วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น


เพิ่มเพื่อน    

ตุ๊กตาฮินะ ศักราชเคียวโฮ

   อิทธิพลของวัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว คนหลายรุ่นเคยเป็นสาวกการ์ตูนญี่ปุ่น ทั้งที่เป็นหนังสือ ภาพยนตร์ หรือเพลงประกอบการ์ตูน จนไปถึงเพลงเจร็อก และกลายเป็นสาวก "เจป๊อป" ก่อนที่จะรู้จัก "เคป๊อป" เสียอีก ผลจากความนิยมในสื่อบันเทิงของญี่ปุ่น ส่งผลให้คนไทยหันมาสนใจในการใช้ภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น รวมไปถึงการศึกษาวัฒนธรรมต่างๆ ของญี่ปุ่นในแง่มุมต่างๆ ทั้งแฟชั่น การแต่งกาย เกม วรรณกรรม อาหาร ฯลฯ

            สำหรับใครที่หลงใหลในวัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่น นิทรรศการ “วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น” ได้รวบรวมศิลปโบราณวัตถุ นำเสนอเรื่องราวของวัฒนธรรมญี่ปุ่นในอีกแง่มุมหนึ่ง ตั้งแต่แรกเริ่มให้คนไทยและผู้สนใจได้ทำความรู้จักกับญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้เป็นการจัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งได้รวบรวมศิลปวัตถุชิ้นสำคัญๆ จากพิพิธภัณฑ์ในญี่ปุ่นมาจัดแสดงที่ไทย ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงวัฒนธรรมของไทย สำนักกิจการวัฒนธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู ประเทศญี่ปุ่น จัดแสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไปจนถึงวันที่ 18 ก.พ.2561 เวลา 09.00-16.00 น.

กระเป๋าฮาโกะเซโกะของหญิงสาวชนชั้นสูง

            นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า หลังจากได้มีการลงนามในปฏิญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างประเทศทั้งสองเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2430 การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับประเทศญี่ปุ่นดำเนินมาครบ 130 ปีในปีนี้ จากนั้นความสัมพันธ์ก็ได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก อันเนื่องมาจากการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนกันอย่างสม่ำเสมอระหว่างพระราชวงศ์ไทยและพระราชวงศ์ญี่ปุ่น ประกอบกับคนไทยและคนญี่ปุ่นต่างมีวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตที่มีรากฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม และพระพุทธศาสนามีความคล้ายคลึงกัน ทั้งไทยและญี่ปุ่นได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกัน โดยช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ทางกรมศิลปากรได้นำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่แสดงประวัติศาสตร์ทุกสมัยของไทย จำนวน 116 รายการ ประมาณ 130 ชิ้น ไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว ซึ่งเป็นนิทรรศการที่แนะนำมรดกศิลปวัฒนธรรมของไทยครั้งสำคัญในรอบ 30 ปี ส่วนครั้งนี้ทางญี่ปุ่นก็ได้นำศิลปโบราณวัตถุชิ้นสำคัญมาจัดแสดงให้คนไทยได้ศึกษาวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากขึ้น

            ด้านนายมิยาตะ เรียวเฮ ประธานสำนักกิจการวัฒนธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น เผยว่า นิทรรศการในครั้งนี้นับเป็นการจัดครั้งที่ 3 หลังจากที่ได้จัดมาแล้ว 2 ครั้งในปี 2540 มีเรื่องเครื่องถ้วยญี่ปุ่น และปี 2554 เรื่องงานช่างศิลปกรรมและสุนทรียภาพไทยญี่ปุ่น ความพิเศษในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการนำศิลปะญี่ปุ่นครบถ้วนทุกยุคสมัยมาจัดแสดงในประเทศไทย เพื่อตอบแทนน้ำใจไมตรีที่ประเทศไทยได้นำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เป็นพุทธศิลป์ชั้นเยี่ยมไปจัดนิทรรศการเรื่องความรุ่งโรจน์แห่งพระพุทธศาสนาในดินแดนไทย ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสองแห่งในญี่ปุ่น ผู้เข้าชมทั้งชาวญี่ปุ่นและนานาชาติต่างให้ความสนใจและประทับใจอย่างยิ่ง ส่วนนิทรรศการที่จัดแสดงในครั้งนี้จะมีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จำนวน 116 รายการ 130 ชิ้น มีชิ้นที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกชาติ 3 รายการ และมรดกวัฒนธรรมสำคัญ 25 รายการ รวมอยู่ด้วย อาทิ ภาชนะดินเผาทรงเปลวไฟในยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยโจมนตอนกลาง, ตุ๊กตาดินเผา “โดกู” สมัยโจมนตอนปลาย, ระฆังสำริดในยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยยาโยอิตอนปลาย, พระอมิตาภะพุทธเจ้า ขนาบด้วยพระอวโลกิเตศวร และพระมหาสถามปราปต์ สมัยคามากุระ ฯลฯ

