'โกษาเหล็ก' ผู้เป็นมากกว่าทหารเอกคู่ใจ 'เจ้าฟ้านารายณ์'


เพิ่มเพื่อน    

ในละครบุพเพสันนิวาส "ขุนเหล็ก" เจ้าพระยาโกษาธิบดีเหล็กถูกโบยจนเสียชีวิตไปแล้ว พร้อมๆ กับบทสนทนาระหว่าง เจ้าพระยาโกษาธิบดีเหล็ก กับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่อนที่ว่า

"ไอ้เหล็ก กูจะถามมึง.......

มึงรับเงินสินบนมาจากไอ้พวกไม่อยากให้สร้างป้อมหรือไม่?" จนถึง......

"ไอ้เหล็ก มึงตอบกูมาอีกที ข้าจะถามเอ็งเป็นครั้งสุดท้าย....

เอ็งยังยืนกรานคำตอบเดิมอยู่ฤๅ?"

ได้สะท้อนสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน ในหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะความโปร่งใส ซึ่งสังคมไทยในปัจจุบันโหยหาอย่างถึงที่สุด 

มาทำความรู้จักขุนเหล็ก ทหารเอกคู่ใจแห่งเจ้าฟ้านารายณ์กันอย่างละเอียด เพราะบทบาทในละครบุพเพสันนิวาสนั้นเพียงน้อยนิด ขณะที่ขุนเหล็กกับเจ้าฟ้านารายณ์ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ว่ารู้จักกันตั้งแต่เยาว์ เป็นทั้งเพื่อน ทั้งนาย และเจ้าชีวิต ตลอดจนวาระสุดท้ายที่เราเห็นในบุพเพสันนิวาส 

 ขุนเหล็กเป็นบุตรชายคนโตของพระนมบัว ซึ่งมีเชื้อสายวงศ์พระร่วงและเป็นพระนมเอกในเจ้าฟ้านารายณ์ ขุนเหล็กมีน้องสาวคนรองชื่อ คุณแจ่ม และมีน้องชายคนเล็กชื่อ คุณปาน    

เมื่อครั้งยังเยาว์วัย ขุนเหล็กเป็นพระสหายสนิทที่ร่วมเรียน ร่วมเล่น และร่วมซ้อมดาบ ร่วมซ้อมขี่ม้ากับพระนารายณ์และสหายคนอื่น ซึ่งต่อมาก็คือทหารเอกทั้ง 9 ของเจ้าฟ้านารายณ์ ประกอบด้วย คุณทองคำ บุตรชายของพระนมเปรม เจ้าน้อย เจ้าชู และเจ้าสังข์ จนกระทั่งเข้าสู่วัยหนุ่ม ขุนเหล็กต้องเดินทางไปฝึกดาบและร่ำเรียนวิชาต่างๆ กับครูเดช และเจ้าคุณชุ่มที่เมืองสวรรคโลก  

จนเวลาล่วงเลยไปถึง 7 ปี ขุนเหล็กได้ร่ำเรียนวิชาต่างๆ จนสำเร็จดีแล้ว และเมื่อได้รับสาส์นเรื่องที่พระศรีสุธรรมราชาหมายที่จักชิงพระราชบัลลังก์จากการส่งข่าวของเจ้าปานแล้ว ขุนเหล็กจึงต้องเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาโดยทันที พร้อมด้วยเจ้าทิป บุตรชายออกยาเมืองสวรรคโลกที่มีความสามารถในเชิงทวนและเจ้าสอนเพื่อมาถวายตัวเป็นข้าในเจ้าฟ้านารายณ์  

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้สิ้นพระชนม์ ได้ทรงมอบพระขรรค์แสงไชยศรีแก่เจ้าฟ้าไชย พระโอรสองค์โตเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินต่อจากพระองค์นั้น ซึ่งได้สร้างความไม่พอพระทัยแก่พระศรีสุธรรมราชาผู้เป็นพระอนุชาของพ่อเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก พระศรีสุธรรมราชาจึงได้ทรงหารือกับเจ้าฟ้านารายณ์เรื่องที่จะชิงพระราชสมบัติจากเจ้าฟ้าไชย ซึ่งในการครานั้นขุนเหล็กและข้าในเจ้าฟ้านารายณ์คนอื่นๆ ก็ร่วมปฏิบัติกิจในครั้งนี้จนสำเร็จ   

