ป่วยการร่วมถกนายก พรรคการเมืองโต้ไม่ใช่หน้าที่หวั่นโดนล้วงนโยบาย


เพิ่มเพื่อน    

    “พรเพชร” ลงนามยื่นตีความกฎหมายลูก ส.ว.ส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ลั่นไม่กระทบโรดแมป กัดฟันยันกฎหมายลูก ส.ส.ไม่ขัด รธน. “วิษณุ” ชี้ช่องควรส่งทีเดียว 2 ฉบับใช้เวลาไม่นาน “มาร์ค” แนะบิ๊กตู่ควรแก้ปัญหา “ปชป.-พท.” ประสานเสียงถล่มแนวคิด “ประยุทธ์” เชิญร่วมหารือ มิ.ย. อัดหวังล้วงนโยบายพรรคไปต่อยอด ซัดปรองดองจริงทำไมยังเหน็บ ควรปลดล็อกมากกว่า กกต.เผยซุ่มเก็บข้อมูลโจมตีใส่ร้ายทางโซเชียลไว้แล้ว รอเช็กบิลเมื่อมีเรื่องร้องเรียน
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม เวลา 11.30 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้นำหนังสือพร้อมสำเนาคำร้องของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ที่ลงนามแล้ว เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่มาส่งศาล
ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า นายพรเพชรได้ชี้แจงเรื่องนี้ว่าได้ลงนามส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.แล้วเมื่อเวลา 09.00 น. ตามที่สมาชิก สนช.ร่วมลงชื่อให้ตีความ 30 คน ส่วนที่ สนช.เสนอให้พรรคการเมืองทำสัตยาบันยินยอมเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งไป 3 เดือนแลกกับการยื่นตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้นไม่ขอแสดงความเห็น แต่มองว่าไม่สมควรพูด
     จากนั้นนายพรเพชรได้แจกเอกสารต่อสื่อมวลชน เป็นบันทึกความเห็นของประธาน สนช.กรณีการส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และไม่ส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยระบุว่าการให้ตีความกฎหมายลูก ส.ว.นั้นไม่น่ามีผลกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้ง เนื่องจากมีการเลื่อนวันบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ออกไป 90 วันอยู่แล้ว 
     นายพรเพชรยังกล่าวถึงกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตั้งข้อสังเกตใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กรณีการตัดสิทธิ์นั้นถือว่าเป็นหลักการถูกต้องแล้ว ไม่น่ามีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่วนให้มีบุคคลช่วยเหลือในการลงคะแนนในคูหาเลือกตั้งของผู้พิการได้นั้น ก็สอดคล้องกับหลักปฏิบัติการสากล และไม่ใช่การเปิดเผยการลงคะแนนต่อสาธารณะ
“หากยื่นร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ต่อศาล จะส่งผลให้การประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ช้าไปกว่าเดิม 2 เดือน แม้ไม่นานนัก แต่เมื่อสมาชิก สนช.เชื่อมั่นว่าทั้งสองประเด็นดังกล่าวไม่มีปัญหาเรื่องความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่เข้าชื่อเสนอให้ศาลวินิจฉัย และได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปยังนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มี.ค.เพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว” นายพรเพชรกล่าว
นายพรเพชรกล่าวถึงกรณีการตัดสิทธิ์ว่า หากมีการร้องตีความในภายหลังจะมีผล คือผู้ถูกตัดสิทธิ์จะได้รับสิทธิ์นั้นคืน แต่ไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.จึงไม่กระทบโรดแมป ส่วนกรณีคนพิการนั้นหากร้องในภายหลัง สิทธิ์ของผู้พิการที่ได้รับความช่วยเหลือจะหายไป ไม่จำเป็นต้องแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.เช่นกัน แต่อาจมีผลต่อการนับคะแนนได้ ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องที่เห็นว่าบทบัญญัตินี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงควรยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ ก่อนเลือกตั้ง แต่ยืนยันว่า สนช.พิจารณากฎหมายด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังไม่ให้มีบทบัญญัติใดขัดรัฐธรรมนูญ
