จับตาโอมิครอน BA.4-BA.5 จะซ้ำเติมสถานการณ์หรือไม่

ปัจจุบันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงของโรคลดลง โดยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 2,000 คน มีการประกาศให้สามารถถอดหน้ากากอนามัยได้ตามความสมัครใจ เพื่อให้สอดคล้องกับการนิยามโรคโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น

อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากโควิด-19 สามารถกลายพันธุ์ได้เสมอ เห็นได้จากสายพันธุ์เดลตา เบตาและอัลฟา ที่มีการกลายพันธุ์จนทวีความรุนแรงของเชื้อ

ขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอนล่าสุดอย่าง BA.4 และ BA.5 กำลังเป็นที่จับตาของวงการแพทย์ระดับโลกถึงความสามารถในการเพิ่มความรุนแรงของโรค โดยกรมการแพทย์ยืนยันว่า ในไทยก็พบคนที่ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้แล้วหลายคน

สำหรับข้อมูลของเชื้อ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ระบุว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพื่อให้เข้าจับกับเซลล์ปอดของมนุษย์ได้ดีขึ้น เหมือนกับสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดและมีอาการติดเชื้อที่รุนแรงในอดีต ต่างจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 และ BA.2 ซึ่งไม่พบการกลายพันธุ์ในบริเวณดังกล่าว

ส่วนหนามของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถเป็นตัวเชื่อมให้ผนังของหลายเซลล์หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว (cell fusion หรือ syncytia formation) ดึงดูดให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อเข้ามาทำลายเกิดการอักเสบ (ของปอด) ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ โดย BA.4 แพร่ระบาดเร็วกว่า BA.2 อยู่ที่ 19% และ BA.5 แพร่เร็วกว่า BA.2 ที่ 35%

โดยสายพันธุ์ดังกล่าวกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษเกิดความตื่นตระหนกเป็นพิเศษในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองใหญ่ 4 วัน ระหว่างวันที่ 2-5 มิ.ย. นำมาสู่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 43% ในสัปดาห์ถัดมา ส่วนทวีปอเมริกาเหนือ สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ดูเหมือนจะแพร่ระบาดได้ดีกว่า BA.2.12.1 และมีความเป็นไปได้สูงที่จะระบาดเข้าไปแทนที่ BA.2.12.1 ที่กำลังระบาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา

ฝั่งทีมวิจัยจากออสเตรเลียได้พัฒนาระบบเซลล์เพาะเลี้ยงไวรัส SARS-CoV-2 ที่สามารถแยกจับเชื้อปริมาณน้อยๆ จากตัวอย่างออกมาได้ โดยทีมวิจัยใช้เซลล์ดังกล่าวในการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัสในประเทศแบบไวๆ โดยอาจไม่ต้องเสียเวลาถอดรหัสพันธุกรรมไวรัส ซึ่งแพงและใช้เวลา งานนี้เพิ่งตีพิมพ์ไปในวารสาร Nature Microbiology

ซึ่งหลังจากตีพิมพ์ไป หัวหน้าทีมวิจัยก็ออกมาทวีตผลจากระบบที่ใช้ตรวจสอบไวรัสบอกว่า ไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ที่แยกได้ในประเทศให้คุณลักษณะของการติดเชื้อเหมือนเดลตา แต่ไม่เหมือนกับโอมิครอน BA.1 พูดง่ายๆ ว่าถ้าไม่ตรวจสอบรหัสพันธุกรรม คงอาจสับสนว่าเดลตากลับฟื้นมาระบาดใหม่อีกรอบ

ส่วนสาเหตุที่ BA.5 กลับมาติดเซลล์แล้วรูปร่างของเซลล์เหมือนติดเดลตา เป็นเพราะ BA.5 ใช้วิธีเข้าสู่เซลล์แบบเดียวกับเดลตา คืออาศัยเอนไซม์ที่ผิวเซลล์ชื่อว่า TMPRSS2 ในการเข้า ในขณะที่โอมิครอนตัวอื่นคือ BA.1 และ BA.2 ไม่ได้ใช้เอนไซม์ตัวนี้ ความแตกต่างดังกล่าวจึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ใช้อธิบายว่า BA.1 และ BA.2 ทำไมถึงติดเซลล์ปอดได้ไม่ดีเท่าเดลตา

การที่พบ BA.5 อาจเปลี่ยนวิธีการเข้า โดยกลับมาใช้ TMPRSS2 ในการเข้า จึงสร้างความน่าสนใจในวงการว่า ไวรัสอาจมีคุณสมบัติที่ไม่ลดความรุนแรงลง และเนื่องจาก BA.4 มีสไปค์เหมือนกับ BA.5 ทุกตำแหน่ง คาดว่า BA.4 ก็น่าจะใช้วิธีการแบบเดียวกัน ดูจะสอดคล้องกับผลที่ทีมญี่ปุ่นทดสอบในแฮมสเตอร์พบว่า BA.4/BA.5 ลงปอดหนูได้ดีกว่า BA.2

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า มีการเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่อง โดยพบสายพันธุ์ BA.4 BA.5 ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีการตรวจแบบเร็วพบ 2 สายพันธุ์ย่อยดังกล่าว 181 ราย ส่งรายงานเข้าไปยัง GISAID แล้ว และในสัปดาห์หลังพบมีการส่งเคสเข้ามาตรวจมากขึ้น จากทั้งโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบราวๆ 81 ตัวอย่าง กำลังจะรายงานเข้าไปยัง GISAID แต่ตัวเลขอาจจะทับซ้อนกับรายงานก่อนหน้านี้