เมื่อพระศรีสุธรรมราชาได้เป็นกษัตริย์องค์ต่อมา พระองค์ก็ไม่สามารถทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรมได้ และยังได้ทรงกระทำการอันไม่สมควรต่อพระราชกัลยาณีผู้ที่เป็นพระนัดดาในสายโลหิตเดียวกัน ซึ่งสร้างความไม่พอพระทัยต่อเจ้าฟ้านารายณ์เป็นอย่างมาก พระองค์จึงมีรับสั่งให้ขุนเหล็กเรียกประชุมเหล่าขุนนางข้าราชการ เพื่อที่จะยกไพร่พลเข้าต่อตีชิงพระราชบัลลังก์จากพระศรีสุธรรมราชาคืน   โดยที่พระองค์ได้ทรงเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาแทนสืบต่อมา 

เมื่อกิจครานั้นผ่านไป เหล่าขุนนางข้าราชการและขุนศึกทั้งหลายก็ได้เลื่อนยศด้วยกันทั้งสิ้น คือ พระนมบัวได้เลื่อนยศเป็นเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมเปรมเป็นท้าวศรีสัจจา คุณทองคำเป็นพระเพทราชา  เจ้าสอนเป็นพระยาสุรสงคราม เจ้าทิปเป็นพระยาสีหราชเดโชไชย มีเพียงขุนเหล็กเท่านั้นที่ยังไม่ได้รับการเลื่อนยศแต่อย่างใด 

แต่ขุนเหล็กก็ยังคงเป็นที่ปรึกษาของเจ้าฟ้านารายณ์เสมอมา ขุนเหล็กมีภรรยา 1 คนคือคุณนิ่ม ซึ่งเป็นพี่สาวของคุณทิป และเป็นบุตรีของท่านพระยาเกษมสงคราม เจ้าเมืองสวรรคโลก    

ต่อมาขุนเหล็กได้ควบคุมให้ทหารซ้อมกลศึกและสั่งให้ทหารนำไม้ไผ่ที่มีปลายแหลมปักลงดิน แต่มีทหารนายหนึ่งขัดคำสั่งไม่นำปลายแหลมของไม้ไผ่ปักลงดิน ขุนเหล็กจึงสั่งให้เอาทหารนายนั้นไปตัดหัวเสียบประจาน เนื่องจากไม่ยอมทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา 

ด้วยความเที่ยงตรงและรอบรู้ทุกด้าน ต่อมาเมื่ออัครมหาเสนาบดี อับดูร์ ลัคซัค ได้กระทำผิด โดยที่ไม่ได้ตั้งใจทำราชการอย่างจริงจัง กลับใช้อำนาจข่มเหงรังแกขุนนางน้อยใหญ่ ชอบอวดอำนาจพกปืนไฟเป็นนิตย์ หากไม่พอใจใครก็ใช้ปืนไฟสังหาร สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงให้นำไปลงทัณฑ์ แล้วแต่งตั้งให้ เจ้าคุณเหล็กเป็นพระยาโกษาธิบดีคนใหม่แทน  

เมื่อกรุงอังวะได้ยกทัพมาต่อตีกับทัพกรุงศรีอยุธยา โดยในครานั้นกองทัพกรุงศรีอยุธยามีเจ้าพระยาโกษาเหล็กเป็นแม่ทัพใหญ่ได้ต่อตีทัพอังวะพ่ายกลับไป ทัพพระยาสีหราชเดโชไชยที่ดักรออยู่ด้านหลังก็เข้าตีซ้ำ จนไพร่พลทัพหน้าของอังวะล้มตายเสียเป็นอันมาก เมื่อกองทัพเจ้าพระยาโกษาเหล็กแลทัพพระยาสีหราชเดโชไชยเข้ามาสมทบกันแล้ว จึงร่วมกันตามตีทัพอังวะไปจนถึงทัพหลวง มังสุรราชาแม่ทัพใหญ่พม่าจึงนำพลออกต่อสู้ 

แต่ด้วยไพร่พลเสียกระบวนทัพไปเสียแล้ว ประกอบกับมังสุรราชาถูกปืนไฟบาดเจ็บ กองทัพหลวงอังวะจึงแตกพ่าย เจ้าพระยาโกษาเหล็กแลพระยาสีหราชเดโชไชยเห็นเป็นทีจึงเข้าตีซ้ำ แลร่วมกันขับไล่กองทัพอังวะออกไปจนสุดขอบเขตขัณฑสีมา 

สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้เกณฑ์ไพร่พลจำนวนหกหมื่น ยกทัพขึ้นไปตีตอบโต้พม่าเยี่ยงสมเด็จพระบูรพกษัตริย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงกระทำไว้เป็นแบบอย่าง ในครานั้นโปรดให้กองทัพกรุงศรีอยุธยายกทัพไปเป็น ๔ ทาง คือ พระยารามเดโชคุมกองทัพเชียงใหม่ไปทางเมืองผาปูนทางหนึ่ง  พระยากำแพงเพชรคุมกองทัพหัวเมืองเหนือยกไปทางด่านแม่ละเมาทางหนึ่ง

 เจ้าพระยาโกษาเหล็กเป็นแม่ทัพใหญ่ พระยาสีหราชเดโชไชยเป็นแม่ทัพหน้า พระยาวิชิตภักดีคุมยกกระบัตรทัพ พระยาสุรินทรภักดีคุมทัพเกียกกาย แลพระยาสุรสงครามคุมทัพเป็นกองหลังยกไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทางหนึ่ง แลให้พระยาเกียรติแลสมิงพระรามคุมกองมอญยกไปทางเมืองทวาย  เพื่อป้องกันมิให้เมืองทวายตีโอบหลังอีกทางหนึ่ง

 เจ้าพระยาโกษาเหล็กจึงเรียกให้กองทัพทั้งหมดมาประชุมทัพกันที่เมืองเมาะตะมะ ก่อนยกทัพเข้าตีเมืองรายทางจนสำเร็จแล้วยกทัพไปต่อตีเมืองอังวะ แต่เจ้าเมืองอังวะไม่ยอมออกมาต่อตีด้วย ไม่ว่าเจ้าพระยาโกษาเหล็กจักเขียนจดหมายไปท้ารบเพียงใดก็ไม่ยอมออกมา เจ้าพระยาโกษาเหล็กจึงได้สั่งทหารให้ล่าทัพกลับกรุงศรีอยุธยา 

แต่ก่อนที่จะล่าทัพกลับนั้น เจ้าพระยาโกษาเหล็กก็ได้ให้เชลยพม่านำหนังสือของท่านอีกฉบับหนึ่งเข้าไปส่งในเมืองให้พวกพม่าอ่านเล่นกัน จักได้เข็ดขยาดมิกล้าตามไปต่อตีถึงกรุงศรีอยุธยาอีกต่อไป  และหลังจากเสร็จการศึกในกรุงอังวะและคืนกรุงศรีอยุธยามาแล้ว พระยาโกษาธิบดีเหล็กทหารเอกแห่งพระนารายณ์ก็ได้พบหน้าบุตรชาย ซึ่งเกิดจากภรรยาคนเดียวคือคุณหญิงนิ่ม และท่านได้กลับมารับราชการเป็นออกญาพระคลัง และกรุงศรีอยุธยาก็ปลอดจากการรุกรานของทัพพม่าต่อมาอีกเจ็ดสิบปี

เมื่อเจ้าพระยาโกษาธิบดีได้นำทัพขึ้นไปตีหักเอาเมือง จิตตอง สิเรียม ย่างกุ้ง หงสาวดี แปร จนมาถึงพุกามเมืองหน้าด่านสุดท้ายของกรุงอังวะ มังจาเลราชบุตรแห่งพระเจ้ากรุงอังวะก็ได้เกณฑ์ไพร่พลจากกรุงอังวะมาตั้งรับทัพกรุงศรีอยุธยาเสียสิ้น แลได้ให้แม่ทัพนายกองยกทัพออกมาต่อรบ กองทัพไทยพยายามตีเอาเมืองพุกามหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถตีหักเอาเมืองได้ เนื่องด้วยชาวเมืองต่างก็ช่วยกันป้องกันเป็นสามารถ เจ้าพระยาโกษาธิบดีเห็นไพร่พลต่างก็อดอยากล้มเจ็บเสียเป็นอันมากแล้ว จึงถอยทัพกลับกรุงศรี 

เจ้าพระยาโกษาเหล็กจึงให้ทัพชาวเชียงใหม่ที่ติดตามไปด้วยเดินรั้งทัพอยู่เบื้องหลัง แลได้ให้เลิกทัพกลับไปโดยลำดับมารควิถี ตราบเท่าถึงเมืองหงสาวดีก็ให้หยุดยั้งทัพอยู่ที่นั้น ในเพลานั้นเองฝ่ายแสนท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเดินรั้งทัพหลังเห็นว่าทัพกรุงศรีอยุธยาตีเมืองอังวะมิได้อย่างเด็ดขาด ก็บังเกิดความเกรงกลัวพระเจ้าอังวะ จึงปลีกตัวแยกทัพหนีไปทางเมืองเชียงใหม่

