จริงหรือไม่?เกิดปรากฎการณ์บุพเพสันนิวาสเพราะชาติสั่นคลอนจากการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

17 มี.ค.61 - บีบีซีไทย สัมภาษณ์ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ถึงกระแสฟรีเวอร์บุพเพสันนิวาส ซึ่งออกอากาศทางช่อง 3 คืนวันพุธและพฤหัสบดี มาดูกันว่ามุมมองนักประวัติศาสตร์มองเรื่องงนี้อย่างไร

....ปรากฎการณ์บุพเพสันนิวาส" กำลังปกคลุมสังคมไทยขณะนี้ คนไทยจำนวนหนึ่งหันมาสวมใส่ชุด "ไทยโบราณ" ใช้ภาษา "ไทยโบราณ" และหลั่งไหลไปวัดไชยวัฒนาราม ทำให้นักศึกษาประวัติศาสตร์อย่างผมต้องตั้งคำถามว่าความนิยมในละครอิงประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับบริบททางการเมืองของแต่ละยุคสมัยอย่างไร คำตอบที่ได้คือ ทุกครั้งที่ชาติสั่นคลอนจากการเมือง สังคมเกิดความโกลาหล ละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์จะกลับมารุ่งเรืองเสมอ

ผมขอแบ่งพัฒนาการของละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ในรอบศตวรรษ ออกเป็น 3 สมัย คือ

1. รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

2. สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

3. พ.ศ.2500 ถึงปัจจุบัน

ความพยายามยึดอำนาจของนายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่งในปี พ.ศ. 2455 ซึ่งรู้จักในนามของ "กบฏ ร.ศ. 130" ได้สั่นคลอนสถาบันกษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 6 ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพยายามสร้างสำนึกความเป็นไทยให้เกิดขึ้นผ่านการการดัดแปลงเรื่องราวของวีรบุรุษในตำนานและพงศาวดารเป็นบทละครอิงประวัติศาสตร์ เพื่อให้กษัตริย์เป็นศูนย์กลางของชาติสยาม

วอลเตอร์ วิลลา ผู้ศึกษา อุดมการณ์ชาตินิยมสมัยรัชกาลที่ 6 เขียนไว้ในหนังสือ Chaiyo! King Vajiravudh and the Development of Thai Nationalism ถึงวัตถุประสงค์ของบทละครพระราชนิพนธ์แต่ละเรื่อง เช่น

พระร่วง เพื่อตอบสนองการยกย่องกษัตริย์วีรบุรุษในตำนานที่เฉลียวฉลาดและต่อสู้ศัตรูของชาติท้าวแสนปม ผู้เป็นบิดาของพระเจ้าอู่ทอง ช่วยเชื่อมโยงบรรพบุรุษของคนไทยที่เชื่อว่าอพยพมาจากทางเหนือ เพื่อทำให้คนไทยเกิดสำนึกว่าตนเองมีรากมาจากที่เดียวกัน และเพื่อส่งเสริมความจงรักภักดีของขุนนางต่อกษัตริย์และชาติสงครามที่เมืองตาก และ สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพ ถูกนำมาเป็นบทละครแสดงที่สนามเสือป่า


2475-2500: ขุนนาง vs เจ้า

20 ปีหลัง "กบฏ ร.ศ. 130" สถาบันกษัตริย์ต้องพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายขุนทหารและปัญญาชน มีผลทำให้ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น ละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ในสมัยหลังปฏิวัติ 2475 จึงมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ คือ

1. ปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขับเน้นความยิ่งใหญ่ของสามัญชน และขุนนางแทนกษัตริย์ ซึ่งจะเห็นได้ชัดในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

2. ส่งเสริมความสามัคคีของคนในชาติเพื่อต่อสู้กับศัตรูภายนอกในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่สอง

หลวงวิจิตรวาทการ นักการทูตและนักการเมืองคนสำคัญเคียงกายจอมพล ป. ได้ประพันธ์บทละคร และกำกับละครอิงประวัติศาสตร์หลายเรื่อง เพื่อปลุกกระแสความจงรักภักดีต่อชาติ ขับเน้นบทบาทของสามัญชนและขุนนางมากขึ้น แทนหน้าที่ของกษัตริย์เพียงฝ่ายเดียว ดังเห็นได้จากละครเรื่อง ราชมนู ศึกถลาง สีหราชเดโช บางระจัน เลือดทหารไทย และเลือดสุพรรณ เป็นต้น และในขณะเดียวกันก็ต้องการลดความสำคัญของราชวงศ์จักรีด้วย ดังเห็นได้จากเรื่อง พระเจ้ากรุงธน

