3ปีคสช.ใช้'กองหนุน'หมด เดินเกม'ดีลสีเทา'รับมือปี61มวลชนขยับ


เพิ่มเพื่อน    

            เข้มข้นร้อนแรงกว่าที่คิดสำหรับปฏิกิริยาจากพันธมิตร คสช. ที่หนุนนำรัฐบาลทหาร ทั้งวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลในนโยบายต่างๆ และที่หนักหน่วงสร้างแรงกระเพื่อมให้การเมืองเป็นอย่างมาก คือ การให้สัมภาษณ์ของ นายชวน หลีกภัย  และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

            โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการ "ปลดล็อก" 4 ขยัก สร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูงให้กับพรรคการเมืองเก่าและใหม่ โดยเฉพาะพรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ ที่มองว่า "ไม่แฟร์เกม"  เพราะการ "ขยายล็อก" ดังกล่าว สร้างความได้เปรียบให้กับ "พรรคทหาร" ต้นทุนสำคัญนำไปสู่นายกฯ คนนอก

            แม้การตอบโต้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึง คสช. ไม่ได้ทำให้ "บัวช้ำ น้ำขุ่น"

แต่เนื้อความก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพรรคประชาธิปัตย์เหมือนเมื่อตอนเป็นพันธมิตรกันใหม่ๆ พรรคการเมืองที่ยึดกุมฐานเสียงในภาคใต้ในขณะนี้จึงส่งสัญญาณเตือน คสช.อยู่หลายครั้ง

            แต่สิ่งที่ทำให้ปรากฏการณ์แรงเหวี่ยงจากพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนที่สุดคือการตอกย้ำของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ระหว่างการให้พรปีใหม่ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา

            "ตู่ได้ให้สัญญาว่าจะนำความสุขมาให้คนไทยเท่าที่สามารถจะทำได้ ดังนั้นตู่จะต้องดำรงความมุ่งหมายนี้ไว้ให้ได้ว่าเราจะทำทุกอย่าง ขอให้คนไทยมีความสุขมากขึ้น โดยเฉพาะคนยากคนจน..

          ..ตู่ใช้กองหนุนไปเกือบหมดแล้ว แทบจะไม่มีกองหนุนเหลืออยู่แล้ว แต่ว่าถ้าเราสามารถแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาดีที่มีต่อประชาชนชาวไทย กองหนุนก็จะมาเอง เพราะฉะนั้นขอให้ดำรงความมุ่งหมายเพื่อเติมกองหนุนมากขึ้นให้ได้ ผมเชื่อว่าตู่ทำได้ พวกเราทุกคนก็ทำได้ และกำลังทำกันอยู่..

          ..ข้อสำคัญที่สุดก็คือขอให้ประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีกับชาวไทย ว่าคนไทยที่ดีคืออย่างไร ก็ขอแสดงความชมเชยและภูมิใจในการกระทำของคณะรัฐบาลตู่ และขอย้ำอีกทีว่า ที่ตู่พูดว่าจะนำความสุขมาให้คนไทยจะต้องดำรงความมุ่งหมายนี้ให้ได้แม้จะเหนื่อยยากก็ตาม" พล.อ.เปรม ระบุ

            เป็นเหมือนคำเตือนจากบุคคลสำคัญ ที่เป็นกุญแจในช่วงวิกฤติการเมืองทุกยุคทุกสมัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์คงตระหนักดีถึง "ราคา" และ "น้ำหนัก" ในคำอวยพรของ พล.อ.เปรมในวันนั้น

            มิพักต้องเอ่ยถึง "กองหนุนใหม่" ที่อาจไม่ใช่กองหนุนในความหมายของ พล.อ.เปรม แต่ก็เป็น "กองหนุน" ที่ คสช.ต้องการมีไว้ในหน้าตักเพื่อเดินไปสู่เกมเลือกตั้ง โดยการดำเนินการของ คสช.ก็อยู่ในการจับตามองของนักการเมืองที่จะถูกเขี่ยตกกระดานอำนาจ

            ภาพถ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกับนักการเมืองตระกูล “สะสมทรัพย์” จึงตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงดีลการเมืองเพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่ออีกสมัย

          แม้ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงว่า "ไม่มีดีลอะไรกับใคร"!!

