เทกระจาดเอาใจปชช. ขึ้นค่าแรงอุ้มนํ้ามัน-ไฟ

ครม.ยุค “บิ๊กป้อม” เทกระจาดช่วยชาวบ้าน ไฟเขียวขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 328-354 บาทต่อวัน มีผล 1 ต.ค.นี้ ต่ออายุมาตรการอุ้มค่าไฟ-ก๊าซหุงต้มถึงสิ้นปี ยอมเสีย 2 หมื่นล้าน ลดดีเซล 5 บาทอีก 2 เดือน ยืดเก็บภาษีตรึงต้นทุนค่าไฟ 6 เดือน อัดงบกลาง 714.64 ล้าน บรรเทาเดือดร้อนกองทุนหมู่บ้าน

เมื่อวันที่ 13 กันยายน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า กระทรวงแรงงานได้เสนอตามมติของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและปลัดกระทรวง โดยที่ประชุมครม.ได้อนุมัติเห็นชอบ และเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

ถือเป็นความเห็นชอบของไตรภาคีที่เป็นเอกฉันท์ ไม่ได้มีการลงมติหรือโหวตกัน แต่เป็นการคุยกันแบบลงตัว สำหรับสัดส่วนการปรับขึ้นอยู่ที่ 5-8 เปอร์เซ็นต์ โดยภาพรวมปรับอยู่ที่กว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าช่วงก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงเลย โดยมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2563 ผ่านมา 2 ปีจึงรวบยอดปรับขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ

 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 1 กันยายน 2565 โดยกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 328-354 บาท/วัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565  

สำหรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำปี 2565 ดังนี้ 354 บาท/วัน จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง, 353 บาท/วัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม  นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร, 345 บาท/วัน จำนวน 1 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา, 343 บาท/วัน  จำนวน 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา, 340 บาท/วัน จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี

 338 บาท/วัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม, 335 บาท/วัน จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง และอุตรดิตถ์, 332 บาท/วัน จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่  มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญและอุทัยธานี และ 328 บาท/วัน จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส น่าน ปัตตานี ยะลา และอุดรธานี

นายอนุชากล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนด้านพลังงานเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์พลังงานไปจนถึงเดือนธันวาคม 2565 ประกอบด้วย การขยายมาตรการที่กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 รวมทั้งมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านไฟฟ้าสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย/เดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของค่าเอฟที โดยการขยายมาตรการไปถึงเดือนธันวาคม 2565

ได้แก่ 1.มาตรการช่วยเหลือด้านราคาก๊าซแอลพีจี ประกอบด้วย ขยายระยะเวลาส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่เกิน 100 บาท/ราย/เดือน และส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จาก 45 บาท/คน/3 เดือน เพิ่มขึ้นอีก 55 บาท/คน/3 เดือน รวมเป็น 100 บาท/คน/3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์ลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มประมาณ 5.5 ล้านราย  งบประมาณประมาณ 302.5 ล้านบาท 2 มาตรการบริหารราคาน้ำมันดีเชล   คงอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลโดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 เพื่อบริหารจัดการราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

สำหรับมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านไฟฟ้า เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน โดยการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 ดังนี้ 1.กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) จำนวน 92.04 สตางค์/หน่วย 2.กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-350 หน่วย/เดือน ซึ่งเป็นคนชั้นกลาง ให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่าเอฟที ร้อยละ 75 จำนวน 51.50 สตางค์/หน่วย 3.กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 351- 400 หน่วย ให้ส่วนลดค่าเอฟที ร้อยละ 45 คือจำนวน 30.90 สตางค์ต่อหน่วย/เดือน 4.ผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 401-500 หน่วย ให้ส่วนลดค่าเอฟที ร้อยละ 15 คือจำนวน 10.30 สตางค์/หน่วย คาดว่าจะใช้งบประมาณ 9,128.41 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ครม.ยังอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) .... เป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกันประมาณ 5 บาทต่อลิตร ตามชนิดของน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2565-20 พฤศจิกายน 2565

 รวมทั้ง ครม.ยังอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) .... ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน รวมถึงน้ำมันเตา ที่โรงไฟฟ้าใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายกระแสไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราศูนย์บาท/ลิตร ตั้งแต่ 16 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2566 เพื่อควบคุมไม่ให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น จนกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจ และการดำเนินชีวิตของประชาชน

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเสริมว่า ตามที่กระทรวงการคลังมอบหมายให้กรมสรรพสามิตดำเนินมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการจากสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

กรมสรรพสามิตจึงได้ดำเนินมาตรการภาษีเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.พ.2565 เป็นต้นมา อาทิ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด และการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.2565

นายเอกนิติกล่าวว่า กรมสรรพสามิต เสนอปรับลดอัตราภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท และจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด แม้ว่าการปรับลดอัตราภาษีในครั้งนี้จะส่งผลให้กรมสรรพสามิตต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนเกือบ 20,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า ครม.ยังได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 714.64 ล้านบาท ให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นค่าใช้จ่ายโครงการช่วยเหลือความเดือดร้อนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานและค่าใช้จ่ายการให้บริการประชาชน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของกองทุนหมู่บ้านและชมุชนเมือง ตลอดจนประชาชนที่อาศัยในหมู่บ้านและชุมชนที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.อนุมัติงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับการจ่ายเงินงบอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จำนวน 933.6 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินอุดหนุนให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับสิทธิเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเพิ่มเฉพาะในรอบเดือนกันยายน 2565 จำนวน 2,354,558 คน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ได้รับจัดสรรมานั้น ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ได้รับสิทธิเงินอุดหนุนฯ ในรอบเดือนกันยายน 2565 ที่เพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการณ์ไว้ ที่ผ่านมา ครม.เคยมีมติอนุมัติงบกลางเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดมาแล้ว 6 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,498.6 ล้านบาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง