ปรับแผน “ประยุทธ์”-นายกฯ คนใน สืบทอดอำนาจ...อาจไม่ง่ายดังที่คิด


เพิ่มเพื่อน    

 สถานการณ์ทางการเมืองสะบัดร้อนขึ้นมาทันทีในเดือนเมษายนช่วงมหาสงกรานต์ เมื่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาแบไต๋เรื่องตั้งพรรคใหม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง โดยให้ไปถามนายอุตตมะ สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

จากนั้นนายสนธิรัตน์ก็ให้ข่าวกับสื่อมวลชนด้วยลีลาที่คล่องแคล่วอย่างเช่นนักการเมืองขานรับทันที แผนการเดินเกมของพรรคในเครือข่ายบิ๊กตู่ ที่สื่อและใครต่อใครเรียกกันว่า พรรคทหาร ได้เปิดหน้าไพ่ออกมาแล้ว

            เพื่อความสะดวกและง่ายขึ้นต่อการนั่งเก้าอี้นายกฯ หลังการเลือกตั้งคือการเป็นนายกฯ คนใน มิใช่นายกฯ คนนอกที่เคยเดินเกมและวาดหวังมาตั้งแต่ต้นนับแต่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่าง รธน.เข้ามาออกแบบเพื่อปูทางให้การสืบทอดอำนาจดำเนินต่อไปภายใต้กติกาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มิอาจปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็น เพราะนายมีชัยก็คือกรรมการ คสช.

            ขณะที่กองหนุนชั้นเยี่ยมก็ออกมาแสดงความเห็นเพื่อสนับสนุนให้ “บิ๊กตู่” สอดรับกับท่าทีข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น ป๋าเปรม-พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ระบุหลังเปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้ พล.อ.ประยุทธ์นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) และผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้ารดน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2561 เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตและการทำงาน โดย “ป๋าเปรม” ได้กล่าวว่า ผมพยายามเฝ้าดูว่านายกฯ จะพาประเทศของเราเดินได้สำเร็จ ว่าจะใช้เวลานานสักเท่าไหร่” ซึ่งสามารถตีความได้ว่าเป็นสัญญาณไฟเขียวให้ “บิ๊กตู่” สานต่องานต่อไป 

             สอดคล้องกับความเห็นของ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรองหัวหน้า คสช. หลังถูกนักข่าวถามย้ำว่า ที่บอกว่าเหมาะสมเป็นนายกฯ ตอนนี้ จะเหมาะสมในอนาคตหรือไม่ว่า ให้ไปดูโพล ซึ่งสำนักโพลบางส่วนต้องการให้ลุงตู่ไปต่อ

            ดังนั้นกลับมาดูแผนลับลวงพรางที่ผู้มีอำนาจวางไว้ ด้วยการผัดหน้า ทาแป้ง แต่งตัวเพื่อจะดันบิ๊กตู่เป็นนายกฯ คนในถูกวางไว้เป็นขั้นเป็นตอน หลังพยายามแก้เกมเรื่องการผลักดันนายกฯ คนนอกที่กระแสสังคมเริ่มต่อต้าน ดังนี้

            ข้อ 1 หาพรรคหาพวกนักการเมืองและพรรคการเมืองเก่า และพรรคใหม่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็ได้มาหลายก๊วน หลายกลุ่ม เช่น พรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคพลังชล ฯลฯ

            ส่วนพรรคใหม่ เช่น พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังประชารัฐ ฯลฯ พรรค กกปส.ของสุเทพ เทือกสุบรรณ, ท่าทีของนายสกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไปพบนายสมคิดที่ทำเนียบรัฐบาล และลาออกจากพรรคไปอยู่ชายคาทหาร, กลุ่มนายสุชาติ ตันเจริญ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, กลุ่มตระกูล “สะสมทรัพย์” ที่นครปฐม ก็เตรียมแต่งเนื้อแต่งตัวลงสนามเลือกตั้งเพื่อให้ได้ส่วนแบ่งเก้าอี้ ส.ส.ไว้ยกมือสนับสนุนบิ๊กตู่ เป็นต้น

 ข้อ 2 บิ๊กตู่ตอบรับเข้าดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคใดพรรคหนึ่งที่ถือว่าเป็นพรรคสายตรงของ คสช.และทหาร สอดรับกับคำพูดของบิ๊กตู่ก่อนหน้านี้ที่ว่า “ผมเป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร”

จากนั้นก็ไม่มีอะไรต้องอ้อมหรือปิดบังให้ต้องละอายในการที่พรรคนั้นจะเสนอชื่อบิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในบัญชีรายชื่อคนจะเป็นนายกฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อผู้จะเป็นนายกฯ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันเปิดรับสมัครเลือกตั้งโดยเจ้าตัวยินยอม

            นั่นเท่ากับว่า ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งก็จะมีความชัดเจนว่าพรรคไหน ขั้วไหนเอา พล.อ.ประยุทธ์ และขั้วไหนไม่เอา

            ขั้วไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ที่แน่ๆ คือ พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคเสรีรวมไทย (พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ เตมียาเวส), พรรคประชาชาติ (กลุ่มวาดะห์), พรรคอนาคตใหม่ (นายปิยะบุตร แสงกนกกุล – นายธนากร จึงรุ่งเรืองกิจ)

