'ชุดไทย' กับ 'ความเป็นไทย'


เพิ่มเพื่อน    

      ก็อยากติง "กระทรวงวัฒนธรรม" สักนิด

      การชักจูงคนไทย ให้หันมา "สนใจ-ศรัทธา" ในรากความเป็นไทยของตัวเอง นั้น

      "ประเสริฐ"!

      แต่ถึงขั้นทำหนังสือเวียนถึงสถานศึกษา-หน่วยราชการ ใน ๑ สัปดาห์ ให้แต่งชุดไทยซัก ๑ วัน เช่น วันศุกร์ นั้น

      "เวอร์ไป"!

      แค่ "นายกฯ ประยุทธ์" พูด.............

      ในส่วนรัฐบาลเอง วันอังคารเราแต่งชุดผ้าไทยอยู่แล้ว ผมก็ไม่ได้ห้าม ถ้าใครจะแต่ง 'ชุดไทยย้อนยุค' เข้ามาประชุม

      หรือ ข้าราชการจะแต่ง 'ชุดไทยย้อนยุค' มาทำงานก็ได้

      ผมก็อยากเห็นหลากหลาย แพร่ไป

      ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาหรือสถานการทำงานของเอกชน ธุรกิจต่างๆ

      ถ้าแต่งชุดเหล่านี้มาทำงาน ก็ดูน่าสนใจดี..........

      แล้วก็ดูทุกคนก็มีบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลง ไม่ซึมเศร้า เหงาหงอย แต่ข้อสำคัญก็คือ อย่าไปบังคับ

      แค่นี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดย "กรมส่งเสริมวัฒนธรรม"

      รีบทำหนังสือ "ขอความร่วมมือ" ไปตามหน่วยราชการ สถานศึกษาต่างๆ

      ให้แต่ง "ชุดไทย" ในวันศุกร์ทันที!

      เคราะห์ดี ที่ไม่ทำหนังสือไปตามบริษัท-ห้างร้านทั้งหลายด้วย

      คำว่า "หัวลูกเต๋า" เป็นอย่างไร?    

      ดูได้จากการทำงานของคนในระบบ "ข้าราชการ" นี่แหละ

      "ขอความร่วมมือ" ในหนังสือราชการ เจตนาก็ไม่ต่างกับคำสั่ง "ให้ปฏิบัติ" ซักเท่าไหร่หรอก

      เรื่องนี้ มันเป็น "นามธรรมปรารถนา" ในจินตนาการผู้นำ ด้วยจำลองสังคมอดีตคืนปัจจุบัน    

      ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติ.........

      เมื่อจะปฏิบัติ ต้องใช้ "กระบวนทัศน์" ตีโจทย์นั้นให้แตกก่อน ค่อยนำมากำหนดเป็น "รูปธรรม" ด้วยวิสัยทัศน์ สู่กรอบปฏิบัติ

      ไม่ใช่ได้ยินนายกฯ พูด "ชุดไทย"

      กระทรวงวัฒนธรรมก็สรุป "แต่งชุดไทย" แล้ว "ความเป็นไทย" ตามจินตนาการนายกฯ จะคืนกลับมาได้งั้นแหละ

      แบบนั้น คือการทำเลขเด็กอนุบาล ๑+๑ = ๒

      แต่นี่ ระดับ "กระทรวงวัฒนธรรม" น่าเข้าใจความ "ตื้น-ลึก" ในคำว่า "ชุดไทย" กับ "สำนึกไทย"

      ฟังคล้ายกัน ถ้าพินิจระดับกระทรวง จะเห็นต่างกัน!

      "ชุดไทย" แค่เปลือกคิด

      "สำนึกไทย" คือแก่นทำ

      กระทรวงวัฒนธรรม ทำ "สำนึกไทย" ให้เกิด ก็ไม่ต้องไปทำหนังสือขอความร่วมมือใครให้แต่ง "ชุดไทย"

      สำนึกจะบอกแต่ละคนรู้เอง ว่าจะแต่ง-ไม่แต่งตอนไหน?