อย่างไรก็ตาม หลวงวิจิตรวาทการยังให้ความสำคัญกับวาทกรรมประวัติศาสตร์ชาติที่เป็นมรดกตกทอดจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งมีที่มาจากพระราชพงศาวดารที่ยกย่องกษัตริย์วีรบุรุษยังคงมีอิทธิพลอย่างสูง เพื่อเหตุผลการส่งเสริมแนวคิด "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" ในขณะนั้น ดังเห็นได้จากละครอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนผาเมือง และ นเรศวรประกาศอิสรภาพ ทว่า แม้เป็นละครอิงประวัติศาสตร์ เขาก็ไม่เคยประกาศว่าเป็นเรื่องจริง

"การแสดงละครผิดกับแสดงตำนาน การแสดงตำนานต้องไม่ทำอะไรให้เกินความจริง แต่การแสดงละครมีความจำเป็นต้องแต้มต่อเติมสี ให้มีเรื่องรักโศกเป็นส่วนประกอบ... แม้สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวของเรา ก็ได้ทรงใช้วิธีเดียวกันนี้" (ที่มา: "หลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์" โดย ประอรรัตน์ บูรณมาตร์)

ในห้วงเวลาเดียวกัน ฝ่ายนิยมเจ้าได้พยายามต่อสู้ผ่านการแต่งนิยายอิงประวัติศาสตร์เพื่อเชิดชู ความรุ่งเรืองในยุคกษัตริย์ ตัวอย่างที่เด่นชัด คือ นิยายเรื่องสี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่รวมพิมพ์เป็นเล่มในปี พ.ศ.2496 ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของการมองประวัติศาสตร์ก่อน 2475 ว่าเป็นยุคทอง เทียบกับนับแต่ 2475 ที่เป็น ยุคของความวุ่นวายทางการเมืองและสังคม

การรัฐประหารโค่นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 16 ก.ย. 2500 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางการเมืองและชัยชนะของฝ่ายนิยมเจ้า ทำให้นิยายอิงประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมสุดโต่งและวาทกรรมประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมกลายเป็นแกนเรื่องหลัก ผ่านสะครโทรทัศน์ ที่มาหลังการเปิดสถานีช่อง 4 บางขุนพรหม พร้อมกับการขยายตัวของชนชั้นกลาง และความเจริญที่ขยายไปสู่ส่วนภูมิภาค ระหว่างนี้

ในรอบหกทศวรรษนี้ ประเทศไทยผ่านจุดเปลี่ยนผ่านทางเศษฐกิจและการเมืองที่สำคัญหลายเหตุการณ์และความบันเทิงอิงประวัติศาสตร์ก็ล้วนสะท้อนบริบทของแต่ละยุคด้วย จากข้อมูลเชิงสถิติที่รวบรวม สามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ

2500-2539
2540-2549
2549-ปัจจุบัน 

สู้คอมมิวนิสต์ ลาว และ ทหาร (2500-2539)

ปัญหาคอมมิวนิสต์เริ่มปรากฏชัดตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ และยุติลงในปี พ.ศ.2523 ด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เท่าที่รวบรวมข้อมูลได้พบว่าในช่วงนี้มีละครทั้งหมด 15 เรื่อง ภาพยนตร์ 7 เรื่อง ภายใต้บริบทของประเทศที่ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ทำให้แกนเรื่องเน้นการต่อสู้และปกป้องชาติกับกษัตริย์ด้วยชีวิต ส่วนใหญ่ผลิตกันในช่วงปลายของสมัยสู้คอมมิวนิสต์ ได้แก่ นเรศวรมหาราช ผู้ชนะสิบทิศ ขุนศึก ลูกทาส บางระจัน และเลือดสุพรรณ

