อนิจจา...กฎหมาย ป.ป.ช. 'ลูกทรพี' กรธ.ปะทะศาล รธน.+สนช.


เพิ่มเพื่อน    

คำว่า ลูกฆ่าแม่ ถูกนำมาเปรียบเทียบจากปากของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในระหว่างการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วาระที่ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560

ประเด็นอยู่ตรงที่ สนช.ใส่ข้อความเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาล มาตรา 178 ยกเว้นคุณสมบัติให้กรรมการ ป.ป.ช.ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะอายุครบ 70 ปี แม้ว่าจะเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วและพ้นจากตำแหน่งยังไม่เกิน 10 ปี

      ในขณะที่นายภัทระ คำพิทักษ์ กรธ.รวมถึงนายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษา กรธ.ซึ่งได้เข้าไปเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แสดงความเห็นคัดค้านทั้งใน สนช.และเขียนลงเฟซบุ๊กว่าไปใส่ข้อความที่ขัดกับ รธน.เช่นนั้นมิได้

      อุปมาอุปไมยดังกฎหมายลูกฆ่าแม่ เพราะ รธน.เขียนคุณสมบัติต้องห้ามไว้ชัดเจน รธน.เป็นกฎหมายสูงสุดจะตรา พ.ร.บ.ป.ป.ช.มายกเว้นไม่ได้

      กระนั้น สนช.ก็ยังลงมติให้ความเห็นชอบให้ใส่ข้อความยกเว้นคุณสมบัติ

      กฎหมายลูกฆ่าแม่นี้จะส่งผลให้ ป.ป.ช. 2 คน คนหนึ่งชื่อว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ซึ่งเคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (เลขาฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ซึ่งพ้นตำแหน่งทางการเมืองมาไม่เกิน 10 ปีได้เป็น ป.ป.ช.ต่อไป

      ครั้น สนช. 32 คนเข้าชื่อกันส่งคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 267 วรรคห้า, มาตรา 81, มาตรา 245, มาตรา 263 ว่าร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 185 มีในส่วนที่เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และมาตรา 18 ขัด รธน.มาตรา 178 หรือไม่

      ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ในการประชุมวันที่ 9 มีนาคมว่า ข้อความยกเว้นคุณสมบัติไม่ขัดต่อ รธน.

      ลูกฆ่าแม่กลายเป็น ลูกทรพี ทันทีเมื่อ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ.คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์สื่อทันที

        ผมยืนยันในความเห็นที่เคยได้อภิปรายในที่ประชุม สนช.ว่า เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  พ.ศ.2560 เพราะการเขียนกฎหมายลูกแม้จะเป็นหน้าที่ตรงของ สนช. แต่การเขียนรายละเอียดนั้นต้องไม่มีความใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ฐานะกฎหมายแม่ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นกฎหมายลูกฆ่าแม่ และกลายเป็นกฎหมายลูกทรพีได้

      นายสุพจน์เคยเป็นตุลาการศาล รธน.มาก่อน ยังได้แสดงความผิดหวังต่อ สนช.

        ผมรู้สึกเสียดายความไว้ใจของ กรธ.ที่คาดหวังว่าจะให้ สนช.ช่วยพิจารณาเขียนกฎหมายให้รอบคอบ แต่ยอมรับว่าผมมองโลกสวยเกินไป และไม่คาดคิดว่า สนช.จะเขียนกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม และเมื่อผลสรุปเป็นไปตามคำวินิจฉัย ผมห่วงว่าสังคมไทยและประเทศไทยคงไม่สามารถคาดหวังหรือพึ่งพาองค์กรอิสระหรือองค์กรใดได้อีก

ก่อนหน้านั้น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 5 มกราคม ถึงประธาน สนช. ในหนังสือแจ้งว่า กรธ.ประชุมปรึกษาหารือกันเมื่อวันที่  4 มกราคมแล้วเห็นว่า ผู้แทน กรธ.ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้ชี้แจงแถลงเหตุผลและข้อห่วงกังวลของ กรธ.เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 แห่งร่าง  พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้ชัดเจนแล้วว่า ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รวมทั้งในชั้นการพิจารณาของ สนช.ในวาระที่ 2 และ 3 แต่ สนช. มีมติเสียงข้างมากว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

      พร้อมกับทิ้งท้ายว่า กรธ.ยังคงมีความห่วงกังวลอย่างมากว่าบทบัญญัติดังกล่าวอาจมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

      จากความห่วงกังวลของนายมีชัยก็ดี นายสุพจน์ที่ให้สัมภาษณ์ก็ดี และนายภัทระ นายเจษฎ์ ทั้งอภิปรายในที่ประชุม สนช.และเขียนลงเฟซบุ๊กก็ดี ในฐานะเป็นคนร่าง รธน.ย่อมต้องเข้าใจเจตนารมณ์ รธน.ที่ตัวเองได้เขียนขึ้น กลับมิได้รับการตอบรับจาก สนช.และศาล รธน.

        คำว่าลูกฆ่าแม่ได้ และคำว่ากฎหมายลูกทรพี เป็นปรากฏการณ์ที่ กรธ.ถูกท้าทายอย่างรุนแรงจากเพื่อนร่วมรุ่นในแม่น้ำ คสช.

นั่นเท่ากับว่านับจากนี้ไป การอธิบายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญโดย กรธ.จะมีคนให้ความเชื่อถือสักกี่คน ในเมื่อองค์กรอย่าง สนช.และศาล รธน.ยืนถือดาบอาญาสิทธิ์จังก้าอยู่เบื้องหน้า

      ยิ่ง กรธ.ไม่ได้บันทึกเจตนารมณ์การร่าง รธน.ในแต่ละมาตราและแต่ละบทความ เป็นผู้ให้กำเนิดกฎหมายสูงสุดมิได้มีความหมายเท่ากับฝ่ายออกกฎหมาย (สนช.) และฝ่ายตีความ รธน.(ศาล รธน.)

      อนิจจา...กฎหมายลูกทรพี!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"