ชี้เดดล็อกการเมือง ‘มีชัย’จี้ส่งศาล2กม.ลูกก่อนหายนะ/‘พรเพชร’ยันยันแค่ส.ว.


เพิ่มเพื่อน    

  ประธาน สนช.ยันยื่นศาล รธน.ตีความ พรป.ส.ว.ฉบับเดียว ส่วน พรป.ส.ส.ไม่ขัด รธน. แต่ขัดเจตนาผู้ร่าง หากยื่นจะกระทบโรดแมปเลือกตั้งแน่นอน   ขณะที่ "มีชัย" จี้ยื่นทั้ง 2 ฉบับ "สมชัย" ท้า สนช.ออกมาประกาศไม่รับเงินเดือนหากเลื่อนเลือกตั้ง ด้าน ปชป.จัดหนักซัด สนช.ถ่มน้ำลายรดฟ้า เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า สร้างอภินิหารทางกฎหมายลากยาวเลือกตั้ง ย้อนถามใครรับผิดชอบ "เพื่อแม้ว" หนุนอนาคตใหม่สู้เผด็จการ  "ปิยบุตร" นิยามการเมืองคือการสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ให้เป็นไปได้

    ที่รัฐสภา วันที่ 16 มีนาคม นายพรเพชร วิชิตชลชัย  ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า เมื่อสนช.ได้พิจารณาต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น สนช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าเป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่บางครั้งก็หาทางออกได้ เพราะ สนช.ได้แก้ไขการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไป 90 วัน นอกจากให้พรรคการเมืองได้มีเวลาเตรียมตัวตามสำหรับการเลือกตั้ง ยังใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เพราะเมื่อถูกกระแสกดดันให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็จะอาศัยเวลาดังกล่าวเพื่อให้ศาลมีคำวินิจฉัย โดยเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งยังอยู่ในช่วงเวลา 90 วัน 
    "เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ทักท้วง และเพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ หากมีใครไปยื่นให้ศาลตีความหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้จะทำให้กฎหมายล้มทั้งยืนได้ เนื่องจากเกี่ยวพันกับกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.ชุดใหม่ สนช.จึงจำเป็นต้องดำเนินการ โดยมี สนช.เข้าชื่อมายังผมแล้ว นำโดยนายกิตติ วะสีนนท์ เป็นผู้รวบรวม สนช.ได้ 30 รายชื่อ ซึ่งได้รับเรื่องแล้ว คาดว่าจะยื่นต่อศาลได้ภายในวันที่ 19 มี.ค.นี้"
    ประธาน สนช.กล่าวว่า ขณะที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น สนช.ทั้งหมดยืนยันว่า 2 ประเด็นที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้งกรณีตัดสิทธิเป็นข้าราชการการเมืองหากไม่ไปเลือกตั้ง กับให้มีผู้ช่วยเหลือผู้พิการในขณะเข้าคูหาเลือกตั้งนั้น ไม่มีเนื้อหาส่วนใดที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่อาจต่อเจตนารมณ์ของ กรธ. โดยยืนยันว่าหากยื่นให้ศาลจะกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้งแน่นอน เพราะไม่มีเวลา 90 วันมารองรับเหมือนร่าง พ.ร.ป.ส.ว. และแทนที่ร่าง พ.ร.ป.ส.ส.จะถึงมือนายกรัฐมนตรีตามกระบวนการ แต่ต้องดีเลย์ เพราะต้องยื่นศาล และรอจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา 
    นอกจากนั้นประเด็นที่ กรธ.แย้งมานั้นก็เป็นประเด็นเฉพาะกลุ่ม ไม่มีผลทำให้กฎหมายต้องตกไปทั้งฉบับ และหากเห็นว่ากระทบสิทธิบุคคลนั้น ก็สามารถไปยื่นได้หลังจากกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยเฉพาะ กกต.บางคนที่อยากให้ สนช.ยื่นให้ศาลวินิจฉัยในตอนนี้ เพราะกลัวว่าประเด็นเรื่องคนพิการจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะนั้น ก็สามารถยื่นได้ทันทีหลังกฎหมายประกาศใช้ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และจะไม่ทบต่อกระบวนการการเลือกตั้ง เพราะยังอยู่ในช่วง 90 วันก่อนนับหนึ่ง 150 วัน กระบวนการเลือกตั้ง
     เมื่อถามว่า หากมีมือดีไปร้อง พ.ร.ป.ส.ส.ต่อศาลหลังจากกระบวนการการเลือกตั้ง 150 วันเริ่มไปแล้วนายพรเพชรกล่าวว่า ก็จะแสดงให้เห็นถึงเจตนาของเขา เพราะหากสงสัยทำไมไม่ยื่นก่อนการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าร่าง พ.ร.ป.ส.ส. สนช.จะไม่ยื่นตีความ ดังนั้นจะส่งร่างไปให้นายกฯ อย่างช้าภายในวันที่ 19 มี.ค.    
