ผ่านกม.ลูกเดินสู่โรดแมป เพื่อแม๊วดี๊ด๊าตีปบี๊ เลือกตั้ง


เพิ่มเพื่อน    

  สนช.โหวตท่วมท้นผ่าน กม.ลูก ส.ส.-ส.ว. หลังเคลียร์ 2 ปมใหญ่ส่อขัด รธน. เพื่อแม้วดี๊ด๊าพร้อมลุยสนามเลือกตั้ง บี้ "บิ๊กตู่" ประกาศวันให้ชัด "มาร์ค" ปัดกปปส.ไม่ใช่มวลมหาประชาธิปัตย์ ชี้จุดยืน-อุดมการณ์ต่าง ยันต้องแข่งกับตัวเองตอบโจทย์ประชาชนได้

    ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม เวลา 10.00 น. มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้พิจารณาทบทวนแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยนายวิทยา ผิวผ่อง ประธานกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายได้รายงานเนื้อหาที่ กมธ.ร่วมฯ ได้ทบทวนเสร็จแล้วให้ที่ประชุม สนช.รับทราบ มีสาระสำคัญ อาทิ การแก้ไขมาตรา 35 เรื่องการตัดสิทธิดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและรองผู้บริหารท้องถิ่นแก่ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  มาตรา 73 การห้ามจัดแสดงมหรสพและงานรื่นเริงระหว่างการหาเสียง 
    จากนั้นเปิดโอกาสให้ กมธ.และสมาชิก สนช.ได้อภิปราย ซึ่งประเด็นที่ได้รับการทักท้วงมากคือการจำกัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายแก้ไข กรณีข้าราชการการเมือง และรองผู้บริหารท้องถิ่น หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะถูกตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทันที จากเดิมที่ตัดสิทธิแค่เฉพาะการได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและรองผู้บริหารท้องถิ่นเท่านั้น หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  
    โดยนายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กมธ.ร่วมเสียงข้างน้อยระบุว่า มติ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายที่ตัดสิทธิการห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ไม่ใช่แค่จำกัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ยังไปจำกัดอำนาจของผู้มีสิทธิแต่งตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองด้วย ถือว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ขณะที่นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. อภิปรายว่า การที่ กมธ.ร่วม 3ฝ่ายไปตัดสิทธิข้าราชการการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งทันที หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะเกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันหรือไม่ เพราะมาตรา 35 (2) ระบุว่า กรณี ส.ส.และ ส.ว.ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะถูกตัดสิทธิเพียงแค่การรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.เท่านั้น แต่ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่ง อาจถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติได้
    นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. อภิปรายว่า สิ่งที่กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายไปแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง เขียนแบบนี้เหมือนได้คืบเอาศอก ทำเหมือนคนพวกนี้เป็นอาชญากร อย่างไรก็ตาม นายสมชาย แสวงการ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายเสียงข้างมากชี้แจงว่า เหตุที่ต้องตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะอยากให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นแบบอย่างแก่ประชาชน ยืนยันว่าไม่ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
    หลังจากที่สมาชิก สนช.ได้อภิปรายแสดงความเห็นครบถ้วนแล้ว ที่ประชุม สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วยคะแนน 211 ต่อ 0 งดออกเสียง 7  
    จากนั้นเวลา 12.30 น. ที่ประชุม สนช.เข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามที่ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาเสร็จแล้ว ทั้ง 4 ประเด็น คือ 1.การลดจำนวนกลุ่มการสมัครจาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม โดยปรับแก้เป็นบทหลักมี 20 กลุ่ม ส่วนบทเฉพาะกาล ให้มี 10 กลุ่ม 2.การแบ่งผู้สมัครแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท คือ อิสระและการเสนอชื่อโดยองค์กร แก้เป็นบทหลัก รับสมัครแบบอิสระอย่างเดียว ส่วนบทเฉพาะกาล ให้รับสมัคร 2 ประเภท คือ อิสระและการเสนอชื่อโดยองค์กร 3.วิธีการเลือกตรงและการเลือกไขว้ ปรับแก้เป็น ในบทหลักให้ใช้การเลือกตั้งและการเลือกไขว้ ส่วนบทเฉพาะกาล ให้ใช้การเลือกตรงเพียงอย่างเดียว และ 4.ปรับแก้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
    นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธาน กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายฯ ชี้แจงว่า การกำหนดบทหลักต่างจากบทเฉพาะกาลไม่ได้มีปัญหา ในรัฐธรรมนูญก็มีอยู่หลายเรื่อง เช่น ในส่วนของ ส.ว. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวน อำนาจหน้าที่ และวิธีการเลือก ที่หลายฝ่ายติดใจการแบ่งวิธีสมัคร ส.ว.เป็น 2 วิธีนั้น จึงไม่เป็นปัญหา เชื่อว่าการเลือก ส.ว. 2 แบบนี้ จะทำให้ได้ ส.ว.ที่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ
    ภายหลังใช้เวลาอภิปรายกว่า 1 ชั่วโมง ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 202 ต่อ 1 งดออกเสียง 13 ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ตามที่ กมธ.ร่วมฯ ปรับแก้ไข เพื่อนำส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
    ทางด้านนายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานีและสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งรัดจัดการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หากประกาศวันได้ต้องประกาศออกมาเลยว่าจะเกิดในช่วงวันที่เท่าไหร่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน 
    "จากการโหวตของ สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ คงไม่ใช่ว่าสัญญาณดีหรือไม่ดี เรื่องนี้รัฐบาลเพียงทำตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ก็จบ ในส่วนของความพร้อมพรรคเพื่อไทยและนักการเมืองในพรรคนั้น เราเป็นเหมือนนักมวย พร้อมเสมอในทุกกติกา ส่วนของพรรคคงต้องรอให้มีการผ่อนคลายให้ได้ทำกิจกรรม จัดประชุมพรรคได้ก่อนค่อยมาว่ากัน แต่ดูแล้วเรื่องการจัดการเรื่องสมาชิกคงไม่ยุ่งยากเท่าไหร่ แต่จะไปยุ่งยากสำหรับพรรคการเมืองที่ขอจดจัดตั้งใหม่มากกว่า" นายสมคิดระบุ
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่ กปปส. แยกออกไปตั้งพรรคว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการแข่งขันกับตัวเอง โดยมีความเชื่อมั่นในอุดมการณ์พื้นฐานของพรรค และในประสบการณ์ที่ได้เคยทำงานให้กับบ้านเมืองทั้งในฐานะฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน อีกทั้งได้เตรียมการกันมาระยะหนึ่งว่าความเปลี่ยนแปลงในเชิงของการพัฒนา หรืออาจจะเรียกว่าการปฏิรูป ทำอย่างไรให้พรรคประชาธิปัตย์สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ว่าเป็นที่พึ่ง เป็นนักการเมืองที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และรักษาระบบได้ รวมไปถึงความสามารถในการแก้ปัญหาพื้นฐานของประชาชนเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง รวมทั้งการวางแนวทางโครงสร้างให้ประเทศ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว หากว่าไม่มีกรอบความคิดใหม่ๆ ในเชิงนโยบายสาธารณะ จะตอบโจทย์ของประชาชนกับสังคมไม่ได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นภาระที่ใหญ่
    เมื่อถามว่า หากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยตั้งพรรคการเมืองจริง ความสัมพันธ์ของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะมีการตั้งพรรคโดยใคร หรือไม่อย่างไร แต่ถ้าบอกว่าจะเป็นพรรคการเมืองโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ตรงนี้คงเป็นจุดต่าง เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ นโยบาย บุคลากรของตนเองที่เสนอเป็นทางเลือกให้กับประชาชนอยู่แล้ว
    เมื่อถามย้ำว่า กปปส.จะไม่ใช่พรรคมวลมหาประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากเห็นว่าแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ตรงกับความคิดเขา คงไม่จำเป็นจะต้องออกไปตั้งพรรค แต่การออกไปตั้งพรรคต้องมีจุดต่างในบางเรื่อง 
    ส่วนที่มีพรรคการเมืองที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ อย่างพรรคของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานบริหารกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิทฯ ที่ร่วมกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ทุกคนเป็นทางเลือกเพิ่มขึ้นมา ถือเป็นเรื่องที่ดี ส่วนทางเลือกนั้นจะตรงหรือไม่ตรงใจกับประชาชนแต่ละคนอย่างไร ก็เป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะเลือก แล้วต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจ 
    "พวกผมไม่ใช่นักเรียนที่ต้องเข้าแถวเช็กชื่อ เรื่องนี้ไม่มี แต่ในกฎหมายกำหนดว่า วันที่ 1 เม.ย.-30 เม.ย. สมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป ถูกคำสั่ง คสช.ว่าให้ต้องมายืนยันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นภายในสิ้นเดือนเม.ย. ก็ต้องรู้อยู่แล้วว่ามีใครมายืนยันสมาชิกบ้าง เท่าที่ทราบ ยกเว้นกรณีของนายธานี เทือกสุบรรณ ซึ่งพ้นจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตอนที่ไปบวช แต่คนอื่นที่เป็นอดีต ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ก็ยังไม่มีใครที่ได้มาแสดงเจตจำนงในการที่จะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์" นายอภิสิทธิ์ระบุ
    ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สื่อสารผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ จนมีการตั้งข้อสังเกตว่าเหมือนเป็นการหาเสียงว่า หากเป็นการหาเสียงทำไม่ได้ แต่ถ้ายังเป็นแค่คล้ายๆ กับหาเสียง ไม่ถือเป็นการหาเสียง วันนี้เขายังไม่จัดตั้งพรรค ยังไม่ได้เปิดประชุมพรรค อย่าไปอะไรมาก เอาพอประมาณ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีพรรคใดขออนุญาตประชุมพรรคมา ส่วนหลักเกณฑ์นั้นให้ กกต.พิจารณา เพราะ กกต.จะเป็นผู้ส่งเรื่องต่อให้ คสช.พิจารณา. 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"