          "ผมก็ถ่ายภาพได้กับทุกคน ใครอยากถ่ายด้วยก็ให้หมด  ไม่เห็นหรือ ถ่ายมาไม่รู้กี่รูปแล้ว ทุกคนขอถ่ายก็ให้ถ่าย จะรังเกียจเขาได้หรือไม่ ถ้าเขาไม่ขอ แล้วผมไปเสนอตัวไปให้เขาถ่ายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่เคยไปเสนอตัว เขาขอก็ให้ถ่าย และไม่ว่าจะใครมาขอถ่ายก็ให้ถ่ายร่วมได้ทั้งนั้น อย่าไปมองว่าเป็นการตกลง หรือเป็นการดีลกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นคงไม่ต้องไปไหนกันแล้ว..

          ..จำไม่ได้นานมาแล้ว ตนไปเล่นกอล์ฟ มีคนบอกว่าจังหวัดมีสนามกอล์ฟที่ดีที่สุด แถมได้รางวัล ก็อยากรู้ว่าสนามกอล์ฟนั้นดีแค่ไหน เพราะเราไม่เคยไปตรงนั้นเลย ก็อยากไปดูเขาหน่อย พื้นที่ใครก็ยังไม่รู้เลย ผมก็ว่าสวยงาม แต่ความจริงคนกลุ่มนี้มาอยู่แล้ว ดูเหมือนว่าเขาจะเป็นเจ้าของด้วย สัปดาห์หนึ่งเขาก็จะมานั่งที่สนามกอล์ฟแห่งนี้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ และตอนที่จองก็ให้คนอื่นไปจองเท่านั้นเอง"

          แม้ว่าทั้ง พล.อ.ฉัตรชัย และนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์    อดีต รมว.แรงงาน จะออกมาปฏิเสธ และปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ ว่า เป็นความบังเอิญที่นายกรัฐมนตรีไปตีกอล์ฟส่วนตัว แต่ไปเจอ "ทีมสะสมทรัพย์" ที่ไปกินข้าวโดยบังเอิญก็ตาม

            ขณะที่แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า ผู้ใหญ่ในพรรคได้มีการวิเคราะห์กันมานานพอสมควร การเลือกตั้งครั้งหน้าตระกูลสะสมทรัพย์ซึ่งมีฐานเสียงในพื้นที่จังหวัดนครปฐม อาจไม่อยู่กับเราแล้ว เพราะหลังรัฐประหาร ได้รับแรงบีบค่อนข้างหนัก ทั้งถูกตรวจค้นบ้าน ถูกระบุว่าอยู่ในข่ายผู้มีอิทธิพล ยิ่งเห็นภาพถ่ายดังกล่าวแล้ว ยิ่งมั่นใจตระกูลสะสมทรัพย์คงไม่อยู่แน่

            อย่างไรก็ตาม ตระกูลสะสมทรัพย์ ถูกทหารสนธิกำลังตำรวจ ฝ่ายปกครองกว่า 300 นาย บุกค้นบ้านภายใต้ปฏิบัติการ "นครปฐมร่มเย็น" เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559

            ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ว่ายุทธศาสตร์ คสช. ต้องการให้พรรคเพื่อไทยแตก โดยการไปเจาะกลุ่ม ส.ส.มุ่งต่างๆ ที่อยู่ระหว่างมีคดีความติดตัว โดยมีเป้าหมายรวบรวมเสียง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งหน้า ให้เพียงพอกับการสนับสนุน นายกรัฐมนตรีคนนอก และสามารถทำงานในสภาฯ ได้อย่างราบรื่น

