'ใคร...ต้องรับผิดชอบกรณีนี้?'


เพิ่มเพื่อน    

          "โจร" นี่......น่านับถือกว่าพวก "แบงก์พาณิชย์"เพราะโจรจะปล้น มันก็บอกว่าปล้น แต่พวกแบงก์พาณิชย์ ปล้นต่อหน้า-ต่อตาเหยงๆ ปากก็บอกว่า

            "บริการลูกค้า"!

            มีใครมั้ย ไปทำธุรกรรมที่แบงก์แล้วไม่เสีย "ค่าบริการ" บ้าง?

            พวกแบงก์มันเอาแต่ได้ ที่จะช่วยดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมน้อยยี่ห้อนัก ที่จะมี

            อ่านข่าว น.ส.ณิชาถูกล้วงกระเป๋า ในนั้นมี "บัตรประชาชน" อยู่ด้วย

            วันต่อมา......

            พวกแก๊ง "คอลเซ็นเตอร์" นำบัตรประชาชนของเธอไป "เปิดบัญชี" กับแบงก์ต่างๆ ถึง ๗ แบงก์  รวม ๙ บัญชี

            เพื่อใช้ "รับโอนเงิน"

            จาก "เหยื่อ" ที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ "หลอกลวง" ให้โอนเงินมา!

            ปรากฏว่า น.ส.ณิชาเจ้าของบัตรที่ถูกนำไปเปิดบัญชีนั้น ถูกจับข้อหาฉ้อโกง ต้องเข้าคุก-เข้าตะราง น่าเห็นใจมาก

            ถึงแม้เธอยืนยันด้วยหลักฐานว่า

            ได้แจ้ง "ยกเลิก" บัตรเดิมที่หาย พร้อมทำบัตรประชาชนใหม่แล้วก็ตาม

            เมื่อประกันตัวออกมา เธอไปร้องทุกข์กองปราบปราม

            ก็ต้องชม "ผู้การกองปราบฯ" คือ "พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด" เมื่อสอบสวนทวนความได้ข้อเท็จจริง  ท่านก็รับปาก "จะรีบทำความจริงให้ปรากฏ"

            สั่งโอนคดีจาก "จังหวัดตาก" มาที่กองปราบฯ แล้ว

            เท่าที่ผมอ่านจากข่าว กองปราบฯ ได้หลักฐานจากกล้องวงจรปิดแบงก์แห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว

            พบร่องรอย "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ที่นำบัตรประชาชนนั้นไปเปิดบัญชีแล้ว!

            เป็นหญิง อายุประมาณ ๓๐ รูปร่างสันทัด สวมเสื้อดำ สวมหน้ากากอนามัยปิดหน้า

            เข้าไปเปิดบัญชีแบงก์ แบงก์ไหนก็ไม่ได้บอก โดยสวมรอยเป็น น.ส.ณิชา ใช้บัตรประชาชนนั้นเปิดบัญชี

            ผมสรุปๆ น่ะ รายละเอียด คิดว่าหาอ่านได้จากข่าวที่ปรากฏ

            เรื่องอย่างนี้ ไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง ใครก็ไม่รู้หรอกว่า "มันเจ็บปวด" แค่ไหน?

            "เจ็บปวด" จากใคร......

            จากคนร้าย จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือจากระบบกฎหมาย โดยตำรวจ ที่เอะอะตั้งข้อหายัดตะรางตะพึด?

            นั่น ก็ยังเป็นตัวรอง

            ที่เป็นตัวหลัก คือ "แบงก์พาณิชย์" นั่นแหละ!

            พูดกันตรงๆ กรณีเช่นนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก หรือครั้งที่สอง-ที่สาม

            มันเป็นครั้งที่ล้าน..ล้านแล้วมั้ง?

            แบงก์เอาแต่ได้ ส่วนใครจะเสียหายอย่างไร กูไม่รู้ ...รู้อย่างเดียว กฎ-ระเบียบตัวยิบๆ เท่าทวารมดเป็นหน้าๆ ที่ให้ลูกค้าเซ็น

            เซ็นคุ้มครอง "ผลประโยชน์แบงก์".......

            เมินซะเถอะ ที่จะคุ้มครองลูกค้า หรือใครที่จะได้รับผลกระทบจากธุรกรรมนั้น!

            แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ไม่หมดเชื้อ ส่วนหนึ่ง เพราะแบงก์ "ชุ่ย-มักได้-ไม่รับผิดชอบ" นี่แหละ เป็นตัวช่วยเพาะ

            "เปิดบัญชี" ให้โจรง่ายๆ

            ทั้งที่มีระบบให้ตรวจสอบบัตรประชาชนกับต้นทาง

            ก็ "ไม่เคยทำ"

            อยากได้เงินฝากถูกๆ ไปออกดอกเงินกู้แพงๆ ตามสันดานไอ้มหาโจรเศรษฐกิจ "ตัวจริง"

            ใครมาเปิดบัญชี ได้เลยทันที แบงก์รีบบริการ

            ไม่นำพาจะช่วยเหลือตรวจสอบด้านความปลอดภัยให้สังคมอีกทางด้วยการตรวจเอกสาร

            อย่างน้อย ก็รูปถ่ายในบัตร ว่ามีเค้าเข้ากับเบ้าหน้าคนที่เอามาเปิดบัญชีหรือเปล่า?        

            แล้วคุยกันดีนัก.......

            ระบบแบงก์ยุคใหม่ไอที ออนไลน์ได้หมด สดชื่น

            ไม่ได้อยู่ที่เดียวมั้ง.....

            คือที่ฐานข้อมูลมหาดไทย ว่าบัตรประชาชนกับตัวคนที่นำมาใช้ มันใช่ตัวคนเดียวกันหรือไม่?

            กรณีอย่างนี้ ต้องเอาเรื่อง ทั้งแพ่ง-ทั้งอาญา กับแบงก์ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

            เพราะไม่ใช่ว่าไม่มีแหล่งให้ตรวจสอบ ในข้อเท็จจริง มันมีระบบแบงก์ต้องลิงก์ข้อมูลกับมหาดไทย......

            ตรวจสอบ "บัตรประชาชน" ลูกค้า ก่อนทำธุรกรรมอยู่แล้ว!

            หากแต่ที่ผ่านมา........

            แบงก์ไม่เคยอินังขังขอบ คำว่า "รับผิดชอบส่วนรวม" สะกดอย่างไร คนแบงก์ไม่รู้จัก

            ก็จะรู้จักได้อย่างไร "แบงก์เจ๊ง" ปุ๊บ.....

            รัฐบาลต้องเอาเงินภาษีชาวบ้านไปอุ้มหนี้แทนปั๊บ!

            ระบบแบงก์โกงชาวบ้าน ยากที่จะติดคุก แต่ชาวบ้านโกงแบงก์ จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ง่ายเหลือเกินที่จะติด

            ไม่เชื่อก็ ใครลองกดตู้เอทีเอ็มดูซี ถ้าเงินออกมาไม่ครบตามที่กด ยากนัก..ยากหนา ที่จะได้คืน

            แต่ถ้าเงินออกมาเกิน ไม่เอาไปคืนแบงก์ เดี๋ยวหมายเรียกข้อหายักยอกทรัพย์จะตามมาถึงบ้าน

            กรณี น.ส.ณิชา ต้องติดตะราง เพราะแบงก์ชุ่ย

            มีมั้ย...ที่แบงก์จะสำนึก.....

            และมีมั้ย คนแบงก์จะต้องรับผิดชอบ?

            ย้อนไป ๗๐๐-๘๐๐ ปี ประเทศไทยล้าสมัย ไม่มี "กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม"

            จิตใจคนสะอาด ไม่มีเหตุการณ์แบบนี้!?

            แต่วันนี้มี บรรดาแบงก์แข่งคุยขรม ทันสมัย รู้ได้-ไปถึงหมด ทุกธุรกรรมบริการด้วยไอที

            แล้วปล่อยให้มันเกิดเหตุอย่างนี้ได้อย่างไร?

            ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ นำบัตรประชาชนคนอื่น ไปเปิดบัญชีกับแบงก์ต่างๆ ได้ง่ายดายถึง ๗ แบงก์

            โดยไม่มีเจ้าหน้าที่แบงก์ใด "ตรวจสอบ" ว่าตัวคนมาขอเปิดกับบัตรประชาชนที่ใช้ เป็นคนคนเดียวกันหรือไม่?

