"ออเจ้า"เป็นคำชนชั้นสูงใช้กัน  เกร็ดจากเสวนา  "ย้อนรอย ต่อยอด บุพเพสันนิวาส"


เพิ่มเพื่อน    


 
    กระแสของละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ยังคงแรงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะการนิยมแต่งชุดไทย การท่องเที่ยวตามรอยละคร ทั้งในโลกโซเชียลยังได้มีการหยิบยกเรื่องราวของละครมาพูดถึงในหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องราวของประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ที่มาของตัวละคร รวมถึงการศึกษาภาษาที่ใช้ในละคร และที่มากกว่านั้นก็คือ ละครทำให้เกิดกระแสของการค้าขายสินค้า และอาหาร ที่ปรากฎในเนื้อหาละครทั้งมะม่วงน้ำปลาหวาน กุ้งเผา เครื่องกรองน้ำ เป็นต้น 

เวทืเสวนาย้อนรอย บุพเพสันนิวาส


     จากความแรงของกระแสละคร ซึ่งเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด กระทรวงวัฒนธรรม ได้ต่อยอดโดยการจัดเสวนา “ย้อนรอย ต่อยอด บุพเพสันนิวาส” ขึ้นเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้สนใจประวัติศาสตร์ วิถีวัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญาไทย ผ่านข้อมูลและแนวคิดของนักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน รวมไปถึงผู้แต่งนวนิยาย และผู้สร้างละคร

        โดยรอมแพง หรือนางสาวจันทร์ยวีร์ สมปรีดา ผู้แต่งนวนิยายบุพเพสันนิวาส ได้เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการแต่งในงานเสวนาว่า จากการที่จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ และโบราณคดี ได้ผันตนเองมาเป็นนักเขียนโดยเริ่มเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งมีความคิดว่าอยากจะเขียนให้คนทุกวัยให้อ่านแล้วรู้สึกสนุก เพราะมีความรู้สึกว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เคร่งเครียดและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก และยากต่อการย่อยสำหรับเด็ก  ก็เลยกลายมาเป็นพล็อตของบุพเพสันนิวาสแนวโรแมนติกคอมเมดี้เ เรื่องนี้  ที่ให้ตัวละครในยุคปัจจุบันย้อนไปในอดีต   ซึ่งเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่เข้าไปศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในสมัยอยุธยา การเขียนนวนิยายเล่มนี้ใช้เวลา 3 ปี สำหรับหาข้อมูล แล้วเขียนเรื่องขึ้นนำมาคัดแยกเป็นกองๆ หาประวัติศาสตร์เข้าไปแทรกอย่างสร้างสรรค์  ไม่พยายามยัดเยียดจนเกินไป สมัยเรียนอาจารย์ผู้สอนจะเน้นย้ำว่าเรื่องหลักฐานคือสิ่งสำคัญที่เป็นตัวบ่งบอกความต่อเนื่องของยุคสมัย เลยนำสิ่งที่อาจารย์บอกมาใส่ในนวนิยายเข้าไปด้วย


    "จุดเด่นในนวนิยายจะให้ผู้อ่านตีความเนื้อเรื่อง แต่ในละครมีการใช้ตัวละครเป็นคนฉุกคิด เช่นทำไม ตัวละครชื่อหมื่นเรือง ถึงหน้าตาคล้ายกับ เรืองฤทธิ์เพื่อนสนิทของเขา เป็นต้นตระกูล หรือว่ากลับชาติมาเกิด แบบนี้เป็นต้น"รอมแพงกล่าว

ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมไทยที่เกิดขึ้นสมัยอยุธยา

 

    ขณะที่ผู้จัดละครนางสาวอรุโณชา ภาณุพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ได้เปิดเผยถึงการสร้างสรรค์ละครว่า บุพเพสันนิวาสน่าจะเป็นครั้งแรกที่เป็นละครย้อนยุคไปสู่สมัยอยุธยาในช่วงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีอาจารย์แดง ศัลยา สุขะนิวัตติ์ เป็นผู้เขียนบทละครโทรทัศน์เรื่องนี้ท่านอาจารย์บอกว่า เมื่อได้นำนวนิยายมาแปลงเป็นบทละคร เป็นเรื่องยากมาก ผู้เขียนเรียนจบด้านประวัติศาสตร์มา เนื้อหาในนั้นมีการเล่าทั้งประวัติศาสตร์ อาหาร การค้า ในสมัยนั้น สิ่งที่ยากคือการเขียนข้อมูล จะทำอย่างไรให้เขียนแล้วตรงยุคตรงสมัยแล้วก็ไม่ผิด  ซึ่งต้องทำการศึกษาประวัติศาสตร์เหล่านี้ให้ถี่ถ้วน โดยอาจารย์ได้ไป อ่านหนังสือพงศาวดาร อ่านจดหมายเหตุลาลูแบร์ ประวัติการค้าในสมัยอยุธยา  แล้วก็มีเรื่องราวอื่นๆเพื่อให้รู้วิถีชีวิตของคนยุคนั้นเป็นอย่างไร   รวมถึงเรื่องของตัวละครยากๆ  อย่างคอนสแตนติน ฟอลคอนพ่อค้าชาวกรีกที่ได้เป็นขุนนางต่างชาติในสมัยพระนารายณ์   


