แห่ต้านโขงชีมูน ซัดคชก.ไร้ส่วนร่วม

22 ก.ย.64 โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ได้รับการผลักดันโดย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาความสามารถในการส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ และปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กว่า 30 ล้านไร่ โดยอ้างว่าหากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนชาวอีสานใต้ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมชลประทานจึงได้ทำการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงมาก มีการแบ่งโครงการออกเป็น 5 ระยะ โดยได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง : การพัฒนาระยะที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2560 โดยมีการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ ประกอบด้วย พื้นที่หัวงานแนวผันน้ำโขงอีสาน และพื้นที่หัวงานแนวผันน้ำชี-มูล ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในเขตการปกครอง 9 อำเภอ 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี และขอนแก่น

ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ 2 ฉบับ จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงวันที่ 16 กันยายน 2564 แจ้งผลเรื่องการพิจารณารายงานโครงการบริหารจัดการน้ำโขงการโขงเลยชีมูล โดยแรงโน้มถ่วงระยะที่ 1 ช่วง ปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ ว่าตามที่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้ส่งหนังสือขอข้อมูลรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประเภทโรงการพัฒนาแหล่งน้ำและเกษตรกรรม โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ โดยพื้นที่โครงการจะครอบคลุมอำเภอเชียงคาน อำเภอปากชม อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย อำเภอสุวรรณคูหา อำเภอนากลาง อำเภอโนนสัง อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู อำเภอน้ำโสม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี และอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นนั้น คณะผู้ชำนาญการได้พิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ได้พิจารณารายงานเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 และมีมติให้ สทนช.และกรมชลประทาน ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรายงานดังกล่าว และ สทนช.จะต้องจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามติของ คชก. จนกว่าจะผ่านการพิจารณา

อนึ่ง เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน เห็นว่ารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการแล้ว แต่เป็นการดำเนินการไปโดยขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงของประชาชนในลุ่มน้ำภาคอีสาน และเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล และมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนี้ การอ้างเรื่องภัยแล้งหลายพื้นที่มีความเสี่ยงในการเป็นทะเลทรายเนื่องจากความแห้งแล้งซ้ำซาก และอุทกภัย การเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้กับภาคอีสานเพื่อยกระดับการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในภูมิภาคนี้ เป็นวาทกรรมที่ถูกนำมาผลิตซ้ำ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินโครงการ ในขณะที่ขาดความเข้าใจภูมินิเวศ และวัฒนธรรมการใช้และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน

ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน จึงขอคัดค้านรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 เนื่องจากเป็นการดำเนินการทำรายงานที่ไม่ชอบธรรม ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้านจากประชาชนที่จะได้รับผลกระทบและมีความจำเป็นต้องทบทวนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยด่วน

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) จะต้องรับฟังเสียงคัดค้านโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง จากประชนชน โดย กก.วล. ควรให้ ภาคประชาชน นักวิชาการ ให้ข้อมูล ความเห็น เพิ่มเติมในประเด็นที่สำคัญๆ อันจะทำให้การตัดสินใจมีความรอบด้านมากยิ่งขึ้นหรือให้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะทางสังคมมากว่าจะรับฟังข้อมูลเพียงด้านเดียวจากหน่วยงานราชการที่เสนอโครงการฯ เท่านั้นและ กก.วล. ไม่ควรตัดสินใจด้วยอำนาจเผด็จการและการเมืองเรื่องของผลประโยชน์ของนักการเมือง (หลายตัวลิ้นสองแฉก) และทิ้งภาระให้กับลูกหลานคนอีสานของเราในอนาคต .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เบรกหัวทิ่ม! ครม.สัญจรอีสาน หยุดรัฐนายทุนทำลายสวล.เขมือบทรัพยากรประเทศ

เครือข่ายทรัพย์ฯอีสาน  ยกขบวน จี้นายกฯและครม.สัญจร หยุดโครงการทำลายสิ่งแวดล้อม ผันน้ำโขง เลย ชี มูน และเหมืองแร่โปแตช สับเละรัฐบาลละเมิดสิทธิชาวบ้าน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตทรัพยากร สะท้อนชัดล้มเหลวบริหารจัดการน้ำ