            ซึ่งดูจากการประเมินสถานการณ์ทั่วไป มีการมองว่านอกจากกลุ่ม "กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ", พรรคภูมิใจไทย, กลุ่มมัชฌิมาของสมศักดิ์ เทพสุทิน แล้ว ยังมีการสร้าง "ตัวเลือก"  พรรคเล็กไว้อีก 2-3 พรรคด้วย 

            ส่วนผู้จัดการรัฐบาลเดิมที่เป็นเป้าหมายใหญ่และถูกโจมตีอย่าง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำลังสะบักสะบอมจากมรสุมในหลายเรื่อง  ทำให้สถานะในการ "เปิดดีล" ต้องส่งไปให้คนที่ คสช.ไว้วางใจ  จนมีการมองไปที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่มีศักยภาพในการรวบรวมบุคคลในภาคเอกชน ที่มีความรู้ ความสามารถ เข้ามาเป็นตัวเลือกให้กับประชาชน เช่นเดียวกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ กลายเป็นแกนในการ "เปิดดีล" กับกลุ่มต่างๆ ตามที่มีกระแสข่าวสะพัดในห้วงที่ผ่านมา

            ประเด็นที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลและ คสช.จะเดินเกมเหล่านี้ได้อย่างตลอดรอดฝั่งก็ต่อเมื่อมีประชาชนเห็นด้วย และสนับสนุน โดยเฉพาะข้อเสนอแนะของ พล.อ.เปรม ที่ระบุว่า นายกฯ  ต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้ว่านำความสุขมาให้คนไทยเท่าที่สามารถจะทำได้ โดยต้องดำรงความมุ่งหมายให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น โดยเฉพาะคนยากคนจน

            ในปีหน้า คสช.จึงต้องใช้เวลาที่เหลือในการสร้างผลงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนพึงพอใจและเห็นว่ารัฐบาลทหารสามารถช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงใจได้มากกว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ในทางตรงกันข้าม พรรคการเมืองที่ต้องสู้ศึกในสนามเลือกตั้งก็ต้องพุ่งเป้าโจมตีว่า  คสช.ไร้ผลงาน อีกทั้งแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด อีกทั้งยังออกนโยบายเอื้อต่อนายทุน ไม่คำนึงถึงประชาชน

            "ปีหน้าเขาต้องทำทุกอย่างให้ประชาชนเห็นว่า คสช.ทำงานไร้ผล หักล้างทุกอย่างในสิ่งที่ คสช.ทำ ใช้รัฐบาลทหารเป็นเครื่องมือในการหาเสียงให้พรรคการเมือง โดยเฉพาะม็อบที่ได้รับความเดือดร้อนนั้น ทหารที่ทำหน้าที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ต้องลงไปชี้แจงทำความเข้าใจ แยกแยะให้ดีว่าชาวบ้านเดือดร้อนจริงหรือ ม็อบการเมือง นายก็อย่าปล่อยให้ลูกน้องจัดการปัญหาเพียงลำพัง เพราะการตัดสินใจแยกแยะเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย เป็นเรื่องสำคัญ" แหล่งข่าวอ้างคำพูด พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. ให้นโยบายในที่ประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกวาระพิเศษ 

            แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะมี ม.44 เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา  และทำให้งานเดินหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ปีหน้าการใช้กฎหมายพิเศษก็จะถูกตั้งคำถามมากขึ้น

            ความท้าทายที่สำคัญคือ "โมเดล" ที่ คสช.คิดค้นขึ้นเพื่อยุทธศาสตร์ รากฐานการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง 20 ปี และยังเป็นเกราะป้องกันการ "เช็กบิล" ย้อนหลังจากคนที่จะมีอำนาจในอนาคต โดยใช้วิธีคงอำนาจคู่ขนานไว้ในมือผลกลไก รัฐธรรมนูญ และยุทธศาสตร์ชาติ จะไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่

            เพราะเอาเข้าจริง คนที่จะตัดสินใจว่า คสช.จะผ่านด่านนี้ไปได้หรือไม่ คือ "ประชาชน" คนในชาตินั่นเอง!!.   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"