ลุ้น สนช.ผ่าน 2 กฎหมายลูกสุดท้าย ไทม์ไลน์ขยับสู่สนามเลือกตั้ง


เพิ่มเพื่อน    

      วันพฤหัสบดีที่ 8 มี.ค.นี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเป็นผู้ใส่รหัสตัวสุดท้ายเพื่อปลดล็อกให้เริ่มกระบวนการเลือกตั้ง โดยจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ ร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ ได้แก่ 1.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ 2.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งเป็นฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม  3 ฝ่าย

      ภายหลังจากที่ สนช.ลงมติในวาระ 3 แล้วได้ส่งร่างกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าวแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณาว่ามีส่วนใดที่ไม่ตรงเจตนารมณ์ ซึ่งมีประเด็นหนึ่งที่ กกต.และ กรธ.ท้วงติงตรงกัน คือ การอนุญาตให้จัดมหรสพระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่ง กมธ.สรุปตรงกันให้กลับไปใช้ร่างแรกของ กรธ.ไม่ให้มีการจัดมหรสพ

      นอกจากนี้ กมธ.ยังมีความเห็นในข้อโต้แย้งอื่นๆ อาทิ การกำหนดเวลาเปิด-ปิดคูหาเลือกตั้ง เป็นตั้งแต่ 08.00-17.00 น. รวมทั้งการอนุญาตให้ผู้พิการสามารถมีผู้ช่วยเพื่ออำนวยความสะดวกในการกาบัตรลงคะแนนได้ โดยยังให้ถือว่าการลงคะแนนเป็นความลับ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญเหมือนที่ กรธ.ได้ค้านมา

      สำหรับค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง กมธ.เห็นสมควรให้ขึ้นกับขนาดของพรรคนั้น และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.ได้หารือกับพรรคการเมือง โดยให้ตัดถ้อยคำ "เท่ากันทุกพรรค" ของมาตรา 64  ออก 

      ในส่วนการจำกัดสิทธิของชาวนอนหลับทับสิทธิ์นั้น แต่เดิม สนช.เพิ่มว่าหากใครไม่ไปเลือกตั้งจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และรองผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่นได้ ซึ่ง กรธ.เห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ์เกินไป แต่ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายสรุปแล้วให้คงตามที่ สนช.แก้ไขมาด้วยมติ  6 ต่อ 5 เสียง 

      เรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียวที่ กกต.ระบุว่าจะทำให้เกิดการทุจริตง่าย เนื่องจากจะไม่ได้พิมพ์บัตรเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว เพราะแม้ผู้สมัครจะอยู่พรรคเดียวกัน แต่หมายเลขประจำผู้สมัครจะแตกต่างกัน ซึ่งบทสรุปประเด็นดังกล่าวยังคงให้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว

      อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายลูก ส.ว.ที่มีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธานคณะ กมธ.ร่วมนั้น มีมติให้การเลือก ส.ว.ครั้งที่จะถึงนี้ซึ่งมีอายุ 5 ปี เป็นไปตามที่ผ่านในชั้น สนช. กล่าวคือ ส.ว.มีจำนวน 10  กลุ่ม โดยให้เลือกกันเองภายในกลุ่ม และมาจาก 2 ช่องทาง ได้แก่ สมัครด้วยตนเอง หรือองค์กรส่งสมัคร

      ทั้งนี้ เมื่อเลือกกันเองเรียบร้อยและจัดทำบัญชี 400 รายชื่อเพื่อส่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือกให้เหลือ 50 คนนั้น จะต้องเลือกตามที่รัฐธรรมนูญวางไว้โดยคำนึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง ซึ่งคงต้องจับตาว่าในการเลือกของ คสช.จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่

      ปัจจุบันร่างกฎหมาย 2 ฉบับบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมของ สนช.เรียบร้อยแล้ว รอเพียงมติของ สนช.ในวันที่ 8 มี.ค.นี้ จากที่ซาวเสียงพบว่า สนช.จะลงมติเห็นชอบผ่านกฎหมาย ส.ส.และ ส.ว.อย่างราบรื่น ไม่มีทางโหวตคว่ำแน่นอน ขณะเดียวกันถ้าคิดจะลงมติไม่เห็นชอบต้องใช้เสียง สนช. 2  ใน 3 หรือ 166 เสียงขึ้นไป

      แต่ความเป็นไปได้ที่จะตีตกมีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก เพราะด้วยบรรยากาศการเมืองและที่สำคัญ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ประกาศชัดเสียงหนักแน่นว่า อย่างไรก็ต้องเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ครั้นจะผิดคำพูดอีกคงดูแย่ในสายตาชาวบ้าน

      หลังจบขั้นตอนจากที่ประชุม สนช.ก็ส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี และเก็บไว้ 5 วัน หากไม่มีผู้ใดคัดค้านจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และรอวันโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

      จากนั้นจะต้องเดินตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ข้อ 8 บัญญัติว่าเมื่อกฎหมาย ส.ส.ประกาศใช้ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้ง คสช.เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมาย ประกาศ คสช.  หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. อันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง และร่วมกันจัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้ให้หารือกับ กกต., กรธ.,  ประธาน สนช. และจะเชิญผู้แทนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าหารือด้วยก็ได้

      ไทม์ไลน์ขยับเข้าสู่สนามเลือกตั้งมากขึ้น พร้อมกับบรรยากาศบ้านเมืองที่จะดีตามไปด้วย  ขออย่ามีใครเตะสกัดอีก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"