2561 ปีแห่งการเลือกตั้ง มีโอกาสเกิดนายกฯ คนนอก


เพิ่มเพื่อน    

 

โอกาส บิ๊กตู่ นายกฯ คนนอก

การเมืองไทยในรอบปี 2561 หลายฝ่ายบอกว่าคือปีแห่งการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง โดยบริบทการเมืองตลอดทั้งปีจะสอดรับกับโหมดเลือกตั้งตามโรดแมปของ คสช. แต่ก็มีหลายภาคส่วนโดยเฉพาะนักการเมือง-นักวิชาการหลายสำนักวิเคราะห์ว่า มีโอกาสไม่น้อยที่การเลือกตั้งอาจเลื่อนออกไปอีก ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงท่าทีการเมืองล่าสุดว่าตนเป็นนักการเมือง และไม่พูดปิดโอกาสตัวเองในการจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง...ในเส้นทางนายกฯ คนนอก

รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมือง วิเคราะห์การเมืองไทยในปี 2561 ว่าเป็นปีที่โหมดการเมืองจะมุ่งไปสู่การเลือกตั้งเป็นหลักใหญ่ แต่ก็มีโอกาสที่จะเลื่อนออกไปอีก ซึ่งหากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นจริงมองว่าประชาชนจะยอมรับได้ยาก และวิเคราะห์ว่ามีโอกาสไม่น้อยที่พลเอกประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งในรูปแบบนายกฯ คนนอก รวมถึงมองว่าจากระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนับทุกคะแนนเสียง จะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองไหนได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง รัฐบาลหลังเลือกตั้งจึงเป็นรัฐบาลผสม และมีโอกาสที่จะเกิดพรรคนอมินีของทหาร รวมถึงพรรคแถวสอง พรรคสาขาสอง ที่พรรคการเมืองใหญ่สนับสนุนอยู่ข้างหลังตั้งขึ้นมาเพื่อเก็บคะแนนเสียงให้มากที่สุด

รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ มองท่าทีล่าสุดของพลเอกประยุทธ์ที่ระบุว่าตนเป็นนักการเมืองว่า เป็นการประกาศในทางการเมืองเพื่อบอกให้ชัดว่าตอนนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทหารแล้ว เมื่อเป็นแบบนี้ก็น่าเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น และหากช่วงเลือกตั้งไม่มีพรรคทหารหรือพรรคนอมินีเกิดขึ้น ก็อาจเป็นไปได้ที่พลเอกประยุทธ์จะให้พรรคการเมืองเสนอชื่อตัวเองอยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ท่าทีดังกล่าวทำให้ต่อไปหากสุดท้ายพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ ก็สามารถบอกได้ว่าไม่ได้กลับคำพูด เพราะบอกไว้ตั้งแต่ตอนนี้แล้วว่าจะลงการเมือง

ถามถึงความเป็นไปได้ที่พลเอกประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ ด้วยช่องทางนายกฯ คนนอก นักวิชาการรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ ด้วยปัจจัยเช่นมี ส.ว. 250 คนที่จะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นกองหนุนของทหาร อีกทั้งโอกาสที่จะมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งชนะเลือกตั้งโดยได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งคงยาก ส่วนข้อเสนอให้สองพรรคใหญ่จับมือกันเพื่อขวางทหาร เป็นแนวทางที่ทำแล้วพรรคการเมืองอาจได้ประโยชน์ แต่ไม่ได้คำนึงว่าประชาชนจะได้อะไร เพราะการที่สองพรรคซึ่งเป็นการเมืองขั้วตรงข้ามกันจะมารวมกันเพียงเพื่อสกัดทหาร ก็ต้องถามว่าแล้วก่อนหน้านี้ที่พรรคเคยเถียงกันเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง หรือการมีนโยบายที่ไม่ตรงกัน แม้ต่อให้มาจับมือกันได้จริง แล้วการบริหารประเทศจะเป็นอย่างไร การทำนโยบายรัฐบาลจะออกมารูปแบบไหน มันไม่มีประเทศไหนที่พรรคการเมืองสองขั้วตรงข้ามจับมือกัน

รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าวถึงโอกาสเกิดนายกฯ คนนอกว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนับทุกคะแนนเสียง และให้พรรคการเมืองเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้ไม่เกินสามรายชื่อ ทำให้การลงคะแนนเสียงของประชาชนต้องคิด 3 อย่าง เพราะเป็นทั้งการเลือก ส.ส. เลือกพรรค และเลือกนายกฯ

...มองดูแล้วน่าจะมีพรรคการเมืองที่เสนอชื่อคนเป็นนายกฯ ได้ประมาณ 4 พรรคการเมือง เท่ากับหาก 4 พรรคเสนอชื่อครบหมด 3 คน ก็คือจะมีแคนดิเดตนายกฯ ให้ประชาชนเห็นก่อน 12 ชื่อ การมองในฐานะประชาชนต้องถามว่า 12 ชื่อที่ประกาศมาไม่มีใครเหมาะสมจะเป็นนายกฯ ได้เลยหรือ จนต้องไปเอาคนนอกที่ไม่ได้มีชื่ออยู่ในตอนหาเสียงเลือกตั้งมาเป็นนายกฯ คำถามคือว่าแล้วประชาชนจะมองอย่างไร