เมื่อความทราบถึงเจ้าพระยาโกษาเหล็กผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ จึงได้บัญชาให้พระยากำแพงเพชรแลพระยารามเดโช (ชู) นำไพร่พลเมืองเหนือจำนวนสองหมื่นคนยกติดตามไปตีตอบโต้ถึงเมืองเชียงใหม่ เมื่อสำเร็จจึงยกทัพกลับและได้นำตัวเครือฟ้าคนรักของเจ้าคุณทิปเดินทางกลับมายังกรุงศรีอยุธยาหลังจากนั้น ๑๐ ปีต่อมาที่เมืองตะนาวศรี

พูดถึงฟอลคอน เดิมเป็นชาวกรีกเมื่ออายุ ๑๖ ปีได้ถูกพ่อนำมาขายให้เป็นกะลาสีเรือของชาวอังกฤษถึง ๑๒ ปี ต่อมาได้รับการชักชวนจากสหายคือ ริชาร์ดและไวต์ให้เข้ามาค้าขายและได้ลักลอบขายศาสตราวุธ ปืนไฟ และกระสุนดินดำให้พวกกบฏทางใต้ แต่เรือได้ประสบกับพายุจนเรือแตก  

ต่อมาพระยาสุรสงครามและฮาจิจึงมาพบเข้าและได้ช่วยเหลือเอาไว้ จากนั้นพาทั้งสามมาพบกับเจ้าพระยาโกษา ท่านเห็นว่าฟอลคอนผู้นี้เป็นกะลาสีเรือของชาวอังกฤษมาหลายปี น่าจะรู้เล่ห์เหลี่ยมของชาววิลาศที่มาค้าขาย น่าจะเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินจึงนำตัวเข้ามาช่วยดูแลบาญชีต่างๆ จนได้รับความดีความชอบ เนื่องด้วยสามารถจับผิดเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของพวกแขกมัวร์ได้ 

สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงแต่งตั้งให้ฟอลคอนเป็นออกหลวงคอยช่วยงานเจ้าพระยาโกษาเหล็ก    และเป็นคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์ ถึงกับได้ตามเสด็จพระองค์พร้อมด้วยเจ้าฟ้าน้อย (พระอนุชา)  กรมหลวงโยธาเทพ (พระราชธิดา) ไปทอดพระเนตรการสร้างพระราชวังที่เมืองลพบุรีด้วย 

แต่ต่อมาเจ้าพระยาโกษาเหล็กก็ถูกสมเด็จพระนารายณ์มีพระบัญชาสั่งให้ลงราชทัณฑ์จนอาการสาหัส เนื่องด้วยฟอลคอนมาเท็จทูลฟ้องว่า เจ้าพระยาโกษาเหล็กรับสินบนจากชาวบ้านให้มาทูลขอพระนารายณ์ให้ทรงยกเลิกการสร้างป้อมปราการ

ซึ่งในระหว่างนั้นได้มีคณะราชทูตจากพระเจ้ากรุงปารีสเข้ามาถวายพระราชสาส์นเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีด้วย หลังจากนั้นเจ้าพระยาโกษาเหล็กก็ถึงแก่อสัญกรรมเนื่องจากแผลติดเชื้อ และในเพลาต่อมาเจ้าคุณทิปก็ตรอมใจตายตามไปอีกคน 

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงสูญเสียแม่ทัพเหล็กผู้เป็นเสาหลักแห่งกรุงศรีอยุธยาไปแล้ว ก็ทรงเศร้าโศกพระราชหฤทัยเป็นยิ่งนัก ใคร่จักระงับพระราชหฤทัยด้วยทิพย์รสแห่งกานท์กวี เป็นเหตุให้ทรงรำลึกถึงศรีปราชญ์รัตนกวีคู่พระราชหฤทัยขึ้นมาได้ 

จึงโปรดให้นำตัวเจ้าศรีปราชญ์คืนมายังกรุงศรีอยุธยา แต่หาได้ตัวกลับคืนมาไม่ ด้วยศรีปราชญ์ได้ถูกเจ้าพระยานครกุมเอาตัวไปล้างเสียแล้ว จึงทรงพิโรธ มีพระราชบัญชาให้พระยารามเดโชนำทัพไปกุมเอาตัวเจ้าพระยานครล้างเสียด้วยดาบเล่มเดียวกันกับที่ใช้ประหารศรีปราชญ์เพื่อให้ตายตกไปตามกัน.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"