ตลอดสมัยนี้ สี่แผ่นดินเป็นบทประพันธ์ยอดนิยมที่สุด ถูกผลิตซ้ำถึง 3 ครั้ง ในรูปละครโทรทัศน์และ ละครเวที ซึ่งสะท้อนการกลับมาของอำนาจสถาบันกษัตริย์ เพราะฉายครั้งแรกในปี 2504 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ อีกด้านหนึ่ง บ่งชี้ว่าสังคมที่ต้องการกลับไปสู่ยุคทอง

ภายหลังจากปัญหาคอมมิวนิสต์ยุติลง ปริมาณของละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ได้ลดลงเช่นกัน แต่กลับมาผลิตกันอีกครั้งในช่วงที่ไทยขัดแย้งกับลาวจนเกิดสมรภูมิบ้านร่มเกล้าในปี พ.ศ.2531 ในปีนี้จึงเกิดละครอิงประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาปลุกใจให้รักชาติ ที่สำคัญเช่น สงครามเก้าทัพ ผู้ชนะสิบทิศ

ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองและเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2535-2539 ได้มีการผลิตละครและภาพยนตร์ที่มีแกนเรื่องส่งเสริมความจงรักภักดีต่อกษัตริย์นำกลับมาผลิตซ้ำ เช่น สมเด็จพระสุริโยทัย ขุนศึก สายโลหิต และเรื่องที่เน้นการย้อนกลับไปแก้อดีต เช่น ทวิภพ เป็นต้น

วิกฤตต้มยำกุ้งสู่ทักษิโนมิกส์ (2540-2549)

ละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งประเทศไทยเป็นหนี้ต่างประเทศมหาศาล พร้อมกับทำต้องตามเงื่อนไขที่เจ้าหนี้ไอเอ็มเอฟบังคับไว้ ทำให้เป็นช่วงที่สังคมไทยโหยหา "วีรบุรุษกู้ชาติ" ดังนั้น นับจากปี พ.ศ.2543 มีละครอิงประวัติศาสตร์ถึง 9 เรื่อง เช่น รากนครา อดีตา นิราศสองภพ สายโลหิต สี่แผ่นดิน และฟ้าใหม่ ส่วนภาพยนตร์มี 6 เรื่อง ได้แก่ บางระจัน สุริโยทัย ขุนศึก ทวิภพ และกบฏท้าวศรีสุดาจันทร์

ภาพยนตร์ดูจะปลุกเร้าความรู้สึกรักชาติได้ดีกว่าละครมาก เพราะ บางระจัน สุริโยทัย และตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถือเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่มีผู้ชมให้ความสนใจมากที่สุด สุริโยทัยทำรายได้สูงสุด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีของวงการภาพยนตร์ไทย

แต่เรื่องที่สำคัญคือ สุริโยทัย และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากสถาบันระดับสูงและกองทัพ ดังที่รับรู้กันว่ามีแกนเรื่องหลักที่ยกย่องเชิดชูกษัตริย์ ความสามัคคีในชาติ การประกาศอิสรภาพ เอกราช การปราบกบฏหรือศัตรูของชาติ การรอคอยและความหวัง ดูเหมือนจะสอดคล้องกับอารมณ์ของคนในสังคมในเวลานั้น แต่ในด้านกลับกัน หนังทั้งสองเรื่องได้ช่วยเพิ่มความนิยมในสถาบันกษัตริย์และทหารด้วย

การเมืองเหลืองแดง และ 2 รัฐประหาร (2549-ปัจจุบัน)

ประชาธิปไตยไทย "เบ่งบาน" ได้ไม่นาน มาในปี 2549 รัฐบาลรักษาการของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) ถูกรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

หนึ่งในข้ออ้างของการยึดอำนาจ คือ สกัดการนองเลือดของประชาชนที่เห็นต่าง 2 ฝ่าย ทว่า รัฐบาลทหารกลับไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จ กระบวนการทางการเมืองบนท้องถนนได้พัฒนาออกเป็น 2 กลุ่มหลักคือ 'เสื้อเหลือง' และ 'เสื้อแดง' จนนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 หรือ "สงกรานต์เลือด" ในปีถัดไปจึงเกิดการผลิตทั้งละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์หลายเรื่อง เช่น วนิดา ทวิภพ ขุนศึก เลือดขัตติยา ผู้ชนะสิบทิศ บางระจัน 2 แต่ที่สำคัญคือเรื่องขุนรองปลัดชู ที่เป็นทุนสนับสนุนจากเอกชนโดยมีเป้าหมายรุกเร้าให้คนในชาติรักชาติและสามัคคีกัน เรื่องนี้ได้รับความนิยมมากกว่าตำนานสมเด็จพระนเรศวร อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ขยายวงลงสู่ภาคประชาชน