ชุดสตรีและชุดขุนนางในราชสำนักต่างๆ ของญี่ปุ่น

            ภายในนิทรรศการได้แบ่งโซนการจัดที่เล่าถึงประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของศิลปกรรมญี่ปุ่นในยุคสมัยต่างๆ ซึ่งมีรากฐานมาจากวิถีชีวิตตามความเชื่อดั้งเดิม และความศรัทธาในศาสนา ลัทธิ หรือนิกายต่างๆ ที่เข้ามาสู่หมู่เกาะญี่ปุ่นตามลำดับเวลา โดยแบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกเป็น “ปฐมบทศิลปะญี่ปุ่น” ที่กล่าวถึงการเริ่มต้นของศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะแพร่ขยายเข้ามาจากจีนและเกาหลี ความน่าสนใจในโซนนี้มีหลายอย่าง โดยเฉพาะภาชนะดินเผา หากในบ้านเราจะมีภาชนะถ้วย ชาม หม้อ ดาบ ต่างๆ ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต แต่ในญี่ปุ่นจะเป็นการนำความเชื่อของผู้คน เช่น ตุ๊กตาดินเผาโดกู ที่ชาวญี่ปุ่นได้ทำเป็นรูปสตรีที่มีเต้านม ในขณะที่ตุ๊กตาบางตัวทำเป็นรูปสตรีตั้งครรภ์ สันนิษฐานว่าตุ๊กตาลักษณะนี้ได้ทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมอันเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ การเกิดใหม่ รวมถึงความเชื่อเกี่ยวกับการคลอดบุตรอย่างปลอดภัย ตุ๊กตาดินเผาชิ้นนี้เป็นหนึ่งในตุ๊กตาดินเผาโดกู ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดของญี่ปุ่น แสดงถึงความสามารถในการออกแบบ สร้างสรรค์งานศิลปกรรมให้สอดคล้องกับคติความเชื่อของผู้คนในวัฒนธรรมโจมนเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีภาชนะดินเผาทรงเปลวไฟ ระฆังโดตะกุ ใบหอก ดาบใบขวาน คันฉ่อง เครื่องประดับหิน ฯลฯ

            ส่วนที่สองเป็นเรื่อง “พุทธศิลป์วิวัฒน์” กล่าวถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาและพัฒนาการของพุทธศิลป์ในประเทศญี่ปุ่น มีโบราณวัตถุเกี่ยวกับศาสนามากมาย เช่น พระศากยมุนีปางประสูติ พระพิมพ์ภาพพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท พระโพธิสัตว์ประทับนั่งไขว้พระบาท พระอมิตาภะพุทธเจ้าเคียงข้างพระโพธิสัตว์ ฯลฯ ส่วนที่สาม เรื่องฤมิตศิลป์แห่งราชสำนัก กล่าวถึงประวัติศาสตั้งแต่สมัยเฮอันถึงสมัยเอโดะ กับการสร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่างๆ ของญี่ปุ่น ภายใต้การปกครองสองชนชั้นคือ ขุนนาง และนักรบ มีศิลปวัตถุโบราณชิ้นสำคัญ ได้แก่ กระเป๋าถือฮาโกะเซโกะสำหรับใส่กระดาษของหญิงสาวชนชั้นสูง กระดาษสีเขียนบทกวีญี่ปุ่น กล่องเครื่องสำอาง ห้องเขียนภาพเล่าเรื่องวรรณกรรม ชุดขุนนางในราชสำนัก ชุดเกราะนัมบัง ชุดเครื่องเรือนเจ้าเมือง หน้ากากโนมัมบิ หน้ากากโนฮันเนีย หน้ากากโนโอโทบิดะ ฯลฯ

บรรยากาศนิทรรศการเต็มไปด้วยกลิ่นอายญี่ปุ่น

            ส่วนที่สี่เรื่อง “นักรบนิกายเซนกับพิธีชงชา” ที่กล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของพิธีชงชาที่เกี่ยวเนื่องกับนิกายเซน ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ในพิธีชงชา เป็นวิธีการชงชาและดื่มน้ำชาที่มีกรรมวิธีหรือขั้นตอนการปฏิบัติอย่างเป็นพิธีรีตอง จะเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ในพิธีจะนิยมนำงานจิตรกรรมภาพเขียนอักษร ภาพวาดต่างๆ มาประดับห้องทำพิธีชงชาด้วย ในโซนนี้จึงมีจิตรกรรมและภาพอักษรต่างๆ และภาชนะบรรจุผงชามัทฉะ ไม้ตักชา ถ้วยชารากุ มาให้ผู้ชมได้ยลและศึกษาทำความเข้าใจ

            และส่วนที่ห้า “พลวัตวัฒนธรรมเอโดะ” ที่กล่าวถึงความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรมในสมัยเอโดะ ซึ่งมีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นกับวัฒนธรรมที่แพร่หลายมาจากภายนอก โดยเฉพาะจากชาติตะวันตกจนกลายเป็นความโดดเด่นของศิลปะญี่ปุ่นอันเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยมีสามัญชนชาวญี่ปุ่นเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งนำเสนอผ่านชุดผ้าทอลวดลายต่างๆ ปิ่นปักผมหลายลวดลาย มีตุ๊กตาฮินะ ศักราชเคียวโฮ และเครื่องใช้ของตุ๊กตาฮินะ และก็ภาพจิตรกรรมสาวงามขึ้นจากเรือ กิจกรรมภาคสนาม จิตรกรรมภาพนักแสดงละครเวที และจิตรกรรมเล่าเรื่องในวรรณกรรมจีน ฯลฯ.

ภาชนะดินเผาทรงเปลวไฟสมัยโจมนตอนกลาง

ตุ๊กตาดินเผาโดกู


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"