การเมืองของคนรุ่นใหม่?


เพิ่มเพื่อน    


    ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าเลือกตั้งหนหน้านี้น่าสนใจกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา 
    เพราะจะเป็นการเลือกตั้งที่วิ่งตามกระแสโลก 
    คนรุ่นใหม่อาจจะเข้ามายึดครองการเมืองแทนคนรุ่นเก่า
    มองย้อนกลับไปในอดีต อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้นำอายุน้อย แต่ก็ด้วยปัจจัยการเมืองภายในประเทศเอง
    มิได้รับอิทธิพลจากกระแสผู้นำคนรุ่นใหม่หลายประเทศในยุโรปและแคนาดา 
    ปีสองปีที่ผ่านมาการเลือกตั้งในหลายประเทศในฝั่งตะวันตก ส่งผลให้ได้ผู้นำคนรุ่นใหม่ทยอยออกมาเป็นลูกโซ่
    ประเทศแคนาดา "จัสติน ปีแอร์ เจมส์ ทรูโด" (Justin Pierre James Trudeau) ชนะการเลือกตั้งในปี ๒๕๕๘ ทำให้เขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในวัย ๔๓ ย่าง ๔๔  ปี 
    ฝรั่งเศส "เอมมานูเอล ฌ็อง-มีแชล เฟรเดริก มาครง" (Emmanuel Jean-Michel Frédéric  Macron) มีอายุเพียง ๓๙ ปี ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส 
    และได้กลายเป็นประมุขแห่งรัฐฝรั่งเศสที่มีอายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่สมัยนโปเลียนเป็นต้นมา
    "เซบาสเตียน คูร์ซ" (Sebastian Kurz) หัวหน้าพรรคของประชาชน (People’s Party) เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศออสเตรีย โดยมีอายุเพียง ๓๑ ปี
    และด้วยวัยเพียง ๓๗ ปีของ จาซินดา อาร์เดิร์น จากพรรคแรงงาน เป็นผู้นำหญิงของนิวซีแลนด์ 
    ที่กล่าวมาข้างต้นมีอิทธิพลต่อพรรคการเมืองใหม่โดยคนรุ่นใหม่ของไทยที่ทยอยประกาศตัวออกมาหรือไม่?
    ก็ต้องตอบว่าแนวคิดของคนรุ่นใหม่จากฝั่งตะวันตก ถูกส่งผ่านมาถึงคนรุ่นใหม่ในไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
    แต่จะมาแค่รูปแบบหรือเนื้อหา....อันนี้น่าสนใจ
    ลำพังการขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศอายุน้อยได้นั้น ความเก่งเฉพาะตัวอย่างเดียวย่อมไม่พอ 
    ถ้าพื้นที่ทางการเมืองไม่เปิดให้ โอกาสแทรกตัวขึ้นมา แทบเป็นไปไม่ได้
    จัสติน ทรูโด, เอมมานูเอล มาครง, เซบาสเตียน คูร์ซ, จาซินดา อาร์เดิร์น คนพวกนี้มิใช่ละอ่อนทางการเมือง แต่คลุกอยู่กับการเมืองมาหลายปี ก่อนขยับนั่งแท่นผู้นำประเทศ
    ถ้าให้เทียบกับไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าข่ายผู้นำกลุ่มนี้
    ขณะที่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" พ่อหลานชายของ "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" กับ "ปิยบุตร แสงกนกกุล"  สมาชิกนิติราษฎร์ อยู่ในข่ายไหน
    เท่าที่ดู ออกตัวแรงทั้งคู่! 
    คำพูดของ "ธนาธร" ช่างน่าสนใจ 
    "ถ้าผมจะจัดตั้งพรรคการเมือง ก็จะไม่เป็นพรรคที่เป็นเฉพาะกิจ ซึ่งอะไรที่น้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยผมก็จะไม่ทำ" 
    ถือว่าเล่นของใหญ่ แนวคิดดีแต่มีกำลังจะทำหรือไม่ ก็ตอบแบบไม่ดูถูกดูแคลน ยากที่จะเป็นไปได้
    ส่วน "ปิยบุตร" ไม่น้อยหน้า
     "พรรคการเมืองทางเลือกใหม่อาจจะช่วยให้คนออกจากเผด็จการ ยอมกลับไปสู่การเมืองระบบปกติได้ เพราะเมื่อไปเลือกตั้งแล้ว มีทางเลือกใหม่จริงๆ"
    ทั้ง ๒ คนนี้เข้าใจบริบทของการเมืองไทยดีแล้วหรือไม่...อันนี้น่าสนใจ
     เมื่อบอกว่า คนรุ่นใหม่ไม่ใช่ "วัวงาน" หรือ "คนรับใช้" คนรุ่นอาวุโส คนรุ่นใหม่ในพรรคมีบทบาทในการคิด เสนอ ลงมือทำ พวกเขาไม่ใช่ "แรงงาน" ที่ใช้แจกใบปลิว ติดป้าย แบบที่เคยทำๆ กันมา
    ทรูโด, มาครง, คูร์ซ คนพวกนี้เริ่มต้นด้วยการแจกใบปลิวมาก่อน ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นวัวงาน คนรับใช้ แต่นั่นคือการเรียนรู้การเมือง
    จะด้วยอะไรก็ตามแต่...เป็นเรื่องน่าดีใจที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมือง อยากทำงานการเมือง แต่เมื่อเริ่มต้นด้วยการปฏิเสธที่จะเรียนรู้การเมืองในระดับเบื้องต้น เพราะคิดว่าตัวเองอยู่ในระดับสูงกว่านักการเมืองรุ่นเก่า 
    ถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่!
    การเป็นนักการเมืองจะเก่าใหม่นั้น ไม่สำคัญเท่าได้เรียนรู้การทำงานการเมืองที่ถูกต้องหรือไม่
    ขนาดรุ่นอาวุโสนั่งในคอกปล่อยนักโทษหนีคุกชี้นิ่วสั่งมีให้เห็นเยอะแยะ
    แล้วนักการเมืองใหม่ที่หนีบตำราไปทำงานการเมือง ประกาศตัวไม่เป็นขี้ข้าใครนอกจากประชาชน  เอาเข้าจริง แค่คำพูดสวยหรู แต่เมื่อลงมือปฏิบัติ ไม่ทันเด็กแจกใบปลิวด้วยซ้ำ 
    งานการเมืองคือของจริง ถ้าข้ามขั้นเพราะคิดว่าอ่านตำรามามากกว่าคนอื่น ก็จบเห่ตั้งแต่แรกเริ่ม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"