FMCG อาการยังน่าห่วง


เพิ่มเพื่อน    

 
    กำลังจะผ่านพ้นไตรมาสแรกของปี 2561 กันแล้ว ดูเหมือนว่าสถานการณ์กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่สู้ดีนัก แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ก็ยังพอให้ใจชื้นกันบ้าง เลยทำให้ผู้ประกอบการเริ่มหันมาใช้งบการตลาดกันอย่างคึกคักมากขึ้น จะเห็นได้ว่าปีที่ผ่านมาการเปิดตัวสินค้าใหม่พอมีบ้าง แต่อาจไม่เยอะเท่าที่ควรจะเป็น เพราะบางเจ้าตัดสินใจเลื่อนทำตลาดออกไปก่อน เพื่อรอดูสัญญาณการฟื้นตัวของกำลังซื้อผู้บริโภค
    สำหรับในปี 2560 ที่ผ่านมา มีหลายกลุ่มธุรกิจเติบโตติดลบในรอบหลายปี หนึ่งในนั้นคงเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ที่เกิดการติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี มีมูลค่าตลาดรวม 442,829,500,000 ล้านบาท ย้อนภาพกลับไปปี 2557 มีอัตราเติบโต 2.6% ปี 2558 อยู่ที่ 2.2% ปี 2559 ประมาณ 1.7% และปี 2560 ติดลบ 0.4% โดยสามารถแยกตามกลุ่มสินค้าได้ดังนี้ คือ กลุ่มของใช้ในครัวเรือนโต 4.1% กลุ่มสินค้าส่วนบุคคล 2.6% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มติดลบ 2.4% 
    ข้อมูลจากกันตาร์ ระบุว่า กลุ่มสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างเด่นชัด จากครัวเรือนไทยในภาพรวมทั้งตลาดตัวเมืองและชนบท จากผลสำรวจพบว่า Packaged Grocery ในประเทศไทยมีการเติบโตในอัตราที่ติดลบ -0.4% ในปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่ที่ได้เกิดวิกฤติด้านการเงินในปี 2550
    หลายคนคงอยากรู้ว่า หากเมื่อปีที่ผ่านมาการเติบโตต่ำสุด แล้วแนวโน้มของปี 2561-2562 จะเป็นอย่างไร ในเรื่องนี้ “อิษณาติ วุฒิธนากุล” ผู้อำนวยการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) กล่าวว่า ยังจะเป็นปีที่ยากลำบาก โดยเฉพาะกับธุรกิจ 2 กลุ่มหลัก คือผู้ผลิตสินค้า FMCG และผู้ประกอบการค้าปลีก โดยชี้ให้เห็นว่า ในปี 2561 นี้จะเป็นปีที่มีอัตราเติบโตต่ำอีกปีหนึ่ง
    ส่วนผลกระทบมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคใน 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.การลดจำนวนทริปในการออกไปจับจ่าย ถึงแม้ผู้ค้าปลีกจำเป็นต้องออกโปรโมชั่นมากยิ่งๆ ขึ้น ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นให้เพิ่มความถี่ในการออกมาจับจ่ายได้ เพราะกลุ่มนักช็อปมีพฤติกรรมชอบเปลี่ยนแหล่งช็อปปิ้งไปเรื่อยๆ และจุดจับจ่ายที่ให้ความคุ้มและประหยัดเงินที่สุด 2.การขยายสาขาของผู้ประกอบการค้าปลีก ทำให้ผู้ซื้อมีทางเลือกมากขึ้น และ 3.ตัดกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นออก เหล่านักช็อปยุคปัจจุบันมีการวางแผนการซื้อมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประเภท Package Grocery โดยจะเลือกซื้อกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีความต่างและหลากหลาย ที่จะส่งผลกระทบต่อยอดขายของแบรนด์สินค้าโดยตรง
    “คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตปี 2561 นับว่ายังไม่สดใส เห็นจากพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นตัวบ่งชี้ ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนทริปในการออกไปจับจ่าย และการลดจำนวนกลุ่มสินค้าที่ทำการซื้อในอัตราที่ลดลง ดังนั้นการฟื้นตัวจะต้องใช้เวลา ทำให้การเติบโตเป็นไปได้อย่างช้าๆ คาดว่าจะอยู่ในช่วงอัตราระหว่าง -1% และ 2%”
    ได้ยินแบบนี้แล้วผู้ประกอบการคงต้องวางแผนกันดีๆ เพราะผู้บริโภคยุคนี้ที่อยู่ในตัวเมืองนิยมทำการจับจ่ายหลายแห่ง เพื่อให้ประหยัดที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่กลยุทธ์การอัดโปรโมชั่นยังคงเป็นแม่เหล็กหลักๆ ที่ถูกหยิบมาใช้เพื่อดึงดูดนักช็อปทั้งหลายเหมือนเคย โดยกลุ่มนักช็อปในตัวเมืองนั้น นอกเหนือจะลดความถี่ในการออกไปจับจ่ายแล้ว ยังคงไม่ยึดติดกับการซื้อในจุดเดิมๆ จึงเป็นเหตุให้เหล่าผู้ค้าปลีกเกิดการแข่งขันในการขยายจุดขาย
    ส่วนช่องทางการขายนั้น นับแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ร้านสะดวกซื้อยังคงขยายส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นปีละ 0.5% หากยังคงรักษาอัตราการขยายตัวในระดับนี้ คาดว่า ในปี  2562 ร้านสะดวกซื้อจะกลายเป็นช่องทางอันดับ 1 แบบโมเดิร์นเทรดสำหรับตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคภายในครัวเรือนอย่างแน่นอน ส่วนช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ตยังคงรักษาส่วนแบ่งช่องทางการตลาดอย่างคงที่ ขณะที่ช่องทางโชห่วยยังจะเป็นช่องทางอันดับ 1 ในภาคตลาดรวมต่อเนื่องไปอีก 10 ปี ด้านอี-คอมเมิร์ซเป็นช่องทางที่มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด  
    สรุปแล้วยามนี้ผู้บริโภคชาวไทยยังระมัดระวังการจับจ่ายและการใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นคนเมืองหรือแม้แต่ต่างจังหวัดแถบชนบทก็ตาม โดยภาพลักษณ์ของแบรนด์ การรับรู้ด้านคุณประโยชน์ ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ จะเป็นปัจจัยหลักต่อการพิจารณาตัดสินใจซื้อ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการก็คงต้องปรับตัว.                                                                           
 

 รุ่งนภา สารพิน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"