      การรณรงค์ก็ดี ขอความร่วมมือก็ดี กระทั่งออกกฎเกณฑ์ให้แต่งก็ดี

      ไม่ต่าง "ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า"!

      ก็ได้ความเป็นไทยแค่เปลือกชั่วครั้ง-ชั่วคราว เผลอๆ การบังคับนั้น จะทำให้เกิดทัศนคติ "ชังชาติ" กับบางคนด้วยซ้ำ!

      "ความเป็นไทย"...........

      อย่าสรุปแค่แต่ง "ชุดไทย-ผ้าไทย" แล้วความเป็นไทยจะกระโดดออกมาเหมือนยักษ์ในตะเกียงวิเศษ

      ที่คนแต่ง "ชุดไทย" เวลานี้ ไม่ใช่ "กรมส่งเสริมวัฒนธรรม" เป็นตัวสร้าง-ตัวนำกระแส

      "บุพเพสันนิวาส" ตะหาก เป็นตัวนำ-ตัวสร้างกระแสไทย

      และไม่ใช่แค่ชาวบ้าน "ตามกระแส"

      กระทรวงวัฒธรรมเอง ก็เป็นผู้ตามและผู้เกาะกระแสตื่นไทย

      ตอนนี้ถึงขั้น "โหน" กระแส.........

      นัยว่า "ขุนหมื่น-แม่การะเกด" จะมาเยือน "มหาเสนาบดีประยุทธ์" ถึงทำเนียบมิใช่ฤๅ?

      กระแส ก็คือ กระแส กระทรวงวัฒนธรรมต้องเข้าใจ

      ถ้าถาม "แปลว่าอะไร?"

      กระแสก็แปลว่า "ไฟไหม้ฟาง" ยังไงล่ะ!

      "ความเป็นไทย" ในคนไทย "มันมีในสายเลือด" อยู่แล้ว

      หากแต่อยู่แบบหลับ ไม่มีใครปลุกมัน

      พอละคร "บุพเพสันนิวาส" ไปปลุก มันก็ตื่นไปทั้งบ้าน-ทั้งเมืองอย่างที่เห็น!

      แต่จงเข้าใจ..........

      ละครจบ กระแส "ขุนหมื่น-แม่การะเกด" จาง ยักษ์ในสายเลือดไทย ก็จะพับ "ชุดไทย" เก็บ แล้วไปหลับต่อ

      ที่เหลือ จะอยู่ในสภาพ "ลิเกหลงโรง"

      แล้วที่ขอร้องเชิงบังคับเขาให้แต่ง อย่างพวกข้าราชการ สถานศึกษา ทำไงล่ะทีนี้?  

      "เอ้อเร้อ-เอ้อเต่อ".........

      "ไม่ซึมเศร้า-เหงาหงอย" ภาคบังคับอยู่ฝ่ายเดียว!

      ข้าราชการนี่ ดูไปก็น่าสงสาร เหมือนตัวละครลิง ยุคไหน ผู้นำของขึ้น ให้แต่ง "เครื่องแบบราชการ"

      เอ้า...ต้องเสียเงินไปซื้อ-ไปตัดชุดราชการมาแขวนรอไว้ใส่สนองนโยบาย สัปดาห์ละครั้ง

      ตอนนี้เห่อ "ชุดไทย" ก็คงต้องไปซื้อชุดไทยมาใส่สัปดาห์ละครั้งอีก

      จะให้เป็น "นายแบบ-นางแบบ" หรือจะให้ทำงานกันก็ไม่ทราบ ใน ๗ วัน หยุดเสาร์-อาทิตย์ ๒ วัน

      เป็นนายแบบ-นางแบบ ๒ วัน ทำงานจริงๆ ๓ วัน ถ้ามีวันนักขัตฤกษ์ เหลือ ๒ วัน

      เจริญละ ประเทศนี้!

      เอ้า...แต่งก็แต่ง แต่ขอถาม "กระทรวงวัฒนธรรม" ขั้นต้นเพื่อการแต่งให้ตรงกัน ว่า

      แบบไหน คือ "ชุดไทย" ที่รณรงค์ให้แต่ง?

