อัยการส่งฟ้อง 14กปปส.กบฏ ศาลให้ประกัน


เพิ่มเพื่อน    

    อัยการฟ้อง กปปส.ชุด 2 "พุทธะอิสระ" กับแนวร่วมรวม 14 คน 8 ข้อหา "สุเทพ" ซัดเหวี่ยงแหฟ้องสังคมได้ประโยชน์อะไร ชี้ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลให้ประกันตัวคนละ 6 แสน นัดตรวจหลักฐาน 19 มี.ค. พร้อมคดี 9 แกนนำ 
    ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 14 มีนาคม เวลา 10.00 น. พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 นำอดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และแนวร่วมรวม 14 ราย ส่งฟ้องศาล ประกอบด้วย น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก อายุ 52 ปี อดีตพิธีกรเวทีการชุมนุม กปปส., พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ อายุ 81 ปี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 68 ปี อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ อายุ 46 ปี นักวิชาการนิติศาสตร์, นายถนอม อ่อนเกตุพล อายุ 49 ปี, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปี อดีตแกนนำ พธม., พระพุทธะอิสระ หรือนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ อายุ 58 ปี เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม และอดีตแกนนำ กปปส. เวทีแจ้งวัฒนะ 
    นายสาธิต เซกัลป์ หรือเซกัลป์ นักธุรกิจเชื้อสายไทย-อินเดีย อายุ 72 ปี, น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อายุ 55 ปี อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์, พล.อ.ท.วัชระ ฤธาคนี อายุ 70 ปี อดีตนายทหารนักบินกองทัพอากาศ, พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ อายุ 74 ปี อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และคณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ, นายแก้วสรร อติโพธิ อายุ 66 ปี นักวิชาการอิสระ, นายไพบูลย์ นิติตะวัน อายุ 63 ปี ผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป และนายถวิล เปลี่ยนศรี อายุ 64 ปี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นจำเลยที่ 1-14
    ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, สนับสนุนและร่วมกันสนับสนุนในความผิดกบฏ, ยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน ร่วมกันปิดงานงดจ้าง, กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดฯ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ โดยมีอาวุธ หรือเป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแล้วไม่เลิก, บุกรุก โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือในเวลากลางคืน และร่วมกันกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อไม่ให้ผู้เลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวางไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปฯ และทำให้เสียทรัพย์ รวม 8 ข้อหา 
    โดยท้ายฟ้อง อัยการโจทก์ยังได้ขอให้ศาลมีคำสั่ง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้ง 14 คน มีกำหนด 5 ปีด้วย และให้นับโทษของ น.ส.อัญชะลี จำเลยที่ 1 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำ อ.973/2556 (คดี พธม.บุกสนามบิน ปี 2551) และ อ.275/2556 (คดีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน) ของศาลอาญา รวมทั้งให้นับโทษของสมเกียรติ จำเลยที่ 3 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำ อ.973/2556 ของศาลอาญาด้วย และนับโทษของนายสมศักดิ์ จำเลยที่ 6 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำ อ.4925/2555 (คดีบุกเข้าทำเนียบฯ กดดันรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ปี 2551), อ.4924/2555 (คดีปิดล้อมอาคารรัฐสภา ปี 2551) และ อ.973/2556 ของศาลอาญา กับคดีอาญาหมายเลขดำ อ.1418/2557 ของศาล จ.ชัยภูมิ อีกด้วย
    ทั้งนี้ ศาลได้ประทับรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.832/2561 ซึ่งสอบคำให้การเบื้องต้นแล้วจำเลยให้การปฏิเสธ โดยนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. 
    ต่อมาเวลา 16.00 น.เศษ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 14 คน โดยตีราคาประกันคนละ 600,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ทั้งนี้การกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐาน 14 แกนนำกปปส. ศาลได้กำหนดนัดใหม่เป็นวันที่ 19 มี.ค.นี้ ตรงกับวันที่ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีที่อัยการยื่นฟ้อง นายสุเทพ กับแกนนำ กปปส. รวม 9 คน 
