จาก 'นาฬิกาหรู' สู่ 'น้องหมา' รัฐบาลผวาหมดเวลา 'ย่ามใจ'


เพิ่มเพื่อน    

         

 จาก นาฬิกาหรู และ แหวนเพชร มูลค่าสูงของ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

            มาถึงเรื่อง หมาๆ ที่ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควักกระเป๋าซื้อให้พี่เลิฟ บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย  และเพื่อนรัก บิ๊กฉัตร-พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี

            กำลังสะท้อนได้ดีถึงกระบวนการตรวจสอบผู้มีอำนาจที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ พี่น้อง 3 ป. ผู้กุมเสถียรภาพใน คสช.และรัฐบาล ที่กำลังกลายเป็น

          “เป้านิ่ง”

            ทุกการเคลื่อนไหว ทุกการดำเนินการ และทุกอย่างที่เป็น พี่น้อง 3 ป. กำลังถูก จับผิด แบบละเมียดว่า มีข้อไหนบ้างที่สุ่มเสี่ยงจะกระทำผิดกฎหมาย

            โดยเฉพาะเรื่องที่นักการเมืองขั้วตรงข้ามเคยถูกตรวจสอบว่ามีความผิด จะถูกมาเทียบทันทีถ้า 3 พี่น้องได้กระทำในลักษณะเดียวกัน

            ที่สำคัญ ทุกเรื่องในตอนนี้ถ้าเกิดประเด็นจะมีแรงกระเพื่อมและได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก อย่างกรณีนาฬิกาหรูของ "บิ๊กป้อม" ที่ทุกคนกำลังกัดไม่ปล่อยเพื่อรอคำตอบ แม้จะมีขบวนการพยายามหาประเด็นมากลบกระแสก็ตาม

            และดูเหมือนรัฐบาลไม่ได้ย่ามใจกับประเด็นพวกนี้เหมือนแต่ก่อน และพยายามตัดไฟตั้งแต่ต้นลมเวลามีกรณีที่อาจบานปลายเหมือนนาฬิกาหรูของ บิ๊กป้อม

            แม้กระทั่งประเด็น สุนัขพันธุ์บางแก้ว ของ บิ๊กตู่ ที่ถือเป็นการรับหรือให้สิ่งของที่มีมูลค่าเกิน  3,000 บาทก็เช่นเดียวกัน แรกๆ รัฐบาลเหมือนไม่ให้ ราคา กับสิ่งที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญพยายามตรวจสอบ

            รวมถึง เนติบริกร อย่าง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะซือแป๋กฎหมายของรัฐบาล ในช่วงแรกๆ ก็ยังไม่ค่อยจะยี่หระ

            ถึงขนาดโชว์ความเก๋าทางด้านกฎหมายด้วยว่าจะขอรับซื้อ สุนัขพันธุ์บางแก้ว เพื่อเอาไปเลี้ยงโดยที่ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด พร้อมทั้งยังบอกว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังแก้ไขประกาศ ป.ป.ช. เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2543

            ซึ่งห้ามเอาไว้ในข้อ 5 (2) ว่า ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ “รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติมีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสเกินสามพันบาท”

            การระบุว่าจะแก้ไข ทำให้ถูกมองว่าทำไปเพื่อให้การซื้อสุนัขพันธุ์บางแก้วให้ บิ๊กป๊อก และ บิ๊กฉัตร ของนายกฯ ถูกต้อง

            กระทั่งกลายเป็นประเด็นโจษจันในสังคม ทางหนึ่งคือยอมรับแล้วว่า ผิด แต่พยายามจะแก้ไขเพื่อให้ตัวเอง ถูก ถือเป็นการใช้อำนาจที่มีเพื่อหลีกเลี่ยงความผิด

            ขณะที่ช่วงแรก ป.ป.ช.เหมือนจะ รับลูก แต่เมื่อสังคมเริ่มวิพากษ์วิจารณ์กันหนักขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องออกมาระบุว่าจะไม่มีการพิจารณาในระยะเวลาอันสั้น เช่นเดียวกับ บิ๊กตู่ ที่ช่วงเกิดประเด็นใหม่ๆ  พูดว่าตนรู้ว่าอะไรผิดกฎหมาย ไม่ต้องเป็นห่วง แต่ล่าสุดออกมา ฟันฉับ เลยว่าจะไม่มีการแก้ไขอะไรทั้งสิ้น

            นั่นแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลเริ่มไหวตัวและระมัดระวังมากขึ้น โดยมีประเด็นของ บิ๊กป้อม เป็นโมเดล

            เช่นเดียวกับการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ครม.ประยุทธ์ 5 ที่ว่ากันว่าตั้งแต่เกิดประเด็นนาฬิกาและแหวนของพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ บรรดาเสนาบดีป้ายแดงต่างมีความละเอียดในการชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ระมัดระวังการซ้ำรอยเป็นอย่างมาก

            และไม่ใช่แค่เรื่องทรัพย์สิน แต่อะไรที่เข้าข่ายจะเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยงให้กระเด็นตกเก้าอี้เพราะขัดข้อกฎหมายก็เซฟกันสุดๆ

            ในช่วงที่รัฐบาลกำลัง “ขาลง” ประเด็นตรวจสอบจะมีความเข้มข้นเสมอ เลยต้องกำชับไม่ให้ทะเล่อทะล่ากัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"