    ด้านนายสมชาย แสวงการ เลขานุการกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ส.ว.ว่า อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช. คาดว่าวันที่ 16 มี.ค.จะได้รายชื่อครบ 25 คน จากนั้นจะยกร่างคำร้องในประเด็นที่สงสัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ น่าจะยื่นในสัปดาห์หน้า เชื่อว่าศาลคงใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือนในการวินิจฉัย  ส่วนที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ห่วงว่าหากศาลระบุว่าประเด็นที่ส่งให้ตีความขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะทำให้กฎหมายตกทั้งฉบับ ต้องไปยกร่างใหม่ ยืนยันว่าประเด็นในบทเฉพาะกาลไม่ใช่สาระสำคัญ ไม่ได้อยู่ในบทหลักของร่างกฎหมาย หากศาลเห็นว่าประเด็นใดขัดรัฐธรรมนูญก็แก้ไขเฉพาะประเด็นนั้นๆ ไม่มีผลให้กฎหมายตกทั้งฉบับ ขอให้นายสมชัยไปอ่านกฎหมายใหม่ จะไปจินตนาการมากไม่ได้
     “ส่วนร่าง พ.ร.ป.ส.ส.ที่ไม่ได้ยื่นให้ศาลตีความนั้น ได้บอกกับ สนช.ไปว่า หากใครจะยื่นให้ตีความ ก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะจะทำให้มีผลกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง พูดเช่นนี้ไม่ได้ขู่ แต่จะมีผลกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้งแน่นอน เพราะต้องเสียเวลาให้ศาลวินิจฉัยไม่เกิน 3 เดือน ก่อนที่นายกฯ จะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทำให้โรดแมปเลื่อนออกไป ในอนาคต หลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วมีผู้ไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คงไม่เกิดปัญหาอะไรมากมาย หากศาลเห็นว่าประเด็นใดขัดรัฐธรรมนูญก็จะตกไปเฉพาะประเด็นนั้นๆ" นายสมชายกล่าว
      นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า สนช.จะยื่นให้ศาลวินิจฉัยร่างกฎหมายลูกเพียงฉบับเดียว คือร่าง พ.ร.ป.ส.ว.เท่านั้น เพราะซาวเสียง สนช.แล้วไม่มีใครจะยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.ส.ส.ประเด็นที่ กรธ.ยังสงสัยเรื่องการตัดสิทธิข้าราชการการเมือง หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และการให้คนพิการ ผู้สูงอายุ มีผู้ช่วยเข้าไปกาบัตรลงคะแนนในคูหาเลือกตั้งได้นั้น ไม่ถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ กระทบสิทธิคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไม่ใช่ประเด็นกระทบสิทธิคนส่วนใหญ่ของประเทศ ส่วนประเด็นที่ สนช.แก้ไขให้ตัดสิทธิการเป็นข้าราชการการเมือง หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุอันควร เพราะเห็นว่าข้าราชการการเมืองควรเป็นแบบอย่างที่ดีในมาตรฐานเดียวกับ ส.ส.และ ส.ว. หากนอนหลับทับสิทธิ์ก็ไม่สมควรมารับใช้ประชาชน การยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.ส.ว.นั้น ไม่ใช่แท็กติกยื้อเวลาเลือกตั้งแน่นอน โรดแมปเลือกตั้งยังเป็นเดือน ก.พ.2562 
"มีชัย"จี้ตีความ2ฉบับ