ดังนั้นจึงพอสรุปคร่าวๆ ได้ว่า มีการพบสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวประมาณ 200 ตัวอย่างนิดๆ ส่วนใหญ่พบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ศูนย์ตรวจ เลยส่งตรวจมามาก แต่ไม่ใช่ว่าพบความผิดปกติเลยส่งมาตรวจ แต่เพราะติดตามสถานการณ์โลก จึงเฝ้าระวังกันมากขึ้น ทั้งนี้ 72.7% เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ อีก 27.3% เป็นการติดเชื้อในประเทศ โดยสัปดาห์หลังนี้มีรายงานพุ่งพรวดขึ้นมา 50% คงต้องรออีก 2-3 สัปดาห์ถึงจะเห็นแนวโน้มจริงของการระบาดของสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ระบุว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 แม้องค์การอนามัยโลกจะจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวัง (VOC lineages under monitoring : VOC-LUM) เนื่องจากความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น หลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่ามีความรุนแรงมากขึ้น สำหรับสถานการณ์ของทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ องค์การอนามัยโลกให้ความเห็นว่า ต้องเฝ้าระวัง BA.5 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแอนติบอดีที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อใช้ได้น้อย ยารักษาตอบสนองน้อยลง แต่ยังสรุปไม่ได้ว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม

นอกจากนี้ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ช่วง 3 สัปดาห์ของเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์ได้ถอดรหัสพันธุกรรมผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร 206 ราย พบว่ายังเป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2 แต่ข้อมูลทั่วโลกพบ BA.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือน พ.ค.อยู่ที่ร้อยละ 3.7 เพิ่มขึ้นเดือน มิ.ย.เป็นร้อยละ 30 ประเทศไทยพบรายงานการเพิ่มขึ้นของ BA.5 ในเดือน พ.ค.จากร้อยละ 1.6 เป็นร้อยละ 8 ในเดือน มิ.ย. เป็นสัญญาณเตือนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ต้องกลัว เพราะยังไม่มีหลักฐานความรุนแรง รวมถึงการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการถอดรหัสพันธุกรรมในหลายประเทศมีแนวโน้มลดลง

โดยเดือน ก.ค.คาดว่าจะเห็นยอดติดเชื้อที่สูงขึ้นจนถึงเดือน ส.ค. ต้องเตรียมรับมือ จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงไปต่ำสุดช่วงเดือน ต.ค.-พ.ค. เพราะเป็นช่วงปิดเทอม และจะกลับสูงอีกทีช่วงเปิดเทอม เดือนมกราคม เป็นลักษณะจำเพาะของโรคทางเดินหายใจในเด็ก

นพ.ยง กล่าวด้วยว่า ส่วนอาการลองโควิดที่พูดกันมาก สำหรับผมรู้สึกเฉยๆ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้หลังติดเชื้อช่วง 3-6 เดือน อาการหลักๆ ที่เห็นคือ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย สมองมึนตื้อ หายใจไม่สะดวก ช่วงการระบาดของเชื้อเดลตาจะพบลองโควิดมากกว่าเชื้อโอมิครอน คาดว่าปีหน้าก็จะลดลง

ทั้งนี้ แม้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจะไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่า ความรุนแรงของเชื้อจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์หรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ที่กระทรวงสาธารณสุขยังคงเน้นย้ำอยู่เสมอ รวมถึงมาตรการในการป้องกันตัวเองขั้นพื้นฐาน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หาก ‘ไผ่’ วืด ‘เบนซ์’ เต็งหนึ่งรมต. เสียบแทน ‘โควตากลาง’ พปชร.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าคุณสมบัติของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้อง กรณีนายไผ่ขอร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถูก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ละเมิดจนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ กรณีระบุว่า ขาดคุณสมบัติ

ครม.เศรษฐา 2 ทักษิณเคาะโผ ฉากทัศน์กองทัพยุค "บิ๊กนิด"

ชัดเจนแล้วว่า ครม.เศรษฐา 2 ที่จะเป็นการปรับ ครม.ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยคาดว่า อาจจะเกิดขึ้นภายในปลายเมษายนนี้ หรือช้าสุดไม่เกินกลางเดือน พ.ค. เว้นแต่มีสถานการณ์แทรกซ้อนทำให้การปรับ ครม.อาจขยับออกไปได้

ลดความเสี่ยง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ปรับ ครม.เค้นผลงานรัฐบาล

เรือธง ล้มไม่ได้ เพราะมีผลต่อเครดิตของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท

โละบ้าน...ค้างสต๊อก แผนลับทับซ้อนเสี่ยงคุก!

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมโลก ตามที่กระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอ

เดินหน้า ดิจิทัลวอลเล็ต เดิมพันสำคัญ รัฐบาลเพื่อไทย

หลังรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อยู่ในสภาพชะงักงัน ไม่สามารถเดินหน้า”ดิจิทัลวอลเล็ต”ให้เป็นไปตามไทม์ไลน์เดิมที่เคยวางไว้คือ จะแจกเงินประชาชนคนละหนึ่งหมื่นบาท ได้ภายในวันที่ 1 พ.ค. 2567

จับตา10เมษาดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลเลื่อน(แจก)อีก เสียคน!

พอพรรคเพื่อไทยหาเสียงเมื่อครั้งเลือกตั้งหลังสุด บอกว่าจะแจกเงิน 1 หมื่นบาท ประชาชนหูผึ่งทันที แต่ผ่านมานับเป็นเวลา 7 เดือนที่เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ก็ยังไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ แบบนี้เสียเครดิต เพราะถือว่าเบี้ยวหนี้