เรื่องนี้ต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนพอสมควร ว่าแคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคการเมืองประกาศมาตอนหาเสียง เช่นมี 12 ชื่อใช้ไม่ได้เลยสักรายชื่อ ธรรมดาประเทศไทยเวลามองรายชื่อคนจะมาเป็นนายกฯ จะให้นึกชื่อมา 12 คนก็หายากแล้ว แล้วจะให้มีชื่อที่ 13 หรือ 14 ขึ้นมาอีก

การที่จะนำคนที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อตอนหาเสียงมาเป็นนายกฯ ในทางการเมืองมันอาจเป็นไปได้ เช่นโหวตเลือกตอนประชุมรัฐสภา โหวตกันอย่างไรก็ไม่ได้ตัวนายกฯ เสียที หรือพรรคการเมืองที่จะตั้งรัฐบาลจับมือกันไม่ได้จน ส.ว.ต้องเข้ามามีส่วนร่วม คือเรื่องนี้ต้องดูสถานการณ์กระแสเวลานั้นด้วย เพราะปี 2535 กระแสประชาชนไม่พอใจ เพราะก่อนหน้านั้นพลเอกสุจินดา คราประยูร บอกว่าจะไม่เป็นนายกฯ จนกระแสสังคมไม่ยอมรับ มาถึงตอนนี้หากมีการเลือกตั้ง มีการตั้งรัฐบาลในปี 2561-2562 จะจัดการกับกระแสสังคมที่อาจไม่ยอมรับนายกฯ คนนอกได้หรือไม่ หรือคนไทยจะโอเคกับการมีนายกฯ คนนอก

การจะให้มีนายกฯ คนนอก ลักษณะแบบนั้นหากจะทำจริงก็ต้องมีการสร้างความเข้าใจให้ได้ ว่ารายชื่อที่พรรคการเมืองประกาศออกมายังไม่มีใครเหมาะสมอีกหรือ

ถามมุมมองหากสุดท้ายบางฝ่ายต้องการให้มีนายกฯ คนนอก ด้วยเหตุผลว่าโหวตในรัฐสภาเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองไม่ได้เพราะเหตุต่างๆ เช่นฝ่ายตั้งรัฐบาลเสียงโหวตไม่ถึง หรือ ส.ว.ที่โหวตเลือกนายกฯ ได้ไม่ยอมโหวตให้ชื่อที่พรรคซึ่งจับมือกันตั้งรัฐบาลเสนอมา ถ้าออกมาแบบนี้ การเมืองจะเป็นอย่างไร รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ ให้ความเห็นว่า ถ้าเกิดกรณีแบบที่ถามมาผมว่าประชาชนก็ต้องช่วยกันออกมาตั้งคำถาม เพราะประชาชนปัจจุบันเขาไม่ใช่ว่าจะเอายังไงก็ได้ ยิ่งก่อนหน้านี้หลายคนต่างมองเรื่องการเมือง นักการเมืองในทางไม่ค่อยดี มองว่านักการเมืองมีแต่ทะเลาะกัน มีแต่เรื่องผลประโยชน์ หากหลังการเลือกตั้งที่คนมองว่าเป็นการเลือกตั้งหลังปฏิรูปการเมือง แล้วการเมืองยังกลับไปในสภาพเดิมคือมีแต่ทะเลาะกัน ตกลงกันไม่ได้ คนก็จะตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ 4 ปี มาถึงตอนนี้แล้วไหนคือการปฏิรูปการเมือง

“ผมมองว่าการจะมีนายกฯ คนนอกเกิดขึ้นก็มีโอกาส แต่หากจะให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น ควรจัดการและทำให้จบตามกติกาการเลือกตั้ง ทุกอย่างควรอยู่ในเกณฑ์ก่อน การทำอะไรออกนอกหลักเกณฑ์จะทำให้เกิดการต่อต้านได้ ถ้าไม่มีเหตุผลอะไรมารองรับ”

โดยประชาชนที่ต้องการเห็นใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องแสดงออก จนพรรคการเมืองนำชื่อคนนั้นมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค มันก็จะเป็นแรงที่ส่งออกมาจากข้างนอก โดยประชาชนว่า ทุกอย่างควรจบในการเลือกตั้ง ไม่เอาอีกแล้วการล้มการเลือกตั้ง

2561 ไม่มีเลือกตั้ง?

รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ภาพรวมการเมืองไทยในปีนี้ว่า การเมืองไทยในปีนี้ภาพรวมเป็นปีที่มุ่งสู่การเลือกตั้ง มุ่งไปตามโรดแมป จะมีแรงกดดันที่ทำให้ไปสู่การจัดให้มีการเลือกตั้ง และเป็นปีแห่งการจัดการกับภาพของ คสช.และจัดการกับความรู้สึกของคนที่มีต่อ คสช.และรัฐบาล หากจัดการได้ดีกระแสมาการเลือกตั้งก็จะมา โดยภาพของการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งต้องทำให้เกิด

“เมื่อทุกฝ่ายรอให้มีการเลือกตั้ง แต่หากสุดท้ายไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีการให้เหตุผลว่าทำไมเลื่อนเลือกตั้ง โดยที่ประชาชนอาจคิดว่าแบบนั้นมันไม่ไหวแล้ว เพราะถึงตอนนี้ก็จะเข้าสู่ปีที่ 4 ของ คสช.แล้ว และจากสภาวะเศรษฐกิจ แล้วก็ความรู้สึกของคน กาน้ำร้อนมันเริ่มเดือดแล้ว คุณจะปิดกาน้ำหรือไม่”

หากจะมาบอกว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ แต่ถ้าเลือกตั้งแล้วต้องสงบ ก็ต้องดูว่าจะเป็นข้ออ้าง เหตุผลที่คนจะยอมรับได้หรือไม่ เพราะตอนนี้เงื่อนไขต่างๆ มันก็ไม่มีอะไรแล้ว หากจะมีปัจจัยมาให้ไม่มีการเลือกตั้งก็มีเช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกมาไม่ทัน แล้วมาแก้กฎหมาย แล้วก็ไล่ไปเรื่อยๆ จนไม่เสร็จ แล้วไปต่ออีกถึงปีหน้า ผมว่าความรู้สึกของคนมันจะทนไม่ได้แล้ว

"หากปีนี้ไม่มีการเลือกตั้งมองว่า คสช.ก็คงลำบาก ประชาชนจะถาม แล้วเขาจะใช้อะไรมาจัดการกับความรู้สึกของประชาชน โดยปัจจัยที่จะทำให้เกิดกระแสคนออกมาเร่งให้มีการเลือกตั้ง เรื่องเศรษฐกิจคงยังเป็นเรื่องใหญ่”

....เรื่องเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องการสร้างการรับรู้ของคนในสังคมว่าปีนี้เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ หากสุดท้ายคนเห็นว่าเศรษฐกิจดีก็มองได้สองมุม คืออยากได้แบบเดิมหรือไม่ อยากได้คนเดิมมาสานต่อหรือไม่ ถ้าแบบนี้ก็อาจมาลงเลือกตั้งได้ หรือหากเศรษฐกิจดีขึ้นมาจริง ก็อาจมีบางคนบอกว่าเศรษฐกิจกำลังดีแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยน รัฐบาลมีเสถียรภาพ

แต่อยากย้ำว่าเรื่องการเลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้ง ตอนนี้พบว่าทุกคนกลับลืมมองไปที่ประชาชน เพราะการเลื่อนหรือไม่เลื่อนการเลือกตั้ง ต้องมองแรงกดดันจากประชาชนด้วย เพราะปีนี้เข้าสู่ปีที่สี่ของ คสช.แล้ว ขณะที่สมัย คมช.ก็อยู่แค่ปีเดียว แล้วปัจจุบันเรื่องเศรษฐกิจ ความรู้สึกของประชาชนก็มองว่าเศรษฐกิจไม่ดีอย่างที่รัฐบาลคิด แล้วเรื่องการปฏิรูปประเทศหลายเรื่องประชาชนก็ยังมองไม่เห็นทิศทาง จึงทำให้คนอยากให้มีการเลือกตั้ง ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง

รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้นหากจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งโดยอ้างเหตุว่ากฎหมายลูกออกมาไม่ทัน ปฏิรูปยังไม่เสร็จ กระแส คสช.ยังไม่มา แต่หากสุดท้ายถ้าประชาชนออกมาเรียกร้อง ที่ต้องมองแล้วว่าหากมีแรงกดดันจากสังคม คสช.จะจัดการได้หรือไม่

ถึงตอนนี้สำหรับ คสช.ถามว่าเขาอยากสืบทอดอำนาจหรืออยากอยู่ในอำนาจต่อไปหรือไม่ จริงๆ ไม่ควรถามคำถามนี้แล้ว เพราะอย่างกลไกปัจจุบันที่มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีการออกกฎหมายเรื่องยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้มีการทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยังมีการตั้งกรรมการปฏิรูป 11 คณะมาเขียนแผนปฏิรูปที่ใช้อีกหลายปี ทั้งหมดคือผลงานของ คสช.ที่ฝากไว้ รวมถึง ส.ว. 250 คนตามบทเฉพาะกาล

“การสืบทอดอำนาจของ คสช.ที่หลายคนคิดกันแต่ว่า คสช.จะลงเลือกตั้ง จะตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ มันไม่ใช่ เพราะสิ่งต่างๆ ที่บอกไว้เรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป เขาก็พยายามทิ้งเอาไว้ ที่ต้องคอยดูว่าสิ่งที่ คสช.วางไว้สุดท้ายแล้ว คสช.จะนำไปใช้ในรูปแบบไหน”

อย่างไรก็ตาม นอกจากโรดแมปเลือกตั้งแล้ว ในปีนี้ต้องดูการเมืองบริบทอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น พิมพ์เขียวข้อเสนอการปฏิรูปประเทศของกรรมการปฏิรูป 11 คณะที่จะต้องเผยแพร่เดือนเมษายน เป็นอีกเรื่องที่น่าจับตา เพราะ คสช.ทำรัฐประหารก็สัญญาประชาคมไว้กับประชาชนว่าจะทำหลายอย่างเช่น การปฏิรูป จึงต้องติดตามด้วยว่าแผนปฏิรูปทั้งหมดจะมีเนื้อหาอย่างไร สังคมจะยอมรับหรือไม่ ออกมาแล้วจะมีการปฏิรูปต่อไปอย่างไร เรื่องเหล่านี้จะมีผลต่อเนื่องในทางการเมือง

เช่นเดียวกับที่ต้องติดตามบริบทการเมืองอื่นๆ เช่น กระบวนการสรรหาคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา 250 คน เรื่องการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องติดตามเรื่องเหล่านี้ด้วยในการเมืองไทยปีนี้ เพราะหาก คสช.ที่จะตั้ง ส.ว. 250 คนอยากอยู่ในอำนาจต่อไป เชื่อว่าก่อนที่ คสช.จะประกาศให้มีการเลือกตั้ง ก็คงต้องประกาศว่าได้มีการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ แล้ว

รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ ยังได้วิเคราะห์กรณีพลเอกประยุทธ์ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 เพื่อขยายระยะเวลาการปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองว่า เรื่องนี้มองแตกต่างจากหลายคน ที่บอกกันว่า คสช.ออกมาเพื่อไม่อยากปลดล็อก แล้วไปสร้างเงื่อนไขว่ารีเซตสมาชิกพรรค ผมก็บอกว่า อาจไม่ใช่รีเซตสมาชิกพรรค แต่ผมมองว่าที่ผ่านมาจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองเป็นแค่ตัวเลข มันไม่มีความหมายกับตัวพรรคการเมืองเท่าใดนัก แต่อาจยกเว้นบางพรรคเช่นประชาธิปัตย์ที่มีสมาชิกสองล้านกว่าคน แต่ก็เพราะ ปชป.เป็นพรรคเก่าแก่อยู่มาหลายสิบปี แต่บางพรรคที่ตั้งมาแค่ไม่กี่ปี เช่น 1-2 ปี ตั้งไม่นานแต่กลับมีสมาชิกพรรคเป็นแสนเป็นล้านคน แต่คะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ตามระบบการเลือกตั้งแบบเดิม ไม่ใช่ตาม รธน.ปัจจุบัน กลับพบว่าไม่สอดคล้องกับจำนวนสมาชิก แสดงว่าสมาชิกพรรคก็ไม่ได้มาอยู่ด้วยอุดมการณ์ หรือจะมาสนับสนุนพรรค แต่เป็นแค่เรื่องทางตัวเลข เช่นเดียวกับพรรคอื่นๆ ที่บางพรรคมีสมาชิกหลักแสน แต่การเลือกตั้งออกมาตัวเลขสมาชิกพรรคกลับไม่สอดคล้องกับคะแนนเสียงการเลือกตั้งที่ปรากฏ

คำสั่ง คสช.ที่ออกมาจึงมองว่าเป็นการทำให้พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่สบายมากขึ้น คือทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้นในการทำกิจกรรมการเมืองของพรรคแบบที่จำเป็น คือหนึ่งหมื่นคนหรือเขตเลือกตั้งละหนึ่งร้อยคน เพื่อทำการเลือกผู้สมัครลงเลือกตั้งในระบบไพรมารีโหวต ผมไม่ได้มองว่าคำสั่งดังกล่าวทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันระหว่างพรรคการเมือง เพราะการได้เปรียบเสียเปรียบดังกล่าวต้องดูว่าต้องหาสมาชิกพรรคหรือไม่ พรรคที่มีสมาชิกเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านคน เขาก็คงไม่ไปตามให้สมาชิกพรรคทุกคนต้องมายืนยัน พรรคก็อาจเอาแค่ที่ตามได้ ให้ได้ตามเกณฑ์หมื่นคน แล้วพรรคใหม่ก็หาเอาให้ได้ตามหลักเกณฑ์การตั้งพรรค คือห้าร้อยคนก่อนในตอนแรก อย่างพรรคการเมืองใหม่ ด้วยความเป็นนักการเมืองจะเข้ามาทำการเมือง อย่ามองว่าจะต้องเป็นพรรคใหม่แกะกล่องเลย เพราะอาจเป็นพรรคใหม่ที่มาจากนักการเมืองหน้าเก่า

...ดังนั้นการจัดตั้งฐานการเมือง การระดมทางการเมืองจึงไม่ได้ยากสำหรับคนกลุ่มนี้ คำสั่ง คสช.ดังกล่าวไม่ได้เป็นการรีเซตพรรค ทำให้พรรคการเมืองไหนได้เปรียบเสียเปรียบอะไรกันมากมาย ที่บางคนบอกว่าคำสั่งดังกล่าวทำให้เกิดการรีเซตพรรค ทำให้พรรคการเมืองไม่มีความเป็นสถาบัน แต่ผมอยากบอกว่าการเป็นสถาบันพรรคการเมือง มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกพรรคอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าสมาชิกพรรคที่มีอยู่เขาได้ไปเชื่อมโยงกับสังคมหรือไม่ แล้วสมาชิกพรรคเวลามีเลือกตั้งในพื้นที่ คนที่เป็นสมาชิกเขาเลือกผู้สมัครของพรรคจริงหรือไม่

พรรคการเมืองก่อนหน้านี้ จำนวนสมาชิกพรรคไม่ได้เป็นหัวใจสำคัญของพรรคในการเลือกตั้ง เห็นได้จากพรรคเพื่อไทยมีสมาชิกพรรคระดับแสน แต่ผลเลือกตั้งออกมาคะแนนปาร์ตี้ลิสต์กลับอยู่ที่ระดับ 12 ล้านคน (เลือกตั้ง 2554)

รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าวถึงบทบาทสมาชิกพรรคการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมาว่า โดยหลักแล้ว สมาชิกพรรคการเมืองจะต้องมีส่วนร่วมในองค์กร และต้องมีบทบาท มีส่วนร่วมในการบริหารงานของพรรคการเมือง แต่ในความเป็นจริงสำหรับประเทศไทย สมาชิกพรรคการเมืองไม่เคยมีส่วนร่วมในการบริหารของพรรค เพราะแม้จะให้พรรคการเมืองจัดให้มีการประชุมใหญ่สมาชิกพรรคอย่างน้อยปีละครั้ง แต่สมาชิกพรรคก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก ในความเป็นจริง เช่นไม่ได้มีสมาชิกจะไปพูดแสดงความเห็นกันได้ทุกคน ทั้งที่ความจริงแล้วควรให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในระดับต่างๆ เช่น จัดให้มีการประชุมสาขาพรรคการเมือง เพื่อเลือกตัวแทนไปร่วมแสดงความเห็นในการประชุมใหญ่พรรค แต่ที่ผ่านมา พรรคการเมืองไทยก็ไม่ได้มีสาขาพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง พรรคการเมืองไทยไม่ได้มีการทำงานไปถึงระดับฐานราก ทั้งที่พรรคการเมืองควรส่งคนลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น จะเห็นได้ว่าคนลงเลือกตั้งท้องถิ่น มักจะไม่บอกว่าตัวเองสังกัดพรรคอะไร จะบอกก็เช่นสังกัดกลุ่มการเมืองกลุ่มไหน

อีกทั้งหลายพื้นที่คนลงเลือกตั้ง เช่น นายก อบจ. หรือนายกเทศมนตรี ก็พบว่าล้วนแต่เป็นคนในเครือข่ายพรรคการเมืองเดียวกันเองด้วยซ้ำ คือแข่งกันเองในพรรคในพื้นที่ ทั้งที่หากพรรคการเมืองมีการจัดการที่เข้มแข็ง ควรมีการจัดการที่คัดเลือกกันมาแล้ว จึงเห็นได้ว่าพรรคการเมืองไทย สมาชิกพรรคไม่ได้มีส่วนร่วมอะไร เป็นเรื่องของจำนวนที่พรรคมีมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วพรรคการเมืองต้องทำไพรมารีโหวต ก็จะทำให้หลังจากนี้ สมาชิกพรรคกับพรรคการเมืองมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่น การให้สมาชิกพรรคอย่างน้อยหนึ่งร้อยคนมาโหวตเลือกคนไปลงเลือกตั้งในนามพรรค ทำให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ไม่ใช่อยู่ดีๆ พรรคส่งใครมาก็ไม่รู้แล้วให้คนเลือก ทำให้สมาชิกพรรคเกิดความรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมในการเลือกคนไปลงเลือกตั้งตั้งแต่เริ่มต้น

รศ.ดร.อรรรถสิทธิ์-รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ประเมินบทบาทของทหารในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก คสช.ไปสู่รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง โดยมองว่าที่ผ่านมาหลายคนมักตั้งคำถามว่า คสช.จะออกไปจากการเมืองเลยหลังการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ก็อย่างที่เห็น คสช.ก็จะมีส่วนร่วมในการสรรหาคัดเลือก ส.ว. 250 คน โดยจะมี ผบ.เหล่าทัพเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง และยังมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แสดงให้เห็นว่าแม้ทหารจะไม่ได้มาบริหารโดยตรงเหมือนยุ คคสช. แต่ก็มีการวางกลไกของคสช.เอาไว้ ทำให้บทบาทของทหารในทางการเมืองก็ยังมีอยู่ไปอีกอย่างน้อยห้าปีหลังเลือกตั้ง โดยคนในฝ่ายทหารไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้ง ทั้งหมดคือสิ่งที่เห็นชัด จะตีความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ แต่ก็เห็นว่าหลังการเลือกตั้ง คสช.ควรให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติทางการเมือง โดยเรื่องแรกที่ควรทำก็คือ ไม่ควรให้ ส.ว.มามีบทบาทสำคัญมากในการจะมาตัดสินเลือกนายกรัฐมนตรี.

..................................

เกิดแน่พรรคแถวสอง พรรคสาขา Big Political Party

รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจากฐานระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนับทุกคะแนนเสียงว่า หลักทางวิชาการเห็นได้เลยว่า ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนับทุกคะแนนเสียงจะทำให้ได้รัฐบาลผสม เพราะระบบนี้จะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งใหญ่เกินไป

จากที่จะใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่จะวัดความนิยมพรรคจากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ผมวิเคราะห์ว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของไทย หากมีการเลือกตั้งปีหน้าจะมีประมาณ 50 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็นปี 2561 หรือ 2562 ที่ผ่านมาคนไทยออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ก็คือประมาณ 35 ล้านคน

หากย้อนไปดูผลการเลือกตั้งในส่วนของคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ก่อนหน้านี้ พบว่าเฉลี่ยแล้วอย่างพรรคการเมืองใหญ่ คือประชาธิปัตย์ก็จะได้ประมาณ 10-12 ล้านเสียง เพื่อไทยได้ประมาณ 12-15 ล้านเสียง เท่ากับว่า ปชป.จะได้ประมาณ 30 เปอรเซ็นต์ ตีไปจากจำนวน ส.ส.ก็จะประมาณ 150 ที่นั่ง ส่วนเพื่อไทยหากไม่มีใครย้ายออกแล้วใช้ฐานเดิมก็คือ 40 เปอร์เซ็นต์ ก็ประมาณ 200 ที่นั่ง

หากใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยใช้ฐานคะแนนข้างต้นมาวิเคราะห์ ก็จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มอย่างมากที่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่น่าที่จะมีพรรคการเมืองไหนได้ ส.ส.เกินครึ่ง ดูแล้วพรรคใหญ่มากสุดก็น่าจะได้ ส.ส.ประมาณ 200 ที่นั่ง ส่วนพรรคขนาดกลางอย่างภูมิใจไทยหรือชาติไทยพัฒนาก็น่าจะอยู่ประมาณ 40-60 ที่นั่ง

การตั้งรัฐบาล พรรคใหญ่อาจต้องจับมือกับพรรคขนาดกลางอีก 2-3 พรรคถึงจะได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสภา คือ 250 ขึ้นไป

เหตุที่บอกว่า ไม่น่าจะมีพรรคไหนได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งเพราะกรณีแบบนั้นคือ ต้องมีคนไปเลือกพรรคการเมืองพรรคนั้นให้ได้เกิน 20 ล้านเสียง ที่ต้องถามว่าจะมีโอกาสแบบนั้นเกิดขึ้นได้หรือไม่ หากคิดจากสถิติค่าเฉลี่ยการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งของคนไทย เช่น กรณีของเพื่อไทย หากดูจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาสมัยปี 2554 ก็อยู่ที่ 15 เสียง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้หากจะให้ได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งจะต้องได้เสียงประมาณ 17 ล้านเสียง ก็ต้องดูว่าเพื่อไทยจะได้เสียงเพิ่มขึ้นมาอีกเกือบ 3 ล้านได้หรือไม่

การมองเชิงวิชาการ จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นมาแต่ละครั้งก็คือคนรุ่นใหม่ที่อายุครบ 18 ปี ถึงตอนนี้ก็ยังมองไม่ออกว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะมีการออกนโยบายอะไรที่จะไปหาเสียงกับผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่เพิ่มขึ้นมาที่เป็นคนรุ่นใหม่เหล่านั้น

“เชื่อว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะไม่มีพรรคการเมืองไหนได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง เพราะหากจะทำได้ต้องได้เสียงเกิน 17 ล้านเสียงที่ถือว่าเยอะมาก แต่โอกาสจะถึง 220 ที่นั่ง เป็นไปได้หากพรรคการเมืองดังกล่าวกระแสฟีเวอร์จริงๆ”

หรือไม่ก็อีกกรณีหนึ่งคือ พรรคการเมืองได้ ส.ส.เขตเกิน 250 ที่นั่งไปแล้ว จนทำให้พรรคการเมืองก็จะไม่ได้ที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์เลย ตามระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เพราะในทางตัวเลข โอกาสมันเกิดขึ้นยาก

ทำให้การเลือกตั้งที่จะออกมาน่าจะเป็นลักษณะที่มีพรรคได้ ส.ส.ชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคใหญ่ แล้วก็มีพรรคขนาดกลาง เรียงลำดับไปตามจำนวน ส.ส. จะไม่ใช่ลักษณะว่ามีพรรคชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส.จำนวนมาก แล้วพรรคอื่นๆ จะมี ส.ส.ไม่มาก เป็นพรรคขนาดเล็กเกือบหมด โดยพรรคที่ชนะการเลือกตั้งจะได้ ส.ส.ทิ้งห่างพรรคอันดับสองไม่น่าจะมาก อันนี้คือการวิเคราะห์จากฐานปาร์ตี้ลิสต์ โดยจะห่างกันประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ตัวเลข ส.ส.ของพรรคอันดับหนึ่งกับอันดับสองน่าจะห่างกันประมาณ 30-40 ที่นั่ง

ไม่มีพรรคไหนได้ ส.ส.เกินครึ่ง

ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมไม่ใช่การที่จะมาบอกว่าระบบนี้ไม่แฟร์ เพราะยิ่งได้ ส.ส.เขตมากจะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย ผมมองว่าไม่ใช่ เพราะระบบนี้เป็นการนับคะแนนรวมทั้งหมดทั่วประเทศ แล้วนำมาคำนวณหาจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองจะได้รับ จะนำมาลบหากได้ ส.ส.เขตมาก แต่หากได้ ส.ส.เขตน้อยก็จะไปบวกเพิ่มจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จึงทำให้ยากที่จะมีพรรคการเมืองไหนได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภา

ส่วนอนาคตของพรรคขนาดกลาง หากดูจากคะแนนที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตชนะการเลือกตั้งในแต่ละเขต ค่าเฉลี่ยคนที่ได้เป็น ส.ส.จะอยู่ที่ 30,000-50,000 คะแนน เดิมพวกพรรคขนาดเล็กจะชนะประมาณ 15-20 ที่นั่ง หากนำไปคูณ 50,000 คะแนน อันนี้คือให้เต็มที่เลย ก็เท่ากับจะได้ประมาณ 1 ล้าน 5 แสนคะแนน บวกกับคะแนนเสียงย่อยๆ ที่พรรคขนาดกลาง ส่งคนลงเลือกตั้งแต่ไม่ชนะ คือ ได้อันดับสอง อันดับสาม หากเอาคะแนนพวกนี้มาบวก เพราะต่อไปการเลือกตั้งจะใช้ระบบนับทุกคะแนนเสียง ให้เต็มที่เลย ก็จะอยู่ที่ 2 ล้านเสียง ซึ่ง 2 ล้านจาก 35 ล้าน ของจำนวนคนที่คาดว่าจะออกมาใช้สิทธิ์ก็เกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ อันเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวน ส.ส. 500 คน เท่ากับว่าจากเดิมพรรคการเมืองขนาดกลางพวกนี้เคยได้ 30 ที่นั่ง แต่เลือกตั้งที่จะมีขึ้น ก็อาจจะได้ประมาณ 50 ที่นั่ง

หากดูจากระบบการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ก็อาจทำให้หลังการเลือกตั้งอาจจะเห็นพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.ในสัดส่วน เช่น 200, 150, 50, 30, 20 รัฐบาลหลังเลือกตั้งจึงเป็นรัฐบาลผสมแน่นอน แต่จะออกมาสูตรไหน จะเป็นสองพรรคใหญ่ เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จับมือกันหรือไม่ ซึ่งหากสองพรรคใหญ่นี้จะจับมือกันจริงก็ต้องจับมือกันแล้วต้องได้ ส.ส.เกิน 376 เสียง เพื่อจะได้โหวตเลือกนายกฯ จากพรรคการเมือง แต่หากเสียงไม่ถึงก็ต้องไปดึงพรรคการเมืองอื่นเข้ามาอีก พรรคร่วมรัฐบาลก็จะเป็นสูตร ใหญ่บวกใหญ่ หรือจะเป็น ใหญ่บวกใหญ่บวกเล็ก

รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ประเมินว่า สำหรับปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้น เห็นว่านโยบายของพรรคจะมีส่วนสำคัญ อย่างเช่นต่อไปพรรคการเมืองจะมาทำนโยบายประชานิยมแบบที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว ทำให้ต่อไปการเลือกของคนจะเป็นเรื่องของความชื่นชอบตัวบุคคลเป็นหลัก เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องดูว่าพรรคการเมืองจะขายอะไร จากเดิมที่เคยขายนโยบายพรรค ขายหัวหน้าพรรค ก็อาจจะปรับมาเป็นการชูเรื่องอิมเมจพรรค

ผมมองว่า พรรคการเมืองที่จะชนะการเลือกตั้งจะต้องมีอดีต ส.ส.ไปอยู่ในสังกัดพรรคให้มากที่สุด จะชนะหรือแพ้การเลือกตั้งไม่ว่า แต่ต้องเป็นคนที่ส่งลงสมัครแล้วต้องทำให้พรรคได้คะแนนเสียง แม้จะแพ้เลือกตั้งได้มาอันดับสอง แต่ก็ต้องเป็นอันดับสองที่ได้คะแนนดีที่สุด เพราะเมื่อใช้ระบบนับทุกคะแนนเสียง ทำให้จากเดิมคนที่ได้อันดับสอง ที่แพ้อันดับหนึ่ง เช่นคนชนะได้ 50,000 คะแนน คนที่ได้ที่สอง 45,000 คะแนน ซึ่งเดิมคนได้อันดับสองก็แพ้ไปเลย แต่ระบบใหม่ทุกคะแนนไม่ตกน้ำ คะแนน 45,000 ของคนที่ได้อันดับสองก็มีความหมายแล้ว ทำให้ต่อไปพรรคการเมืองก็จะต้องหาคนที่ได้คะแนนอันดับสองที่ดีที่สุดมาอยู่กับพรรคให้มาก

เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้น พรรคการเมืองใหญ่คงมีการแบ่งขั้วกันในช่วงหาเสียง แต่พวกพรรคขนาดกลางและเล็กคงไม่หาเสียงแบบแบ่งขั้ว เพราะเขาก็คงวางเป้าหมายการเมืองไว้ไม่มากเช่น 5-10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเสียงที่คนออกมาใช้สิทธิ์ ก็ได้เสียง ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ เพราะ 10 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ ส.ส.ถึง 50 คนแล้ว

สำหรับพรรคทหาร หรือพรรคนอมินี หากจะตั้งขึ้นก็เช่นกัน หากจะให้ชนะมี ส.ส.ก็ต้องมีพวกอดีต ส.ส.เก่า หรือพวกอดีตผู้สมัคร ส.ส.ที่แพ้เลือกตั้งแต่มีคะแนนดีที่สุด ต้องรวมเอามาอยู่ให้มากให้ได้ ดังนั้น มาตรา 44 ที่ออกมาแล้วเปิดโอกาสให้อดีต ส.ส.ย้ายพรรคได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องไปแสดงการเป็นสมาชิกพรรค เมื่อถึงตอนนั้นจับตาได้เลย หากพรรคไหนมีอดีต ส.ส.เก่าไปอยู่มากที่สุด หรือผู้สมัครที่มีคะแนนดีที่สุด ไปอยู่มากที่สุด พรรคการเมืองนั้นก็มีโอกาสทางการเมืองมาก

เพื่อไทยบอกว่า ยังไม่มีอดีต ส.ส.ของพรรคคนไหนจะย้ายพรรค แต่ถึงเวลามันก็ไม่แน่ เพราะสัญชาตญาณนักการเมืองประเทศไทย ทุกคนก็อยากเป็นฝ่ายรัฐบาล

ส่วนพรรคทหาร หากจะเกิดขึ้นจริงก็คงเป็นลักษณะนอมินี แต่ถามว่าทหารเล่นการเมืองเป็นหรือไม่ หากจะมีก็ต้องใช้นักการเมืองเก่าๆ มาตั้ง แล้วทำเป็นพรรคนอมินี ก็จะเป็นลักษณะอดีตทหารบวกกับนักการเมืองที่มีประสบการณ์ทางการเมือง ซึ่งประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อมีการรัฐประหารแล้วมีการเลือกตั้ง มักจะมีพรรคการเมืองประเภทนี้เสมอ

“ถ้าดูจากกระแสข่าวมองยังไง ก็คิดว่ามี แต่การทำแล้วจะประสบความสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องที่ต้องมาพิจารณาต่อไป”

นักวิชาการรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ยังได้วิเคราะห์อนาคตการเมืองของสองพรรคใหญ่ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ไว้ด้วยว่า สำหรับบทบาทการเมืองหลังจากนี้ของทักษิณ ชินวัตร และตระกูลชินวัตรในพรรคเพื่อไทย มองว่าก็ยังมีเรื่องของการต่อสู้ทางการเมือง เรื่องของคดีความ และพื้นที่ทางการเมือง หากถูกบีบไปเรื่อยๆ คงไม่ยอมอยู่เฉยๆ จนมีปัญหาเรื่องคดีความ สิ่งที่จะทำได้ก็คือยังไงก็ต้องกลับไปสู่การเมือง เพื่อจะได้เข้าไปกุมอำนาจรัฐ

“ยังไงคนไทยก็ยังมีคำว่าก้าวข้ามไม่พ้นทักษิณ พรรคเพื่อไทยก็ยังมีความเป็นทักษิณอยู่ข้างหลัง จะมาบอกว่าเลือกพรรคเพื่อไทยเพื่อพรรคเพื่อไทยคงไม่ใช่ เพราะพรรคเพื่อไทยก็คือทักษิณอยู่แล้ว”

ในส่วนของเพื่อไทยต้องดูว่าจะได้เสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งหรือไม่ และหากเกินจะเกินเท่าใด เพราะแม้หากเพื่อไทยได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง แต่ก็เป็นไปได้ที่เพื่อไทยจะไม่สามารถผลักดันแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไปเป็นนายกรัฐมนตรี

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ต้องเดาใจว่าหากสุเทพ เทือกสุบรรณ แยกออกไปตั้งพรรคจะมีคนในประชาธิปัตย์แยกออกไปหรือไม่ อย่างที่มีการวิเคราะห์กันว่าพรรคเพื่อไทยอาจใช้ยุทธศาสตร์ทำพรรคอื่นในรูปแบบแยกกันตี แล้วมารวมกันทีหลัง แต่ก็ไม่แน่พรรคประชาธิปัตย์ก็อาจใช้ยุทธศาสตร์นี้เหมือนกัน เพราะเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า สุเทพออกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้วจะขาดจากพรรคประชาธิปัตย์ไปเลย เพราะพรรคเพื่อไทยก็อาจทำพรรค ทำแบรนด์ที่สอง โดยให้พรรคเพื่อไทยทำให้ได้ตามเป้า คือ 40-50 เปอร์เซ็นต์ แล้วพรรคที่สอง ที่สาม ก็ให้ทำให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็มารวมกันตอนตั้งรัฐบาล

หากสุเทพออกไปอย่าไปมองว่าจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์อ่อนแรงลง เพราะด้วยระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้ต่อไปใครๆ ก็จะใช้รูปแบบแยกกันตี หากสุเทพแยกออกไปจริง แล้วประชาธิปัตย์มุ่งไปที่ภาคใต้กับกรุงเทพมหานครเป็นหลัก แล้วพรรคแถวสองก็ไปเน้นในบางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน โดยให้คนที่เคยมีกระแสข่าว เช่น สมศักดิ์ เทพสุทิน คอยทำพื้นที่ หากประชาธิปัตย์ได้สัก 120-150 ที่นั่ง พรรคแถวสองของประชาธิปัตย์ได้สัก 30-40 ที่นั่ง แล้วรอพรรคการเมืองอื่นมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็ทำได้ แต่ก็ต้องดูด้วยว่าหากมีคนของประชาธิปัตย์แยกออกไปด้วย ไปตั้งพรรคใหม่ จะทำให้คะแนนที่ประชาธิปัตย์เคยได้ประมาณ 12 ล้านเสียงหายไปหรือไม่ เช่น หากสุเทพแยกออกไปแล้วมีอดีต ส.ส.ของประชาธิปัตย์ออกตามไปด้วยสัก 10 คน พวก 10 คนที่เป็นอดีต ส.ส.ดังกล่าวก็อาจจะมีฐานของตัวเอง รวมแล้วอาจประมาณ 5-7 แสนเสียง หากเอาฐานคิดจากระบบจัดสรรปันส่วนผสมมาคิด ก็คิดเป็นจำนวนเก้าอี้ ส.ส.เกือบ 5 ที่นั่ง

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ยังให้ความเห็นกรณีการเลือกตั้งท้องถิ่นที่รัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะให้มีการเลือกตั้งช่วงกลางปีนี้ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น หากจะให้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ นอกจากเพื่อวัดอุณหภูมิก่อนการเลือกตั้งใหญ่แล้ว ก็ยังเป็นการเช็กระบบต่างๆ โดยเฉพาะระบบหัวคะแนน ก็อาจมีการใช้การเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อเช็กว่า หัวคะแนนในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร ยังอยู่หรือไม่ หากยังอยู่ หัวคะแนนอยู่ฝ่ายไหน จะเกิดการเช็กกำลังพล เช็กแถว ตามศัพท์ทางทหาร เพื่อจะได้รู้ว่าสุดท้ายหากมีการเลือกตั้งใหญ่ หัวคะแนนแต่ละพื้นที่จะอยู่ฝ่ายไหน ผมยังเชื่อว่าการเลือกตั้ง ส.ส. หัวใจสำคัญก็ยังอยู่ที่หัวคะแนนท้องถิ่น หากหัวคะแนนท้องถิ่นผลักดันคนของตัวเองให้ชนะในการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ พรรคการเมืองก็จะมั่นใจในหัวคะแนนคนนั้น และทำให้ คสช.เห็นอะไรหลายอย่าง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"