      มีรายงานว่า กรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เสนอแนะให้สมาชิก สนช.เข้าชื่อ 1 ใน 10 เพื่อยื่นเรื่องต่อประธาน สนช. เพื่อส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 14  มี.ค. นายมีชัย ได้ทำหนังสือแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ถึงนายพรเพชร เนื้อหาส่วนสำคัญระบุว่า ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กรธ.ปรึกษาหารือกันแล้ว มีความห่วงกังวลอย่างมาก ในส่วนที่เกี่ยวกับ 1.วิธีการสมัคร ที่แบ่งออกเป็นสองวิธีคือ การสมัครด้วยตนเองกับการสมัครด้วยการแนะนำจากองค์กร 2.การเลือกในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ โดยให้ผู้สมัครแต่ละวิธีแยกกันเลือกเป็นบัญชีสองประเภท เนื้อหาดังกล่าวทำให้ผลการเลือก ไม่ใช่การเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครทั้งหมด เพราะเป็นการแบ่งโควตาระหว่างผู้สมัครอิสระกับองค์กรแนะนำ ซึ่งการให้องค์กรเป็นผู้กลั่นกรองก่อนนั้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือกสมัครได้อย่างเสรีทุกกลุ่ม ไม่ตรงตามเจตนารมณ์มาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งให้ผู้สมัครเลือกกันอย่างเท่าเทียม ภายใต้กฎเดียวกัน และไม่ได้มุ่งหมายให้แยกประเภท 
    กรธ.เห็นว่า ปัญหาไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมีความสำคัญ หากมีผู้ร้องเรียนภายหลังจะทำให้การเลือกวุฒิสภาต้องเสียไปทั้งหมด และจะกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ส่วนในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีข้อห่วงกังวล 2 ประเด็น คือ 1.มาตรา 35 การตัดสิทธิเป็นข้าราชการการเมือง หากไม่ไปเลือกตั้ง เพราะการที่ผู้ใดจะเข้ารับตำแหน่งไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นเสรีภาพ จึงกังวลว่า เป็นการเขียนเกินขอบเขตการจำกัดสิทธิตามมาตรา 95 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ และ 2.การให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วย ลงคะแนนแทนผู้พิการ และให้ถือเป็นการออกเสียงโดยตรงและลับ กรธ.กังวลว่าจะขัดต่อมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ ส.ส.มาจากการลงคะแนนโดยตรงและลับ การกำหนดแบบนี้ จึงเป็นการยอมรับว่าการลงคะแนนดังกล่าวไม่ตรงและลับ อีกทั้งเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ที่ระบุ หลักการเลือกตั้งโดยลับว่า จะต้องดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่ให้ผู้ใดทราบเลยว่า ผู้ลงคะแนนตัดสินใจเลือกใคร  
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. บรรยายพิเศษในหัวข้อ การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้กับผู้เข้าอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงรุ่นที่ 9 ตอนหนึ่งว่า ใครที่คิดส่งตีความร่างกฎหมาย ส.ส.-ส.ว.ต้องคิดให้ดี เพราะปมขัดแย้งกฎหมาย ส.ส.ทั้งเรื่องการลงคะแนนแทนคนพิการ และการตัดสิทธิการเมืองผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเรื่องเล็ก เหมือนเป็นการฟื้นฝอยหาตะเข็บ ถ้ายื่นศาล รธน.จะทำโรดแมปเลื่อน 2 เดือน ส่วนกฎหมาย ส.ว.จะทำเลือกตั้งเลื่อน 0-6 เดือน เนื่องจากหากเป็นประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าไม่ได้ขัดในสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ก็ตัดเฉพาะส่วนบทเฉพาะกาลออก เลือกตั้งก็ไม่เลื่อน แต่ถ้าขัดกับสาระสำคัญ ต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนไป 6 เดือน แต่ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ขัดในสาระสำคัญ 
    "ถ้ายื่นทั้งสองฉบับจะทำให้การเลือกตั้งเลื่อน 2-6 เดือน พร้อมกับท้า สนช. ที่ออกมารับประกันว่าการยื่นตีความจะไม่ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป ออกมาประกาศให้ชัดเจนว่า จะไม่รับเงินเดือนช่วงเวลาที่ทำให้เลือกตั้งเลื่อนออกไป และหากมีการยื่นให้ศาลวินิจฉัยแสดงว่า สนช.คิดไม่รอบคอบ สะท้อนว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ถือว่าเปลืองเงินเดือน โหวตกันท่วมท้นได้อย่างไร คิดช้าหรือเปล่า เหมือนกับที่ออกกฎหมายพรรคการเมืองแล้วต้องแก้ไข ควรทบทวนตัวเอง" นายสมชัย กล่าว 
    ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ถ้ามีการยืนให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจริง ต่อให้รัฐบาลหรือ สนช.พยายามอธิบายเหตุผลที่ไม่ว่าจะมีหลักการอย่างไร หรือมีความบริสุทธิ์ใจอย่างไร จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อย่างแน่นอน และทำให้สังคมเชื่อได้ว่ามีกระบวนการ หรือความพยายามยื้อการเลือกตั้งออกไป เพราะเหตุการณ์ก่อหน้านี้ นายกฯ ได้ให้คำมั่นสัญญาเรื่องวันเลือกตั้งมาโดยตลอด แต่ก็โดนเลื่อนอยู่ทุกครั้งไป
    "ส่วนการทักท้วงของนายมีชัยนั้น ก่อนที่ สนช.จะพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ 3 ฝ่าย ที่มีทั้ง กรธ., สนช. และ กกต. พิจารณา แล้วจากนั้นจึงมีการลงมติโดย สนช. ถ้าเกิดว่า การยื่นให้ศาลตีความครั้งนี้ ดำเนินการโดย สนช.เอง ก็เท่ากับกลืนน้ำลายตัวเอง และหมดเครดิตในการทำหน้าที่ ทำให้สังคมมองได้ว่ามีความพยายามใช้อภินิหารทางกฎหมายเพื่อเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีก เพราะมีการพูดถึงปัจจัยที่เหนือนความคาดหมาย แต่ส่งผลต่อการเลือกตั้งอยู่เป็นระยะ" นายสาธิตกล่าว  
เลื่อนเลือกตั้งใครรับผิดชอบ
    นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค ปชป. กล่าวว่า กรณีนี้เป็นเหตุสร้างความเคลือบแคลงสงสัยต่อประชาชนในบทบาทโดยรวมของ สนช. ยิ่งทำให้สังคมยิ่งขาดความเชื่อมั่น และไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น เพราะที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองได้แสดงความคิดเห็นท้วงติงมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อกฎหมายผ่านแล้ว และกำลังจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อโปรดเกล้าฯ อาจจะเป็นสิ่งมิบังควร ชี้ให้เห็นว่า สนช.ไม่ได้ใส่ใจสาระแห่งรัฐธรรมนูญ จนเกิดข้อครหาว่ามีใบสั่ง หรือรับคำสั่งจากผู้มีอำนาจหรือไม่ และที่รัฐบาลและ สนช.ต่างระบุว่า แม้ส่งร่างกฎหมายนี้ให้ศาลตีความ ก็จะไม่มีผลกระทบต่อโรดแมปจัดเลือกตั้ง ถามว่าหากศาลรับเรื่องไว้วินิจฉัย จะใช้เวลานานเท่าใด เพราะยังไม่มีใครกล้ายืนยันเวลาที่แน่ชัด และหากศาลวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายนี้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจริง จนมีผลทำให้ต้องกลับมายกร่างใหม่ทั้งฉบับ จะใช้เวลาอีกเท่าไหร่ ที่สำคัญผลเสียหายที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ ขอให้ สนช. ชี้แจงต่อสังคมให้กระจ่างด้วย
     นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถ้ายื่นจริงการเลือกตั้งจะต้องเลื่อนไปจากกุมภาพันธ์ 2562 และคนที่เขาคิด เขาสงสัยก็มีสิทธิ์จะคิดได้ หลายครั้งผู้มีอำนาจพูดเรื่องวันเลือกตั้งแล้วไม่เป็นไปตามคำพูด ประชาชนเขามีสิทธิ์ไม่เชื่อ เพราะการคาดการณ์ว่ามีเลือกตั้งในปี 2562 เป็นการนับโดยที่คิดคำนวณว่าจะไม่มีการยื่นศาลตีความกฎหมายกันกลางทาง ขนาดนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ยังวิเคราะห์ว่า ต้องใช้เวลาในการตีความ ถ้าหากศาลตีความมาแล้วว่ามีบางประการที่ขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ถูกตีความก็เป็นโมฆะ และต้องร่างกันใหม่ ผลก็คือไม่รู้ว่าจะเกิดการเลือกตั้งขึ้นเมื่อใด เพราะถ้าร่างกฎหมายกันใหม่โดยไม่ได้มีกำหนดเวลาไว้ด้วย คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้มีอำนาจ ยิ่งเดี๋ยวนี้ก็พูดยาก เพราะผู้มีอำนาจทำตามอำเภอใจ ถ้าเขาเลือกว่าให้เลือกตั้งช้าก็ช้า แต่ถ้าเขาเลือกให้เลือกตั้งเร็วก็เร็ว
