เงินจากขยะ


เพิ่มเพื่อน    

      เดี๋ยวนี้อาชีพนำขยะมาขาย ไม่ใช่เรื่องที่น่าอายหรือเป็นอาชีพของคนจนอีกต่อไป เพราะจะเห็นได้จากหลายๆ บริษัทที่มีเงินหมุนเวียนเป็นหลักล้านด้วยการขายขยะ ไม่ว่าจะตั้งแต่พลาสติกจนถึงเศษเหล็ก ทำให้เราก็ต้องยอมรับว่าขยะในปัจจุบันทำเงินได้อย่างมากมาย และนอกจากขยะจะนำมาขายเป็นชิ้นๆ แล้ว ยังสามารถนำไปทำผ่านกรรมวิธีอื่นๆ ให้เกิดเป็นเงินได้เช่นกัน

        เมื่อก่อนการที่มีคนมาบอกว่าจะผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ คงเป็นเรื่องที่ตลก ที่มองว่าเป็นการลงทุนแบบไม่เกิดผล เพราะว่าไม่เข้าใจเทคโนโลยีที่เข้ามาในช่วงใหม่ๆ แต่ปัจจุบันมีหลายแห่งที่ทำแล้วมีผลงานออกมาให้หลายๆ ชุมชนได้เห็นและเป็นที่ยอมรับ การตั้งโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟจากเชื้อเพลิงขยะจึงเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการกำจัดขยะที่ดีที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ดีกว่านำไปเผาทิ้งเปล่าๆ

        แต่กับอีกหลายกลุ่มมองว่าเป็นตัวก่อมลพิษที่ร้ายกาจที่สุด เพราะฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไหม้นั้นจะฟุ้งกระจายไปทั่วพื้นที่บริเวณโรงไฟฟ้า ซึ่งการมาตั้งโรงไฟฟ้าขยะในบริเวณชุมชนยังเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งกัน ทั้งเรื่องเส้นทางการขนย้ายเชื้อเพลิงที่ขึ้นชื่อว่าขยะยังเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยินยอมจากหลายหนทาง และกลิ่นที่กระจายไปในพื้นที่โดยรอบ หลายชุมชนถึงจะเข้าใจในเทคโนโลยี แต่ก็ยังยอมรับเรื่องพวกนี้ไม่ได้

        แต่ถึงจะมีทั้งกลุ่มที่คัดค้านและเห็นด้วย แต่ทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการขยะมาเนิ่นนาน รวมทั้งยังมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วยโดยปี 2560 ปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศมี 27.40 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มี 27.06 ล้านตัน ทั้งนี้ปริมาณขยะกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง ที่กองทิ้งไว้ตามบ่อขยะหรือลักลอบทิ้งตามสถานที่ต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและเชื้อโรค และบางครั้งมีมลพิษทางอากาศ จากการลุกไหม้กองขยะ และการกำจัดขยะด้วยกระบวนการเผาไหม้แบบธรรมดาที่มีควันลอยสู่บรรยากาศ

        ซึ่งในมุมมองของเอกชน การลงทุนที่เกิดผลดีรอบด้าน อย่างไรก็ยังน่าทำอยู่ ดูตัวอย่าง เช่น บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ได้เริ่มทำการศึกษารูปแบบและวางแนวทางการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมแบบครบวงจร แปรรูปเป็นเชื้อเพลิงผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะชิตี้ จ.ชลบุรี ช่วยจัดการปริมาณขยะที่ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 2,400 ตันต่อวัน ซึ่งมั่นใจว่าโครงการนี้จะนำขยะจำนวน 1,200 ตันนำผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ภายในนิคมฯ ได้  จากนั้นจะขายไฟเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อลูกค้าในนิคมฯ สร้างรายได้เพิ่มเติม

        ซึ่งไม่ได้มีแต่อมตะที่เดียวที่มองว่าการผลิตไฟฟ้าจากขยะเป็นโอกาส เพราะเมื่อมาดูข้อมูลจากกระทรวงพลังงานปัจจุบันมีผู้ประกอบการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าขยะทั้งสิ้น 390 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าใช้พลังงานจากขยะชุมชนที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) แล้ว 30 โครงการ กำลังการผลิต 180 เมกะวัตต์ มีโครงการที่เซ็นสัญญาซื้อ-ขายไฟ (พีพีเอ) แล้ว แต่ยังไม่สามารถซีโอดี 12 โครงการ กำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ รวมทั้งยังมีโครงการที่ตอบรับซื้อแล้วแต่ยังไม่เซ็นพีพีเอ 2 โครงการ กำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์

        ซึ่งจากเป้าหมายที่กระทรวงฯ ตั้งไว้ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 (เออีดีพี 2015) ที่จะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากขยะชุมชนให้ได้ 500 เมกะวัตต์ นับว่ามีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทยที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะชุมชน ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาขยะชุมชนที่มีการเพิ่มปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

        ซึ่งต่อไปรัฐบาลเองหากต้องการสนับสนุนแนวทางนี้ จะต้องให้ความใส่ใจเพิ่มมากขึ้น โดยสร้างรูปแบบการจัดการขยะอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ด้วยการรณรงค์ให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึก สร้างความตระหนักให้ประชาชนในระดับครัวเรือน และชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดต้นทุนในการคัดแยกขยะ เตรียมการก่อนนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าและความร้อน

        รวมทั้งยังต้องจัดการขยะแบบศูนย์รวมในการร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการใช้เทคโนโลยีการแปรรูปขยะที่เหมาะสม และสอดคล้องกับปริมาณขยะ รวมถึงการวางระเบียบการบริหารจัดการขยะ เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจต่อชุมชน ซึ่งต้องเข้มข้นและจริงจังเป็นอย่างมากในการจะเดินไปข้างหน้า ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดปัญหาเหมือนที่มีอยู่ในบางพื้นที่ขณะนี้

        อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะเราจะไม่ตัดสินว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่อยากจะพูดว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลดปริมาณขยะในประเทศ ในชุมชน หากรัฐบาลยังไม่มีแผนงานที่ดีกว่านี้ โรงไฟฟ้าก็ยังมีเอกชนที่เห็นโอกาสสนใจที่จะทำ เพราะเป็นการหาเงินจากสิ่งที่หลายคนไม่เห็นค่าได้อย่างดี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"