ปปช.เสียงแตกเรียก'ป้อม' ชี้ตบแบมผิดจรรยาบรรณ


เพิ่มเพื่อน    

   “บิ๊กกุ้ย” ฟุ้งงาน ป.ป.ช.ราบรื่นแน่หลังศาลรัฐธรรมนูญการันตีนั่งเก้าอี้ต่อได้ไม่ขัด รธน. คณะทำงานเสียงแตก! ปมเชิญ "เสี่ยป้อม" มาชี้แจงนาฬิกา 25 เรือนหรือแจงลายลักษณ์อักษรครั้งที่ 4 สั่งสำนักไต่สวนคุ้ยเส้นทางโกงเงินคนจนโยงบิ๊ก ขรก.หรือไม่ รมช.ศธ.เผยผลสอบอาจารย์ที่ปรึกษา "น้องแบม" ตีไหล่จริง ไม่ใช่หยอกล้อ ชี้ทำผิดจรรยาบรรณ ชงอธิการฯ มมส.ตั้ง กก.สอบต่อ ขณะที่น้องแบมเนื้อหอม หลายหน่วยงานแจกทุนเพียบ ธ.กรุงไทยทาบเป็น จนท.ตรวจสอบภายใน "เพื่อแม้ว" ย้อนถาม 4 ปีไม่มีนักการเมืองทำไมโกงกันหนัก 
    เมื่อวันพุธ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการยกเว้นคุณสมบัติต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช. ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.… ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า แม้จะมีผู้แย้งมติศาลรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะบ้านเมืองใช้กฎหมายเป็นหลัก เมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไรจะต้องเป็นไปตามนั้น เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลแล้วจะทำให้งานของ ป.ป.ช.เดินหน้าไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น จะมีการปรับการทำงาน โดยพยายามแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานาน เพราะใน 1 ปี 3 เดือนมานี้ งานของ ป.ป.ช.ชะลอมานาน เนื่องจากต้องรอกฎหมายฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ในระหว่างนี้ ป.ป.ช.ได้เตรียมทำอนุบัญญัติประมาณ 40 อนุบัญญัติ เพื่อบังคับใช้ในวันที่กฎหมาย ป.ป.ช.มีผลบังคับใช้ พร้อมกับปรับโครงสร้างให้ทันวันที่ 1 ต.ค.61 หลังจากนี้ ป.ป.ช.จะมีระเบียบวิธีไต่สวนใหม่ และกรอบระยะเวลาในการทำงานตามที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้กำหนดไว้ 2 ปี 
     ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎหมายใหม่จะทำให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตดีขึ้นหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า แน่ใจว่าจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะทั้งกรอบระยะเวลาและกระบวนการทำงานจะมีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังได้วางองคาพยพและปรับย้ายคนที่เหมาะสมกับงานไว้รองรับแล้ว การทำงานเราจะใช้ทั้ง ป.ป.ช.จังหวัด ภาค ส่วนกลาง จะปรับภารกิจให้ตรงตามเป้าหมาย และในวันที่ 26 มี.ค. จะเชิญผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดมาชี้แจงผลการปฏิบัติงานในรอบ 6 เดือน พร้อมเสนอและวิเคราะห์ ตนได้บอกกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไปว่าคงต้องเหนื่อยไปอีก 2-3 ปี เพื่อทำให้องค์กรมีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น
    เมื่อถามว่า เตรียมรับมือกับกรณีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.หลายคนลาออกเพราะกดดันที่ต้องทำคดีให้ทันตามกรอบเวลาอย่างไร ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า เป็นธรรมดาที่คนเราอยากสบาย แต่เท่าที่รับฟัง ทุกคนต่างมีความมุ่งมั่น แต่วันนี้การทำงานของ ป.ป.ช.มีความเปลี่ยนแปลงจากที่ผ่านมา กรรมการ ป.ป.ช.ทำงานหนักมาก เชื่อว่าเจ้าหน้าที่อยากเห็นองค์กรมีความกระฉับกระเฉง เป็นที่ยอมรับของประชาชน ดังนั้น จึงถึงเวลาที่เราจะต้องทุ่มเททำงานด้วยความผิดชอบ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อมีอำนาจบารมี
    ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบการถือครองนาฬิกาหรู 25 เรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมนั้น พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ต้องถามเลขาธิการ ป.ป.ช. ทราบว่าล่าสุดได้ส่งหนังสือให้ พล.อ.ประวิตรได้ชี้แจงเพิ่มเติม คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้คงจะครบถ้วน แต่ส่วนตัวบอกแล้วว่าจะไม่เข้าพิจารณาในเรื่องนี้ เมื่อมีการเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตนจะออกจากห้องประชุม 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า มีประเด็นอื่นอีกหรือไม่ที่จะต้องพิจารณา เพราะดูเหมือน ป.ป.ช.พิจารณาตามที่สื่อออนไลน์ได้นำเสนอว่ามีนาฬิกา 25 เรือน พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เท่าที่ทราบได้มีการดำเนินการตรวจสอบ เพราะไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องที่มีคนแจ้งเข้ามา กระบวนการตรวจสอบนั้นมีขั้นตอนและแนวทางการปฏิบัติของสำนักตรวจสอบทรัพย์สินอยู่แล้ว มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. กำกับดูแลเรื่องนี้อยู่ ซึ่งเป็นคนละเอียดอยู่แล้ว        
    ด้านนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ขณะนี้ พล.อ.ประวิตรยังไม่ได้มีคำชี้แจงใดๆ ส่งมาที่ ป.ป.ช.ทั้งที่จะครบกำหนดในวันที่ 15 มี.ค.นี้  
เสียแตกเชิญ "ป้อม" มาแจง
    เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตรมีสิทธิขอขยายเวลาในการชี้แจงได้อีกหรือไม่ นายวรวิทย์กล่าวว่า อย่าเพิ่งพูดถึงขั้นตอนดังกล่าว รอให้ พล.อ.ประวิตรชี้แจงมาเสียก่อน ขั้นตอนขณะนี้อยู่ในชั้นการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อเท็จจริง เมื่อเสร็จจากขั้นตอนของสำนักงานแล้วจึงสรุปเรื่องส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. 
    รายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.แจ้งว่า ขณะนี้ภายในคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีถือครองนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร มีข้อถกเถียงกันว่าจะเชิญ พล.อ.ประวิตรมาให้ถ้อยคำด้วยตัวเองหรือไม่ โดยฝ่ายที่อยากให้เชิญมาให้ถ้อยคำเห็นว่าจะได้มีการสอบถามรายละเอียดได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาในการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรกันไปมา แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเห็นว่ายังไม่จำเป็นถึงขั้นที่จะต้องให้มาชี้แจงด้วยตัวเอง โดยตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป และขอให้รอการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งที่ 4 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 15 มี.ค.นี้ก่อน 
    สำหรับการตรวจสอบการทุจริตเงินศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นั้น พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้สำนักไต่สวนภาครัฐ 3 ที่รับผิดชอบกระทรวง พม. ไปแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่ามีกระบวนการที่มาของงบประมาณอย่างไร กระบวนการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงไปสู่กรม และกรมลงไปสู่พื้นที่นั้นเป็นอย่างไร เพราะการกล่าวหาข้าราชการระดับสูงจะเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ และคิดว่าถึงอย่างไรเรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะต้องตรวจสอบอยู่ดี จึงให้ไปแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้น แต่จะไม่เข้าไปก้าวก่ายกระทบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนเกิดความซ้ำซ้อนกัน เพียงแต่จะขอข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา 
    “คล้ายๆ กับเรื่องของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ที่ต้องเริ่มตั้งแต่การรับงบประมาณมา ผ่านกรรมการกลั่นกรองจัดสรรเงินลงไปสู่กรม และลงไปสู่พื้นที่ ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งต้องดูทุกขั้นตอนว่าทำตามกฎระเบียบหรือไม่ หากไม่ได้ทำตามกฎหมายจะต้องรับผิดชอบกันไป” พล.ต.อ.วัชรพลกล่าว
    ด้าน นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวถึงผลสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา หรือ "น้องแบม"  นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส.) โดนอาจารย์ที่ปรึกษาตีไหล่ และให้กราบขอโทษผู้กระทำผิดว่า ตนได้รับรายงานอย่างไม่เป็นทางการจากนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) ว่า ผลการสอบสวนเบื้องต้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ได้สรุปว่า ประเด็นที่อาจารย์กระทำการตีไหล่เด็กนั้น มีการทำจริง และไม่ใช่การกระทำในลักษณะที่หยอกล้อ หรือให้กำลังใจ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ จึงประมวลว่าเป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณ พร้อมเสนอให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสาร (มมส.) ตั้งคณะกรรมการสอบจรรยาบรรณของอาจารย์คนดังกล่าว 
ธ.กรุงไทยทาบ"น้องแบม"
    รมช.ศึกษาธิการกล่าวว่า ส่วนในประเด็นอื่นๆ มีบางเรื่องที่บอกว่าไม่มีความผิด ซึ่งตนมองว่ายังไม่มีความชัดเจน เช่น เรื่องการคุ้มครองสิทธิของนักศึกษามมส.ได้ดำเนินการหรือไม่ เรื่องการสั่งให้กราบขอโทษผู้กระทำผิด เป็นต้น จึงได้สั่งการให้เลขาฯ กกอ.ไปสอบถามในรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมของประเด็นเหล่านี้ ที่ยังไม่มีความชัดเจน ให้ มมส.ได้ชี้แจงว่าดำเนินการในเรื่องเหล่านี้อย่างไร และคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ส่วนกลางสามารถสั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงใหม่ได้ หรือส่วนกลางสามารถตั้งคณะกรรมการเข้าไปสอบเองได้ ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าเราจะไม่ให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย อีกทั้งเรื่องนี้เป็นที่ผู้บริหารของ ศธ. ให้ความใส่ใจ เพราะเป็นเรื่องที่เราและสังคมเห็นตรงกันว่าเด็กทำสิ่งที่ดีและถูกต้อง เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง
     ขณะที่ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา ให้สัมภาษณ์ที่ จ.ขอนแก่น ว่าตอนนี้ตนขอเดินหน้าเรื่องเรียนเป็นหลัก และเตรียมที่จะให้การกับทาง ป.ป.ท. รวมทั้งคณะกรรมการสอบสวนของ คสช.ที่แต่งตั้งขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวครอบครัวและทุกคนมีกำลังใจที่จะเดินหน้าต่อไป เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้ยากไร้ ขณะเดียวกันยังคงได้รับการติดต่อจากมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ มมส., มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, มหาวิทยาลัยรังสิต ในการที่จะมอบทุนการศึกษาให้ศึกษาต่อในระดับชั้นปริญญาโท บางมหาวิทยาลัย ยังคงเสนอให้เป็นบุคลากรสายสนับสนุนในช่วงระหว่างการเรียนปริญญาโท อีกทั้งยังคงมีทุนจาก รพ.ราชพฤกษ์, ทุนการศึกษาจากสถาบันปัญญาภิวัฒน์ ที่จะสนับสนุนในเรื่องของการทำงาน การเรียนต่อ และการประกอบอาชีพตามความถนัดและที่สำคัญคือ ธนาคารกรุงไทย ได้ประสานขอรับเข้าทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน ที่ธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ หลังสำเร็จการศึกษาอีกด้วย 
    "ครอบครัวขอขอบพระคุณทุกกำลังใจที่มอบให้ แต่ในระยะนี้ขอมุ่งไปที่เรื่องการเรียนให้สำเร็จการศึกษาให้ทันเพื่อนและพร้อมกับเพื่อนตามระเบียบ  มมส.กำหนด การมอบกำลังใจให้กับหนูและครอบครัว แสดงให้เห็นถึงผู้ใหญ่ที่ไม่ทอดทิ้งคนที่ทำดีและทำจริง จึงอยากให้นักศึกษารุ่นร้องหรือผู้ที่พบการกระทำความผิดในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันนั้นกล้าที่จะแสดงออก เพราะรัฐบาลและหลายหน่วยงานมีนโยบายที่เด่นชัดในการปราบโกงทั้งภายในหน่วยงานของตนเองและการดำเนินงานตามโครงการต่างๆ" น.ส.ปณิดากล่าว