 ข้อ 3 หลังการเลือกตั้ง การเลือกนายกฯ ตามกติการัฐธรรมนูญกำหนดว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรประชุมกันเพื่อโหวตเลือกนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีชื่อหราในบัญชีรายชื่อมา ขณะรณรงค์หาเสียงก็จะถูกเสนอชื่อเข้าแข่งกับคนอื่นๆ ที่พรรคการเมืองได้ระบุในบัญชีรายชื่อ เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือคนของพรรคเพื่อไทย หรือพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์จับมือตกลงกันจะเสนอใครเพียงคนเดียวเพื่อแข่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ เสียงโหวตจะได้ไม่แตกจนกระทั่งพ่ายแพ้ให้กับพรรคทหาร (การเมืองนั้นไม่แน่นอน หลังรู้จำนวน ส.ส. ประชาธิปัตย์อาจเปลี่ยนขั้วและปรับท่าทีก็ได้)

            การโหวตวัดกันที่จำนวนเสียง ส.ส. ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ได้เสียงในสภาผู้แทนจากการโหวตเปิดเผยเกินกว่ากึ่งหนึ่ง คือเกินกว่า 250 เสียง ก็ได้เป็นนายกฯ

            ถ้าแพ้โหวต ได้ไม่ถึง 250 เสียง ก็หมดสิทธิ์เป็นนายกฯ

            นี่คือการเลือกนายกฯ แบบคนใน ต่างกับนายกฯ คนนอกที่เคยตั้งท่ามาแต่แรก เกมถูกวางไว้กรณีสภาผู้แทนโหวตหานายกฯ จากบัญชีรายชื่อไม่ได้ ก็ให้สภาผู้แทน ส.ส. 500 คน กับวุฒิสภา ส.ว. 250 คน จากการสรรหาโดย คสช.ประชุมร่วมกัน แล้วใช้เสียง 500 คน (2 ใน 3 ของทั้งหมด) โหวตยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯ จากคนใน จากนั้นก็ให้โหวตเลือกจากคนนอก หรือจะเอาคนในที่ ส.ส.เคยโหวตแล้วไม่ได้ถึงครึ่ง (ไม่ถึง 250 คน) มาโหวตกันอีกก็ได้

            เกมใหม่ที่วางไว้ให้มาเป็นนายกฯ คนใน อาจจะไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากบิ๊กตู่ และบางทีอาจจะยากเหมือนบังคับให้เป็ดบินได้เหมือนนกพิราบ เนื่องจากช่วงรณรงค์หาเสียงที่จะสัประยุทธ์กันระหว่างขั้วเอา-ไม่เอาประยุทธ์ ซึ่งจะถูกเรียกว่าขั้วประชาธิปไตยกับขั้วเผด็จการจะเข้มข้นดุเดือด

            แต่ก่อนจะถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งก็คือนับจากนี้ เริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น เรียกว่าตกเป็นขี้ปากของนักวิเคราะห์วิจารณ์แบบรายวัน บิ๊กตู่ก็ดีที่จะมาเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค หรือนายสมคิด นายอุตตม นายสนธิรัตน์ที่กระโดดเข้าสู่สนามเลือกตั้งมีพรรคสังกัด ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม, สื่อ, นักวิชาการ, องค์กรมวลชน ฯลฯ ว่าบิ๊กตู่และคนใน ครม.เอาเปรียบคู่แข่ง เพราะนอกจากไม่ปลดล็อกให้พรรคทำกิจกรรมการเมืองแล้ว ยังตั้งข้อหากับกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องให้รีบเลือกตั้ง ใช้งบประมาณที่เลยทยอยออกมา การออกพบปะชาวบ้านเพื่อหาเสียง หาคะแนนนิยม ฯลฯ

            ความไม่เหมาะสม ไม่สง่างาม เป็นการกระทำที่เข้าลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน ไร้ซึ่งจริยธรรมทางการเมือง มุ่งสืบทอดอำนาจ ฯลฯ จะเป็นประเด็นที่ฝ่ายตรงข้ามหยิบยกขึ้นมาถล่มโจมตี พล.อ.ประยุทธ์และคณะ

            มิติกฎหมายรัฐธรรมนูญที่แม้จะเปิดช่อง แต่มิติทางการเมืองที่ คสช.ยึดอำนาจเข้ามาเพื่อแก้วิกฤติ อยู่มาแล้ว 4-5 ปี กลับจะสืบทอดอำนาจเพื่อจะต่ออายุไปอีก 4 ปี รวมเป็น 8-9 ปี จะถูกต่อต้านอย่างหนักขึ้น และเป็นไปได้ว่าประชาชนจะเบื่อหน่ายปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำอุ้มคนรวยช่วยเหลือพวกพ้อง และความไม่ยุติธรรม

            ดังนั้นแม้จะมีการปรับแผนใหม่มาเป็นนายกฯ คนในของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงอาจไม่ง่าย...ดังที่คิด.

                                                                                            ทีมข่าวการเมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"