'ฝ่ายค้าน' รุมถล่มศาลรธน.กลางสภา เจอสวนกลับคนมุ่งแก้ ม.112 ไม่เคารพกฎเกณฑ์-สถาบัน

ฝ่ายค้านรุมอัดศาลรธน.ทุกประเด็น "เลขาฯ ศาลรธน." ลุกแจง บอกคนคิดเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญคือ คนนอกชาติ ชี้ แก้ม.112 ไม่เคารพกฎเกณฑ์-เคารพสถาบันเบื้องสูง “วิโรจน์” ลุกท้วงทันที บอกละเมิดอำนาจฝ่ายนิติบัญญัต ชี้ แก้ม.112 เป็นศักดิ์และสิทธิ์ของสภาฯ

9 ธ.ค.2564 - ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาฯ มีการพิจารณารับทราบรายงานประจำปี 2563 ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ซึ่งส.ส.พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะส.ส.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้อภิปรายตั้งคำถามการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยในคดีที่ผ่านมา โดยเฉพาะคดีล้มล้างการปกครอง และอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก.ก. อภิปรายตั้งคำถามต่อความสุจริตต่อการปฏิบัติหน้าที่ หลังจากพบว่าในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีประเด็นทุจริตจัดซื้อคอมพิวเตอร์มูลค่า 13 ล้านบาท โดยอดีตข้าราชการระดับสูงในฝ่ายบริหาร ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และขอให้ผู้ที่เข้าชี้แจงตอบในกรณีดังกล่าวว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก.ก. อภิปรายว่า ตนขอให้ชี้แจงต่อประเด็นคุณวุฒิด้านการศึกษาของนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายของกรรมาธิการวิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากที่สังคมออนไลน์ตั้งข้อสังเกตต่อประวัติการศึกษา ในเรื่องหลักสูตรการศึกษา ปี 2530 จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยเคนซิงตัน แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อค้นข้อมูลจากวิกิพีเดีย พบว่าถูกสั่งปิด เพราะประเด็นปัญหามาตรฐานทางวิชาการ การให้ปริญญา เมื่อปี 2539 และมหาวิทยาลัยดังกล่าวปิดถาวร เมื่อปี 2546 พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ามหาวิทยาลัยดังกล่าวได้รับการรับรองจาก กพ. มีความน่าเชื่อถือ และได้รับความรับรองจากสากลอย่างไร

“ศาลต้องชี้แจงว่าว่าได้จบจากสถาบันนี้จริงหรือไม่ เพราะบางเอกสารไม่ระบุว่าจบจากสถาบันดังกล่าว ดังนั้นสภาฯต้องเปิดพื้นที่ให้ชี้แจง และนอกจากนั้นในปี 2526 การศึกษาปริญญาโท ระบุว่าจากยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ดีทรอยต์ ประเทศสหรัฐอเมริกามีข้อสังเกตว่าเอกสารผิดหรือไม่ เพราะไม่มีสถาบันการศึกษาดังกล่าว และมีเพียงชื่อของ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟดีทรอยต์เมอร์ซี่ ทั้งนี้มีคนบอกว่าน่าจะพิมพ์เอกสารผิด และน่าจะเป็นยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ มิชิแกน หรือไม่ หากจบจาก ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟดีทรอยต์เมอร์ซี่ การค้นข้อมูลไม่พบหลักสูตรที่นายปัญญาระบุไว้ จึงต้องให้พื้นที่ชี้แจง” นายวิโรจน์ กล่าว

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก.ก. อภิปรายพร้อมกับยกกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กรณีทุจริตจากการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาเกี่ยวกับการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ จำนวน 281 เครื่อง ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มูลค่า 13 ล้านบาท และพบรายละเอียดว่ามีการกักขังหน่วงเหนี่ยวภายในศาล อย่างไรก็ดีเรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกับนายปัญญา ที่ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการฯ ก่อนดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นผู้สั่งให้มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวในศาล

“นายปัญญาทำงานใกล้ชิดกับนายเชาวนะ ผมไม่รู้ว่าเป็นเพราะนายปัญญาได้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่จึงหลุดคดีนี้ หากผมเป็นนายเชาวนะ คงอิจฉานายปัญญา ที่ไม่ถูกชี้มูล แต่นายเชาวนะ ถูกชี้มูล ทั้งนี้กรณีที่เกิดขึ้นผมไม่สรุปว่าผิดจริงหรือไม่ แต่กรณีนี้กระทบต่อความเชื่อมั่นศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผมมองว่าไม่เหมาะสมที่จะมาตัดสินของประชาชน” นายรังสิมันต์ กล่าว