กรธ.แนะควรยื่น 2 ฉบับ
    นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.กล่าวว่า สนับสนุนฝ่ายที่เกี่ยวข้องยื่นศาลตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ก่อนเข้ากระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการเลือกตั้งในภายหลัง แม้หลายฝ่ายมองว่าการยื่นตีความช่วงนี้อาจกระทบโรดแมปเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นความกังวลของ กรธ.เช่นกัน แต่ทางออกที่ดีที่สุดควรวางเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการสร้างความชัดเจนก่อนการเลือกตั้งหรือไม่
นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณี สนช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า ถือเป็นประโยชน์ต่อ กกต.เพราะจะได้ชัดเจนในการทำงาน ส่วนกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.นั้น เมื่อไม่มีการยื่นศาล กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติต้องออกระเบียบให้รัดกุม เพราะการเลือกตั้งมีการแข่งขันสูง ฝ่ายแพ้ก็จ้องที่จะหาเหตุร้องเรียนและอาจเกิดปัญหาขึ้นได้
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งอาจเลื่อนออกไป เนื่องจาก สนช.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูกว่า ขอให้เลิกพูดเรื่องนี้ การตีความกฎหมายลูกจะอยู่ในเวลาที่เผื่อไว้แล้ว จะไปยื้อการเลือกตั้งได้อย่างไร
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เชื่อว่าศาลจะใช้เวลาตีความไม่มากนัก เพราะเป็นการยื่นประเด็นเดียว และแม้จะยื่นทั้ง 2 ฉบับก็ใช้เวลาไม่ต่างกัน เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนสามารถแบ่งงานกันได้ สามารถปิดประตูกันนั่งคิด เมื่อถึงเวลานัดมาประชุมกันแล้ววินิจฉัยถือว่าจบ ทำเหมือนตอนตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ดังนั้นยื่นให้เสร็จแล้วกัน อย่าไปหลายขยัก และคงไม่นานเหมือนที่นายสมชาย แสวงการ สนช.ระบุว่าใช้เวลาถึง 3 เดือน จึงต้องให้มาลงสัตยาบัน และไม่รู้ว่าสัตยาบันที่นายสมชายเสนอคืออะไร ไม่มีความเห็น     
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สนช.ควรยื่นตีความทั้ง 2 ฉบับ การยื่นตีความกฎหมาย ส.ว.ฉบับเดียวจะไม่ไปกล่าวหาว่ามีทฤษฎีสมคบคิดกับใครหรือไม่ แต่คิดว่าการทำหน้าที่ของ สนช.กับแม่น้ำแต่ละสายสร้างปัญหาตลอดเวลา ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าจะเดินตามโรดแมป ทำให้กระทบความเชื่อมั่นของ คสช.เอง ซึ่งคนที่จะแก้ปัญหาตรงนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกฯ โดยอย่าทำให้กฎหมายมีปัญหา และต้องไม่มีอะไรไปกระทบโรดแมป 
      นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย มองว่ามาตรา 44 ใช้แก้ปัญหาเรื่องอื่นมามาก เรื่องนี้พอเกิดปัญหาความขัดแย้งแล้วทำไมไม่ใช้ ทำไมการจะคืนอำนาจให้ประชาชนถึงกลับไม่นำมาใช้
สำหรับกรณี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับคนไทยในออสเตรเลียว่าในเดือน มิ.ย.จะเรียกพรรคการเมืองมาหารือเรื่องนโยบาย แผนบริหารประเทศ และขจัดความขัดแย้งนั้น นายวิษณุปฏิเสธว่าไม่ทราบ คสช.เป็นเจ้าภาพประชุม เมื่อพบกันแล้วอาจจะหารือเรื่องอื่นด้วย แต่ไม่รู้ว่าใครจะทำอะไรและจะคุยอะไรกันบ้าง
จี้ปลดล็อกดีกว่า
นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวประเด็นนี้ว่า สิ่งที่ควรทำเวลานี้คือควรปลดล็อกนักการเมือง หน้าที่ คสช.คือควรทำให้เกิดความมั่นใจว่ากลไกจัดการเลือกตั้งจะเดินไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ส่วนการสลายความขัดแย้งนั้นก็มีอยู่ในประกาศ คสช.ฉบับที่ 1 แต่จนถึงวันนี้เกือบ 4 ปียังไม่คืบหน้าเลย แค่ คสช.เปิดพื้นที่รับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ละเว้นวาทกรรมสร้างความเกลียดชังหรือ  Hate Speech และอย่าหวาดระแวงนักการเมือง พรรคการเมือง แล้วเดินหน้าทำตามโรดแมป ตรงนี้ถือเป็นการสร้างความปรองดองที่ตรงจุดที่สุด  
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เท่าที่ดูจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบทั้งหลาย ไม่ปรากฏว่าเป็นหน้าที่กงการอะไรของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะในฐานะนายกฯ หรือหัวหน้า คสช. ถ้าไม่ใช่การออกคำสั่งที่มีบทลงโทษรุนแรง แต่เป็นการเชิญตามปกติโดยไม่มีเหตุผลหรือไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์อะไร เชื่อว่าป่วยการที่พรรคการเมืองจะไปร่วมหารือด้วย
“ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์กับพวกไม่เคยจริงใจและแสดงความพยายามใดๆ ที่จะทำให้เกิดการปรองดองในสังคม ส่วนการจะถามว่าพรรคการเมืองมีนโยบายในการบริหารหรือพัฒนาประเทศอย่างไรนั้น ไม่ใช่เรื่องที่พรรคการเมืองต้องไปอธิบายให้ พล.อ.ประยุทธ์ฟัง แต่เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองควรชี้แจงกับประชาชนทั่วประเทศมากกว่า” นายจาตุรนต์กล่าวและว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ควรทำคือการรีบปลดล็อกให้พรรคการเมือง
นายสมคิดกล่าวว่า นักการเมือง พรรคการเมือง ไม่ใช่ทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ทุกพรรคการเมืองล้วนมีนโยบายพัฒนาประเทศอยู่แล้ว จะเชิญมาถามนโยบายพัฒนาประเทศทำไม ในเมื่อตัวเองเขียนยุทธศาสตร์ไว้ 20 ปี ไม่ใช่หน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ หากให้ กกต.เชิญยังดีกว่า ส่วนเรื่องสลายความขัดแย้ง  ท่านไปพูดในต่างประเทศยังเหน็บแนมเรื่องคนหนีคดีไปต่างประเทศ อย่างนี้หรือจะสร้างความปรองดอง
ส่วนนายวิรัช ร่มเย็น อดีต ส.ส.ระนอง และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องถาม พล.อ.ประยุทธ์คิดอะไรกับการเชิญตัวแทนพรรคการเมืองไปเพื่อหารือและขอทราบนโยบายของแต่ละพรรค เพราะไม่ใช่หน้าที่ และหากท่านได้รับทราบข้อมูลก่อนอาจนำนโยบายนั้นๆ ไปต่อยอดเพื่อให้พรรคนอมินีที่สนับสนุนทหารใช้หาเสียง จะเป็นการเอาเปรียบมากเกินไปหรือไม่ ยิ่งมีข่าวว่าจะตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อสนับสนุนให้ท่านเป็นนายกฯ คนนอกต่อ ท่านยิ่งไม่มีสิทธิ์เพราะสามารถเลือกสวมหมวกได้หลายใบ 
เวลา 14.45 น.วันเดียวกัน ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 พล.อ.ประยุทธ์เดินทางกลับจากการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย โดยตอบคำถามสื่อกรณีผลสำรวจนิด้าโพลระบุว่าประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ต่อไปเพียงสั้นๆ ว่าเรื่องของโพล ทำงานก่อน
พล.อ.ประวิตรกล่าวเรื่องนี้ว่า ผลสำรวจออกมาอย่างไรว่าไปตามนั้น ส่วนตนเองจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ต่อไปหรือไม่นั้นยังไม่ขอพูด ส่วนกรณีจะไปรับหน้าที่ประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐนั้น  ตอบไปแล้วเรื่องนี้ ต้องไปถามนายกฯ และนายกฯ คงไม่มาปรึกษาอะไรเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เพราะไม่เล่นการเมือง
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ กล่าวว่ายังไม่ได้อ่านข่าวโพล แค่ดูผ่านๆ ส่วนกระแสไปนั่งเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐนั้นไม่เป็นความจริง ไม่เคยได้ยินจาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เห็นพูดเรื่องนี้เลย
