พลิกโฉมการเดินทาง


เพิ่มเพื่อน    

      เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการคมนาคมขนส่งมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่เรียกได้ว่าเป็นมหานครที่มีการจราจรเลวร้ายอันดับต้นๆ ของโลก

        บางวันคนไทยเอาเวลาไปทิ้งบนท้องถนนใน กทม.ถึงกว่า 6 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ เสียอารมณ์ แถมยังเผาผลาญเชื้อเพลิงไปอย่างไร้ค่า

        นอกจากเรื่องขนส่งคนแล้ว เรื่องการขนส่งสินค้าเราก็มีปัญหาต้นทุนที่สูงมหาศาล เพราะได้แต่พึ่งพาการขนส่งบนถนนเป็นหลัก ซึ่งขนส่งได้น้อย แถมค่าใช้จ่ายสูง โดยข้อมูลของสภาพัฒน์ระบุชัดว่า ไทยมีตัวเลขต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นค่าขนส่งบริการ ค่าเก็บรักษาสินค้าคงคลัง และต้นทุนการบริหารจัดการ สูงถึงเกือบ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นเกือบ 14% ของจีดีพี

        เห็นได้ชัดว่าถ้าอยากจะทำให้ไทยน่าลงทุน และมีขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การสังคายนาระบบคมนาคมของประเทศจึงเป็นภารกิจที่ควรลงมือดำเนินการเป็นเรื่องแรกๆ

        และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โชคดีได้ไปเข้าร่วมงานเสวนาของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ซึ่งได้มีการเชิญ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มาร่ายยาวแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศไทย เห็นว่าน่าสนใจ เลยหยิบมาเล่าให้ผู้อ่านได้รับทราบอีกที

        โดย ดร.ไพรินทร์เล่าว่า ไทยกำลังจะมีการพัฒนาการด้านคมนาคมขนส่งอย่างก้าวกระโดด หรือที่เรียกว่า (quantum-leap) โดยมีวิสัยทัศน์ของกระทรวงคมนาคมที่ตั้งไว้ว่า One Transport (ระบบขนส่งเพียงหนึ่งเดียว) ซึ่งก็หมายความว่าการคมนาคมทั้งหมด ทั้งทางบก ทางน้ำ และ ทางอากาศจะต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน

        โดยทางบกจะมีการลงทุนสร้างถนนมอเตอร์เวย์สายใหม่ ทั้งกรุงเทพฯ-พัทยา จะมีการขยายออกไปถึงมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีการสร้างมอเตอร์เวย์เส้นใหม่จากบางปะอินไปโคราชอีก 220 กิโลเมตร กำลังจะมีมอเตอร์เวย์ไปที่จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงมอเตอร์เวย์เส้นใหม่ นครปฐม-ชะอำ ซึ่งเชื่อว่ามอเตอร์เวย์จะเป็นการปฏิรูปการขนส่งทางบกที่สำคัญ เพราะในการสร้างครั้งนี้จะเป็นครั้งแรก รัฐบาลจะมีการเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ดูแลเส้นทาง และบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงวางระบบเก็บเงินเอง ซึ่งเชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการได้ดีกว่าภาครัฐ

        ขณะเดียวกัน ในส่วนของระบบราง จะแบ่งออกเป็น 3 เรื่องด้วยกัน อันดับแรก คือ การสร้างรถไฟรางคู่ สำหรับการเดินทางและขนส่งสินค้า ซึ่งจะมีการอนุมัติให้ลงทุนอีกว่า 3,600 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ไปเหนือ อีสาน ใต้ ซึ่งการมีระบบรถไฟรางคู่ จากการศึกษานั้นจะช่วยเพิ่มการขนส่งสินค้าและคนได้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ซึ่งช่วยลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์มหาศาล

        ส่วนใน กทม.ในปีนี้ก็จะพยายามเปิดประมูลการก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ครบ 10 สาย เป็นเส้นทางที่มีความยาวกว่า 480 กิโลเมตร ซึ่งก็จะพยายามเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างปี 61 สายสีเขียวก็จะขยายไปถึงจังหวัดสมุทรปราการ หรือสายสีน้ำเงินก็จะเปิดช่วงหัวลำโพง-บางแคในปีถัดไป และก็จะมีการทยอยเปิดเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งการที่มีระบบนี้จะช่วยเรื่องการเดินทางของผู้ที่อยู่ใน กทม.มหาศาล ที่สำคัญรถไฟฟ้ายังทำหน้าที่เชื่อม กทม.เข้ากับปริมณฑล ยิ่งทำให้ กทม.จะกลายเป็นมหานครอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีการอนุมัติให้ตามหัวเมืองใหญ่ อย่างภูเก็ต นครราชสีมา ขอนแก่น และเชียงใหม่ มีรถไฟฟ้าภายในจังหวัดด้วย

        สุดท้ายในส่วนของระบบรถไฟความเร็วสูง ก็แน่นอนว่า ในแผนที่สามเส้นทาง คือ สายอีสาน กรุงเทพฯ-หนองคาย สายเหนือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และสายที่สาม สายตะวันออก เชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา  รวมถึงอนาคตอาจมีการสร้างไปถึงหัวหิน

        ซึ่งด้วยระบบรางที่กล่าวมา จะช่วยพลิกโฉมประเทศไทยไปในอีกมิติเลยทีเดียว ซึ่งตามแผนก็คือ ทุกอย่างจะต้องอนุมัติให้รัฐบาลชุดนี้หมด เพื่อรับประกันว่ามันจะไม่ล่ม และหน้าที่ของรัฐบาลต่อไป คือทำตามแผนงานที่วางไว้ทั้งหมดแล้ว ไทยจะไม่ใช่ ไทยเดิมที่เรารู้จักอีกต่อไป.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"