    "นายวิษณุ เครืองาม กับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นถึงมือหนึ่งด้านกฎหมายของประเทศ แสดงพฤติกรรมกลับไปกลับมา ไม่พูดความจริง แบบนี้ทำลายวิชาชีพนักกฎหมายไปด้วย เรื่องนี้ทั้ง กรธ.และ สนช.ร่างกฎหมายแล้วไม่มั่นใจการกระทำของตนเอง จนจะส่งให้ ครม.ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทั้งที่เสียงโหวตของ สนช.เองเป็นเอกฉันท์นั้น ทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นเขาเรียกว่าอภินิหารทางกฎหมาย โดยไม่มีใครไปทำอะไรเขาได้ เพราะทุกสิ่งถูกวางแผนไว้หมดแล้ว เราจึงต้องเดินตามแบบถูกบังคับให้เดินตามเท่านั้น" นายนิพิฏฐ์กล่าว 
    นายประมวล เอมเปีย อดีต ส.ส.ชลบุรี พรรค ปชป. กล่าวว่า ในการพิจารณาหารือร่วมของปรมาจารย์ด้านกฎหมายและนักกฎหมายชั้นยอดที่เข้าไปเป็นกรรมาธิการ 3 ฝ่ายระหว่างนั้น เหตุใดนายมีชัยไม่ออกมาท้วงติงกฎหมายที่ตัวเองนั่งรับผิดชอบอยู่ว่าอาจจะมีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญ แต่กลับมาส่งซิกหลัง สนช.มีมติโหวตผ่านไปแล้ว มีการรวมชื่อ สนช. จาก 41 คน ให้ได้ 25 คน จากคนที่ขาดการประชุม และคนที่งดออกเสียง เหมือนแบ่งหน้าที่กันทำ โดยส่วนใหญ่โหวตผ่านตามซิกผู้มีอำนาจ อีกส่วนรอรวมชื่อร้องให้ศาลตีความตามเสียงทักท้วง
     "ในเมื่อวันประชุมพิจารณากฎหมายสองฉบับนี้พวกคุณยังลา ยังขาดประชุม แล้ววันนี้มารับลูกรวมชื่อ รับใช้อำนาจโดยไม่สนใจสังคม จะเขียนด้วยมือแล้วจะลบด้วยปากหรืออย่างไร เข้าตำราถ่มน้ำลายรดฟ้าให้หล่นมาใส่หน้าตัวเองเช่นนั้นหรือ หากจะใช้แท็กติกหรืออภินิหารทางกฎหมายแบบนี้ บอกกันตรงๆ ดีกว่าว่าเขาจะให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก 5 ปี 10 ปี นักการเมืองส่วนใหญ่ต่างทำใจกันได้นานแล้ว" นายประมวล กล่าว 
    นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า ในเมื่อ สนช.กับ กรธ.ล้วนมาจากบ่อเดียวกัน ถูกแต่งตั้งมาเหมือนกัน ก่อนร่างอะไรทำไมไม่พูดคุยกันให้ดีก่อน แล้วตอนนั้นก็ สนช.ก็โหวตให้ผ่านทำไม ในเมื่อรู้ว่าอาจจะเป็นปัญหา คนก็ยิ่งมองเหมือนอีกคนเสิร์ฟ อีกคนตบกันหน้าเน็ต ล้วนขาดความจริงใจที่จะทำให้มีการเลือกตั้งเป็นไปตามกำหนดการเดิม เรื่องนี้ดูแล้วเจตนาคือมีการเยื้อการเลือกตั้งอยู่แล้ว ยิ่งทำไป ประชาชนยิ่งไม่เชื่อมั่น เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ พูดอะไรไป คนก็ไม่เชื่อถือ 
เปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่
    ยังมีความเห็นต่อการเปิดตัวพรรคอนาคต โดยนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย แสดงทัศนะทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ “อนาคตใหม่ภายใต้เผด็จการ” ระบุว่า ขอแสดงความยินดีกับพรรคอนาคตใหม่ที่ได้ยื่นคำขอจดแจ้งพรรคต่อ กกต. การเกิดของพรรคใหม่ยังทำให้ประชาชนได้เห็นความเลวของเผด็จการมากขึ้น ตั้งแต่การพยายามหาเรื่องเตะสกัด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข้อจำกัดหยุมหยิม เช่น ห้ามนำเสนอนโยบาย เป็นต้น ไม่นับรวมการใส่ร้ายป้ายสีของบรรดาลิ่วล้อทั้งหลายด้วยข้อหาอมตะนิยมคือล้มเจ้า ผมจึงขอให้กำลังใจน้องๆ จากพรรคอนาคตใหม่ ที่จะมาช่วยกันทำการเมืองให้เป็นของประชาชน ยกเลิกสิ่งที่เผด็จการทำไว้ และเอาตัวคนที่ละเมิดสิทธิประชาชนมาลงโทษ
     นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยินดีต้อนรับคนรุ่นใหม่ มีความคิดก้าวหน้ามาสู่สนามประชาธิปไตย จากนี้ไปคงต้องทำตามกติกาต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ในจุดยืนหนึ่งที่ตรงกันคือ การไม่เอานายกฯ คนนอก ซึ่งตรงกับแนวคิดพรรคเพื่อไทย ถือเป็นเพื่อนเรา ส่วนนโยบายต่างๆ คงต้องรอให้มีการบอกออกมา แล้วให้ประชาชนตัดสิน
    ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้จัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ร่วมกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ได้แสดงทัศนะทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า การเมืองมีสองความหมาย นอกจากมีความหมายเกี่ยวกับอำนาจแล้ว ยังเกี่ยวกับการมีและใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม เพื่อไปสู่ความผาสุกและชีวิตที่ดีกว่าเดิม การทำการเมืองคือการสร้างความเป็นไปได้ การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ การสร้างความเป็นไปได้ในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิตให้แก่ประชาชน หรือที่ Badiou เรียกว่า " l'evenement politique" อาจเกิดได้ยาก ในช่วงชีวิตหนึ่ง เราอาจไม่เคยได้เห็นมัน แต่ความเป็นไปได้เช่นว่า ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีวันมาถึง
    "เมื่อมันยังไม่เกิด เมื่อมันยังมาไม่ถึง หรือแม้กระทั่งเมื่อยังมองแทบไม่เห็นหนทางที่มันจะมาถึง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรนั่งเฉยๆ และรอให้มันมาถึง ตรงกันข้าม ยิ่งมันยังมาไม่ถึง ก็ต้องยิ่งลงมือทำ เพื่อให้มันมาถึงสักวัน การเมืองคือความเป็นไปได้ คือการทำให้ประชาชนจำนวนมหาศาลเปล่งศักยภาพของตนเพื่อเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ ขอเพียงแต่เราช่วยกันลงมือทำ" นายปิยบุตรระบุ 
    ช่วงค่ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่าขอร้องว่าขณะนี้เรากำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ก็อยากให้ทุกคนรักษาบรรยากาศ รักษามุมมองของต่างประเทศกับเราให้ดีที่สุดนะครับ จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้เขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ ในเรื่องของการเมือง ในเรื่องของประชาธิปไตยก็เดินไป เป็นเรื่องของโลกใบนี้นะครับ ก็ให้กำลังใจกับธุรกิจ การดูแลประชาชน สิทธิมนุษยชนต่างๆ เหล่านี้ รัฐบาลนี้ก็ทำทุกอย่าง แน่นอนมันต้องมีปัญหาอยู่บ้าง 
    "เรื่องการเมืองที่ทุกฝ่าย สังคม ให้ความสนใจ ขอให้เป็นไปตามกระบวนการ ช่วยกันลดความสับสน วุ่นวาย บิดเบือน โจมตีในสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงลงให้ได้ เดินหน้าประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพจะเป็นอย่างไร ย้อนกลับไปดูว่าปี 2557 ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง เราก็น่าจะรู้ว่าเราต้องทำอะไร ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร อะไรดี อะไรไม่ดี พูดกันมามากพอแล้ว  รัฐบาลก็ไม่สามารถจะตอบโต้ได้ทุกประเด็น เราพูดบิดเบือนไม่ได้ เราต้องพูดแต่ข้อเท็จจริง เรื่องการลงโทษ เรื่องการสอบสวน เรื่องการทุจริต รัฐบาลนี้ก็ดำเนินการอยู่ทุกประเด็น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว. 
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"