      ตอบได้มั้ย.........

      และกระทรวงวัฒนธรรมเคยกำหนดรูปแบบ "ชุดไทย" ทั้งของหญิง-ของชาย สอดคล้องยุคสมัยเป็น "ต้นแบบ" ให้คนนำไปตัดหรือยัง?

      ถ้าไม่มีงานวัด-งานประเพณี ก็สงสัยว่า.......

      คนกระทรวงวัฒนธรรมจะ "ตีโจทย์" คำว่าวัฒนธรรมได้งอกเงยไปกว่านั้นหรือไม่?

      "ชุดไทย" นี่ เท่าที่สังเกต มุ่งที่สตรี นุ่งผ้าถุง โจงกระเบน ห่มผ้าแถบ พาดสไบเฉียง

      เขามีไว้แต่งเฉพาะไปงาน ไม่ใช่มีให้แต่งไปทำงานหรือไปเรียนหนังสือ

      ชุดไทย ก็เหมือน ชุดสูทฝรั่ง ยึด "ภูมิประเทศ-ภูมิอากาศ" เป็นแกน ในการออกแบบ

      "ชุดสูท" เป็นชุดร้อนคนเมืองหนาว ส่วน "ชุดไทย" เป็นชุดเย็นคนเมืองร้อน

      คนเมืองหนาวใช้สูทได้ตลอด แต่คนเมืองร้อนอย่างไทย มีฤดูกาลต่างกัน

      "กาลเทศะ" จึงเป็นตัวกำหนด "ชุดไทย"

      ผ่านทาง "เทศกาล งานบุญ-งานประเพณี พิธีมงคล พิธีทางการ"

      ฝรั่งจะสวมสูทเป็นชุด "อเนกประสงค์" ตลอด ๔ ฤดูกาล

      ส่วนคนไทย จะใส่ "ชุดไทย" ไม่ว่าหน้าร้อน-หน้าหนาว-หน้าฝน มันก็ใส่ได้ ไม่มีใครห้าม

      แต่มันสะดวก สอดคล้องภูมิประเทศ-ภูมิอากาศมั้ยล่ะ?

      ชุดไทย จึงเป็นชุดพิเศษ สำหรับออกงาน

      ใส่ไปทำงาน-ทำการ มันไม่สะดวก จะเหมาะและสะดวกกับงานบางประเภทเท่านั้น

      ฉะนั้น การปฏิบัติในความเป็น "ชุดไทย"

      ต้องใช้ให้ ถูกกาล, ถูกเวลา, ถูกสถานที่, ถูกบุคคล, ถูกสถานะ, ถูกงาน จึงจะกลมกลืน เหมาะสม

      ดังนั้น เรื่องชุดไทย ใครจะแต่งตามกระแส หรือแต่งด้วยความเป็นไทยอยู่ในสายเลือด

      กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ก็เสริมไปเถอะ

      แต่อย่าเลอะเทอะ โหนกระแส ไปขอความร่วมมือเชิงสั่ง ให้เขาแต่ง เช่น สัปดาห์ละครั้ง

      นึกทางเป็นจริงดูซี.........

      แต่งชุดไทย โหนรถเมล์ ตากแดด-ตากฝน-ตากฝุ่น ในอากาศอบอ้าว เหงื่อพลั่กทั้งตัว

      อยู่กับที่พอว่า

      แต่ถ้ามีกิจกรรม ต้องไปโน่น-ไปนี่ แวะตลาด แวะร้านซื้อแกงถุง เพื่อนชวน

      จะให้เป็นนางในปฏิทินสงกรานต์โดดเด่ตามถนนอย่างนั้นหรือ?

      แต่ง "ชุดไทย" กับเข้าถึง "ความเป็นไทย"...........

      กระทรวงวัฒนธรรมต้อง "ตีโจทย์ให้แตก" ไม่งั้น เดี๋ยวมีละครเรื่องใหม่ จะเดือดร้อนข้าราชการ

      เมื่อ "ชุดไทย" ต้องเปลี่ยน "ทรงใหม่" อีก!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"