้วย รวมทั้งจะไปยื่นต่อศาลปกครองให้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและไต่สวนฉุกเฉิน และตัวแทนชาวเทพาจะเดินทางไปฟังคำตอบที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และปักหลักต่อสู้เช่นเดียวกับ NGOs จนกว่ารัฐบาลจะสั่งยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว รวมทั้งจะยื่นถวายฎีกาเพื่อขอความเป็นธรรมต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"