    "การที่แตกรายละเอียดออกมาเป็นละครโทรทัศน์ อาจารย์ศัลยาใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลนานมากถึง 2 ปี กว่าจะเขียนได้ต้องมีคำพูดภาษาที่ใช้ให้ตรงกับยุคนั้น  แล้วก็นำเสนอตัวละครให้พูดภาษาสมัยปัจจุบันให้เข้าใจง่ายต่อคนรุ่นใหม่ และความยากอีกอย่างของละครคือการสร้างฉากแต่ละฉาก เช่น ฉากตลาดที่ต้องมีการเซ็ตทั้งวัน แต่ออกฉายแค่สองนาที ก็ถือเป็นความยากและท้าทายของทุกคนแต่ก็เพื่อฉายบรรยากาศสมัยนั้นให้สวยงามจึงตั้งใจทำออกมาให้ดีที่สุด"ผู้จัดละครฯกล่าว

มะม่วงน้ำปลาหวาน เมนูในละครที่คนดูเห็นแล้วอยากกิน


    อย่างไรก็ตาม กระแสบุพเพสันนิวาสฟีเวอร์ ได้ทำให้นักท่องเที่ยวออกเดินทางตามรอยละครเป็นจำนวนมาก ด้านนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวในงานเสวนาว่า ตอนนี้การท่องเที่ยวเมืองอยุธยากำลังคึกคัก เพราะกระแสละครแรงขึ้นทุกสัปดาห์ ทางกรมศิลป์ฯ ผู้มีหน้าที่ดูแลเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณสถาน นอกจากเตรียมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่ต้องทำมากขึ้นในโอกาสครั้งนี้คือการป้อนข้อมูลประวัติศาสตร์เชิงลึกให้คนเข้าใจมากขึ้น เช่น วัดไชยวัฒนารามที่มีผู้คนเข้ามาอย่างคับคั่ง  ผู้ชมควรจะรู้ว่าใครเป็นผู้สร้าง สร้างขึ้นเพื่ออะไร และมีความสำคัญอย่างไร หรืออยุธยาเมืองเก่า เคยมีประวัติอะไรบ้าง นอกจากหลักฐานทางโบราณสถาน ก็เคยเป็นเมืองแห่งการค้าขาย กับชาวต่างชาติ ชาวฮอลันดา ฝรั่งเศส หรือแม้แต่เรื่องราวของท้าวทองกีบม้า ตัวละครในเรื่อง ผู้คิดค้นขนมหวานมีได้อย่างไร   ในละครบุพเพสันนิวาสตอนต่อไปจะมีการพูดถึงการถวายสาส์น  ที่พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท คนรู้จักพระที่นั่งนี้หรือไม่ แล้วฉากการถวายมีเดอโชมองต์ คณะทูตฝรั่งเศสเข้าถวายพระราชสาส์น เป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์สำคัญ ที่เกี่ยวข้องทางการทูตระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งอยากให้ศึกษาลงลึกในเรื่องของบ้านเมืองอย่าให้เป็นแค่กระแสชั่วคราว

นักแสดงสองบ่าวในละคร


      ขณะที่นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กล่าวว่า การนำเรื่องราวในอดีตมาฉายไม่ใช่เรื่องง่าย ละครเรื่องนี้หากพูดถึงฉากของบ้านเมืองสมัยนั้น ในตำราได้บอกไว้ว่า เขตพระนครศรีอยุธยามีเรือนแพ 20,000 ปลายๆ ซึ่งแปลว่ามีเกือบ 30,000 เรือน ในกำแพงเมืองมีตลาด 61 แห่ง ภายนอกกำแพงเมืองมีตลาด 31 แห่ง ข้างในพระนครมีสะพาน 30 แห่ง เป็นสะพานอิฐ 15 แห่ง และเป็นสะพานไม้ 15 แห่ง ในละครได้สอดแทรกประวัติเหล่านี้เอาไว้ ซึ่งต้องขอชื่นชมว่าผู้แต่งได้มีการศึกษามาอย่างดีถึงนำเสนอได้  แล้วในละครยังได้นำเสนอภูมิสถานของกรุงศรีอยุธยา เช่นท่าเรืออยู่แห่งไหน ตลาดผ้าเหลืองคืออะไร ก็ฉายให้เห็นว่าเป็นตรอกที่ขายแต่ผ้าเหลือง ฉากล่าสุดที่เพิ่งนำเสนอไปที่ตัวละครแม่หญิงการะเกดซุกซน  ไปเที่ยวสำนักหญิงละครโสเภณีในนั้นมีโรงรับจ้างทำชำเรา ซึ่งในตำราโรงรับจ้างทำชำเราในอยุธยามี 4 จุด ก็ปรากฎในละคร

