หวั่นเวทีแอบแฝง! กรมชลฯจ้าง ม.นเรศวร ประชุมชาวแม่ฮ่องสอน อ้างให้มีส่วนร่วม 'ผันน้ำยวม'

หวั่นเวทีแอบแฝง! กรมชลฯจ้าง ม.นเรศวร ประชุมชาวแม่ฮ่องสอนอ้างกระบวนการมีส่วนร่วมจัดการน้ำ ชาวบ้านห่วงเดินหน้าโครงการผันน้ำยวม-อีไอเอ “ฉบับร้านลาบ” พ่นพิษอีก “ครู” เดือดร้อนเหตุถูกอ้างชื่อจนทะเลาะผู้นำชุมชน

21 ก.พ.2565 - ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดประชุมปฐมนิเทศเวทีที่ 1 โครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ และ จ.ตาก โดยมีนายผอบ บินสะอาด นายอำเภอสบเมยเป็นประธานซึ่งมีกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่จำนวนหนึ่งเข้าร่วม

การประชุมครั้งนี้ได้สร้างความงุนงงให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับโครงการผันแม่น้ำยวม-สาละวินสู่เขื่อนภูมิพล แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นโครงการที่กรมชลประทานว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรให้เป็นผู้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการนี้ให้เกิดความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่

ในการประชุมครั้งนี้คณะผู้จัดซึ่งเป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้นำเสนอข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ว่าอาจมีการโยกย้าย การจัดการทรัพย์สิน จะมีการศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดิน สาธารณสุข และจะจัดทำข้อมูลให้พื้นที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ มีการเน้นการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ใช้แนวคิดการจัดการน้ำโดยชุมชน อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีการพูดถึงโครงการผันน้ำยวมแต่อย่างใด

ขณะที่ผู้เข้าร่วมบางรายได้สอบถามว่าที่ดินไม่มีเอกสาสิทธิ มีปัญหาและกังวลว่าหากโครงการผ่าน พื้นที่จะได้รับการชดเชยหรือไม่ โดยผู้แทนมหาวิทยาลัยนเรศวรตอบว่าพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีเอกสารสิทธิ์น้อยมาก โดยเวทีนี้เป็นการจัดทำรายงานส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หากสร้างอ่างเก็บน้ำ ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดคือกรมอุทยานแห่งชาติฯ

“การสร้างการรับรู้การมีส่วนร่วม เท่าที่ทราบมายังต้องทำมากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ของพี่น้อง อยากฝากให้ทุกคนว่าจะอยู่ดีหรือไม่ก็ขึ้นกับทุกคน ตอนนี้คนจำนวนมากยังไม่รู้ข้อมูล หน้าแล้งเรามีน้ำไหลมาจากขุนยวม หน้าแล้งเราต้องการน้ำ ต้นทุนของน้ำเรามีน้อย คนปลายน้ำที่ อ.แม่สะเรียง อ.สบเมย ก็ต้องคิด”ผู้ใหญ่บ้านรายหนึ่ง กล่าว

ทั้งนี้ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การประชุมครั้งนี้ได้มีการใช้กล้อง 2-3 ตัวบันทึกการประชุมไว้ตลอดเวลา ทำให้ชาวบ้านรู้สึกเป็นกังวลใจว่าจะถูกนำไปแอบอ้างเพื่อเดินหน้าโครงการผันน้ำยวม โดยก่อนหน้าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏร ได้ลงพื้นที่และการตรวจสอบโครงการของกรมชลประทาน คือโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่เขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการผันน้ำยวม เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่ากระบวนการวางแผนโครงการและการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมขาดการมีส่วนร่วมและข้อมูลบางส่วนส่อว่าอาจเป็นเท็จ หรือที่รู้จักในวงกว้างว่า “EIA ฉบับร้านลาบ”

ด้านนายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน กล่าวว่าประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวม ในพื้นที่ตลอดแนวโครงการใน 3 จังหวัด ต่างกำลังกังวลใจและรู้สึกกังขาว่าเหตุใดกรมชลประทานยังคงว่าจ้างหน่วยงานเดิมในการทำโครงการ ทั้งที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางสาธารณะถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาและจริยธรรมของนักวิชากร ทั้งนี้ทีมกฎหมายของเครือข่ายจะส่งจดหมายไปยังกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องเรียนต่อไป เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการชนาดใหญ่มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

นายสะท้านกล่าวว่า กรมชลประทานและมหาวิทยาลัยนเรศวรควรชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการผันน้ำยวมให้ชัดว่าทำอย่างไรต่อไป ไม่ใช่มาชวนชาวบ้านคุยเรื่องอื่นแล้วพอถึงเวลาก็เดินหน้าโครงการผันน้ำยวม ซึ่งเท่ากับประชาชนถูกหลอก

“ดูแล้วประชุมครั้งนี้มีอะไรแอบแฝงอยู่ สังเกตได้จากเขาไล่จัดเวทีในพื้นที่ที่เป็นโครงการผันน้ำยวมทั้งหมด หากเขาต้องการศึกษาเกี่ยวกับบริหารจัดการแม่น้ำยวม ก็ต้องคุยต้องคุยกับชาวบ้านตั้งแต่ขุนยวม แม่ลาน้อย ปายด้วย ไม่ใช่ทำแบบนี้ เพราะยิ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ดีต่อมหาวิทยาลัยนเรศวร ยอมนี้เขาไม่ต้อนรับให้นักวิชาการกลุ่มนี้ลงพื้นที่และไม่อยากคุยด้วยอีกแล้ว เพราะความชอบธรรมหมดไปตั้งแต่ทำอีไอเอร้านลาบ พี่น้องชาวบ้านต่างได้รับผลกระทบ ล่าสุดครูที่บ้านแม่เงาก็เดือดร้อนด้วย เพราะในอีไอเอไปอ้างเขา ครูต้องเดือดร้อนเพราะทำให้ขัดแย้งกับผู้นำในหมู่บ้าน”นายสะท้านกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวสาละวิน ร้อง กสม. หลังถูกอุทยานฯยึดที่ดิน-ดำเนินคดี เรียกค่าเสียหาย 2.3 แสน

ชาวบ้านหมู่บ้านแม่ก๋อน หมู่ที่ 5 ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กว่า 20 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่และทำกินในป่าบริเวณนี้มาก่อนอุทยานแห่งชาติสาละวิน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (3) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ จ.แม่ฮ่องสอน “คนเมืองปายสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว”

ในปี 2567 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรอายุ

มูลนิธิสืบฯ ค้านเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในอุทยานฯทับลาน 2.6 แสนไร่

นายภาณุเดช เกิดมะลิ ในฐานะประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรสืบ ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 2 แสนกว่า

รัฐบาลเชิญชวนเกษตรกร-ประชาชน สมัครร่วมโครงการจ้างงาน ช่วงว่างเว้นทำเกษตร

ช่วยเกษตรกรฤดูแล้ง! 'รัฐบาล' เชิญชวนเกษตรกร-ประชาชน สมัครร่วมโครงการจ้างงานกับกรมชลฯ สร้างรายได้ทดแทนช่วงว่างเว้นจากการทำการเกษตร