            "พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา" รมว.มหาดไทย บอกนักข่าวที่ถามเรื่องนี้ เมื่อวาน (๙ ม.ค.๖๐) ว่า

            "...............คนที่จะทำธุรกรรมกับบัตรประชาชนจะต้องเป็นคนดำเนินการ ไม่ใช่มหาดไทย

          ถ้าธนาคารจะเปิดบัญชี ก็สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจาก 'มีระบบตรวจสอบที่มา'

          สามารถดูได้จากรูปร่างหน้าตาหรือบัตรประชาชน หรือระบบตรวจสอบของกระทรวงมหาดไทย

          และตอนที่ น.ส.ณิชาปฏิเสธว่า 'ไม่ใช่ผู้กระทำผิด' ก็สามารถสอบถามมายังกระทรวงมหาดไทยได้

          หรือไปที่ธนาคาร เพื่อขอดูกล้องวงจรปิด หรือลายมือเทียบก็สามารถที่จะทำได้

          ทางมหาดไทยให้บริการได้ทุกอย่าง เพื่อสนับสนุนทุกหน่วย ไม่ให้เกิดการโดนคดี โดยที่เจ้าตัวไม่ได้กระทำผิด"

            นักข่าวถามต่อว่า......

          "ก่อนหน้านี้ ธนาคารต่างๆ เคยมาขอความร่วมมือใช้เทคโนโลยีหรือขอข้อมูลกับกระทรวงมหาดไทยหรือไม่?"

             พล.อ.อนุพงษ์ ตอบว่า......

          "ธนาคารมี MOU กับมหาดไทยทุกธนาคาร สามารถตรวจสอบบัตรประชาชนได้หมด ถ้าติดตั้งเครื่องตรวจสอบในสาขาดังกล่าว จะสามารถตรวจสอบในขั้นต้นได้

           โดยในขั้นแรก จะเป็นการตรวจสอบยืนยันว่า ใช่คนคนนั้นหรือไม่?

           ขั้นที่สอง หากอยากทราบข้อมูลเชิงลึก ก็มีข้อตกลงที่สามารถทำได้

            แต่ธนาคารจะต้องมีโปรแกรมที่เชื่อมโยงกับกระทรวง

          โดยขณะนี้ .....

          ธนาคารที่ใช้ระบบการตรวจสอบแบบนี้มากที่สุดคือ "ธนาคารมิซูโฮ" และธนาคารต่างชาติเป็นส่วนใหญ่

          แต่ในส่วน "ธนาคารของไทย" ไม่ใช้การตรวจสอบแบบนี้เลย"

            เป็นไงล่ะ......

            ชัดมั้ย ระบบให้ตรวจสอบมันมีครบถ้วนอยู่แล้ว แต่แบงก์พาณิชย์ไทย ไม่เคยใช้ระบบตรวจสอบเลย!

            ท่านผู้การกองปราบฯ ช่วยพลิกกฎหมายทีเหอะ

            เอามันทั้งแพ่ง-ทั้งอาญาให้เป็นตัวอย่างซักที สร้างแต่ระบบป้องกันความเสียหายแบงก์

            แต่กับความเสียหายประชาชน มันเคยอินังขังขอบซะที่ไหน ขนาดระบบมีให้ตรวจสอบ มันก็ยังไม่ทำ

            แถมลงท้าย ประชาชนที่ "ถูกกระทำ" กลับเป็นฝ่ายซวย เข้าคุก-เข้าตะราง ฟังแล้วมันทุเรศ

            ยุทธศาสตร์ ๔.๐ ที่จะแก้ "ความเหลื่อมล้ำ" น่ะ นี่ก็เหลื่อมล้ำเห็นตำตา

            อย่าให้มันผ่านมาแล้วก็ปล่อยผ่านไป แบบ ๒ มาตรฐาน ชาวบ้านทำผิด โจรเศรษฐกิจตัวจริง ทำไม่ผิด!

            เห็น "แบงก์ชาติ" สั่งบรรดาแบงก์พาณิชย์ตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ชี้แจงสาเหตุแล้ว

            "นายรณดล นุ่มนนท์" ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า....

          "มีประกาศแบงก์ชาติ ระบุว่า สถาบันการเงินจะต้องรู้จักลูกค้า ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของมาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย"

            ผมก็เห็น "ผู้ร้าย" จากทั่วโลก หนีมาใช้ "ระบบแบงก์" เมืองไทย เพราะง่ายกว่านั่งถ่ายในส้วม

            แล้วแบงก์ชาติเคยทำอะไรได้มั้ย?

            ระวังเหอะ .....

            หัวหน้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งก่อการร้าย สมัครเป็น "ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ" สมัยหน้า มีปัญญาอะไรตรวจสอบ?


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"