2557 ได้เกิดการรัฐประหารอีกครั้ง นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมสัญญาที่จะทำให้คนไทยเกิดความสามัคคี รักชาติและสถาบันกษัตริย์ ซึ่งถูกท้าทายโดยคนบางกลุ่ม หลังรัฐประหารไม่นานนัก ได้มีการฉายภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ยุทธหัตถี ให้ประชาชนเข้าชมฟรี ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ภาคสุดท้ายของหนังเรื่องเดียวกันนี้ไม่ได้รับความนิยมมากนักในปีถัดไป

นับจาก 2557 ถึงปัจจุบัน ปริมาณละครอิงประวัติศาสตร์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีมากกว่า 10 เรื่องในรอบ 5 ปี ได้แก่ บางระจัน ข้าบดินทร์ อตีตา พันท้ายนรสิงห์ ชาติพยัคฆ์ แต่ปางก่อน ฟ้าใหม่ รากนครา หนึ่งฟ้าเดียวกัน ศรีอโยธยา และล่าสุด บุพเพสันนิวาส ที่ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง

จำนวนของละครอิงประวัติศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นบอกอะไรเรา?

จะเห็นได้ว่า ละครทั้งหมดมีโครงเรื่องคล้ายกันคือ ย้อนกลับไปในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เช่น บางระจัน อตีตา ฟ้าใหม่ และศรีอโยธยา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไทยกำลังถูกรุกรานจากพม่า ทำให้ประชาชนต้องรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับศัตรูและสามัคคีกันดังเช่นที่ใช้กันในยุคของชาตินิยม ดังนั้น สารของละครอิงประวัติศาสตร์จึงวางในบริบทใหม่คือ ส่งเสริมให้คนในชาติรักกันภายใต้ภาวะสังคมที่แตกแยก รู้จักหน้าที่ของตนเองที่มีต่อชาติ และส่งเสริมความสามารถของกษัตริย์

ทว่า ในห้วงเวลาที่ประวัติศาสตร์ได้ถูกนำมาผลิตซ้ำและดัดแปลงเป็นละครและภาพยนตร์มากมายนี้ มีความพยายามในการปกป้องประวัติศาสตร์นิพนธ์ของชาติในแบบเดิมผ่านประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอาวุโส ผู้วิพากษ์ประวัติศาสตร์การกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อ 16 ต.ค. 2557 โดยนายทหารยศพลโท 2 ราย แต่ต่อมาเมื่อต้นปีนี่ อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้อง ด้วยเหตุหลักฐานไม่เพียงพอ แต่เจ้าตัวเชื่อเพราะ "พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม"

ในทางกลับกัน ตัวละครหลักของบุพเพสันนิวาส ไม่ได้เป็นกษัตริย์หรือชนชั้นนำชั้นสูงที่จับต้องไม่ได้ เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์ในยุครุ่งเรือง แต่ก็ไม่ได้ขับเน้นความเป็นชาตินิยม ผู้เขียนสร้างสรรค์เรื่องได้อย่างมีสีสัน ท่ามกลางสภาพของสังคมและการเมืองในปัจจุบันที่ยุ่งเหยิง ขาดความมั่นคง เชื่อมั่นต่อรัฐบาล และยากต่อการทำนายอนาคตของประเทศ ภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกของการโหยหาอดีต (Nostalgia) ได้ง่าย การดูละครย้อนยุคสักเรื่องหนึ่ง จึงทำให้ในทางความรู้สึกสามารถหลีกเร้นกลับไปสู่อดีต เพราะอย่างน้อยอดีตก็เป็นสิ่งที่มั่นคงกว่าปัจจุบันและอนาคต

ดังนั้น ละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์จึงเป็นเครื่องชี้วัดที่ดีอย่างหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ดังนั้น ความสนใจต่อประวัติศาสตร์ของคนไทยที่เพิ่มขึ้นในเวลานี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนักสักเท่าไหร่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"