ด้านนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่าตามที่ส.ส.พรรคก.ก.อภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง โดยมีสาระสำคัญที่ชี้แจงตอนหนึ่งว่า การวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยึดกฎหมาย โดยไม่บิดเบือนหรือสร้างกฎหมายขึ้นมาเองนั้น สำหรับคดีล้มล้างการปกครองนั้น การคิดเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญของบ้านเมือง ต้องระลึกถึงความเป็นชาติ กระทำเยี่ยงคนในชาติ ไม่ใช่คนนอกชาติ รวมถึงต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผลร้ายในประเทศที่จะกระทบต่อคนทุกคน ไม่ใช่เกิดแค่คนกลุ่มน้อย หากพิจารณาประวัติศาสตร์ พบว่าการพัฒนาการเมืองการปกครองไทย ได้ปรับและแก้ให้เป็นไปตามยุคสมัย เป็นการทำหน้าที่ของผู้ที่มีหน้าที่และรับผิดชอบต่อบ้านเมืองถึงดำรงความเป็นชาติเป็นไทย ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 นั้นประจักษ์ชัดว่าต้องการนำไปสู่การไม่รักษากฎเกณฑ์พื้นฐานที่เคารพสักการะสถาบันพระมหากษัตริย์ สาระสำคัญของการกระทำผู้ถูกร้องขัดรัฐธรรมนูญ อยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม และศาลวินิจฉัยอาศัยหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงประกอบไม่ใช่เกิดจากเจตนาอย่างอื่นตามที่วิจารณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายเชาวนะ ชี้แจงต่อคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองนั้น พบว่า ส.ส.พรรคก.ก.ต่าง ลุกประท้วงอยู่เป็นระยะ โดยระบุว่าเป็นการอภิปรายืดเยื้อ และพบว่าคำชี้แจงนั้นทำเหมือนเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่สถานะของนายเชาวนะไม่ใช่

โดยนายวิโรจน์ ประท้วงว่า การอภิปรายวนเวียนซ้ำซาก ตนขอเตือนให้ระวังการอภิปรายที่แทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ ต่อกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นศักดิ์และสิทธิ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ อย่าก้าวล่วง

อย่างไรก็ตาม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ในฐานะประธานที่ประชุม วินิจฉัยว่า การชี้แจงของนายเชาวนะสามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น ตามที่มีข้อกล่าวหาจากการอภิปรายส.ส.

นายเชาวนะ ยังชี้แจงถึงกรณีที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีทุจริตการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ มูลค่า 13 ล้านบาทด้วยว่า ตนไม่สามารถพูดในรายละเอียดได้ เพราะเป็นการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.โดยเฉพาะ อย่างไรก็ดีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีผลประเมินความโปร่งใสอยู่ในเกรดเอ และเป็นมาตรฐานของความโปร่งใส

นอกจากนี้ นายเชาวนะ ยังชี้แจงกรณีประวัติการศึกษา ของนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยว่า การจบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างประเทศที่เปลี่ยนชื่อ หรือ เปลี่ยนแปลงกิจการ เป็นข้อมูลหรือความเคลื่อนไหวสถานะของสถาบันนั้นๆ ไม่อยู่ในวิสัยที่ติดตามได้ ตนทราบว่าวุฒิการศึกษาในประเทศด้านต่างๆ มีหลายวุฒิการศึกษา และเป็นการรับรองโดยวิทยฐานะโดยชอบตามกฎหมายย เพื่อความเป็นธรรมที่นายปัญญาไม่อยู่ในที่ประชุมขอให้เห็นว่าอะไรที่เป็นคำถามหรือสงสัยยุติได้ด้วยผลการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟังไว้ 'วันนอร์' ฮึ่ม! ตำแหน่งประธานสภาฯ ใครจะมาแทรกแซงไม่ได้

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวจะมีการขอปรับเปลี่ยนตำแหน่งประธานสภาฯ เพื่อใช้รองรับการ

ศาลรธน. ไม่รับคำร้องขอวินิจฉัยอำนาจสภาฯแก้รัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของประธานรัฐสภาที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256

'นครินทร์' ย้ำศาลรธน.ไม่มีธงตัดสิน ผลออกได้แค่ขัดหรือไม่ขัดรธน. ไม่มีตรงกลาง

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการจัดงานครบรอบ 26 ปีศาลรัฐธรรมนูญว่า วันนี้เป็นการประชุมทางวิชาการที่ได้มีการเตรียมการมาสักระยะหนึ่งแล้ว

ศาลรธน. นัดถก 17 เม.ย. ก้าวไกลขอขยายเวลายื่นคำชี้แจง ตัดสินยุบพรรคไม่ทัน เม.ย.นี้

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาคำร้องยุบพรรคก้าวไกล และการขอขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานายนครินทร์ กล่าวว่า ต้องแล้วแต่ที่ประชุมของศาลซึ่งก็จะดูความพอเหมาะ