ชุดรับแขกโบราณคนไทยสมัยก่อน


     นายบุญเตือน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในบทสนทนาของละครยังเป็นที่สนใจมาก บทสนทนาทั้งหมดนั้นไม่ใช่ยุคของเราข้อมูลภาษาที่ปรากฎมีหลายคำที่ไม่รู้เรื่อง    สำเนียงภาษาคนสมัยนั้นไม่น่าจะเหมือนกับสำเนียงกรุงเทพฯ มีผู้กล่าวว่าน่าจะเหมือนสำเนียงของคนสุพรรณบุรี บางท่านบอกน่าจะเป็นสำเนียงคนนครศรีธรรมราช ส่วนคำสุดฮิตอย่าง “ออเจ้า” คำนี้ปรากฎในจดหมายเหตุลาลูแบร์ และปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 4 ในอักขราพิธานศัพท์ของหมอบรัดเลย์ ทั้งยัง ปรากฎในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนในต้นรัตนโกสินทร์ มีการใช้คำว่าออเจ้ากับคนในระดับเดียวกัน และระดับต่ำกว่า จากการวิเคราะห์หลักฐานที่ปรากฏคำว่า ออเจ้า เรียกได้ทั้งชายและหญิง แต่ต้องเรียกผู้ที่อ่อนกว่า และยังมีคำว่า “ออ” ใช้เรียกผู้อื่นที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้า ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ในคนชั้นสูง ส่วนคนที่มียศศักดิ์ จะเรียกว่า “หม่อม”

      “ผมเป็นห่วงอยู่เรื่องหนึ่ง คืออยากให้คนไทยดูละครอย่างสร้างสรรค์ บางคนเข้าใจว่าสิ่งที่คุณรอมแพงเขียนนั้นคือเรื่องจริง ซึ่งความจริงเป็นเรื่องแต่งที่อิงประวัติศาสตร์ อิงกับความเป็นจริงในสมัยอยุธยา ตัวละครบางตัวไม่ได้ปรากฏในหลักฐานใดเลยก็เพราะเขาสร้างขึ้น คุณรอมแพเป็นนักสร้างสรรค์วรรณคดีอีกรุ่นหนึ่ง นักสร้างสรรค์ในที่นี้  เขามีสองส่วนคือส่วนของข้อเท็จจริง และส่วนที่สร้างขึ้นเช่นอารมณ์ ความรู้สึก แต่แกนหลักของการสร้างสรรค์รรณคดีคือเรื่องราวบริบทสังคมบางอย่างไม่สามารถเอาตามเป็นจริงได้ทั้งหมด” กล่าว

การแสดงเห่เรือ ที่มีการกล่าวถึงในละคร


      ด้านนายคเณษ นพณัฐเมทินี ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและอาหารไทย ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ที่เป็นกระแสในละครอีกหนึ่งเรื่องคืออาหารการกิน ในสมัยอยุธยาไม่ผิดแปลกไปมากดังที่กล่าวกันว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว”  ชาวอยุธยากินปลา กินผักที่หาได้ตามรั้วบ้าน อาหารส่วนใหญ่ใช้กระทิเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารไทย อาหารที่เป็นต้นตำรับอยุธยาจริง ในลาลูแบร์  เขียนไว้ว่าปลาต้ม ปลาเค็ม ผัก น้ำพริก เป็นอาหารแรกเริ่มสมัยนั้น อาหารอื่นๆ ใช้กระทิเป็นส่วนผสมหลัก แล้วมีการนำเข้าน้ำตาลทรายในยุคการค้ากับต่างชาติ  เลยทำให้ก่อเกิดขนมทองหยิบ ฝอยทองที่ท้าวทองกีบม้าประดิษฐ์ ตอนนี้อยากให้มีการต่อยอดทำร้านอาหารสำรับอยุธยาขึ้น และมีบริการเช่าชุดไทยสำหรับแต่งไปเที่ยวเมืองเก่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"