เมื่อถามว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่ พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่าส่วนตัวเห็นว่าท่านทำงานหนัก ทำงานเพื่อประเทศชาติมาตลอด ท่านก็เป็นทหาร
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ คนนอกว่า ไม่อยากให้ความเห็นในเรื่องนี้เพราะยังไม่เกิดขึ้น แต่ไทยเคยผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 35 มาแล้ว เรามีบทเรียนมาแล้วและควรนำบทเรียนนั้นมาใช้ 
เมินรับพรรคคอมมิวนิสต์
    สำหรับความคืบหน้าการจดแจ้งพรรคใหม่นั้น พบว่าเมื่อวันที่ 19 มี.ค. มีผู้ยื่นคำขอจดแจ้งจัดตั้งพรรคที่ กกต. 4 กลุ่ม คือ พรรคไทยก้าวข้าม นำโดยนายเกียรติศักดิ์ ภักดีเดโชชัย พรรคประชาธิปไตย  (ไทย) นำโดยนายสุธี ปีขาล พรรคพลังแผ่นดินทอง นำโดยนายอนุวัฒน์ วิใจเงิน พรรคสุบาล นำโดยนายประสาร เศรษฐนันท์ โดยตั้งแต่เปิดให้ยื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคมีเข้ามาทั้งสิ้น 65 กลุ่ม
     นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.กล่าวถึงกรณีนายปฐม ตันธิติ มายื่นขอจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยว่า เจ้าหน้าที่อาจรับเรื่องทางธุรการไว้ แต่ได้สั่งการให้ไม่รับจดแจ้ง เพราะถือว่าขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญเนื่องจากไม่เป็นประชาธิปไตย
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการ กกต. รักษาการเลขาธิการ กกต. ในฐานะรักษาการนายทะเบียนพรรคการเมืองกล่าวว่า สำนักงานได้รับเอกสารไว้แต่ก็ต้องมาพิจารณาว่าชื่อเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ซึ่งคาดว่าในวันที่ 20 มี.ค.จะชัดเจน
ด้านนายวรเจตน์กล่าวถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ว่า รู้สึกเสียดายความรู้ความสามารถทางวิชาการของนายปิยบุตร แต่ให้กำลังใจและเข้าใจว่านายปิยบุตรต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ทางการเมืองของไทย ซึ่งต้องรอดูว่าจะเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถือว่าไม่ง่าย 
นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวว่า กกต.ได้หารือกันถึงแนวทางการตรวจสอบการใส่ร้ายในการเลือกตั้งผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานไว้แล้ว แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ขนาดไหน แต่เราก็จะทำให้ดีที่สุด เพราะเห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาในอนาคต 
พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า สำนักงาน กกต.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้น โดยประสานงานกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหาแนวทางว่ากรณีที่เกิดเหตุขึ้นนอกจากเป็นความผิดเรื่องการนำเข้าข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์แล้ว การจะหยุดการกระทำจำเป็นต้องร้องต่อศาลหรือใช้อำนาจรัฐมนตรีในการสั่งปิดเพจในโซเชียลมีเดียหรือไม่
ร.ต.อ.มนูญ วิเชียรนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนงานสืบสวน กล่าวว่า ความผิดทางโซเชียลมีเดียจะมี 3 กรณี คือ การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ การหมิ่นประมาท และการใส่ร้าย ซึ่ง กกต.จะดูเฉพาะกรณีสุดท้ายเป็นหลัก ซึ่งเป็นการใส่ร้ายที่จะเป็นผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต โดยตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่า กกต.ต้องตรวจสอบเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเท่านั้น จึงทำให้ กกต.สามารถตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ก็มีการเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ หากเกิดเหตุก็สามารถใช้ข้อมูลที่รวบรวมไว้มาพิจารณาได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"