    นายธนะรัชต์ โฉมมงคล ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงแนวทางการชี้แจงข้อมูลต่อ ป.ป.ท.ว่า ที่ผ่านมาทางศูนย์ฯ ได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณของปี 2560 ที่มีทั้งรายชื่อผู้รับเงิน บัญชีการเงิน หลักฐานต่างๆ ตามที่ ป.ป.ท.ได้ขอข้อมูลมา แต่การที่ ป.ป.ท.ไปตรวจสอบพบความผิดปกตินั้น เราก็ยังเกิดข้อสงสัยว่าพบความผิดปกติในเรื่องใด ซึ่งยังไม่มีการชี้แจงรายละเอียดที่ชัดเจนจาก ป.ป.ท. แต่ทางศูนย์ฯ ก็ไม่ได้มีความกังวลในเรื่องการตรวจสอบใดๆ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่มีสิ่งที่เกิดความกังวลในด้านการทำงาน เนื่องจากศูนย์ฯ ต้องทำงานร่วมเครือข่ายในหลายส่วน 
ไร้นักการเมืองทำไมโกงหนัก
    "หลังจากที่ ป.ป.ท.แถลงว่าศูนย์ฯ จ.อุบลราชธานี ส่อทุจริตในโครงการนั้น ทำให้มีเครือข่ายหลายส่วนไม่มั่นใจที่จะช่วยเหลือหรือทำงานร่วมกับเรา โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยากจะร่วมทำบุญและช่วยเหลือประชาชนที่ยากไร้ ไร้ที่พึ่ง ทั้งการบริจาคอาหาร และอื่นๆ แต่เราก็ได้ให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ทุกคนว่า เรารู้อยู่แก่ใจ ว่าเราทำงานหนักทุกวันเพื่ออะไร และขอให้อย่าท้อ อย่าเสียใจกับข่าวที่เกิดขึ้น จงมุ่งมั่นทำงานเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่ต้องเร่ร่อน ออกมาขอทาน และคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยต่อไป" นายธนะรัชต์กล่าว
      นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระบุการพบทุจริตในหลายโครงการของรัฐเป็นสิ่งสะท้อนรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ปล่อยปละละเลย เพราะหลายโครงการมีการทุจริตมานานว่า เกือบ 4 ปีที่ไม่มีนักการเมือง แต่การทุจริตก็สามารถเกิดได้ และพบในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ บางคดีเกี่ยวเนื่องกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ระดับปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง ซึ่งก็เป็นข้าราชการที่ถือว่าใกล้ชิดกับรัฐบาลและเป็นคนที่รัฐบาลเลือกมาเองกับมือใช่หรือไม่ 
    "การทุจริตในระบบราชการ ทั้งเงินทอนวัด เงินโรงเรียน เงินคนจน คนยากไร้ ผู้ป่วยเอดส์ เบียดบังกันมาแบบไม่เกรงกลัวบาปกรรม บางกรณีทอนกันสูงถึง 80% การปราบโกงต้องแก้ใหม่ตั้งแต่เชิงโครงสร้าง เชิงระบบ ไปจนถึงระบบปฏิบัติการ ลำพังการโบ้ยรัฐบาลก่อนหน้าอาจฟังไม่ขึ้นหรือไม่ เพราะท่านอยู่มาเกือบ 4 ปี ท่านต้องสังเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดการทุจริตจึงเกิดขึ้นในวงกว้าง ท่านเอาจริงเอาจังแค่ไหน เป็นไปได้หรือไม่ว่าข้าราชการเกียร์ว่าง หรือล็อกเกียร์ ในเรื่องการต่อต้านและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน เพราะคิดว่าเป็นช่วงเวลาท้ายๆ ของรัฐบาลแล้ว และไม่คิดว่ารัฐบาลของท่านจะมีโอกาสกลับมาบริหารประเทศได้อีก" นายอนุสรณ์กล่าว
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตรวจสอบการทุจริตในหลายๆ โครงการขณะนี้  รัฐบาลจะต้องส่งคนลงไปร่วมตรวจสอบด้วยหรือไม่ ว่า คงไม่ต้อง เพราะมี ป.ป.ท.ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบ มีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ และ ป.ป.ท.ก็มีสิทธิ์ที่จะระดมหรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ ได้ด้วย อีกทั้งการตรวจสอบไม่ได้ลงไปลักษณะของการตรวจสอบทุจริต แต่เป็นการสุ่มลงไปตามที่มีข้อสงสัย ซึ่งหากพบว่ามีการทุจริต ก็จะมีกระบวนการอื่นตามลงไปอีกที 
    เมื่อถามว่า ขณะนี้พบแล้ว 3 โครงการ หากมีการสุ่มตรวจลงไปอีก จะพบอีกหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ในความเป็นจริงข่าวไม่มี แต่เขาก็ลงไปสุ่มตรวจอยู่หลายโครงการมาก่อนหน้านี้แล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"