    แหล่งข่าวอัยการกล่าวถึงผู้ต้องหาแนวร่วม กปปส. ที่เหลืออีก 23 รายว่า ทั้งหมดได้ส่งทนายความมาขอเลื่อนการรายงานตัว โดยในส่วนของผู้ต้องหาที่ได้แสดงหลักฐานชัดเจนพอเพียงแล้ว อัยการนัดให้มารายงานตัวอีกครั้ง (ครั้งที่ 3) ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ ส่วนที่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ ซึ่งในกลุ่มนี้มี น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร และนายสุริยะใส กตะศิลา ด้วยนั้น คณะทำงานที่มีนายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ระหว่าง 2 แนวทาง คืออาจจะแจ้งให้ส่งหลักฐานเพิ่มเติม หรืออัยการจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยคาดว่าภายใน 1-2 วันนี้ อัยการจะสรุปแนวทางสั่งกับผู้ต้องหากลุ่มนี้ได้
    สำหรับคดีการชุมนุม กปปส.นั้น ปัจจุบันอัยการได้ยื่นฟ้องแล้วรวม 3 สำนวน 27 รายคือ คดีที่ฟ้อง แนวร่วม กปปส. 14 รายในวันนี้ และคดีหมายเลขดำ อ.1191/2557 ที่อัยการยื่นฟ้องนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อายุ 55 ปี, นายสกลธี ภัททิยกุล อายุ 40 ปี แกนนำ กปปส., นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อายุ 66 ปี อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนายเสรี วงษ์มณฑา อายุ 68 ปี แกนนำ กปปส. ซึ่งอยู่ระหว่างศาลอาญาสืบพยาน โดยทั้งหมดได้ประกับคนละ 600,000 บาท 
    และคดีหมายเลขดำ อ.247/2561 ที่อัยการได้ ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ กปปส. รวม 9 ราย รวม 9 ข้อหา เมื่อ 24 ม.ค.61 ซึ่งรอนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ขณะที่นายสุเทพและแกนนำ รวม 9 คน ได้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคนละ 600,000 บาท 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้า นายสุเทพได้เดินทางมาศาลเพื่อให้กำลังใจผู้ต้องหาแนวร่วม กปปส.ที่ถูกส่งฟ้องในครั้งนี้ ขณะที่มวลชนหลายสิบคนเดินทางมาให้กำลังใจนายสุเทพและแนวร่วม กปปส.ที่บริเวณหน้าศาลอาญาด้วย
    นายสุเทพกล่าวว่า การยื่นฟ้องผู้ต้องหาชุดที่ 2 ไม่ทราบว่าอัยการใช้ดุลพินิจอย่างไร เพราะผู้ต้องหาบางคนอย่างนายแก้วสรร เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย ขึ้นเวทีให้ความรู้ทางวิชาการ ไม่เคยปลุกระดมให้บุกรุกสถานที่ราชการหรือขัดขวางการเลือกตั้ง แต่ต้องถูกลากตัวเข้ามาฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ โดยคดีเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลา 4-5 ปี กว่าจะเสร็จสิ้น เป็นการเสียประโยชน์ แทนที่จะได้ไปสอนนักศึกษา กลับต้องมาขึ้นศาล ซึ่งไม่รู้ว่าอัยการเหวี่ยงแหฟ้องทุกคนหรือไม่ มีคนมาชุมนุมเป็นล้านคนจะฟ้องทั้งล้านคนหรือไม่ หากคนล้านคนมาศาลพร้อมกันไม่ได้ คนพวกนี้ต้องมารายงานตัวที่ศาลทุกวัน ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ จะยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาแยกสำนวนกับคดี 9 แกนนำ
    “ผมขอฝากคำถามไปถึงท่านอัยการสูงสุดและบรรดาอัยการทั้งหลายวันนี้ว่า ท่านเคยใช้สิทธิ์สั่งไม่ฟ้องบุคคลบางกลุ่ม โดยอ้างว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม วันนี้ช่วยตอบผมหน่อยว่าฟ้องอาจารย์แก้วสรร   คุณอัญชะลี ไพรีรัก, คุณรังสิมา รอดรัศมี, หลวงปู่พุทธะอิสระ เป็นประโยชน์อะไรกับสังคม นี่จึงเป็นสาเหตุที่มวลมหาประชาชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศไทย การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นประเด็นที่ประชาชนเรียกร้อง เราเห็นกันแล้วว่าตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นอย่างไร และวันนี้เราเห็นแล้วว่าอัยการเป็นอย่างไร การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยน้ำมือประชาชน มิฉะนั้นไม่มีทางที่จะเห็นประเทศนี้ดีขึ้นได้ ประชาชนต้องรวมพลังกันให้มีการปฏิรูปประเทศ" นายสุเทพระบุ
     สำหรับแนวทางสู้คดีนั้น เราไม่ใช่พวกนอกกฎหมาย ไม่ได้ทำอะไรผิด จะเอาหลักฐานความเป็นจริงไปสู้คดีภายในศาล แต่ที่สำคัญคือกว่าคดีจะสิ้นสุดต้องใช้เวลาหลายปี จะให้ความร่วมมือกับศาลทุกอย่าง ศาลมีคำสั่งอย่างไรจะทำอย่างนั้น
    ด้านพระพุทธะอิสระกล่าวว่า อยากจะขอความกรุณาต่อศาลให้มีการแยกสำนวนกับพฤติการณ์ของจำเลย หากการสืบสวนสอบสวนที่ไม่เกี่ยวกับจำเลยคนใด แล้วจำเลยคนนั้นไม่ต้องมาศาล ซึ่งจะปรึกษาทนายว่าจะยื่นคำร้อง ต้องดูว่าศาลจะเมตตาอย่างไร
     ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีต ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ร่วมเหตุการณ์ชุมนุมฯ ได้เดินทางมาพบอัยการและเดินทางมาศาลด้วย เนื่องจากอัยการสั่งฟ้องในข้อหากระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดที่มิใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ตามมาตรา 215 นั้น ซึ่งอัยการเตรียมแยกฟ้องเป็นอีกสำนวนเพียงคนเดียว จึงนัดให้มาพร้อมฟ้องคดีต่อศาลอาญาอีกครั้งในวันที่ 19 เม.ย.นี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"